รูปธรรม : ขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้ สานพลังสู้ภัยโควิด-19 สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท

รูปธรรม : ขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้ สานพลังสู้ภัยโควิด-19 สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท

กระทรวง พม. /  การจัดงาน ‘20 ปี พม. เสริมพลัง  สร้างโอกาส  พัฒนาคนทุกช่วงวัย’ ในส่วนของ พอช. และขบวนองค์กรชุมชนในวันที่  1 ตุลาคม  ที่ห้องประชุมประชาบดี  กระทรวง พม.  มีเวทีนำเสนอรูปธรรมการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท   โดยมีผู้แทนชุมชนทั่วภูมิภาคและผู้บริหาร พอช.ร่วมนำเสนอ

“จากตระหนก  เมื่อตั้งสติได้จึงหันมาทำงานเชิงรุก”

สุมล ยางสูง ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตะวันออก พอช. กล่าวว่า  ช่วงแรกของสถานการณ์โควิดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง  เจ้าหน้าที่ก็ตระหนกทำอะไรไม่ถูกเช่นกัน  ช่วงแรกลงพื้นที่ไม่ได้เพราะความน่ากลัวของโรค

ต่อมาทางทีมแพทย์ชนบทมาหารือร่วมกับ พอช. ในการประสานความร่วมมือเรื่องการให้บริการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิดในชุมชน  จึงคิดว่าขณะที่พี่น้องประชาชนเดือดร้อน  ประชาชนทำอะไรได้บ้าง  หากมัวแต่กลัวกันอยู่ก็จะไปไม่รอด  จึงปรับตัว  ปรับบทบาท  โดยเปิด พอช. ให้เป็นจุดคัดกรองให้กับชุมชนใกล้เคียงมาตรวจหาเชื้อโควิด   เพราะขณะนั้นการไปตรวจที่โรงพยาบาลทำได้ยาก มีผู้ป่วยมาก และทุกคนอยู่ในสภาวะหวาดกลัว รวมถึงการประสานงานและจัดทีมสนับสนุนลงร่วมคัดกรองในพื้นที่ตามเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ

“สิ่งที่เห็นตามมา  คือ  เรื่องปากท้อง  คนเริ่มตกงานออกไปหางานทำไม่ได้  คนป่วยติดเตียง พอช.ทำได้คือพยายามหางบประมาณเพื่อให้พี่น้องได้มีค่ายา  ค่ารักษาตัวเอง  ขบวนบ้านมั่นคงทำโครงการสู้ภัยโควิด  เพื่อให้พี่น้องได้ดูแลกันเรื่องอาหาร  จัดทำครัวกลาง  ส่งเสริมการใช้สมุนไพรดูแลกันเอง  แม้ว่าโครงการที่ชุมชนเสนอไม่ใช่โครงการใหญ่ แต่เป็นแนวทางให้ชุมชนอยู่รอด  ช่วยเหลือกัน  และจับมือกับหน่วยงานอื่นเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนเพิ่มมากขึ้น” นางสาวสุมลบอกถึงจุดเริ่มต้น

นอกจากนี้  พอช.ยังมีมาตรการพักการชำระหนี้ให้กับองค์กรชุมชนที่ใช้สินเชื่อจาก พอช.  เนื่องจากมีองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการที่สมาชิกไม่มีรายได้  ตกงาน  ไม่สามารถชำระคืนได้   พอช.จึงบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องชุมชน  โดยการพักชำระหนี้สินเชื่อทั้งประเทศ   จากตอนแรกที่เกิดความตระหนัก  แต่เมื่อตั้งสติได้  พอช. จึงทำงานเชิงรุกมากขึ้น

