เวทีนโยบายต่างประเทศ ยุคโลกป่วน : ฟังดูมันจะเข้ากันหรือไม่ที่ประชาชนจะตั้งคำถามกับพรรคการเมืองเพราะจุดยืนไทยในเวทีโลก การต่างประเทศ ความมั่นคง อาเซียน ดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ไกลตัว …. แต่เปล่าเลย โลกป่วนมาถึงประตูบ้านคนตัวเล็กนานแล้ว และความปั่นป่วนนั่นส่งผลต่อชะตากรรมชีวิต และมันยึดติดกับกลไกระดับชาติด้วย….10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย จึงมีคำถามจากสุดชายแดนเหนือใต้ มาเป็นโจทย์ …. และเรื่องราวจากที่นั่นก็สะท้อนความมั่นคงและการต่างประเทศตรงชายขอบที่ชวนคิดไม่น้อย
… ยอมรับว่าทีมเราเองก็คิดว่าครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จะถามเรื่องเกาะแก่งแม่น้ำโขงและจีนแน่ๆ เพราะ 3 ปีมานี้ การรุกสำรวจแม่น้ำโขงเพื่อระเบิดเกาะแก่งของจีนเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เอาเข้าจริง…. คนชายแดนเผชิญอะไรมากกว่านั้น
บ่ายสองถึงสี่โมง… ครูตี๋ อ้ายกิตติ ชวนเฮียหงวน รองประธานหอการค้าเชียงของและอ้ายธันวาประธานสภาวัฒนธรรม อ.เชียงของ มาถกกันถึงคำถามที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับเมืองชายแดนที่ถูกกรอบความมั่นคงแบบเก่าเหนี่ยวรั้งไว้ท่ามกลางกระแสพัฒนาสมัยใหม่จนคนท้องถิ่นย่ำแย่เช่นนี้….สิ่งที่ตกตะกอนเป็นคำถามจึงเป็นมุมมองที่แหวกทฤษฎี และเป็นมิติที่ผู้ที่จะมารับหน้าที่ด้านการต่างประเทศในรัฐบาลใหม่ต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง
โลกประชิดประตูบ้านนานแล้ว
ธันวา เหลี่ยมพันธุ์ ประธานสภาวัฒนธรรม อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดประเด็นว่า ในมุมมองของคนเชียงของเราเป็นเมืองชายแดนติดกับลาวอยู่ ตอนนี้ไปเราจะสังเกตได้ว่าอิทธิพลต่างๆไม่ใช่เเค่จากประเทศลาวอยางเดียว จะมีประเทศที่เขามีอิทธิพลเพิ่มขึ้น เช่น จีน เวียดนาม เมื่อตัวแปรเพิ่มมาขึ้นแบบนี้ อยากจะถามผู้ที่จะอาสามาเป็นตัวเเทนประชาชนเข้าไปในสภาแล้ว จะสามารถเสนอนโยบายอะไรที่สอดคล้องกับท้องถิ่นเมืองชายเเดน เพราะบริบทท้องถิ่นชายเเดนไม่เหมือนกัน เช่น เชียงรายเองมีทั้งติดต่อกับลาว เมียนมาร์ แต่ละบริบทแต่ละด่าน ต่างกัน อยากจะให้ผู้สมัครได้แต่พรรคการเมืองได้เเสดงวิสัยทัศน์หน่อยว่าจะมีแนวนโยบายไหนโดนใจ และให้ความชัดเจนกับเมืองชายเเดน
ขณะที่ สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายเเม่น้ำโขงภาคเหนือ บอกว่าก่อนปี2539 แม่น้ำโขงยังไหลเป็นอิสระอยู่ ยังมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีคนริมโขงที่พึ่งพาแม่น้ำโขง และยังเป็นพื้นที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่ปัจจุบันก็เกิดการพัฒนาในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง การพัฒนาอาจจะเริ่มต้นในยุคของรัฐบาลชุดที่ผ่านๆมา เช่น ในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าและเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และมีการผลักดันมาต่อเนื่องในเเม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เช่น การสร้างเขื่อนในเเม่น้ำโขงเพื่อที่จะกำเนิดเเหล่งพลังงานของภูมิภาค ตอนนี้สร้างไปแล้วประมาณ10เขื่อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ ความอุดมสมบูรณ์เปลี่ยน วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยน เศรษฐกิจชุมชนที่เคยพึ่งพาแม่น้ำโขงก็เปลี่ยนไป ทั้งหมดนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ แต่เปลี่ยนแปลงจากนโยบายการพัฒนาจากในประเทศและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ
สมเกียรติ มีคำถามที่อยากถามพรรคการเมืองที่จะมาบริหารประเทศ ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน พรรคการเมืองถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะกำหนดนโยบาย มองว่าเเม่น้ำระหว่างประเทศเราควรจะมีความร่วมมือที่จะเเก้ไขปัญหาในอดีตที่เกิดขึ้นอย่างไร ?
