‘บันทึกเหตุการณ์ทวงคืนป่าห้วยเม็ก’ หลังจากบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่เข้ามาเช่าพื้นที่และใช้เส้นทางสาธารณะ ชาวบ้าน ต.บ้านดง จ.ขอนแก่น จึงรวมตัวกันเพื่อคัดค้านทุกรูปแบบ จนสามารถทวงคืนผืนป่าห้วยเม็กได้สำเร็จ
รายงานโดย : รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน
ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก (The Butterfly Effect) ระบุไว้ว่า “เพียงผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” เมื่อผีเสื้อขยับปีกหนึ่งครั้งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศส่งผลให้เกิดพายุทอร์นาโด การขยับของปีกผีเสื้อ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในเงื่อนไขของระบบนิเวศ แต่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ขนาดใหญ่ ไม่ต่างจากปฏิบัติการทวงคืนที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก ของชาวบ้านที่ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ใครจะรู้ว่าการต่อสู้คัดค้านของคนที่นี่สามารถคัดง้างกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ได้สำเร็จ สามารถปกปักษ์รักษาทรัพยากรไว้ให้กับลูกหลาน ไว้ให้กับชุมชน และประเทศชาติให้มีความยั่งยืน
นายไพบูลย์ บุญลา ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เล่าให้ฟังว่า การต่อสู้ของพวกเรา แรก ๆ ก็มีความหวั่นเกรงว่าจะไม่ได้ผืนป่าคืนมา แต่เพราะความหนักแน่น ความสามัคคี ของกลุ่มที่ต่อสู้กันมาโดยตลอดจนกว่าจะสำเร็จ และก็ถือว่าโชคดีที่มีสื่อต่าง ๆ มาสนับสนุนจนเกิดผลสำเร็จ พื้นที่สาธารณะป่าห้วยเม็กที่ได้กลับคืนมา เป็นผลมาจาก กลุ่มสิทธิชุมชนของชาวบ้าน ที่ได้เกาะเกี่ยวกันอย่างเหนียวแน่น ได้ประชุมกันมาอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะทวงคืนผืนป่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ลึก ๆ แล้วเกิดจากสื่อต่าง ๆ ที่เป็นแรงผลักที่ช่วยกันติดตามนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญคือเกิดจากคนในชุมชน แม้จะเป็นพลังเงียบ ก็เป็นแรงผลักดันอย่างมาก และสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ที่ร่วมกันผลักดัน เป็นแนวร่วม ผู้ชี้แนะให้แนวคิด
นายประดิษฐ์ ไชยศรี พ่อเฒ่าวัย 72 ปี ไวยาวัจกร วัดยางคำบ้านหนองแต้ อาชีพหลักคือทำนาทำไร่ และเปิดร้านค้าขายของชำในชุมชน หนึ่งในแกนนำที่ตั้งกลุ่มสิทธิชุมชน กลุ่มที่เป็นต้นเรื่องในการทวงคืนที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก มีการรวมตัวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 ภายหลังจากที่รู้ข่าวว่าบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังจะมาขอเช่าพื้นที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก เริ่มมีการจับกลุ่มคุยกัน 5-6 คน และขยายจนมีสมาชิกราวๆ 25 คน โดยนำกลุ่มองค์กรชุมชนไป อยู่ภายใต้ร่มสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง ที่มี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 รองรับ
