“ส่งสันติภาพ จากเหนือสู่ชายแดนใต้”

“ส่งสันติภาพ จากเหนือสู่ชายแดนใต้”

ส่งสันติภาพ จากเหนือสู่ชายแดนใต้

คำต่อคำ  คุยเปิดใจตัวแทน 3 ศาสนาและนักวิชาการ   เมื่อความรุนแรงผูกโยงเข้ากับศาสนา

จากนอกพื้นที่มองเข้าไปในเหตุการณ์ความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นอะไร ?  แก่นแท้ของการออกจากปัญหาอยู่ตรงไหน ?

ถ้อยคำแลกเปลี่ยนทั้งสถานการณ์ ประสบการณ์ วิชาการ และมิติศาสนาเพื่อให้ความเป็นมนุษย์และสันติภาพได้กลับคืนมาอีกครั้ง

ร่วมวงแชร์โดย

ดร.พระครูพิพิธสุตาทร (บุญช่วย สิรินฺธโร) เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม

บาทหลวง นิพจน์ เทียนวิหาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าภาควิชาสันติศึกษษา มหาวิทยาลัยพายัพเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดำเนินวงแชร์โดย

อนุพงศ์ ไชยฤทธิ์  รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

 

 อนุพงศ์ : วันนี้วงแชร์เราชวนนักบวชในพุทธศาสนา คริสเตียน มุสลิม นักวิชาการมาพูดคุยกัน  จากสถานการณ์ในภาคใต้ความรุนแรงถูกเชื่อมโยงกับศาสนา เราจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนความขัดแย้ง ใช้ศาสนาช่วยสร้างสันติภาพในพื้นที่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมาสะเทือนความรู้สึกคน  โต๊ะครูถูกลอบยิงเสียชีวิต เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาตี จ.นราธิวาส เสียชีวิต และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ฝ่ายความมั่นคงบอกว่าเป็นการทำงานความมั่นคงที่เข้าตรวจสอบปอนาะที่จ.ปัตตานี แต่อีกด้านก็ตั้งคำถามว่าปฏิบัติการที่ใช้กำลังในสถานศึกษาของมุสลิมควรต้องระมัดระวังหรือมีแนวปฏิบัติอย่างไร

อยากเริ่มจากพระครูพิพิธสุตาทร ซึ่งคุ้นเคยกับพระอาจารย์สว่างที่เสียชีวิตและพยายามเข้าไปทำงานขับเคลื่อนสันติภาพในชายแดนใต้ด้วย

พระครูพิพิธสุตาทร: ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจครอบครัวพระครู และชาวพุทธทั่วไปด้วย เพราะพระสงฆ์ก็อยู่ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาด้วย อาตมาเคยไปทำงานร่วมกับพระสงฆ์ในภาคใต้เพื่อขับเคลื่อนงานสันติภาพ โดยใช้หลักการทางสันติ ที่ผ่านมาคุยกันว่าทำอย่างไรให้ชาวพุทธที่นั่นมีเข้มแข็ง  ความเข้มแข็งที่ว่าคือเข้าใจหลักการพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง  กระบวนการก็โดยเดินทางไปเยี่ยม ให้กำลังใจ บรรยายธรรมให้ความรู้ทางศาสนา อีกสิ่งที่สำคัญที่พระครูสว่างตั้งใจดำเนินการคือ ทำงานด้านสุขภาวะ ดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ในจังหวัดนราธิวาส  และคุยกันว่าไม่ใช่แค่ดูแลสุขภาพพระสงฆ์เท่านั้น  เพราะเมื่อเข้าไปจะมีการสานเสวนากับผู้นำศาสนา เลยคิดว่าน่าจะมีการขยับไปดูแลสุขภาพผู้นำศาสนาอิสลามด้วย เป็นสิ่งที่ตั้งใจว่าจะทำแต่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สูญเสียกำลังของผู้ที่จะทำงานด้านสันติภาพในชายแดนใต้ไป

