ย้อนดูบทเรียนของอำนาจนิยมแบบไทยๆ “รัฐประหาร” กับ “การเลือกตั้ง”
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
จากเสวนา “เลือกตั้ง 62? ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้งและอภินิหารทางการเมือง
วันที่ 21 มกราคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
“ถ้าเราดูประวัติศาสตร์ไทยคือคณะรัฐประหารหรือผู้ที่มีอำนาจจากการรัฐประหารประสบปัญหามาโดยตลอดในการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งคือไม่เป็นเรื่องผิดปกติที่เมื่อรัฐประหารแล้วต้องย่อมอยากสืบทอดอำนาจต่อ รัฐประหารเป็นเรื่องซีเรียส ไม่มีใครรัฐประหารเล่นๆ รัฐประหารเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ที่นี้ โจทย์ก็คือว่ารัฐประหารเสร็จแล้วจะสืบทอดอำนาจต่ออย่างไร?
ถ้าเราดูในประวัติศาสตร์จะพบว่าคณะรัฐประหารไทยทุกชุดเลย รัฐประหารสำเร็จก็จริงแต่ล้มเหลวในการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง จนมันเกิดเป็นรูปแบบ แบบไทยๆ ที่ผมเรียกว่า“อำนาจนิยมแบบไทยๆ” เรามักพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ จริงๆ อำนาจนิยมก็เป็นอำนาจนิยมแบบไทยๆ ก็คือ ถามว่าอะไรคือระบอบอำนาจนิยมแบบไทยๆ สำหรับผมก็คือ “Very skillful in coup d’etat but very poor and failed in election คือมีทักษะสูงและประสบความสำเร็จในการรัฐประหารแต่ล้มเหลวในการเลือกตั้ง”
ถ้าเราไปดูบทเรียนการเลือกตั้งปี 2500 ภายใต้รัฐบาลจอมพลป. (พิบูลสงคราม) การเลือกตั้ง 2512 ภายรัฐบาลถนอม กิตติขจร การเลือกตั้ง 2535 ภายใต้รัฐบาลของรสช.ของพลเอกสุจินดา คราประยูรและการเลือกตั้ง 2550 ภายใต้คมช. ทั้ง 4 ครั้ง พอคณะรัฐประหารจัดการเลือกตั้ง ปรากฏเสียอำนาจทั้ง 4 ครั้ง ขลุกขลักเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มันไม่ราบรื่น การเลือกตั้ง 2500 พรรคจอมพล ป. ชนะก็จริงแต่เนื่องจากโกงการเลือกตั้งอย่างมโหฬารก็เลยถูกนิสิตนักศึกษาออกมาประท้วง ในที่สุดจอมพลป.เองกลับสูญเสียอำนาจไป
การเลือกตั้ง 2512 พรรคสหประชาไทยซึ่งเป็นพรรคทหารของจอมพลถนอมชนะเลือกตั้งก็จริง แต่หลังจากนั้นมีความวุ่นวายในสภาฯ เพราะมีการต่อรองอำนาจกันมารวมกันเฉพาะกิจ ไม่ได้เป็นพรรคแบบถาวร พรรคนั้นก็คือเพื่อหนุนจอมพลถนอมเป็นนายกฯ จอมพลถนอมมาเป็นนายกฯ ในสภาฯ ตอนนั้นไม่มีอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ ต้องมาคุมสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ส.ในพรรคของรัฐบาลเองก็ต่อรองตำแหน่ง เวลาจะยกมืออภิปรายไม่น่าไว้วางใจทีก็มีการต่อรองเรียกรับเงิน แต่ละฝ่ายก็แย่งชิงอำนาจกัน จนในที่สุดจอมพลถนอมทนไม่ไหวก็ต้องรัฐประหารตัวเองหลังจากนั้นภายในเวลา 2 ปี เพราะไม่คุ้นเคยกับการต้องมาบริหารในฐานะที่เป็นนายกฯ ที่มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง กลับไปคุมแบบสภาฯแต่งตั้งง่ายกว่า พอรัฐประหารเสร็จ หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็เกิด 14 ตุลา ก็สืบทอดอำนาจไม่ได้
ตอนปี 2535 ที่พลเอกสุจินดาขึ้นมาเป็นนายก ทุกคนก็คงรู้ประวัติศาสตร์แล้ว พรรคสามัคคีธรรมซึ่งเป็นพรรคนอมมินีให้ทหารชนะการเลือกตั้งก็จริง แต่ว่าพลเอกสุจินดาในที่สุดก็โดนประท้วงจากประชาชน ก็จบที่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ชนะเลือกตั้งแต่ก็ครองอำนาจไม่ได้
ในปี 2550 ตอนนั้นเป็นการออกแบบระบบเลือกตั้งเพื่อพยายามย้อนพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนและป้องกันไม่ให้เกิดพรรคการเมืองใหญ่แบบรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ถึงทำแบบนั้นก็ตาม ปรากฏว่าไม่ได้ผล แม้ว่าจะใช้มาตรการอื่นๆ ด้วย นอกจากระบบการเลือกตั้งแล้วก็คือพรรคที่ฝ่ายรัฐประหารไม่ชอบก็ยังกลับมามีอำนาจชนะมาเป็นอันดับหนึ่งอยู่ดี แผนการทั้งหมดก็เลยล้มเหลว”
เรียบเรียงโดย
ชนิดาพร ยี่หอม BJ Junior ม.ราชภัฏสวนสุนันทา