“จากโครงการแรกที่เริ่มทำ  สถานการณ์โควิดที่รุนแรง  เราเห็นว่าองค์กรชุมชนจัดการตัวเองได้ระดับหนึ่ง  มีการทำเรื่อง HI  ครัวกลาง  มีการดูแลพี่น้องที่ติดเชื้อ  มีการต่อยอดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท  ดูแลพี่น้องทั้งประเทศ    ขณะที่พี่น้องในเมืองเข้าถึงอาหาร  สมุนไพรยากลำบาก   เวลานั้นขบวนองค์กรชุมชนใช้พลังการเชื่อมโยงเครือข่ายส่งต่ออาหาร  สมุนไพร  รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ จากพี่น้องชนบทสู่คนในเมืองได้เป็นจำนวนมาก   ทำให้เห็นว่าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นทิศทางที่น่าจะถูกต้องและเป็นไปได้”  ผอ.สำนักงานภาคกรุงเทพฯ  พอช. บอก

‘ครัวกลาง’ แบ่งปันอาหารยามเดือดร้อน

               พรทิพย์ วงศ์จอม  ผู้นำชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู  เขตสาธร  กรุงเทพฯ บอกถึงการขับเคลื่อนงานในช่วงที่ผ่านมาว่า ชุมชนของตนเองมีขนาดไม่ใหญ่มาก  อยู่ในพื้นที่สีแดง  จึงทำให้คนในชุมชนไม่กล้าออกไปไหน  แต่เมื่อมีคนเสียชีวิตขึ้นมา ซึ่งเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง  ได้คิวรับออกซิเจนเป็นรายที่ 23  แต่เสียชีวิตก่อน  ทำให้คิดว่าจะอยู่เฉยไม่ได้  จึงได้ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง  ด้วยการสำรวจข้อมูลด้านต่างๆ ของคนในชุมชน  

เช่น  ข้อมูลเด็กแรกเกิดจนถึงคนชรา  การฉีดวัคซีน  ขอมูลความเสี่ยง  ผู้ติดเชื้อ  พร้อมทั้งมีการแยกข้อมูลว่า  ใครควรจะได้รับการช่วยเหลือลำดับต้น  จากนั้นนำข้อมูลไปเชื่อมโยงกับภาคี เช่น  โรงพยาบาล  สป.สช. ซึ่งพบว่าหากมีข้อมูลตัวเองอย่างชัดเจนแล้ว  จะมีหน่วยงานที่พร้อมให้การช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก   เพียงแต่ที่ผ่านมาในช่วงแรกชุมชนตั้งตัวไม่ติด  ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

หลังจากที่รู้แล้วว่าต้องจัดการตัวเองอย่างไร  จะทำอย่างไรให้คนในครอบครัวไม่ติดเชื้อโควิด  เนื่องจากมีความหวาดระแวงของสมาชิกในครอบครัว  เช่น  ลูกที่ออกไปทำงานก็กลัวว่าจะนำเชื้อโรคกลับมาแพร่ให้กับพ่อแม่ที่บ้าน  หรือพ่อแม่ก็กังวลว่าจะติดเชื้อโรคจากลูกที่ออกไปทำงานนอกบ้าน  แต่เป็นความโชคดีที่บ้านมั่นคง (ชุมชนสวนพลู) มีหลายชั้น  ทำให้สามารถจัดแบ่งพื้นที่การอยู่อาศัยแยกออกจากกันได้

ในการทำงานได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันผ่านสื่อโซเชียล  เช่น  เฟสบุ๊ค  โดยเริ่มทำที่บ้านของตนเองก่อนแล้วขยายไปที่ชุมชนอื่นๆ ในเขต  ช่วงแรกต่างคนต่างทำ   เมื่อได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตจาก พอช. ทำให้สามารถเชื่อมโยงพี่น้องชุมชนอื่นในเขตได้  ผ่านการสร้างครัวกลาง  ทำอาหารแจกจ่ายให้กับสมาชิกในชุมชนอื่นๆ

“ทำแล้วแจก  ยกหม้อไปตักที่ชุมชน  เราพยายามที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง  แม้แต่พลาสติกที่จะเอามาใส่อาหาร  เราก็ตัดออกไป ไม่จ้างแม่ครัว เป็นกุศโลบายว่า  ถ้ากินข้าวบ้านมั่นคงสวนพลู  ต้องเอาถ้วยเอาจานมาใส่  ต้องสวมหน้ากากอนามัย  และเข้าแถว  ถ้าไม่ทำตามเราไม่แจก  เพราะกลัวว่าคนจะเอาไปพูดว่ามารับข้าวจากบ้านมั่นคงแล้วติดโควิด”  ผู้นำชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลูบอก

