อยู่ดีมีแฮง : ผู้สูงอายุติดเตียง กับ CareGiver แล้วพวกเขาคือใคร?

อยู่ดีมีแฮง : ผู้สูงอายุติดเตียง กับ CareGiver แล้วพวกเขาคือใคร?

ในหลายประเทศมีการวางแผนรับมือคนชรา  แม้พวกเขาไม่ใช่อาชญากรและไม่ได้มีความผิดใด ๆ แต่ทำไมต้องรับมือนั่นก็เพราะว่าตามหลักสากลแล้วคนอายุเกิน 60 ปี จะไม่มีใครจ้างทำงานทำให้พวกเขาไม่มีรายได้  และยิ่งอายุมากขึ้นสวนทางกับเรี่ยวแรงที่น้อยลง ๆ เรื่อย ๆ จนเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ยากไปจนถึงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  ภาระจึงตกอยู่กับลูกหลานที่ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีเวลาดูแลเพราะมัวแต่ทำงานหาเงิน  วัฏจักรแบบนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานเพราะยุคสมัยก่อนวัฒนธรรมไทยจะอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่  แต่ละบ้านจะมีลูกมากแม้จะออกเรือนแต่ก็จะปลูกบ้านอยู่ใกล้กันทำให้ไม่มีปัญหาในการดูแลผู้สูงอายุแตกต่างจากสมัยนี้ที่ครอบครัวเล็กลงแถมแยกกันไปอยู่คนละทิศละทางทิ้งพ่อแม่ให้อยู่ตามลำพัง

หนึ่งในแนวทางรับมือของประเทศไทยคือการตั้งทีมดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชนที่ชื่อว่า Caregiver หรือผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง หรือที่เรียกกันติดปากตามอักษรย่อภาษาอังกฤษว่า CG โดยกองทุนเพื่อการบริการสุขภาพระยะยาว (LTC) ดำเนินการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อปี 2559  ซึ่งงานหลักของ CG จะเป็นการลงเยี่ยมบ้านช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ดูแลด้านกิจวัตรประจำวัน อาบน้ำ แต่งตัว ป้อนข้าว ป้อนยา คัดกรอง ประเมินปัญหาสุขภาพและให้บริการด้านสุขภาพเบื้องต้น

CG ไม่ได้มีอยู่ในทุกชุมชน  หากชุมชนไหนพร้อมถึงจะมีการจัดตั้ง  ซึ่งแต่เดิมโครงการจะรับสมัครเอาคนทั่วไปเพื่อฝึกอบรมอย่างน้อย 70 ชั่วโมง  แต่อาจจะด้วยค่าตอบแทนที่น้อยและเป็นงานกึ่งจิตอาสาจึงหาคนทำหน้าที่นี้ได้ยาก  หลายชุมชนจึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มบทบาทหน้าที่ของ อสม.ซึ่งพวกเขาปฏิบัติหน้าที่ใกล้เคียงกับ CG อยู่แล้ว

คุณยายโหง่น รัตนวงศ์สวัสดิ์ วัย 99 ปี  อยู่ที่บ้านหนองบัวเงิน  ต.สตึก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์  แม้กิจวัตรประจำวันธรรมดาอย่างการกินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ คุณยายก็ทำไม่ได้แล้ว  ทุก ๆ วันจึงต้องมีลูกหลานอยู่ใกล้ ๆ เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งลูก ๆ เองก็อายุ 70 กว่าปีแล้วจึงเป็นผู้สูงอายุเช่นกันแต่โชคดีที่ชุมชนนี้มี Caregiver

วงเดือน  อินสำราญ และ บุญมี  ยิบรัมย์ คือ CG ประจำหมู่บ้านหนองบัวเงิน  ทั้งคู่พัฒนาบทบาทตนเองขึ้นมาจาก  อสม. พวกเขาต้องออกเยี่ยมบ้านที่มีผู้สูงอายุสัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างน้อย  วงเดือนโทรหาบุญมีแต่เช้าเพื่อวางแผนออกเยี่ยมผู้สูงอายุตามคิว  ซึ่งวันนี้เป็นคิวของยายโหง่น

เสียงเบรกรถมอเตอร์ไซค์หยุดอยู่ใต้ต้นมะม่วงหน้าบ้านยายโหง่น  แม้จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนแต่คุณยายร้อยปีก็รู้ถึงการมาของ CG ทั้งสอง  การเข้านอกออกในของคนทั้งคู่จึงไม่ต่างจากสมาชิกของครอบครัว  พวกเขาเดินตรงขึ้นไปหาคุณยายบนบ้านเหมือนเช่นทุกครั้ง

“เมื่อไปถึงเราจะวัดความดันโลหิตและชั่งน้ำหนักถ้าทำได้  จากนั้นค่อยทดสอบให้คุณยายลองกำมือ  แบมือ  สะบัดข้อทั้งแขนและขา  อันนี้ทางด้านร่างกาย  ส่วนทางสมองก็ให้ลองทบทวนความจำโดยการนับเลขเดินหน้าและนับถอยหลังบางคนก็นับไม่ได้  หลังจากนั้นเราก็จะให้คำแนะนำกับลูกหลานผู้ดูแลเป็นประจำถึงหลักปฏิบัติต่าง ๆ เช่น อาหารของผู้สูงอายุจะเน้นให้กินผักและปลาซึ่งบางเคสเมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

