ทรัพยากรมนุษย์เป็นฟันเฟืองหลักที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า ดังนั้นการรับรู้เรื่องราวในสังคมจึงเป็นคุณสมบัติจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนพึงมี
โครงการออกแบบเกมออกแบบสังคม เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการบ่มเพาะทักษะการคิดเชิงออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับเยาวชน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการถึง 20 ทีม จากผู้สมัคร 180 ทีมทั่วประเทศ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีถ้วยพระราชทานสำหรับการแข่งขันออกแบบบอร์ดเกมในประเทศไทย
ระยะเวลากว่า 2 ปีที่เยาวชนทั้ง 20 ทีมได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้และพัฒนา ทำความเข้าใจปัญหาของชุมชนและสังคม รวมถึงเทคนิคกลไกในการออกแบบเกม จนได้ผลผลิตเป็นบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ในประเด็นปัญหาสังคมจาก 20 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์และการเงิน วิถีพลเมือง และโลกของเด็กมัธยม จากกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนในการพัฒนาบอร์ดเกมสู่การจัดงาน “มหกรรมเกมและการเรียนรู้” (Game & Learn Festival) ขึ้นเพื่อเปิดตัวบอร์ดเกมที่พัฒนาจากฝีมือเยาวชนต่อสาธารณะครั้งแรก ในระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2561 ณ อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการออกแบบเกมออกแบบสังคม มีวิถีสอดคล้องกับบริษัทบ้านปูบนความเชื่อที่ว่า อุตสากรรมที่ดีต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เรื่องการเรียนรู้จึงสำคัญ เพราะพลังของความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเพียงในห้องเรียนแต่เกิดขึ้นได้ทุกที่ บริษัทบ้านปูมีความเชื่อว่า การพัฒนาเยาวชน คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) หากเยาวชนมีโอกาสได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาทักษะและศักยภาพตั้งแต่เล็ก จะเสริมสร้างความมั่นใจในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมและโจทย์หนึ่งในการพัฒนาเยาวชนคือการเสริมทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ซึ่งคนทีจะทำแบบนั้นได้ต้องมีตรรกะเรื่องเหตุและผล ถ้าเยาวชนมีสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้เขาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าเมื่อเติบโตขึ้น
อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส องค์กรสัมพันธ์ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า โครงการออกแบบเมืองออกแบบสังคมมีระยะเวลายาวนานกว่าโครงการอื่น ๆ ของบ้านปู เพราะต้องการบ่มเพาะให้เยาวชนเรียนรู้และตกตะกอนในแต่ละกระบวนการอย่างลึกซึ้ง และกลายเป็นทักษะติดตัวเขาไปในที่สุด โครงการฯใช้ขั้นตอนการออกแบบบอร์ดเกมมาเป็นเครื่องมือช่วยให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ทั้งเรื่องวิชาการ ทักษะชีวิต และการสร้างคนให้มีจิตสำนึกเรื่องสังคม การที่เยาวชนมีโอกาสไปรับรู้ปัญหาที่มีอยู่ในสังคมด้วยตัวเองนั้น ทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือแก้ไข ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดี แต่ขณะเดียวกันการจะพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อแก้ปัญหาสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะเข้าใจปัญหา กว่าจะผ่านขั้นตอนการออกแบบ และพัฒนาจนได้ออกมาเป็นเกมในเวลาเกือบ 2 ปีนั้น ระหว่างทางย่อมมีอุปสรรคท้าทายอยู่ตลอด ถ้าไม่มีความมุ่งมั่น คงไม่มีทางสำเร็จจนถึงวันนี้
“คุณลักษที่จะช่วยให้มนุษย์คนหนึ่งประสบความสำเร็จได้ passion เป็นสิ่งสำคัญ คนเราถ้าสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง จะทำให้เราไม่ทิ้งเรื่องนั้นและทำจนสำเร็จ ถัดมาคือ นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่จะทำให้เราแข่งขันได้ ส่วนสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความมุ่งมั่น หลายคนมีความฝัน มีความชอบ แต่ไม่เคยลงมือทำ หรือทำแล้วเจออุปสรรคล้มเหลวไม่อยากทำต่อเพราะขาดความมุ่งมั่น การจะประสบความสำเร็จเราต้องกัดไม่ปล่อย ล้มแล้วต้องลุกใหม่ ซึ่งบ้านปูเองก็ใช้สามข้อนี้เป็นวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกัน เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการขับเคลื่อนองค์กร” อุดมลักษร์กล่าว
ด้าน รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการออกแบบเกมออกแบบสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะ “นวัตกรสังคม” เสริมสร้างทักษะการคิด วิเคราะห์ และนำเกมซึ่งอยู่ในความสนใจของเยาวชนมาเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาใกล้ตัว ทั้งในโรงเรียน ชุมชน สังคม เพราะเกมเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ที่สำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต ภายใต้กระบวนการพัฒนาบอร์ดเกมที่สะท้อนปัญหาสังคมและให้ความสนุกสนาน ยังต้องอาศัยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
“วิธีคิด วิธีเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมาก คนออกแบบการเรียนรู้จำเป็นต้องมีเครื่องมือและกระบวนการใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจและนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้ คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มีมุมมองที่สอดคล้องกับโครงการออกแบบเกมออกแบบสังคมที่เชื่อว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจะทำให้เกิดการเรียนรู้ จดจำ และรู้สึกกับปัญหาที่เป็นจริงได้ เบื้องหลังการออกแบบเกม น้อง ๆ จะต้องลงไปทำงานในพื้นที่ชุมชนจริง สัมผัสปัญหาจริง โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ในคณะเป็นพี่เลี้ยง ช่วยตั้งคำถามต่อปัญหา วิเคราะห์ และประมวลผลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงมาใช้ในการแปลงโจทย์เป็นบอร์ดเกม ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ที่สำคัญต้องปรุงเสริมด้วยการคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นเกมที่ดึงดูด สนุก และเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน ขั้นตอนเหล่านี้ต้องอาศัยนักพัฒนาเกมมืออาชีพในวงการบอร์ดเกมไทยเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชน และเติบโตในวิธีคิด วิธีทำงานของตัวเองไปด้วย เมื่อถึงอนาคตที่เขาต้องไปออกแบบเกมออแบบกระบวนการสอน หรือทำงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใด ๆเขาก็จะมีทักษะ มีประสบการณ์ที่จะไปดำเนินงานนั้นอย่างราบรื่น แต่ผลพวงที่สำคัญที่สุดคือโครงการนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจ เป็นรากฐานทางวิชาการ และทักษะชีวิตที่จะทำให้เยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นนวัตกรทางสังคมที่ดีต่อไป” อนุชาติกล่าว
ทั้งนี้หลังจากงานมหกรรมเกมและการเรียนรู้ผ่านไป โครงการออกแบบเกมออกแบบสังคม ยังคงต้องเดินหน้าต่อ เพื่อไปให้ถึงอีกหนึ่งเป้าหมายของโครงการ คือการที่เยาวชนนำบอร์ดเกมที่พัฒนาขึ้นไปทดลองใช้ในพื้นที่ปัญหาจริง ในเดือนพฤศจิกา 2561- กุมภาพันธ์ 2562 หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม 2562 จะเป็นการสะท้อนการเรียนรู้และประกาศผลรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อไป ซึ่งไม่ว่าเกมจะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้จริงหรือไม่ แต่บอร์ดเกมจากเยาวชนทั้ง 20 ทีมนี้ จะกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะเข้าไปสร้างการรับรู้และกระตุ้นจิตสำนึกต่อปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมให้แก่ผู้เล่นได้อย่างแน่นอน