หมะเมียะ ฉบับอุ้ยคำ : ร่วมสมัยจนไม่อยากให้พลาดชม

หมะเมียะ ฉบับอุ้ยคำ : ร่วมสมัยจนไม่อยากให้พลาดชม

ตั้งชื่อหยอกเย้าให้แฟนเพลงจรัล มโนเพ็ชร งงเล่น ที่จริงตั้งใจจะหมายถึง ละครเวทีเรื่องหมะเมี้ยะฉบับที่แสดงในปีพ.ศ. 2562 โดย คำรณ คุณะดิลก ปรมาจารย์ด้านละครผู้บุกเบิกกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวอันเป็นตำนานวงการละครเปลี่ยนแปลงสังคม อาจดูบังอาจเรียกท่านว่า “อุ้ยคำ” แต่ด้วยวาระที่ปีนี้ ครูคำรณก้าวสู่ปีที่ 73 ควรค่ากับคำว่า “อุ้ย”สมกับที่อยู่เมืองเหนือมานาน

 

ทันทีที่ได้รับเทียบเชิญให้ไปชม “หมะเมียะ The Musical” ที่โรงละครกาดเธียเตอร์ แว๊บแรกที่นึกขึ้นมาคือนึกถึงคุณแจ้ สุชัย เก่งการค้า เจ้าของกาดสวนแก้ว คุณแจ้เป็นนักธุรกิจต่างถิ่นที่มองเห็นคุณค่าของศิลปะในเมืองและตัวคนเชียงใหม่ ยังจำคำที่คุณแจ้บอกถึงเหตุผลของการก่อตั้งโรงละครกาดเธียเตอร์ได้ว่าเพื่อให้เป็นสถานที่มีละครระดับโลกดีดีมาแสดงและสร้างสถาบันการแสดงให้เด็กเชียงใหม่ได้มีแหล่งเรียนศิลปะการแสดงทุกรูปแบบ ซึ่งคุณแจ้ก็ได้ทำอย่างที่พูด

 

คุณแจ้กับครูคำรณ

แม้ปัจจุบันภาวะ Disruption มีผลสะเทือนต่อทุกแวดวง แต่ไปชมละครครั้งนี้ยังได้เห็นรอยยิ้มคุณแจ้อยู่ ขอส่งกำลังใจและคารวะในหัวใจรักศิลปะของคุณแจ้มากๆ ที่สร้างโรงละครแห่งนี้ขึ้นมาในเมืองเชียงใหม่ ยิ่งเมื่อเข้าไปรับชมการแสดง ได้เห็นเด็กเล็กๆ จนถึงหนุ่มสาวจำนวนมากมีพื้นที่แสดงฝีมือทั้งบทเพลงและศิลปะการละครบนเวทีมาตรฐาน ยิ่งชัดเจนว่ากาดเธียร์เตอร์เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความหมายกับเมืองนี้ และ KADPERFORMINGARTS พยายามทำหน้าที่เป็น สถาบันการศึกษาด้านศิลปะการแสดงทุกแขนงที่ผลิตและต่อยอดให้ผู้ที่สนใจศิลปะแขนงนี้ได้สร้างอย่างมืออาชีพ

มาถึงละครเวทีเรื่องล่าสุด หมะเมียะ The Musical บ้าง แต่ก่อนจะไปถึงเนื้อหา อยากจะบอกว่า เด็กๆ ที่ได้ร่วมแสดงละครเวทีเรื่องนี้ช่างโชคดีที่ได้ร่วมตีความหมะเมียะให้เป็นละครทางสังคมที่ร่วมสมัยกับ อ.คำรณ คุณะดิลก หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยวมาก ละครได้ขยี้ความเป็นมนุษย์ให้ตัวละครมีมิติ และสื่อสารการแสดงละครโดยใช้ศิลปะการเคลื่อนไหวของร่างกายกับความไพเราะของบทเพลงได้อย่างเพลิดเพลินมาก ที่สำคัญ เด็กๆ ได้ฉายแววความเป็นนักแสดงที่มีฝีมือมากๆ สามารถพาผู้ชมเข้าไปสู่เนื้อหา แต่ก็ปะปนกับความน่ารักและความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นนักแสดงมืออาชีพที่ต้องเป๊ะทุกฉาก ….ทำให้ดูละครเวทีเรื่องนี้ด้วยความอิ่มใจแบบไม่ได้ยกยอกัน

 