กลุ่มสิทธิชุมชนเริ่มดำเนินการเรื่องป่า และเรื่องในชุมชน จากฐานคิดที่ว่าประชาชนมีสิทธิจะคิด และอยากให้ชาวบ้านตระหนักถึงเรื่องชุมชนของตนเอง สาเหตุของการรวมกลุ่ม ลุงประดิษฐ์ บอกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายๆ เรื่องในชุมชน รวมถึงเรื่องการเช่าที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก ที่เป็นเรื่องสิทธิของคนทั่วไปที่มักถูกมองข้ามไม่ให้ความสนใจ บางคนไม่สนใจ คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักปกป้องสิทธิของตนเอง แม้จะไม่ได้รับความเป็นธรรม เวลามีงานก็ไม่สะดวกมาร่วม เวลาประชุมก็ไม่สะดวกมาคุย ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาเพราะอยากให้คนในชุมชนสนใจ อยากให้คนรู้จักการรักษาสิทธิในเมื่อเรามีสิทธิ อะไรถูก อะไรผิดก็จะไม่รู้เรื่องกัน บางคนก็เห็นดีเห็นงาม บางคนก็ไม่อยากจะยุ่งด้วยไม่ใช่หน้าที่ ก็ต่างคนต่างทำมาหากินของเขาไป อย่างการตัดสินใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาหลายครั้งก็ไม่สนใจที่จะทำตามความต้องการของชาวบ้าน บางครั้งก็เอาด้วย บางครั้งก็ไม่เอาด้วยแม้จะมีการให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะจากชาวบ้านก็ตามที
ที่ผ่านมาเวลากลุ่มจะทำอะไร เราจะไม่บุ่มบ่าม เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันถูกต้องไม่ถูกต้องจริงหรือไม่ จนเมื่อสื่อมาเปิดประตูเราจึงมองเห็น ที่ผ่านมาเราได้ยินมาว่าเรื่องผ่านแล้ว ข้างบนเขาอนุมัติแล้ว แต่เพราะความสงสัยจึงเริ่มที่จะคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ค้นหาข้อมูลการจะตั้งโรงงานในพื้นที่อื่นๆ ว่าเขาเป็นอย่างไร ใช้เวลานานไหม จากที่มีคนบ้านอื่นมาคุยให้ฟังเขาก็ว่าใช้เวลานานผ่านหลายขั้นตอนกว่าที่โรงงานจะตั้งในพื้นที่ของเขาได้ แต่ทำไมที่บ้านเราจึงใช้เวลาไม่นาน ตอนแรกๆ ก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะมาเช่าที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก รู้แต่ว่าบริษัทเขามากว้านซื้อที่เพื่อตั้งโรงงาน
“ที่เราต้องการคือให้บริษัททำให้ดีขึ้น เราไม่ได้เรียกร้อง นั่นก็แล้วแต่เขา ชาวบ้านไม่ต้องการทะเลาะ และไม่อยากซ้ำเติม เราอยากเป็นมิตร อะไรที่ผิดก็ว่าไปตามผิด และเมื่อยอมรับผิดเราก็รู้จักให้อภัย” เป็นคำสนทนาในช่วงตอนท้ายๆ ของลุงประดิษฐ์ ที่ผมขอเรียกแกเล่น ๆ ว่า พ่อเฒ่ามาทาดอร์ผู้พิชิตกระทิงป่าห้วยเม็ก
ลำดับเหตุการณ์ การต่อสู้ของคนบ้านดง
นายชูชาติ ผิวสว่าง รองประธานสภาองค์กรชุมชน จ.ขอนแก่น เปิดเผยถึงลำดับเหตุการณ์สำคัญ ในการทวงคืนพื้นที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก โดยชาวบ้านดงอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง ที่มี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ.2551 เป็นกฏหมายที่รองรับกลุ่มองค์กรชาวบ้านให้มีสถานะในทางกฏหมาย เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวทวงคืนพื้นที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก
ปฐมบทแห่งการต่อสู้
(1) 8 ก.ย.58 กระทิงแดงทำหนังสือขออนุญาตใช้เส้นทางสาธารณะ ตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ป่าไม้ที่ดิน
(2) 5 ม.ค. 59 กรมที่ดิน มีหนังสือถึงผู้ว่าขอนแก่น โดยอ้างว่ายังไม่มีรายละเอียดครบถ้วน ไม่มีรายงานประชาคม และไม่มีรายงานผลการประชุมสภา อบต. รวมทั้งไม่มีการตรวจสอบแนวเขต และผลกระทบจากประชาชน
(3) 13 ม.ค.59 ศาลากลางมีหนังสือถึงนายอำเภอให้แจ้งให้ อบต. ดำเนินการ ในส่วนที่ขาดไม่สมบูรณ์ พร้อมแจ้งรายละเอียดการเช่าที่ดินป่าห้วยเม็ก และทางสาธารณะจำนวน 12-0-84 ไร่ สภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดงได้เห็นเอกสาร และเริ่มทำการประชุมหารือในกลุ่มเล็กเพื่อหาทางออก
(4 ) ม.ค. – ก.พ.59 สภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง ยังไม่สามารถเปิดประชุมหารือได้ เพราะยังไม่สามารถมีงบประมาณใด ๆ มาเคลื่อนไหว