เธอบอกว่า  แนวคิดการตั้งครัวกลางทำอาหารแจกจ่ายสมาชิกในชุมชนมาจากการได้รับของบริจาค  มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำข้าวสาร  อาหารแห้งมาแจกจ่าย   คนที่มีกำลังก็สามารถไปรับได้  แต่คนที่ไม่มีกำลังก็ไม่ได้ และของที่ได้มาหากหุงกินที่บ้านก็จะได้กินแค่ครอบครัวเดียว   แต่ถ้านำของบริจาคมาไว้ที่ส่วนกลาง  หุงข้าวหม้อเดียวแล้วกินทั้งชุมชนได้จะดีกว่า  และยังเป็นการประหยัดน้ำ  ประหยัดไฟ  จึงได้ทำครัวกลางขึ้น  ซึ่งหลังจากที่ทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว  พบว่า  นอกจากจะได้ช่วยเหลือแบ่งปันอาหารกันแล้ว ยังทำให้คนว่างงานหรือวัยรุ่นมาช่วยทำครัวกลาง คนที่มีรถกระบะก็นำรถของตนเองมาช่วยบรรทุกอาหารไปช่วยพี่น้องอีก 24 ชุมชนในเขตด้วย 

พลังจากชุมชนท้องถิ่นและจิตอาสา

นางพัฒมาณ  แดวอสนุง  ขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้  จังหวัดยะลา  เล่าว่า  การแพร่ระบาดช่วงแรกเป็นเดือนรอมฎอน อาหารการกินจึงเป็นสิ่งสำคัญ  ช่วงแรกในพื้นที่ลุกขึ้นมาตั้งต้นโดยชวนคณะกรรมการเครือข่ายบ้านมั่นคง เทศบาล กองทุนสวัสดิการมาคุยร่วมกันว่า  จะจัดการอย่างไรกับกลุ่มผู้เดือดร้อน  

“มติของคณะทำงานให้มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  แบ่งปันรอยยิ้มช่วงโควิด  เกิดกองทุนทำโครงการจากการขอเปิดรับบริจาค ได้เงินมาร่วม 400,000 บาท ในการทำงานมีการออกแบบร่วมกัน  เพราะในพื้นที่มีประมาณ 1,700 ครัวเรือน  จะทำอาหารแจกจ่ายตลอด 1 เดือน  โดยมีหน่วยงานและเอกชนเข้าร่วม”  พัฒมาณบอก  

เธอแจงรายละเอียดการบริหารจัดการว่า  ท้องถิ่นรับดำเนินการทำอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนเป็นเวลา        2 วันๆ ละ 1,200 ถุง ในส่วนของคณะทำงานโครงการมีจิตอาสาจาก 9 ชุมชน  ผลัดเปลี่ยนกันทำอาหารชุมชนละ 1 วันๆ ละ 50 คน  หมุนเวียนไปตามชุมชนต่างๆ จนครบ 30 วัน  โดยแบ่งเป็นคนปรุงอาหารและตักอาหารใส่ถุง 30 คน และ 20 คนทำหน้าที่แจกจ่ายอาหารใน 9 ชุมชน

“ในการรับบริจาค  เราไม่ได้รับเฉพาะเงินสดเพียงอย่างเดียว  เราขอรับการสนับสนุนสิ่งของจำเป็นอย่างอื่นด้วย เช่น  ผ้าอ้อมผู้ใหญ่  ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้ป่วยติดเตียง  นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากตำบลใกล้เคียงนำพืชผักมาสมทบ  และช่วยทำครัวกลาง”

