ผอ.ประชาไท ผิด พ.ร.บ.คอมฯ! ศาลฎีกาพิพากษายืน – กำหนดหน้าที่ตัวกลาง

ผอ.ประชาไท ผิด พ.ร.บ.คอมฯ! ศาลฎีกาพิพากษายืน – กำหนดหน้าที่ตัวกลาง

23 ธ.ค. 2558 เวลา 9.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษา ในคดีที่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 

จากกรณีพบการโพสต์ข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไท นาน 20 วัน ศาลฎีการะบุถึงพฤติการณ์แวดล้อมที่ชี้ว่า แม้จำเลยจะให้ความร่วมมืออย่างรวดเร็วในการลบโพสต์ข้อความ แต่จำเลยไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่โดยไม่ส่งข้อมูล IP address ของผู้ใช้บริการเว็บบอร์ดรายอื่นๆ ที่มีข้อความเข้าข่ายหมิ่นสถาบันให้เจ้าหน้าที่เพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด เป็นตัวชี้เจตนาที่ไม่ได้ต้องการสอดส่องดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ต้องเก็บ IP address ไว้ เป็นเวลา 90 วัน ทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ใช้รายอื่นได้

“กรณีนี้อาจก่อให้เกิดภาระรับผิดชอบที่กว้างขวางของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจเกินกว่ากฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติตามด้วยซ้ำไป” ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลย ให้ความเห็น และขยายความว่าเป็นการระบุหน้าที่ของตัวกลางที่ต้องให้ความร่วมมือในการนำส่งข้อมูล IP address ให้เอง โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ร้องขอ และเป็นไปได้ที่จะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานการพิจารณาคดีต่อผู้ให้บริการรายอื่นๆ 

ธีรพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่จำเลยยื่นฎีกาในคดีนี้ คือตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดแจ้งชัดว่าผู้ให้บริการมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบข้อความที่เป็นความผิดตามกฎหมายอย่างไร แค่ไหน โดยจำเลยได้กระทำตามสมที่ที่ผู้ประกอบวิชาชีพพึงมีต่อสังคม การที่ศาลวินิจฉัยว่า “ยินยอมให้เกิดการกระทำผิดในระบบ” การ “ยินยอม” นั้นต้องดูว่ามีเจตนาและปรากฏของเท็จจริงว่าจำเลยรับรู้ ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยรู้ถึงการมีอยู่ เพียงอนุมานจากระยะเวลาว่ารับรู้แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่าประจักษ์พยานพิสูจน์การรับรู้เป็นเรื่องยาก แต่พิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อม ว่าแต่จำเลยไม่ได้ส่งข้อมูล IP address ของผู้ใช้บริการเว็บบอร์ดอื่นๆ ที่มีข้อความเข้าข่ายหมิ่นฯ ซึ่งลบไปแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด

ด้าน จีรนุช เปรมชัยพร กล่าวว่า เคารพต่อคำพิพากษาของศาล แต่มีข้อกังวลว่าผลจากคดีนี้จะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจกระทบต่อการปฏิบัติตัวของผู้ให้บริการ เพราะข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการเป็นข้อมูลสำคัญ หากไม่มีเหตุอันควร การยื่นข้อมูลเหล่านี้ให้เจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องร้องขอ ผู้ให้บริการอาจละเมิดต่อผู้ใช้บริการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำพิพากษาวันนี้ มีตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และตัวแทนจากสถานทูตฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย 

สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2555 ให้มีความผิดจากการปล่อยให้ข้อความ 1 ข้อความอยู่ในระบบนานถึง 20 วัน ส่วนข้อความอีก 9 ข้อความที่ลบออกภายในเวลา 1-11 วันนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยยังไม่ถึงขั้นจงใจสนับสนุนหรือยินยอม จึงให้ยกฟ้อง ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14(3) และลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือนและปรับ 20,000 บาท เนื่องจากจากทางนำสืบของจำเลยอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เมื่อจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอลงอาญา 1 ปี และชำระค่าปรับ

ต่อมาวันที่ 8 พ.ย. 2556 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 8 เดือนและรอลงอาญา 1 ปี โดยศาลอุทธรณ์ระบุว่า หากจำเลยมีความใส่ใจเพียงพอย่อมไม่ปล่อยอยู่ในระบบถึง 20 วัน ทั้งจำเลยมีทั้งความรู้และประสบการณ์ด้านสื่อ โดยเฉพาะการทำงานในระดับหัวหน้า จึงควรตระหนักดีว่าการปล่อยปละละเลยเช่นนั้นย่อมกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับสถาบันหลักของชาตินี้เป็นอย่างยิ่ง 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยเป็นเพียงตัวกลาง และโทษจำคุกต้องบังคับใช้อย่างเคร่งครัดเฉพาะผู้ที่เป็นภัยต่อสังคม การจำกัดอิสรภาพจำเลยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม จึงให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีนอกเรือนจำ และเห็นควรให้รอการลงโทษตามศาลชั้นต้น

เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก: ประชาไท และ iLaw

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