วงเดือน อินสำราญ

“เราใช้หลักการประเมินจากคะแนนโดย 0-4 คะแนน จะเป็นผู้สูงอายุติดเตียง  5-11 คะแนนคือผู้สูงอายุติดบ้านและ 12 คะแนนขึ้นไปคือประเภทติดสังคม ซึ่งการให้คะแนนนั้นจะได้มาจากการทดสอบ เช่น  ตักอาหารเข้าปากเองได้ไหม  ถ้าได้ก็ให้ 1 ถ้าไม่ได้ก็เป็น 0 คะแนน หรือกลั้นปัสสาวะ  อุจจาระได้ไหมถ้าไม่ได้ก็ได้ 0 คะแนน  หรือการทดสอบอื่น ๆ อย่างการขึ้นลงบันได้  อาบน้ำ แปรงฟัน คือเราจะทดสอบด้วยเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันนั่นเอง”

บุญมี  ยิบรัมย์

ปัจจุบันคุณยายโหง่นถูกประเมินให้เป็นผู้สูงอายุติดเตียงเพราะทำคะแนนได้ 0 ในทุกด้าน  ทำให้นอกจากจะต้องมี CG คอยให้คำแนะนำแล้วยังต้องมีลูกหลานคอยดูแลเป็นหลักด้วย

“เราจะแบ่งออกเป็นประเภท คือ ประเภทติดสังคม คือไปวัดไปตลาดได้ ติดบ้าน คือ อยู่แต่ในบ้านดูแลตัวเองได้  และติดเตียง  คือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  คุณยายโหง่นเป็นประเภทติดเตียง คือดูแลตัวเองไม่ได้ ซึ่ง Caregiver จะเข้ามาดูแลเดือนละ 4 ครั้งโดยก่อนหน้านั้น CG จะเข้ามาเก็บข้อมูล  ส่วนทาง รพ.สต.จะมี Caremanager หรือ CM คือผู้ออกแบบการดูแลผู้สูงอายุ  เมื่อได้ข้อมูลของผู้สูงอายุมาแล้วก็จะแยกประเภท  ร่วมกันวิเคราะห์แล้ววางแผนดูแลในระดับหมู่บ้าน  แต่สิ่งสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่ Caregiver แต่เป็นผู้ดูแลที่อยู่ในครอบครัวของเขาเอง  แต่หากมีปัญหาในระหว่างนั้นก็สามารถโทรศัพท์หา CG ได้ตลอดเวลา”

สุทัศน์  สิมพราช ผอ. รพ.สต.บ้านหนองเกราะ

แม้จะทำงานแบบกึ่งจิตอาสาแต่ CG ที่นี่ก็ลงพื้นที่ทำงานสัปดาห์ละหลายครั้ง  อย่างไรก็ตามทาง  สปสช. มีค่าตอบแทนให้กับ CG ด้วย โดยกองทุน LTC   จะสนับสนุน CG ที่ดูแลผู้สูงอายุ 5-10 คน เดือนละ 1,500 บาท หากน้อยกว่า 5 คน ให้เดือนละ 600 บาท ซึ่งหากคำนวนตัวเลขรายได้กับงานในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว  นี่แทบไม่ได้เรียกว่าค่าตอบแทนด้วยซ้ำ

“รู้สึกภูมิใจที่ได้มาทำหน้าที่ตรงนี้เพราะบางคนที่เข้าไปดูแลบอกกับเราว่าเขาดีใจที่เรามาหา  ได้พูดได้คุยด้วย  บางคนก็บอกว่าอย่าให้นานถึงสัปดาห์เลยให้มาบ่อยกว่านั้นได้ไหม  บางทีก็ชวนกันมาก่อนถึงกำหนดซึ่งผู้สูงอายุจะรู้สึกอารมณ์ดีขึ้นเมื่อมีคนมาพูดคุยด้วยทำให้มีแต่อยากออกจากบ้านไปทำหน้าที่  เพราะอยู่บ้านเราก็เหงาเหมือนกัน”

วงเดือน อินสำราญ

“ที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ก็เพราะอยากช่วยเหลือคนในชุมชนของเรา  อยากให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี  มีความภาคภูมิใจมากเพราะก่อนหน้านั้นมีผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือบอกว่าให้ทำไปเถอะ  ตอนนี้อาจจะยังไม่มีพระเดชแต่ในภายภาคหน้าจะมีพระคุณสำหรับการเป็นจิตอาสา  จากนั้นมาก็ทำหน้าที่เป็นจิตอาสามาเรื่อย ๆ และตั้งใจว่าจะทำหน้าที่นี้ต่อไป”

บุญมี ยิบรัมย์

ครั้งหนึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้เคยเป็นผู้สร้างบ้านแปงเมืองของเรามาก่อน  การดูแลพวกท่านให้มีสุขภาพกายและใจให้ดีคือหน้าที่ของลูกหลานทั้งในบ้านและในสังคม  การออกแบบเพื่อวางแผนรองรับสังคมผู้สูงวัยมีความจำเป็นมาก  เพราะอย่าลืมว่าคนวัยแรงงานเองอีกไม่นานก็จะกลายเป็นผู้สูงวัยเช่นกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