อนุพงศ์:ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงต้นปี  2562 รวมระยะเวลา 15 ปีแล้ว มีพระสงฆ์เสียชีวิตจากความรุนแรงไป  20 กว่ารูป ด้านศาสนาอิสลามชาวมุสลิมก็สูญเสียโต๊ะครู อิหม่ามผู้สอนศาสนาไปไม่น้อย ทั้ง 2 เหตุการณ์ทำให้เกิดไม่ความเข้าใจมากขึ้นหรือไม่ เราจะทำอย่างไรให้ 2 ศาสนิกเข้าใจกันมากขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

ผศ.ดร.สุชาติ :  มีส่วนมากเลยครับ เพราะผู้นำศาสนาไม่ว่าพุทธหรืออิสลาม เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญทางศาสนา แต่ที่จริงแล้วไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม จะมองชีวิตมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะฆราวาส หรือนักบวช ตั้งแต่ปี 2547  จำนวน 8,000 กว่าชีวิตที่สูญเสีย หลายหมื่นคนที่บาดเจ็บทั้งพุทธและมุสลิม ผมคิดว่าถึงเวลาที่ควรยุติความสูญเสียที่เกิดขึ้น ผมในฐานะเป็นมุสลิมอยู่ภายนอก เห็นว่าความรุนแรงไม่ใช่วงของสามจังหวัดต่อไป แต่ขยายวงไปทั่วจากความสูญเสียต่างๆ การที่เรามีโอกาสมาคุยกันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเรื่องสามจังหวัดไม่ใช่เรื่องของสามจังหวัดอีกต่อไป สังคมควรรับรู้และหาทางออก

มีคนถามผมว่า  ในฐานะที่เป็นมุสลิมเชื้อสายจีน รุ่นคุณพ่ออพยพมาจากจีนรู้สึกว่าเป็นชนส่วนน้อยหรือไม่ ผมตอบว่าช่วงรุ่นพ่อเข้ามาใหม่ๆ ย่อมมีความรู้สึกเพราะอพยพเข้ามา แต่ว่ารุ่นผมที่เข้าสู่การศึกษาสมัยใหม่ เติบโตเป็นหมอ เป็นครู  ก็ไม่รู้สึกเป็นว่าเป็นคนส่วนน้อย คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่จากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้มาจนถึงระยะเวลา 15 ปี เริ่มรู้สึกว่าเราเป็นคนส่วนน้อยหรือไม่ จากปรากฏการณ์ขยายวงของการต่อต้านการสร้างมัสยิดในภาคเหนือมีที่เชียงราย น่าน เชียงใหม่ ไปถึงอิสาน ภาคตะวันออก การขยายแบบนี้ เริ่มรู้สึกว่าเป็นส่วนน้อยหรือไม่ เหตุการณ์สามจังหวัดเชื่อมโยงกันไปหมด เวทีแบบนี้สำคัญที่เราต้องมาคุยกัน

ผมจำได้ว่าท่านบาทหลวงแคทอลิคฮันส์คุงเคยพูดว่า  สันติสุขในสังคมใดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีสันติสุขระหว่างศาสนา และสันติสุขระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าแต่ละศาสนิกไม่ได้มาพูดคุยกันหาทางออก และที่สำคัญคือการพูดคุยกันจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าชนแต่ละศาสนิกไม่เข้าใจในแก่นธรรมคำสอนของศาสนาตนเอง  วันนี้แก่นธรรมคำสอนของแต่ละศาสนามองชีวิตมนุษย์หรือมองปรากฎการณ์ความรุนแรงกันเราอาจจะได้คุยกัน


อนุพงศ์ : สอบถามคุณพ่อนิพจน์ว่า 15 ปีที่เกิดความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เกิดขึ้นกับทั้งนักบวชและประชาชน  วงจรความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้ ทำให้เกิดความเกลียดชัง คนต่างศาสนิกเป็นคนแปลกหน้ากันและกันหรือไม่ จะทำอย่างไรให้มีทางออก คุณพ่อเคยไปแอฟริกาใต้เห็นความเกลียดชังของคนต่างผิวสี ที่สุดเขาจัดการกันอย่างไรให้วงจรความเกลียดชังคลี่คลายลงไป