รวมกลุ่มต่อสู้ทุกรูปแบบ
(5) สภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง เปลี่ยนแนวทางการเคลื่อนไหวเป็นคุยวงเล็ก 5-6 คน เรื่อยมาจนรวมคนได้ 28 คน ในนาม “กลุ่มคุ้มครองสิทธิชุมชน” และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ สภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง และเริ่มตั้งวงกันถี่ขึ้น แบบห่อข้าวมาคุยกัน เสียสละค่าใช้จ่ายส่วนตัวกัน การพูดคุยถี่ขึ้นเรื่อยๆ สัปดาห์ต่อสัปดาห์
(6) 8 ก.พ.59 กลุ่มสิทธิชุมชน ทำหนังสือถึงนายอำเภอ “คัดค้านการเช่าที่ และปิดเส้นทาง” พร้อมล่ารายชื่อชาวบ้าน 85 ครอบครัวประกอบ ทำรายละเอียดอื่นๆ ประกอบ และนายชูชาติ ผิวสว่าง ได้นำคณะเข้ายื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ
(7) กระทิงแดง เริ่มเข้ามาปิดเส้นทาง ถางป่า บอนต้นไม้ เผาป่าบางส่วน ขณะที่เรื่องที่อำเภอ เงียบ มีการไปแจ้ง อบต. ด้วยวาจา แต่เรื่องก็เงียบ แกนนำจึงไปเจรจากับบริษัทกระทิงแดงในป่าเพื่อให้ยุติก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจน
(8) 11 ก.ค. 59 สภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง นำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด เพื่อขอความเห็นชอบให้ใช้ ม.27 แห่ง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล ที่ประชุมอนุมัติให้เสนอผู้ว่าฯ แต่ไม่มีคณะกรรมการจังหวัด ดำเนินการต่อให้กับทางสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง การเคลื่อนไหวของสภาฯ จึงเป็นไปอย่างทุลักทุเล ชาวบ้านเริ่มขาดความมั่นใจเพราะสภาฯ ยังไม่มีหนังสือรับรองจากนายทะเบียน จึงยังไม่มีงบอะไรมาสนับสนุนให้เกิดการประชุม แกนนำใช้วิธีลงแขก ลงขันจัดประชุมขณะที่กระทิงแดง พัฒนาพื้นที่ไปต่อเนื่องทุกวัน และแกนนำทำได้เพียงใช้วิธีคุยเจรจาให้หยุดการกระทำ
(9) 8 ส.ค. 59 ชาวบ้านตัดสินใจ ใช้ ม.27 โดยไม่เปิดประชุมใหญ่ในระดับตำบล และยังไม่มีเลขทะเบียน รับรองจากนายทะเบียน ใช้เพียงการประชุมในระดับกลุ่มคุ้มครองสิทธิชุมชน แต่ใช้ร่มของสภาองค์กรชุมชนตำบล ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ พร้อมล่ารายชื่อ ทำเอกสารประกอบอย่างสมบูรณ์ ยื่นต่อผู้ว่าฯ “ขอให้ทางราชการเข้ามาตรวจสอบแนวเขตที่สาธารณะ”
(10) 31 ต.ค.59 ศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่น มีหนังสือตอบรับแจ้งว่าที่ดินดังกล่าว มท.1 ได้อนุมัติการเช่า พร้อมแจ้งรายละเอียด ชาวบ้านเริ่มกระจ่างว่า ที่สาธารณะ และเส้นทางสาธารณะ ได้ตกไปเป็นของนายทุนอย่างเป็นทางการแล้ว การเคลื่อนไหวเริ่มเข้มข้นขึ้น ชาวบ้านตั้งใจและพร้อมใจจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ความคิดชาวบ้านในหมู่บ้านก็ยังแตกเป็นสามกลุ่มแนวคิด กลุ่มหนึ่งพร้อมสู้ทวงคืน 25 แกนนำ กลุ่มสองไม่กล้าแสดงตนเกรงอิทธิพล และกลัวลูกไม่ได้ทำงาน แต่ก็พร้อมจะลงชื่อคัดค้าน และกลุ่มที่สาม ต่อต้านฝ่ายที่จะทวงคืนป่า
(11) 30 พ.ค.60 สภาองค์กรชุมชนตำบลได้รับหนังสือรับรองทะเบียนสภาองค์กรชุมชนตำบล มีเลขที่หนังสือรับรองจากนายทะเบียนอย่างเป็นทางการ เลขที่ 40087 แกนนำมีความมั่นใจว่าไม่เป็นองค์กรเถื่อน และมีความคาดหวังจะมีงบประมาณมาหนุนเสริมการพัฒนา
(12) 19 มิ.ย. 60 สภาองค์กรชุมชนฯ ทำหนังสือคัดค้าน ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
