แม่โจ้โพลล์ชี้!!ชาวนากว่าครึ่งยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ ด้านชาวนาที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วส่วนใหญ่พึงพอใจ

แม่โจ้โพลล์ชี้!!ชาวนากว่าครึ่งยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ ด้านชาวนาที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วส่วนใหญ่พึงพอใจ

แม่โจ้โพลล์ สำรวจความคิดเห็นของชาวนาจากทั่วประเทศ ประเด็นความพึงพอใจต่อมาตรการในการช่วยเหลือจากภาครัฐปี 2559 พบว่าชาวนาส่วนใหญ่พอใจกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะที่ร้อยละ 55.04 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการดังกล่าว
 

            ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและมีความเป็นมาอย่างช้านาน ข้าวนั้นมี ความเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเป็นทั้งอาหารหลักและแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศ ปริมาณการส่งออกข้าวในช่วงที่ผ่านมามียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าในปี 2558 มีปริมาณการส่งออกข้าว 9.79 ล้านตัน ซึ่งนับว่าลดลงร้อยละ10.8 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีปริมาณการส่งออกข้าว 10.79 ล้านตัน อ้างอิงจากข้อมูล สำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์

 

20160809152058.jpg

           สำหรับพื้นที่การปลูกข้าวของประเทศไทย  ปี 2559 มีพื้นที่การปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้น 908,210 ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558  ซึ่งอาชีพเกษตรกรหรือ “ชาวนา” เป็นอาชีพที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน ซึ่งนับเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” เพราะเป็นอาชีพที่ผลิตข้าวให้กับคนไทยได้บริโภคและยังสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่ในทุกฤดูกาลทำนา ชาวนาส่วนใหญ่จะต้องเป็นลูกหนี้ทั้งในและ นอกระบบ คือ กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรฯ หรือ ธกส. เพื่อนำเงินสดมาจ่ายค่าปัจจัยด้านการผลิต  อันได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และค่าจ้างแรงงานรถไถหรือค่าผ่อนรถไถนา รวมไปถึงค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว และเงินกู้นอกระบบ ซึ่งมีทั้งเงินกู้สดมาจ่ายค่าปัจจัยการผลิต และซื้อสินค้าเงินเชื่อแล้วจ่ายคืนเมื่อขายข้าวได้
           นอกจากจะเป็นหนี้เพราะการลงทุนแล้วมีอยู่ไม่น้อยที่เป็นลูกหนี้นอกระบบเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครัวเรือนในช่วงที่ยังเก็บเกี่ยวและขายข้าวไม่ได้ จึงกล่าวได้ว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นหนี้สะสมไม่มีวันปลอดหนี้ สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้มีหลายประการ เช่น

  1. ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีที่นาเป็นของตนเองหรือมีบ้างแต่ก็ไม่มีมากพอที่จะทำให้สามารถมีรายได้นำมาเลี้ยงครอบครัว  จึงต้องเช่าที่นาเพิ่มทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  
  2. มีการลงทุนทำนาในแต่ละปีจะต้องลงทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูง
  3. ในแต่ละฤดูกาลผลิตชาวนาต้องเสี่ยงกับภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น ทั้งนี้ยังเสี่ยงต่อราคาขายที่อาจจะต่ำกว่าต้นทุน ในปีที่มีผลผลิตข้าวล้นตลาดโลกและส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำตามไปด้วย 

20160809152300.jpg

          เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวชาวนาจึงคาดหวังว่าจะได้ผลผลิตมากและขายได้ราคาดีพอจะมีกำไรมาใช้หนี้และเหลือมาใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทและแก้ไขจัดการให้ชาวนาเลี้ยงตนเองได้โดยปราศจากการเป็นหนี้และมีเงินเหลือไว้ใช้ในยามจำเป็น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ผ่านระบบ ธกส. สำหรับมาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้มีดังนี้

1) สนับสนุนช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาทแต่ไม่เกิน 10 ไร่   
2) พักชำระหนี้เงินกู้ (เงินกู้) เป็นเวลา 2 ปี และลดดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 2 ปี 
3) อบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ทางการเงินและปรับการผลิตแก่เกษตรกรที่มีรายได้น้อยจำนวน 300,000 ราย
4) สนับสนุนเงินค่าเบี้ยประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 แก่ชาวนาที่เป็นลูกค้า ธกส.ซึ่งเป็น 4 มาตรการที่รัฐบาลที่ประกาศใช้เพื่อหวังช่วยเหลือชาวนาให้คุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น

 