ตีโจทย์ความมั่นคงแบบเดิม อุปสรรคต่อโลกยุคใหม่
วงคุยถกแถลงถึงการถูกกำหนดและข้อจำกัดที่เมืองชายแดนอีกหลายแห่งเผชิญหน้าอยู่คล้ายๆกันคือกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาระดับภูมิภาค ปัจจุบันเชียงของถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า เช่น ถูกกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประตูสู่ลาว จีน มีถนน R 3 A มีสะพานข้ามโขง และกำลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากมาย คนพื้นที่ไม่ได้ปฏิเสธการเติบโตเหล่านี้ แต่พบว่า สิ่งที่ตามมาคือกติกา ระเบียบ การจัดการใหม่ที่ตอบสนองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และเป็นอุปสรรคต่อชุมชนและธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งเมื่อคนท้องถิ่นจะต่อรองให้ปรับเปลี่ยนกติกาเพื่อตอบสนองพื้นที่ ก็มันจะถูกปฏิเสธโดยอ้างความมั่นคงของชาติ
ยกตัวอย่าง สะพานมิตรภาพไทยลาว สร้างมา 5 ปี เป็นทางผ่านการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการในพื้นที่แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปริมาณการค้าระหว่างประเทศโดยรวมก็ไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์ อัตราการเติบโตและการใช้ประโยชน์ของผู้ประกอบการในพื้นที่ถดถอยมากกว่า มิหนำซ้ำตัวเมืองเดิมที่เคยรุ่งเรืองด้านการท่องเที่ยว คนข้ามไปมาที่ท่าเรือ กลับซบเซาเพราะเงื่อนไขการผ่านแดนกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผ่านที่สะพาน และทุกครั้งของการเสนอให้เปลี่ยนแปลง จะถูกให้เหตุผลเรื่อง ”ความมั่นคง”
สิ่งที่คนเชียงของอยากรู้คือ นโยบายที่จะจัดวางความสัมพันธ์เรื่องความมั่นคงกับโอกาสของการเติบโตทางเศรษฐกิจชายแดนของคนในท้องถิ่นอย่างไร และอีกเรื่องคือการดุลย์อำนาจกับมหาอำนาจ เช่น จีน ที่กำลังเข้ามาในภูมิภาคนี้ ผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศจะมีวิธีหรือกลไกใดที่จะต่อรองหรือเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อให้การเข้ามาของมหาอำนาจ เกิดความรับผิดชอบต่อชุมชนพื้นที่และเติบโตไปด้วยกันอย่างสมประโยชน์
สิ่งที่เป็นคำถามในวงคุยคือ ทำอย่างไรที่การกำหนดกฎเกณฑ์ระเบียบที่เกี่ยวกับหลายหน่วยงาน ที่มากำหนดกติกาโดยไม่เข้าใจสถานการณ์ความเป็นอยู่ที่แท้จริงในพื้นที่ จนกลายเป็นอุปสรรค ด้วยกรอบคิดความมั่นคงชายแดนแบบเดิมจนทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตกลับชะงักและฟุบลง โดยที่ชุมชนไม่สามารถมีส่วนร่วมกำหนดหรือแก้ไขได้เลย
เมื่อนิยามความมั่นคงเปลี่ยนไป ยุคแห่งเทคโนโลยี 4.0 แต่พรมแดนหรือความมั่นคงยังเป็นการถือปืน ปิดกั้นไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเช่นนั้นหรือ
วงคุยยังมองถึง การต่อรองเจรจาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างจีน หรือประเทศอื่น ซึ่งอำนาจอยู่ในกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย หรือการเจรจาค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แต่หน่วยงานเหล่านี้จะสร้างกลไกการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไรที่รับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่น และการค้าชายแดน การค้าระหว่างภูมิภาค ให้ขยายตัวไปด้วยกัน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าวิถีชุมชนของคนสองฝั่งที่ถูกละเลยไม่ถูกกำหนดให้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทั้งที่คนพื้นที่ไม่ได้มองแม่น้ำว่าเป็นเส้นแบ่งพรมแดน แ่ต่กลับมองว่าคือ “เรา”มากกว่า