(13) 18 ส.ค.60 หลังหนังสือถึงนายก กรมการปกครองมีหนังสือมายังสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง แจ้งให้จังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริง และประมวลเอกสาร โดยให้ติดต่อกับสภาองค์กรขุมชน ต.บ้านดง โดยตรง
เมื่อประเด็นถูกตีแผ่สู่สื่อสาธารณะ
(14) 7 ก.ย. 60 เรื่องถูกตีแผ่ทางเพจเฟซบุ๊ก “หมาเฝ้าบ้าน”
(15) 8 ก.ย. 60 สื่อมวลชน อิศรา, ThaiPBS, และ PPTV เริ่มตีแผ่ผ่านรายรายการต่างๆ
(16) 9 ก.ย. 60 สื่อ ThaiPBS ลงพื้นที่พบชาวบ้าน ขึ้นโดรนถ่ายภาพป่ามุมสูง สื่อ web ต่างๆ เริ่มเพิ่มความเข้มข้นในการลงพื้นที่
(17) 10 ก.ย.60 โซเซียลมีเดีย เริ่มโจมตี มหาดไทย+กระทิงแดง ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัด ให้ข้อมูลต่อสื่อยังไม่พบการขออนุญาติจัดตั้งโรงงาน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมภาค 10 ให้ข้อมูลสื่อ ยังพบข้อมูลการคำนวณการใช้น้ำของทางกระทิงแดง
(18) 11 ก.ย. 60 สื่อบุก อบต.ไล่ล่าเอกสารอนุมัติ พบบันทึกประชาคม (แต่ยังไม่ตีแผ่) มท.1 สั่งตรวจติดตามข้อเท็จจริงจากข่าว ในช่วงเย็น สื่อโจมตีอย่างหนัก นายกฯ สั่งให้เวลา 90 วัน เคลียร์ให้เสร็จ ทหารเข้าตรวจสถานการณ์ที่ป่าห้วยเม็ก
(19) 12 ก.ย. 60 มท.1 สั่งการให้ทุกภาคส่วนเคลียร์ในเวลา 15 วัน เกิดวาทะกรรม “คัดค้านเพียง 1 คน พร้อมจะยกเลิก” สั่งทุกหน่วยลงพื้นที่ ส่วนราชการลงพื่นที่ ตลอดทั้งวัน ทหารประจำที่ป่าห้วยเม็ก
(20) 13 ก.ย. กรมที่ดิน อำเภอ จังหวัด ลงพื้นที่ดูป่า พบข้อเท็จจริง ป่าสมบูรณ์ มท.1 ประกาศถูกวางยา ทุกฝ่ายที่ลงพื้นที่ต่างก็แถลงผลการลงพื้นที่ สภาองค์กรชุมชนอีสานเริ่มออกแถลงการณ์หนุนการทวงคืนป่าห้วยเม็ก ทหารประจำที่ป่า
(21) 14 ก.ย. 60 นายชูชาติ ผิวสว่าง รองประธานสภาองค์กรชุมชน จ.ขอนแก่น ออกแถลงข่าวที่ศาลากลางจังหวัด อย่างเข้มข้น ไล่เรียงเนื้อหา ชี้จุดผิดพลาด เพื่อให้ทุกฝ่ายประกอบการตัดสินใจ พร้องแจ้งระดมพล สภาฯ 20 จังหวัดเข้าหนุนการทวงคืนฝืนป่า และนำแกนนำเข้าแจ้งความ ประชาคมเท็จ แถลงการณ์ภาคประชาชนเริ่มทยอยผ่านสื่อ ทหารเข้าพูดคุยกับแกนนำที่ป่า
ทวงคืนสำเร็จ ชาวบ้านได้พื้นที่สาธารณะป่าห้วยเม็กกลับคืนมา
(22) 15 ก.ย.60 ช่วงเย็นกระทิงแดง ออกแถลงการณ์ “พร้อมจะคืนป่าห้วยเม็ก”
(23) 16 ก.ย. 60 ที่ดินจังหวัดแถลงข่าวได้รับหนังสือจากกระทิงแดงเป็นทางการ
(24) 17 ก.ย. 60 ส่วนราชการพร้อมทหารลงพื้นที่ ต่อเนื่อง
(25) 18 ก.ย. 60 ส่วนราชการลงพื่นที่ ทหารออกหาข่าวรอบตำบล กระทิงแดงเอารถตู้ปิดทางเข้าป่า เพื่อสังเกตการณ์ จนรถคันอื่นๆ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ มีประกาศจาก รองผู้ว่าขอนแก่น กระทิงแดงยกเลิกการเช่าป่าห้วยเม็ก อย่างเป็นทางการ บ่ายสามโมง อธิบดีลงพื้นที่ พบชาวบ้านในป่า ถอยกลับ
(26) 19 ก.ย.60 ส่วนราชการและทหารลงพื้นที่
(27) 20 ก.ย. 60 นศ.มข.เข้าสมทบในป่า สภาอุตสาหกรรมลงพื้นที่พบ กลุ่มแกนนำและ นศ.มข. อยู่ในป่า สภาอุตสาหกรรมถอยกลับ ขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสานเริ่มรณรงค์ระดมกล้าไม้เพื่อร่วมบวชป่า-ปลูกป่าห้วยเม็ก
(28) 21 ก.ย. 60 ผู้ตรวจมหาดไทยนำคณะชุดใหญ่ลงพื่นที่พร้อมราชการ จว. ตำบล ท้องที่ เดินดูแนวเขต ทำข้อตกลงกับชาวบ้าน ยื่นเงื่อนไขกระทิงแดง 3 ข้อ 1) ร่วมสำรวจแนวเขต ดูความเสียหาย 2) หลังจากสำรวจแนวเขต ชัดเจนแล้วให้ทำการคืนสภาพป่าให้ใกล้เคียงสภาพเดิม และ 3) สูบน้ำออกจากป่า ให้เท่ากับสภาพตามธรรมชาติ และปรับแนวพื่นที่ให้คืนสภาพเดิม
