เลือกตั้ง 62 : มองยาวๆ หลังเลือกตั้งกับ“การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน”ในอนาคต

เลือกตั้ง 62 : มองยาวๆ หลังเลือกตั้งกับ“การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน”ในอนาคต

“เลือกตั้งครั้งเดียวไม่ช่วยอะไร” นักวิชาการชี้ควรรื้อระบบ

หยุดคอร์รัปชัน สร้างความโปร่งใส ด้วยสโลแกน “โตไปไม่ยอมให้ใครโกง”

.

“ต้องเปลี่ยนจาก ‘โตไปไม่โกง’ เป็น ‘โตไปไม่ยอมให้ใครโกง’ ” นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

“ถ้าเราอยากได้สังคมคุณภาพที่ดีมีคุณภาพ เราพึ่งพาความดีส่วนบุคคลไม่ได้” ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ระบอบประชาธิปไตยที่ลงตัวมีเสถียรภาพ คอร์รัปชันจะลดลงและต่อสู้กับคอร์รัปชันได้ดีกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยม” ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“คอร์รัปชันเป็นจุดร่วมสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล” นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการที่ปรึกษานิตยสารสารคดี

นี่เป็นส่วนหนึ่งของมุมมองต่อ “การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน” ในเวทีเสวนา Thammasat Resolution Talk “ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต: วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 256

เริ่มจาก ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตยยังมีคอร์รัปชันและมีความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ตรงไปตรงมา คือในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองมักจะมีคอร์รัปชันสูงเพราะระบบกติกายังไม่แน่นอนและไม่มีระบบตรวจสอบที่ชัดเจน รวมถึงคนที่มีอานาจเดิมพยายามจะกลับมามีอานาจ แต่ถ้าปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยทำงาน กลไกต่างๆ จะเริ่มทำงานและจะเกิดการกระจายอำนาจ ซึ่งเมื่อระบอบประชาธิปไตยเสถียรแล้ว การคอร์รัปชันจะลดลง เช่นประเทศที่มีคอร์รัปชันต่ำล้วนเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ดี นอกจากนี้ยังเสนอให้ประเทศไทยควรผนึกกำลังระหว่างภาคประชาชน สื่อ และองค์กรธุรกิจ รวมถึงออกแบบสถาบันตรวจสอบให้มีอำนาจและมีอิสระปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะให้ผู้คนรับรู้และเอาผิดได้

ทางด้านนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการที่ปรึกษานิตยสารสารคดี กล่าวว่าการตรวจสอบคือหัวใจสำคัญสูงสุดของการปราบคอร์รัปชัน ที่ผ่านมาคอร์รัปชันเกิดขึ้นตลอดเวลา มีการตรวจสอบผ่านองค์กรอิสระ ภาคประชาชนและสื่อมวลชน ที่ผ่านมารัฐบาลพลเรือน องค์กรอิสระเข้มแข็ง ความโปร่งใสในการตรวจสอบทำให้เกิดแรงกระเพื่อม แต่วันนี้องค์กรอิสระถูกแทรกแซงไม่สามารถทำหน้าที่อย่างเข้มข้นได้อีกต่อไป

ขณะที่ ส่วนที่ต้องตรวจสอบคอร์รัปชันคือสื่อมวลชนโดยอาชีพ กลับมีคำสั่งของคสช.หลายฉบับที่ทำให้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนทำได้ยากมากโดยเฉพาะประกาศของคสช.ฉบับที่ 97 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อคสช. เนื้อหาสั้นๆ ก็คือห้ามนำเสนอข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความสับสนและวิจารณ์คสช.

“ที่เมืองไทยนี่แปลกมากนะครับ คนที่สนใจประชาธิปไตยก็ไม่ค่อยสนใจคอร์รัปชัน คนที่สนใจคอร์รัปชันก็ไม่สนใจประชาธิปไตย แต่มีจุดร่วมอย่างหนึ่งในอดีตคือ “คอร์รัปชัน” เป็นจุดร่วมสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลและผมต้องขอบคุณเฟสบุ๊กเพราะเฟสบุ๊กเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดที่ทำให้ทุกคนเท่ากันและทำให้เกิดการตรวจสอบของคนธรรมดา ผมคิดว่าเฟสบุ๊กคือสื่อภาคประชาชนที่ดีที่สุดตอนนี้”

ต่อด้วยนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้เสนอสโลแกนใหม่ที่ควรเปลี่ยนจากเดิม “โตไปไม่โกง” เป็น “โตไปไม่ยอมให้ใครโกง” เปลี่ยนแนวคิดให้คนลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนที่ถูกปล้นชิง ซึ่งเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือต้องเปลี่ยน “Mindset ของคนในสังคม” ไม่ใช่เรื่องคุณธรรม จริยธรรม เพราะสำหรับนักคอรัปชั่นคนจ่ายและรับ จะไม่คิดว่าตัวเองชั่ว และเรื่องแบบนี้ใช้ได้แค่กับคนบางคนเท่านั้น ในส่วนของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมองว่าเลือกตั้งครั้งเดียวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่ควรให้ความสำคัญดูแลประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องมากกว่า

ปิดท้ายด้วย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า อุปสรรคของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยคือการขาดวัฒนธรรมการแสดงความรับผิดชอบส่งผลให้การลงโทษทางกฎหมายไม่ได้ผล หากระบบมีความโปร่งใส เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม การคอร์รัปชันจะลดลงได้ เพราะมองว่าหากประชาชนรับรู้ว่าใครโกงหรือทำผิด จะทำให้ผู้ที่โกงเกิดความละอายมากขึ้น แต่กลับกันหากประชาชนไม่รับรู้ก็จะไม่ละอายและรู้สึกผิด ทำให้เกิดการคอร์รัปชันต่อไป

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธานี ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ถ้าเราอยากให้สังคมดีมีคุณภาพ จะพึ่งพาความดีส่วนบุคคลไม่ได้ เราต้องยอมรับว่า “ความดีเปลี่ยนแปลงได้ ตามสถานการณ์และกาลเวลา” ไม่คงที่ เพราะความดีซับซ้อน ไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยก่อน

 

เรียบเรียงโดย ปริยากร ยี่สุ่นศรี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