บาทหลวงนิพจน์ :เวลาได้ยินข่าวความรุนแรงในภาคใต้  คุณพ่อจะรู้สึกว่าศาสนากลายเป็นเครื่องมือของวงจรความรุนแรงหรือไม่ อยากแสดงความเสียใจกับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบความรุนแรง เราอยู่ห่างไกลพื้นที่แต่ไม่ใช่ไม่สนใจ ประสบการณ์ส่วนตัวของคุณพ่อราวปี 2540  เคยไปที่ จ.ยะลาเพื่อร่วมประชุมกันโดยมีพระคุณเจ้า  โต๊ะอิหม่าม บุคลากรทางศาสนา 100 กว่าท่านและทหารด้วย เราแลกเปลี่ยนกันว่าจะใช้ศาสนาจะมีส่วนร่วมพัฒนาและสร้างสันติอย่างไร เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ภาคใต้ อย่างน้อยทำให้เห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนไม่สามารถตัดสินได้ทันที หลังจากนั้น เราได้ไปที่สวนโมกข์ได้พูดคุยกันทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ว่าจะนำมิติศาสนามาสร้างอารยธรรมความเมตตา การให้อภัยได้อย่างไร และพี่น้องทางภาคใต้ก็มาที่ศูนย์มิตซังที่ภาคเหนือคุยกัน ประสบการณ์ลักษณะนี้ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ คำสอน บทบาทของศาสนิกและสถาบันศาสนา  การที่เราไม่สนใจก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน เป็นบาปละเลยที่เราต้องสารภาพตลอดเวลา ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เรามองเห็นว่า ใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากวงจรความรุนแรงเป็นเหมือนเหยื่อที่เราต้องให้เมตตาและหาผู้ที่มีอำนาจมีส่วนที่จะให้ผู้ที่ได้รับทุกข์ได้รับความเยียวยาเพื่อสันติ   

ผมมีประสบการณ์ที่พบเจอพระสังฆราชจากแอฟริกาใต้ ติมอร์ เล่าให้ฟังว่า ความรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหา คำสอนของเรา (คริสต์ศาสนิกชน) คือต้องไม่ทำให้วงจรความรุนแรงเชื่อมกัน โดยมีความคิดเรื่องอภัย ไม่แก้แค้น และมีคำสอนหนึ่งว่า ผู้สร้างสันติเป็นบุตรของพระเจ้า  จุดนี้จะเป็นสิ่งที่เรามาคิดว่าจะมีส่วนสร้างสันติร่วมกันอย่างไร

อนุพงศ์: ทั้งศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธเองก็มีแก่นเรื่องการให้อภัย เช่นเดียวกันใช่หรือไม่ครับ

พระครูพิพิธสุตาทร :  สำคัญมาก  การให้ทาน นอกจากจะให้อามิสเป็นทานแล้ว  อภัยทานก็เป็นเรื่องใหญ่และไม่เกิดขึ้นได้ง่าย  การให้สิ่งของนั้นให้ง่าย แต่การให้อภัยสิ่งที่เป็นแผลที่บาดลึกในใจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญการให้อภัย รวมไปถึงใครก็ทำร้ายทำลายใดๆ หลักการสำคัญคือการไม่จองเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ในแง่พระพุทธศาสนาการจองเวรจะข้ามภพข้ามชาติไม่มีที่สิ้นสุด  เมื่อใดก็ตามคุณหยุดวงจรได้ โดยอภัย จะไม่มีเวรต่อกัน