20160809151648.jpg

         หลังจาการประกาศใช้มาตรการของรัฐ ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวนาจากทั่วประเทศ  จำนวน 768 ตัวอย่าง  ระหว่างวันที่ 20-31 สิงหาคม 2559 ในหัวข้อ “ชาวนาไทยกับมาตรการของภาครัฐปี 2559” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของชาวนาไทยกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ และ สำรวจระดับความพึงพอใจต่อมาตรการในการช่วยเหลือจากภาครัฐปี 2559 ซึ่งจากการสอบถามชาวนาไทยในช่วงที่ผ่านมาถึงปัญหาในการผลิตข้าว พบว่า ในช่วงที่ผ่านมาชาวนาไทยประสบปัญหาในการผลิตข้าว ได้แก่

1.ประเด็น : ปัญหาในการผลิตข้าว

           อันดับ 1 (ร้อยละ 80.76) คือ ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น
           อันดับ 2 (ร้อยละ 50.27) คือ ปัญหาต้นทุนการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น
           อันดับ 3 (ร้อยละ 47.02 ) คือ ปัญหาการตลาดและราคาข้าว

2.ประเด็น : วิธีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขในขั้นตอนการผลิตข้าวนั้น พบว่า

          อันดับ 1 (ร้อยละ 46.34 ) คือ มีการลดต้นทุนการผลิต
          อันดับ 2 (ร้อยละ 43.50) คือ   ไม่เปลี่ยนแปลงและปลูกเหมือนเดิม
          อันดับ 3 (ร้อยละ 37.13) คือ เปลี่ยนแปลงไปปลูกพืชอื่นหรือปลูกพืชอื่นร่วมด้วย

3.ประเด็น : มาตรการช่วยเหลือชาวนาจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน
พบว่าชาวนาส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4 ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือในขณะที่ร้อยละ 44.95 ได้รับความช่วยเหลือในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เรื่องที่ได้รับความช่วยเหลือได้แก่  
          1) ด้านการเงิน เช่น การพักชำระหนี้ นโยบายข้าวไร่ละ 1,000 บาทแต่ไม่เกิน 15 ไร่     
          2) การช่วยเหลือในด้านพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์
          3) การสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร

4.ประเด็น : ระดับความพึงพอใจต่อมาตรการช่วยเหลือชาวนาในปี 2559 พบว่า
           อันดับ 1 พึงพอใจต่อการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10 ไร่ ในระดับ มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.62) 
           อันดับ 2 พักชำระหนี้เงินกู้ (เงินต้น) เป็นเวลา 2 ปีและลดดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 2 ปี ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.58)
           อันดับ 3 สนับสนุนเงินค่าเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 แก่ชาวนาที่เป็นลูกค้า ธกส. ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.51)
           อันดับ 4   อบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ทางการเงินและปรับการผลิตแก่เกษตรกรที่มีรายได้น้อยจำนวน 300,000 ราย ในระดับมากที่สุด(ค่าเฉลี่ย 4.40) และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคกลางนั้นมีระดับ ความพึงพอใจในเรื่องการสนับสนุนช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท  แต่ไม่เกิน 10 ไร่ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพื้นที่ในการปลูกข้าวของภาคกลางนั้นมีพื้นที่มากกว่าภาคอื่นๆ ในประเทศ

5.ประเด็น : ข้อเสนอแนะต่อมาตรการในการช่วยแหลือชาวนา
         1) อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่อง ราคาข้าว และสนับสนุนในด้านปัจจัยการผลิต
         2) อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร
         3) อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือจัดการเกี่ยวกับระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพ

20160809154812.jpg

          จากผลการสำรวจพบว่าชาวนาส่วนใหญ่ประสบปัญหาเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและยังคงประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่มีราคาสูงขึ้นในแต่ละปี อีกทั้งยังพบว่า ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งนี้รัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทและรับรู้ถึงปัญหาของชาวนาอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าชาวนาส่วนใหญ่จะพอใจกับมาตรการช่วยเหลือชาวนาจากภาครัฐ แต่ยังมีชาวนาบางส่วนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจาก การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐนั้นยังไม่สามารถเข้าถึงชาวนาในทุกพื้นที่ เพื่อให้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐขึ้นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป และชาวนายังสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริง ซึ่งอยากให้ภาครัฐเร่งให้ความช่วยเหลือ คือ ประเด็น เรื่องราคาข้าว และสนับสนุนในด้านปัจจัยการผลิต และการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร รวมไปถึงการช่วยเหลือจัดการเกี่ยวกับระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