หลังจากเสร็จสิ้นโครงการแรก  จึงได้มีการเสนอขอรับงบประมาณจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทของ พอช.  การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากการทำครัวกลางของชุมชนจะทำให้มีจิตอาสาจาก 9 ชุมชนมาทำงานร่วมกันรวม 450 คน  มีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนแล้ว  ยังได้มากกว่าเรื่องของโครงการ  บางหน่วยงานนำนมมาแจกหลายลัง  ทำให้ต้องมีการสำรวจข้อมูลว่าในตำบลมีผู้สูงอายุ  ผู้พิการ และเด็กกำพร้าจำนวนเท่าไหร่   ทำให้ได้ข้อมูลผู้พิการ  ผู้ด้อยโอกาสไปด้วย

บางขันหมาก  จ.ลพบุรี    ‘แปรโควิดเป็นโอกาส  สร้างการแบ่งปัน’

 สุทัศน์ หลีกพาล  สภาองค์กรชุมชนตำบลบางขันหมาก  อำเภอเมือง  จังหวัดลพบุรี  บอกว่า ในพื้นที่มีการทำข้อมูลของตัวเองโดยใช้วิกฤติช่วงโควิดเก็บข้อมูล   พบว่า  ในช่วงโควิด  อาหารเป็นสิ่งสำคัญและหายากที่สุด แต่เนื่องด้วยชุมชนมีการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาอย่างยาวนานทำให้มีอาหารเพียงพอ  ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ยั่งยืนได้จึงต้องสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  

“การขับเคลื่อนงานที่ผ่านมาได้ใช้พลังของชุมชนชาวมอญ และการขับเคลื่อนร่วมกันในรูปแบบ “บวร” โดยใช้วัดเป็นจุดพักคอยของตำบล  เพราะมีความเหมาะสม  มีพื้นที่รองรับและจัดทำโรงครัวได้  ใช้สถานการณ์โควิดเป็นโอกาสให้ทุกคนมาแบ่งปัน  มีการนำพืชผัก  เนื้อสัตว์มาบริจาค   โดยตำบลพยายามทำแผนพัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด  เพื่อเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายให้ได้มากที่สุด   เพื่อเป็นพลังในการร้อยเรียงคนบางขันหมาก  โดยใช้การขับเคลื่อนเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นเครื่องมือ”  สุทัศน์บอก

จากโควิดสู่โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต

สุมล  ยางสูง  ผอ.สำนักงานภาคกรุงเทพฯ พอช. บอกว่าสิ่งที่พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนทำสอดคล้องกับที่ พอช.ส่งเสริมภายใต้ภารกิจ 4 ด้าน  คือ  พื้นที่เป็นตัวตั้ง  ชุมชนมีแผนการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง  มีระบบการจัดการ  การใช้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต  การทำงานร่วมกับหน่วยงาน  การสนับสนุนของ พอช.

“สิ่งที่พี่น้องกำลังทำ  สอดรับกับสิ่งที่ทุกประเทศพยายามจะไปถึง  คือ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ภายใต้ SDGs 17 ข้อ  ซึ่งทุกประเทศอยากให้เกิด  แต่ขับเคลื่อนให้เกิดได้จริง 3 มิติ  คือ  BCG  โมเดล  เศรษฐกิจชีวภาพ  เศรษฐกิจสีเขียว  การขับเคลื่อนที่พี่น้องทำเป็นการขับเคลื่อนสีเขียว  สิ่งแวดล้อม  ประมงชายฝั่ง  เป็นโมเดลที่จัดการตนเอง  ไม่ทิ้งภาระไว้ให้ใคร  อยู่ภายใต้มิติสังคม  เศรษฐกิจ  และสุขภาพ  ดำเนินงานภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนา”     

สุมลอธิบาย   และขยายความว่า  จากการทำงานที่ผ่านมา  พี่น้องได้เกาะเกี่ยวพลังภาคีขึ้นมามากมาย  ในแต่ละพื้นที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคี  พบว่าเครือข่ายพี่น้องไปทำงานร่วมกับภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก  สิ่งที่พวกเราทำไม่ไกลจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  และทำภายใต้ศาสตร์พระราชา  สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพชีวิตจะไปข้างหน้าได้  ถ้าเราเดินตามปัญหาของพื้นที่และเดินตามศาสตร์พระราชา  โดยมีความรู้และคุณธรรมควบคู่ไปด้วย