ส่วนเนื้อหาหมะเมียะในแบบฉบับของอุ้ยคำนั้นน่าสนุก แน่นอนเรื่องของหมะเมียะ เป็นที่รับรู้ผ่านเพลงดังของจรัล มโนเพชร ที่ได้สร้างภาพจำชีวิตรักของแม่ค้าขายบุหรี่ชาวพม่ากับเจ้านายฝ่ายเหนือ ตอกย้ำด้วยละครดังระดับประเทศโดยหนุ่มศรรามกับกบ สุวนันท์ แต่เรื่องของหมะเมียะสนุกกว่านั้นตรงที่มีการตีความและถกเถียงในประวัติศาสตร์ ขยายมิติไปในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาณาจักรล้านนา ไปจนถึงมีตามรอยค้นหาว่า หมะเมียะมีตัวตนจริงหรือไม่ …. เหล่านี้เป็นเรื่องที่มีเสน่ห์ในมุมของผู้สนใจยุค 20-30 ปีที่แล้วมากๆ เมื่อครั้งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พลเมืองก็มีเรื่องราวของหมะเมียะมาจากนักประวัติศาสตร์และผู้อ่านมาถกเถียงกันเป็นระยะ ไม่นับช่วงที่ไปพบลุงปราณี ศิริธร บุคคลแรกผู้บันทึกเรื่องเจ้านายฝ่ายเหนือหลายมิติไว้ในหนังสือเพ็ชรล้านนา ก็ถามถึงที่มาของหมะเมียะเช่นกัน ….

 

 

แต่หมะเมียะและเจ้าน้อยสุขเกษมก็ได้หลับไหลไปกับกาลเวลานานพอที่อาจจะทำให้ผู้คนที่กำลังจะก้าวสู่ศตวรรตที่ 21 ตัดขาดจากประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นในอีกหลายๆมิติไปเลยก็ได้ โลกหมุนเร็วมากในยุค4.0 อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเองแล้ว ละครเวทีหมะเมียะ The Musical ได้ปลุกความสนใจนั้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง และสะท้อนให้เห็นว่าหลายๆ อย่างในอดีตยังคงเป็นอยู่ถึงยุคปัจจุบัน

 

นอกจากจะบอกเล่าถึงโศกนาฎกรรมความรักระหว่างหญิงสามัญแม่ค้าขายบุหรี่ชาวพม่า กับเจ้านายฝ่ายเหนือแห่งล้านนา ครูคำรณและทีมนักแสดงยังพาผู้ชมไปอยู่ในบรรยากาศการเมืองการปกครองของคนในแผ่นดินล้านนาที่อยู่ในปกครองของสยาม แต่ขณะเดียวกันก็สัมพันธ์เชื่อมโยงแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับพม่าซึ่งอยู่ในปกครองของอังกฤษ

…. ในชะตากรรมของประเทศชาติมีชะตากรรมของประชาชนเสมอ หลายครั้งที่สถานการณ์ระดับประเทศ …..มีผลต่อประชาชนความรู้สึก ความคิด บ่มความเกลียดให้ก่อตัวหรือบทขยี้ความรักให้พังทลายลง …..หลายๆ ถ้อยคำของ ตัวละครเอกมีความหมาย หรือคำพูดที่เจ้าแม่จามรีตั้งคำถามต่อโศกนาฏกรรมของลูกหลานครั้งนี้ว่า “นี่เราทำอะไรลงไป….” จึงเป็นวรรคทองที่ร่วมสมัยให้คนดูได้ตั้งคำถามกับตัวเอง ยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เราในสังคมผ่านความขัดแย้งทางความคิดและยังอยู่ในยุคสมัยที่ไม่อาจตัดสินใจใดที่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ได้เองนัก หมะเมียะ The Musical ฉบับอุ้ยคำ ให้ความหมายที่สัมผัสได้ว่าต้องการให้ศิลปะการละครทำหน้าที่ในใจคนดู และตัวเองเป็นคนหนึ่งที่ถูกปลุกให้ครุ่นคิดกับเรื่องเหล่านี้วนเวียนเช่นที่นำมาแชร์

อยากชวนไปชมกันจริงๆ ค่ะ “หมะเมียะ” The Musical แสดงโดยนักเรียนการแสดงจากโรงเรียน ศิลปะการแสดงกาดสวนแก้ว บรรเลงดนตรี โดยวง Chamber Orchestra จากThe Chiang Mai Youth Philharmonic Band and Symphony Orchestra Foundation (CPO)
แสดงรอบวันที่ 24-25 มกราคม 2562 เวลา 10.00-12.00 น. และ 14.00-16.00 น.
และรอบวันที่ 26-27 มกราคม 2562เวลา 13.00-15.00 น. และ 18.00-20.00 น. ณ โรงละครกาดเธียเตอร์ ชั้น 5 อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว ติดตามข้อมูลได้ที

https://www.facebook.com/KADPerformingArt/

อยากบอกอีกครั้งจริงๆนะว่า หมะเมียะ ฉบับอุ้ยคำ : ร่วมสมัยจนไม่อยากให้พลาดชม…

 

ฟังเพลงหมะเมียะของจรัล

อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
มะเมียะในวิกิพิเดีย
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B0

หมะเมียะไม่มีจริง  ดิฉันเขียนไว้ในพลเมืองเหนือที่ประชาไทอัพขึ้นเว็บไว้

https://prachatai.com/journal/2005/05/3852

ศิลปวัฒนธรรมเคยต่อยอดวินิจฉัย

https://www.sanook.com/men/5637/

คุยเรื่องหมะเมียะมากมาย

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/05/K9303983/K9303983.html

 

ฯลฯ ตามแน่จะสืบค้น

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