สุดท้าย ครูตี๋ สรุปความคิดว่า เรื่องความมั่นคงของเมืองชายแดนเป็นเรื่องสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเชียงของถูกเปลี่ยนแปลงด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า. แต่ปัญหาที่พบคือเงื่อนไขความมั่นคงในมุมมองแบบอดีตนำมาใช้ในปัจจุบัน. เช่น สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4 น่าจะมีศักยภาพการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ติดขัดมีข้อจำกัดด้านความมั่นคง คำถามคือ. 1.หากพรรคของท่านได้เป็นรัฐบาล ท่านคิดว่านโยบายเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างไร
2 .เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในลักษณะท้องถิ่น เรามีปัญหาในกระบวนการต่อรอง เจรจา พัฒนาร่วมกับเพื่อนบ้าน เพราะขาดการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น เช่นการปิดด่านพรมแดน เมื่อแก้ปัญหาโดยภาครัฐ ราชการในพื้นที่มากว่า 5 ปีแล้วก็แก้ไม่ได้ แต่ถ้ามีองค์กรประชาชนซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมพี่น้องร่วมกันมานานอาจมีความเข้าใจกันและลุล่วงไปได้ ถ้าท่านเป็นรัฐบาลจะมีแนวนโยบายต่อเรื่องนี้อย่างไร
การจัดการร่วมข้ามพรมแดน โจทย์ใหญ่ที่ต้องคิด
เมืองชายแดนยังมีมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงอีกหลายเรื่อง ทีมเรายังได้ พูดคุยเรื่องเมืองชายแดนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับ อ.สืบสกุล กิจนุกร นักวิจัย และผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เช่นกัน มุมมองของ อ.สืบสกุลเห็นว่าเชียงรายเป็นจังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศเมียน และประเทศลาว หรือรู้จักกันในนามของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนและใช้ประโยชน์ร่วมกันกับประเทศเพื่อบ้านหลายประเทศ และเป็นเส้นทางการค้าและประตูสู่เมียนมา ลาว และจีนตอนใต้ผ่านทางหลวงเอเชียสาย 2 และทางหลวงเอเชียสาย3 ที่รัฐหวังจะพัฒนาเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้า กำลังดำเนินการเรื่องการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่หลายด้าน
อีกปัญหาของเชียงรายกับชายแดน คือ มียาเสพติด ตอนนี้สถิติการจับยาเสพติดได้มากขึ้น อันนี้เป็นปัญหาที่ท้าทายเรา 2 เรื่องกระบวนการในการรักษาพยาบาลร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีโรคบางอย่างที่ระบาด หรือระบาดซ้ำ ซึ่งหายไปแล้วกลับมาใหม่ในพื้นที่ชายแดน 3 เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องการจัดการแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน 4.ผลกระทบจากการพัฒนาข้ามแดน ที่เชียงของมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว มีการส่งออกสินค้า แต่ว่ามีปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว ตอนนี้คนไม่แวะเที่ยวที่เชียงของ เพราะว่าผ่านสะพานไปได้เลย จึงอยากฝากคำถามสำคัญของพื้นที่ถึงผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่
“ข้อแรกผมคิดว่าเราต้องการนโยบายที่ชัดเจนว่าในกรณีของแม่น้ำโขง เราจะมีส่วนร่วมในการจัดการแม่น้ำโขงอย่างไร กับประเทศที่เป็นมหาอำนาจก็คือจีน โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยน้ำที่อยู่ด้านเหนือไป เพราะว่าตอนนี้จีนก็ควบคุมน้ำในแม่น้ำโขงทำให้มีผลกระทบต่อคนที่ใช้น้ำที่อยู่ด้านล่างมา คือ ตั้งแต่เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนามได้รับผลกระทบหมด คือตอนนี้เราต้องการกลไกในการทำงานร่วมกันกับจีนตอนนี้
ประเด็นที่สองผมคิดว่าเราต้องการนโยบายที่ให้รัฐบาลใหม่เข้ามาคิดค้นงานที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ชายแดนระหว่างเชียงรายกับประเทศเพื่อบ้าน เช่น เชียงรายกับแขวงบ่อแก้ว เชียงรายกับบ้านต้นผึ้ง เชียงรายกับท่าขี้เหล็ก เป็นต้น ซึ่งตอนนี้มิติทางสังคมและวัฒนธรรมกำลังขาดหายไป ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ขาดมิติด้านสังคม