การทำงานโครงการคุณภาพชีวิต  พี่น้องได้ความรู้มากขึ้น  ได้ศักยภาพเพิ่มมากขึ้น  หลายพื้นที่มีการนำความรู้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาค่อนข้างมาก  สิ่งที่ พอช. และองค์กรกำลังทำงานเป็นรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

“แต่ละชุมชนมีจุดแข็ง จึงต้องพัฒนาจากจุดแข็ง  ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยไปสู่โลก   ด้วยจุดแข็งของชุมชน ดึงศักยภาพที่มีอยู่  ไม่ว่าจะเป็นภูมิสังคม   ภูมิวัฒนธรรม  นำไปสู่การปฏิบัติการ”  สุมลเสนอ

ความภูมิใจของชาวสวนพลู

พรทิพย์ วงศ์จอม  บ้านมั่นคงสวนพลู  บอกว่า  ในชุมชนสวนพลูได้ปลูกผักเพื่อบริโภคในครัวเรือน ซึ่งจากสถานการณ์โควิดทำให้เห็นว่าช่วงเกิดวิกฤตตลาดใหญ่ๆ  ยังไม่มีผักขาย  จึงมาทำเรื่องปลูกผักกันอย่างจริงจัง ในชุมชนมีการเปลี่ยนจากการปลูกไม้สวยงามมาปลูกผักสวนครัว  โดยแต่ละบ้านปลูกผักไม่ซ้ำกันเพื่อแบ่งปันกันได้  นอกจากนี้ยังทำเรื่องขยะ  โดยสำนักงานเขตมาส่งเสริม  และมีการประกวดระดับประเทศได้รับรางวัลมา 10,000 บาท  ที่ผ่านมาแกนนำทำงานอยู่แล้ว  แต่ไม่ได้ยกระดับไปสู่การประกวด

นอกจากนี้ในช่วงโควิดที่ผ่านมา  เราได้รับการอนุเคราะห์จากการลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง  โดย พม.นำผักไปช่วยครัวกลาง  หลังจากจัดการเรื่องขยะ  เรื่องการปลูกผักแล้วก็ไปทำเรื่องอาชีพ  การปลูกผักมีการเชื่อมโยงกับ พม.  ที่มีโครงการปลูกผักพระราชทาน  ทำให้เกิดความภูมิใจจากการที่หน่วยงานเข้ามาหาชุมชนและมีงบประมาณมาให้ มีการส่งเสริมอาชีพ  ต่อยอดจากการทำอาหารแจกจ่ายในชุมชนมาสู่การทำขาย  และที่ขายดีและเป็นที่ต้องการมากคือน้ำพริกชนิดต่างๆ

“ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องที่ทำงานเรื่องที่อยู่อาศัย ตนเองเป็นคนทำงานรุ่น 3 – 4 อยากแบ่งเบาภาระคนทำงานรุ่นเก่า และขอบคุณ พม. และ พอช. ที่ทำให้ชุมชนและตนเองได้มีโอกาสได้รับการพัฒนา”  พรทิพย์บอก

ต่อยอดสถานการณ์โควิดสู่การสร้างอาชีพ

พัฒมาณ  แดวอสนุง   บอกว่า  การมองไปถึงระยะยาว  ในเรื่องอาชีพช่วงแรกที่ได้รับงบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระยะสั้น  มีการประชาสัมพันธ์เรื่องโควิด  ช่วงที่ 2 ทำเรื่องรายได้  กลุ่มที่เห็นชัดเรื่องอาชีพในพื้นที่  คือ  ผ้ามัดย้อม   กลุ่มทำขนม ปลูกใบพลู  ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มราคาสูง  

