จากบางนาสู่บางเขน
ตอนที่ 1 : ทำไมต้องฝึกงานที่ Thai PBS
ผมสนใจและติดตามการเปลี่ยนผ่านของทีวีเสรี หรือ ไอทีวี ไปสู่ทีวีสาธารณะ หรือ ไทยพีบีเอส มาอย่างต่อเนื่อง เพราะกระเทือนต่อวงการสื่อสารมวลชนไทยเป็นอย่างยิ่ง และด้วยความสนใจนี้เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกเรียนในสายนิเทศศาสตร์ เพื่อที่จะได้ทำงานในสายวิทยุโทรทัศน์ และเมื่อมีโอกาสได้เข้าฝึกงานตั้งแต่ปี 1 ผมจึงเลือกมาฝึกที่ Thai PBS ทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย
ในช่วงที่เข้าปฐมนิเทศนักศึกษาฝึกงาน Thai PBS วิทยากรถามกับนักศึกษาทุกคนว่าคาดหวังอะไรกับการฝึกงานที่ Thai PBS นักศึกษาแต่ละคนก็ตอบไม่ต่างกันว่า คาดหวังอยากเป็นผู้ประกาศข่าวบ้าง อยากทำงานที่นี่บ้าง หรือบางคนก็คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้ … บ้าง แต่ผมคาดหวังกับการค้นหาคำตอบว่า Thai PBS เป็นทีวีที่คุณวางใจ จริงหรือไม่ ความคาดหวังของผมต่อเนื่องมาจากความสนใจในมหากาพย์โทรทัศน์สาธารณะไทย และนี่จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ผมจะได้มาสัมผัส มาอยู่ มาเรียนรู้ในที่ที่ผมอยากทำความรู้จักให้มากกว่านี้ เพราะหลายปีที่ผ่านมา ผมสัมผัสกับ Thai PBS ผ่านเพียงหน้าจอ และตัวหนังสือในบทความ ในหนังสือต่างๆ เท่านั้น
ผมสังเกต และสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมข่าวของ Thai PBS จึงแตกต่างจากช่องอื่น ขณะที่ช่องต่างๆกำลังนำเสนอข่าวเดียวกัน แต่บางครั้ง Thai PBS ก็มักจะเสนอในอีกแง่มุมหนึ่ง บ้างครั้งก็เห็นชาวบ้านทำสกู๊ปลงเสียงออกทีวีด้วยตนเอง ผมคิดต่อมาถึงรูปแบบการนำเสนอ ในขณะที่ช่องอื่นๆ ตอนเช้าต้องคุยข่าว แต่ Thai PBS อ่านข่าว และชอบนำเสนอเป็นสกู๊ป มันไม่น่าเบื่อหรือ หรือที่ทำแบบนี้เพราะมีอะไรมากไปกว่านั้น
จากบางนาคือ Nation เพราะผมเป็นนักศึกษามาจากม.เนชั่น สู่บางเขน เพราะผมมาฝึกงานที่ Thai PBS ซึ่งตั้งอยู่เขตบางเขน ผมอดที่จะเปรียบเทียบวิธีการทำข่าวของสำนักข่าวใหญ่ทั้ง 2 สำนักของไทยแห่งนี้ไม่ได้ เมื่อเคยสัมผัสจากอีกที่ แล้วมาสัมผัสกับอีกที่ จึงพบความแตกต่าง และความเหมือนที่ทำให้ผมเข้าใจในอะไรบางอย่างมากขึ้น บางอย่างที่ผมว่า ถ้าท่านอ่านรายงานเล่มนี้ดีดี ท่านจะพบคำตอบที่ซ้อนอยู่
การฝึกงานที่ Thai PBS ครั้งนี้ของผม ไร้ซึ่งแรงกดดัน เพราะตนพึ่งอยู่เพียงปี 1 ฉะนั้นการนั่งนิ่งๆใน Office ของผมในบางช่วงเวลา ที่บางครั้งก็รู้สึกยาวนาน ก็ทำให้ได้เรียนรู้ สัมผัส รับรู้ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
พรุ่งนี้ติดตามตอนที่ 2 “โรงงานข่าว”