อนุพงศ์ : ทางอิสลามล่ะครับ

ผศ.ดร.สุชาติ :  ครับ แต่ผมอยากเสริมประเด็นคุณพ่อนิพจน์ เรื่องแอฟริกาหน่อย  ท่านประธานาธิปดีเนลสัน แมนเดลา ที่ติดคุกยาวนานกว่า 27 ปี ท่านให้อภัย โดยพูดว่า มนุษย์เราไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความโกรธเกลียด เคียดแค้นเพียงเพราะคนอื่นที่นับถือศาสนา หรือสีผิว ชาติพันธุ์ต่างจากเรา แสดงว่าความโกรธเกลียดเหล่านั้นมันถูกสร้างขึ้นทีหลัง ถ้าความโกรธเกลียดสร้างขึ้นมาภายหลัง  ความรักก็สามารถสร้างขึ้นมาได้ เพราะความรักใกล้เคียงกับธรรมชาติมนุษย์มากกว่าความโกรธเกลียด ผมจึงเชื่อมั่นว่า  ถ้าเราแต่ละศาสนกิจสร้างความรักให้เกิดขึ้นในหมู่พวกเราได้อย่างไร ผมมีความหวัง  และที่แอฟริกาใต้มีปรัชญาที่แปลได้ว่า   I am because we are  ที่ผมเป็นผมได้เพราะมีพวกเราอยู่  มนุษย์เราไม่มีใครแยกออกจากคนอื่นแม้ว่าคนอื่นจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ดังนั้น ตัวผมที่มาวันนี้ กับตัวผมที่ออกไปหลังจากพูดคุยครั้งนี้เสร็จ ผมก็เป็นผมคนใหม่ เพราะได้มาเรียนรู้จากทุกท่านในที่นี้  เราเป็นคนใหม่ตลอดเวลาเพราะเราเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคนอื่นตลอดเวลา ชาวแอฟริกาจึงมองธรรมชาติ สายรุ้งที่แต่ละสีมีความโดดเด่นและมารวมกันงดงาม

และในศาสนาอิสลามกับการให้อภัย  มนุษย์เราเป็นคนบาป หรือทำบาปได้ ต้องขออภัยจากพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา เมื่อเราหวังได้รับการอภัยจากพระผู้เป็นเจ้า เราก็ต้องให้อภัยเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  ในกฏหมายอิสลามแม้ว่าจะมีโทษประหารก็ยังมีข้อยกเว้นว่า ญาติเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำให้อภัย การประหารจะยกเลิกได้ ฟังดูเหมือนจะเป็นอุดมคติ แต่ก็เกิดขึ้นจริงในสังคมมุสลิม ที่ยอมให้อภัยได้ กรณีที่ชัดเจน ดร.สมบัติ จิตต์หมวด คนไทยที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ลูกชายไปทำงานส่งพิซซ่าแต่ถูกฆ่าชิงทรัพย์เสียชีวิต ตอนขึ้นศาลท่านพูดว่า ท่านไม่ได้โกธรที่มาทำร้ายลูกท่าน แต่โกรธมารร้ายในจิตใจของผู้ที่ทำร้ายลูกของท่าน และวันนี้ขอให้อภัย และหวังว่าเมื่อได้รับโทษออกมาแล้วจะได้กลับเป็นคนดีและอยู่บนสวรรค์พร้อมกับลูกของท่าน มิติการให้อภัยนี้มีอยู่ในทุกศาสนา ถ้าเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ความโกรธเกลียดจะสามารถบรรเทาไปได้

อนุพงศ์: เป็นมิติดีงามทางศาสนา แต่โลกความเป็นจริง การต่อสู้เพื่อเอกราชทุกที่ไม่ว่าจะเป็นที่ไอร์แลนด์เหนือ ความขัดแย้งคาทอลิคและโปรแตสแตนท์ หรือที่มินดาเนา ฟิลิปปินส์ ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมและคริสต์เตียน  การใช้ความรุนแรงมีเป้าหมายเพื่อสร้างการต่อรอง ไม่ได้สนใจเรื่องการให้อภัยหรือเมตตา   การที่คู่ขัดแย้งมาพูดคุย มีการเปิดเวทีเพื่อเป็นทางออก ถ้าเทียบเคียงว่าการพูดคุยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการให้อภัย

ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร : ผมสรุปสิ่งที่ทั้ง 3 ท่านพูดเมื่อสักครู่ว่า ทั้ง 3 ท่านพูดว่าเราควรคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะ 15 ปีที่ผ่านมา มีกระบวนการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ไปเรื่อยๆ  ซึ่งที่สุดไม่ได้แก้ปัญหา แต่นำมาซึ่งความรุนแรงเมื่อเราเห็นอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์ก็สามารถใช้ความรุนแรงได้ หัวใจของทั้งสามท่านคือเราจะสรรสร้างคืนความเป็นมนุษย์ให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างไร