ประเด็นที่สาม เราต้องการนโยบายที่จะควบคุมดูแลกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปลงทุนข้ามแดนในต่างประเทศ แล้วอาจจะมีการสร้างปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องการกลไกในการมาดูแล ให้การลงทุนของไทยในประเทศเพื่อนบ้านไม่ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน
จากเหนือ ทีมไทยพีบีเอส ใต้ ไปที่ จ.สตูล ตั้ววงน้ำชา คุยกันกับ สมบูรณ์ กำแหง เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
กับประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงและพูดคุยกันมานานในภาคใต้ “คลองไทย” หรือในอดีตรู้จักกันในนาม คลองกระ หรือ คลองคอคอดกระ หมายถึง แผนการก่อสร้างคลองขนาดใหญ่ซึ่งตัดผ่านภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการขนส่งภายในพื้นที่ เพื่อเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย
เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามผลักดันโครงการ “คลองไทย” ให้กับรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งในสังคมภาคใต้ มีการถกเถียงกันมากว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่มาก จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วิถีวัฒนธรรม ภาคใต้อย่างแน่นอน รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องการลงทุน
“เราจึงมีคำถามว่า ถ้าท่านเป็นรัฐบาล ท่านจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร โครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับคนภาคใต้และคนทั้งประเทศจริงหรือไหม และคนกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์” นี่คือคำถามจากบังแกน สมบูรณ์ คำแหง
ก่อนหน่านี้ บังแกนเคยเขียนบทความถึง ยุทธศาสตร์การเชื่อมโครงข่ายการคมนาคมระหว่างฝั่งทะเลอันดามัน ที่จังหวัดสตูล คือ “โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา” และฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่จังหวัดสงขลา คือ “โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” และจะมีโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการเกิดขึ้นตามมา เพื่อให้ครบองค์ประกอบตามแนวคิดการเกิดขึ้นของคลองไทยเพื่อให้เกิดแรงดึงดูดให้ประเทศผู้ลงทุน
นับแต่ปี 2552 ที่ประเทศดูไบ ให้ความสนใจศึกษา ต่อมาคือรัฐบาลญี่ปุ่น กระทั่งล่าสุดคือประเทศจีน …. โลกป่วนมาจ่อหน้าทะเลหลังบ้านอย่างต่อเนื่อง
ในภาวะที่จีนผงาดในโลกเศรษฐกิจ และสนใจต่อการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมในโลกนี้เกือบทุกทวีปผ่านการตั้งกองทุนก้อนใหญ่ให้ลงทุน ซึ่งแน่นอนได้ได้จัดทีมมาศึกษาบริเวณนี้
“เส้นทางสาย 9A” จึงถูกพูดถึงถี่ขึ้น นั่นคือ ช่วงเส้นทางจากตอนใต้ของจังหวัดกระบี่ ตอนบนจังหวัดตรัง ตัดผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราชตอนใต้ และตอนเหนือของจังหวัดพัทลุง มีความยาวทั้งหมดเกือบ 140 กิโลเมตร และเรียกสายคลองเส้นนี้ว่า“คลองไทย” และมีการจัดเวทีนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นโครงการขุดคลองไทยแล้ว
ข้อสังเกตุว่า หากยุทธศาสตร์การเชื่อม 2 ฝั่งทะเล เพื่อการเปิดเส้นทางการคมนาคมเข้าหากันในรูปแบบเก่าคือ การสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง กับแนวคิดแบบจีนใหม่ที่เชื่อว่าจะต้องขุดคลอง
โจทย์ใหญ่ต่อเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทย หรือคนไทยทั้งประเทศจะต้องค้นหาคำตอบอย่างพินิจพิเคราะห์ถึงเหตุและผล และความเป็นไปได้ของเรื่องทั้งหมด ว่าจะเดินหน้าไปทางไหนในยุคโลกป่วน และสุดท้ายใครที่ได้ประโยชน์
คลิกชม 10วัน 1000 นาที เวทีที่ 3 นโยบายต่างประเทศไทย ยุคโลกป่วน :ว่าพรรคการเมืองตอบคำถามประชาชนอย่างเข้าใจหรือไม่