ในการทำของกลุ่มอาชีพมองว่า  งบประมาณหนุนเสริมไม่มากพอ  จึงมองหาหุ้นส่วน  เช่น  วิทยาลัยชุมชนยะลา  ซึ่งมีทุนด้านวิชาการที่จะมาหนุนเสริม  มีกลุ่มจักสานก้านกล้วย  พลาสติก  การปลูกใบพลู  การสอนทำปูนปั้น  เก้าอี้  สำนักงานเกษตร  พัฒนาชุมชน  นำหลักวิชาเรียนเข้ามาในพื้นที่เพราะเห็นว่ามีการรวมกลุ่มที่มีความหลากหลาย   เด็กกำพร้าก็ทำเรื่องการเพาะเห็ด  สามารถเก็บกินในครัวเรือนได้  ผู้สูงอายุจากช่วงโควิดที่มีความเครียด  มีทีมวิชาการไปทำวิจัยเรื่องการทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข  การยกระดับหลักสูตรผู้สูงอายุ 

ในพื้นที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม  ก่อนหน้านี้อยู่ด้วยความหวาดระแวง  ในช่วงโควิดมีการทำงานร่วมกัน  โดยมีการสนับสนุนงบประมาณการปลูกผักในพื้นที่วัดพุทธ  โดยใช้ที่ดินของวัดจำนวน 2 ไร่เศษ  สามารถนำผลผลิตมาขายร่วมกัน  ทำให้คนในชุมชนภูมิใจว่าสามารถชวนคนทุกกลุ่ม  ทุกช่วงวัยมาทำกิจกรรมร่วมกันได้

“สิ่งที่คาดหวังการพัฒนาที่ยั่งยืน  ชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้เกิดความเข้มแข็ง  โดยขบวนองค์กรชุมชนต้องทำงานอย่างเป็นขบวน  ตามประเด็นงาน  คาดหวังว่าจะเกิดการทำงานอย่างเป็นขบวนจากข้างล่างจริงๆ”  พัฒมาณบอกถึงสิ่งที่คาดหวัง

พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยพลัง ‘บวร’

สุทัศน์ หลีกพาล  บอกว่า ในส่วนของชุมชนที่ขับเคลื่อนในการต่อยอดเรื่องการพัฒนาสู่เป้าหมาย 5 ดี  มีการทำเรื่องการอนุรักษ์  สร้างชุมชนปลอดขยะ  ส่งสริมการคัดแยกขยะ   ต่อต้านการใช้โฟมในชุมชน  การสร้างเครื่องอัดจานจากใบไม้   สร้างเตาเผาถ่านชีวมวล  สร้างอาชีพจากการคัดแยกขยะ  โดยใช้พื้นที่ของวัด ซึ่งมีอยู่ 4 แห่ง  ทำโครงการปลูกพืชสมุนไพรในรั้ววัด  ทุกวันนี้สามารถใช้พื้นที่วัดปลูกสมุนไพรได้  เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยพลัง “บวร”  

มีการดูแลกลุ่มคนเปราะบางร่วมกับ รพ.สต. และมีการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการขยะ  โดยการคัดแยกขยะ     โดย อบต. เป็นจุดกลางในการสร้าง “ขยะแห่งความสุข”  ชุมชนทำกิจกรรมแยกขยะ  อบต.เข้าไปจัดเก็บทุกเดือน   นำเงินที่ได้จากขยะมาใช้ในการดูแลช่วยเหลือคนในชุมชน  นอกจากใช้พลังบวรขับเคลื่อนแล้ว ยังนำวิถีวัฒนธรรมชาวมอญมาต่อยอดเรื่องการทำตลาด โดยมีแผนเรื่องการทำตลาดกลางอาหารปลอดภัย  เพื่อหลีกเลี่ยงพ่อค้าคนกลาง  สร้างตลาดที่เป็นธรรม

“การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน   คือ  การแก้ปัญหาจากข้างล่าง และนำไปสู่การแก้ปัญหา  คุณภาพชีวิตจะเกิดได้หากผู้ปฏิบัติสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ และเอาตัวเองเป็นหลัก”  สุทัศน์เสนอความเห็นทิ้งท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