(29) 22 ก.ย. 60 ราชการลงพื้นที่ดูรายละเอียดประกอบเรียกสอบผู้เกี่ยวข้องทั้งส่วนชาวบ้าน และราชการท้องถิ่น ท้องที่
(30) 23 ก.ย. 60 สอบข้อเท็จจริงระดับอำเภอ ชาวบ้านเฝ้าระวังในป่า สื่อเกาะติด
(31) 24 ก.ย. 60 กระทิงแดง เริ่มสูบน้ำออกจากป่า
(32) 25 ก.ย. 60 นายกสั่งสอบเช่าที่ดินสาธารณะทั่วประเทศ มท.1 ตั้งคณะกรรมการสอบทุกฝ่าย ชาวบ้านแจ้งความเพิ่ม หลายจังหวัดเริ่ม ทวงคืน มีการสอบแกนนำ ชาวบ้านเตรียมงานบวชป่าปลูกป่า
(33) 27 ก.ย. 60 ชาวบ้านเฝ้าระวัง และกำชับกระทิงแดงซ่อมแซมสูบน้ำออกจากป่า กรรมการ เริ่มเรียกสอบชาวบ้าน สอบ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านเตรียมงานบวชป่าปลูกป่า
บวชป่า-ปลูกป่า ฟื้นฟูที่ดินสาธารณะ ป่าห้วยเม็ก
(34) 28 ก.ย. 60 ชาวบ้านร่วมกับส่วนราชการ และท้องถิ่น ท้องที่ ทหาร พระสงฆ์ นักเรียนฯ ร่วมกันปลูกป่ากระทิงแดงเข้าร่วมตามเงื่อนไขคืนพื้นที่ให้ไกล้เคียงสภาพเดิม (ในจุดที่กระทิงแดงปรับป่าเป็นเส้นทางลำเลียงเครื่องมือ อุปกรณ์) มียอดร่วมสมทบกล้าไม้จากหลายภาคส่วนทั้งสภาองค์กรชุมชนในภาคอีสาน และภาคีต่างๆ กว่า 5,000 ต้น เงินบริจาค 7,200 บาท
(35) 29 ก.ย. 60 แกนนำบางคนนอนพัก บางคนไปนา บางคนไปเตรียมออกพรรษา และบางคนเตรียมงานกฐิน
(36) สภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง วางแผนการสำรวจจับพิกัด GPS เพื่อทำแผนที่ GIS แผนที่การใช้ประโยชน์ และจะดำเนินการยกร่างธรรมนูญตำบล เพื่อผลักดันเข้าสู่ข้อบัญญัติของท้องถิ่น ในการดูแลรักษาพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ป่าแห่งอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั้งตำบล
บทบาทสภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง กับการปกปักษ์พื้นที่สาธารณะป่าห้วยเม็ก
สภาองค์กรชุมชน ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น แม้จะเป็นน้องใหม่จดแจ้งจัดตั้งเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 59 ที่ผ่านมา แต่ก็สามารถใช้เครื่องมือนี้ในการทวงคืนผืนป่าห้วยเม็กกลับคืนมาให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนตำบล ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 51 เป็นกฏหมายที่ทำให้องค์กรชุมชนมีสถานะในทางกฏหมายรองรับ ให้ชุมชนมีภารกิจในการประสานงาน เสนอปัญหาและและนโยบายต่อหน่วยงานรัฐ และองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นการรับรองสถานะให้สิทธิอำนาจแก่ชุมชน
กฏหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งสามารถร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ เป็นกฏหมายรับรองให้เวทีการปรึกษาหารือของชุมชนมีสถานะที่ชัดเจนเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย เป็นสภาที่มีภารกิจแต่ไม่มีอำนาจ ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเอง มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ สร้างระบบประชาธิปไตย และระบบธรรมภิบาล และให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่มีอยู่ในชุมชน
นายชูชาติ ผิวสว่าง รองประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า การใช้สภาองค์กรชุมชนเพื่อทวงคืนผืนป่าห้วยเม็ก เป็นการขับเคลื่อนภายใต้กระบวนการของสภาองค์กรชุมชน ตั้งแต่ระดับตำบล สะท้อนภาพมาที่ระดับจังหวัด และสะท้อนขึ้นไปสู่สังคมในระดับชาติ เป็นการขยับตามมาตรา 21 ทางตำบลท้องถิ่นก็ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และไปสู่ระดับจังหวัดเราก็เอาปัญหาของตำบลเสนอไปที่ระดับจังหวัดเพื่อส่งผ่านไปที่ระดับชาติ หมายความว่าเราได้ใช้กระบวนการของสภาองค์กรชุมชนในการทวงคืนผืนป่าทั้ง มาตรา 21 มาตรา 27 และมาตรา 32 ได้อย่างสมบูรณ์ข้อดีของการใช้สภาองค์กรชุมชน ก็คือ เป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง สื่อทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก สื่อโซเชียลมีเดีย ทุกที่รู้จักคำว่าสภาองค์กรชุมชน การเคลื่อนครั้งนี้เราได้ใช้กระบวนการของสภาองค์กรชุมชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้เกิด การรู้จักสภาองค์กรชุมชนมากขึ้น ชาวบ้านได้ผืนป่ากลับคืนมา และในทางสังคมก็ลุกขึ้นมาช่วย โดยเฉพาะสื่อที่มาช่วยจนเราได้รับความสำเร็จ ได้ที่สาธารณะ ได้ผืนป่ากลับคืนมา และยังได้สะท้อนในภาพกว้างถึงขบวนการตรวจสอบภาครัฐของภาคประชาชนถือเป็นบทเรียนสำคัญที่น่าสนใจ
(ล้อมกรอบ) พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551
มาตรา 21 ให้สภาองค์กรชุมชนตำบล มีภารกิจดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
(3) เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกองค์กรชุมชน รวมตลอดทั้งการร่วมมือกันในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
(4) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(5) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(6) จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการต้องนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย
(7) ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็งและสมาชิกองค์กรชุมชนรวมตลอดทั้งประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
(8) ประสานและร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนตำบลอื่น
(9) รายงานปัญหาและผลที่เกิดขึ้นในตำบลอันเนื่องจากการดำเนินงานใด ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐ โดยรายงานต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
(10) วางกติกาในการดำเนินกิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล
(11) จัดทำรายงานประจำปีของสภาองค์กรชุมชนตำบล รวมถึงสถานการณ์ด้านต่าง ๆที่เกิดขึ้นในตำบล เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบ
(12) เสนอรายชื่อผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลเพื่อไปร่วมประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวนสองคน
มาตรา 27 ให้ที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบล ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- เสนอแนวทางการพัฒนาจังหวัดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด
- เสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนในเรื่องการจัดทำ บริการสาธารณะและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างสภาองค์กรชุมชนตำบลเพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
- เสนอข้อคิดเห็นในเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดปรึกษา
- เสนอรายชื่อผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลสองคน เพื่อไปร่วมประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล
มาตรา 32 ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
- ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
- สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