ส่วนคำถามที่ว่า  ในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว กระบวนการนี้จะสร้างได้หรือไม่ในเมื่อมีความขัดแย้งบนฐานของชาติและอื่นๆ  อย่าลืมว่า บางครั้งเราคิดถึงชาติ  ชาติเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ฆ่ากันมานานมากตั้งแต่หลังสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (ค.ศ.1959) การก่อตัวของชาติสมัยใหม่ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือระดมเอาคนสามัญชนมาฆ่ากันเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นสูงมาเนิ่นนาน  ถ้าเราเริ่มคิดกันใหม่ ชาติเข้มแข็งกว่าที่จะสลายอะไรได้แล้ว เรามาคิดถึงชีวิตของคนธรรมดา ผมยังเชื่อว่า ถ้าสังคมเริ่มมองเห็นว่าปัญหาภาคใต้ไม่ใช่แค่ภาคใต้ เช่นที่อาจารย์สุชาติกล่าวว่า  15 ปีของปัญหาภาคใต้ได้ดึงพวกเราเข้าไปมีส่วนร่วม Hate  Speech   ถ้อยคำที่รุนแรง ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์  ถึงเวลาที่เราจะคิดกันว่า เราจะสร้างพื้นที่ตรงกลางให้โอกาสของความเมตตาผลิบานได้อย่างไร  ทุกศาสนามีความเมตตาเป็นแกนกลาง เราจะสร้างพื้นที่นี้ได้อย่างไร คงไม่ใช่แค่เจรจาทางการเมือง แต่คงเป็นการสร้างพื้นที่เจรจาเพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่กัน

อนุพงศ์ : แล้วใครบ้างคือคู่เจรจาครับ

ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร :  ผมคิดว่า ตัวอย่างรูปธรรมเลยกรณีภาคใต้ ผมคิดว่า ทหารควรที่จะถอยดูแลเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก  ขณะที่ลองเชื่อมกลุ่มอื่น สภาความมั่นคงก็ได้ ศาสนาก็ได้ ค่อยๆเปิดพื้นที่ ผมไม่คิดว่าจะสำเร็จใน 1-2 วัน เพราะ 15 ปีที่ผ่านมา ความเจ็บแค้นถูกสร้างให้ฝัง แต่จะเริ่มมีหน่ออ่อนของการเปิดโอกาสให้ความเมตตา ทหารและรัฐต้องหยุดคิดเรื่องความมั่นคงเพียงมิติเดียว ความมั่นคงของรัฐต้องเกิดจากการมองเห็น และเข้าใจกันและกัน พหุวัฒนธรรมที่รัฐคิดเป็นเพียงแค่การบอกว่าฉันเป็นอย่างนี้ คุณเป็นอย่างนี้ แล้วต่างคนต่างอยู่ ซึ่งไม่ใช่   สิ่งที่ท่านพระครู คุณพ่อนิพจน์ อาจารย์สุชาติต้องการคือทุกคนเห็นกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ ผมเชื่อว่าพื้นที่กลาง พื้นที่สาธารณะเช่นนี้ครั้งหนึ่งเคยมี แต่ถูกทำลายลง ไปทำให้ความสัมพันธ์แนวระนาบสูญสลายไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ด้วยกลไกความรุนแรง ความเกลียดชังเป็นหลัก

สิ่งที่ยากกว่า ในบรรยากาศ 15 ปีที่ผ่านมาและที่น่ากังวลมากๆ คือ คุณพ่อนิพจน์พูดว่า ทั้งพี่น้องพุทธและมุสลิม ทุกคนเป็นเหยื่อ ไทยพุทธรู้สึกว่าตนเองเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ของตนเอง ส่วนมุสลิมก็รู้สึกเป็นคนกลุ่มน้อยและถูกบีฑามากขึ้น กระบวนการแบบนี้ทำให้เกิดช่องว่างให้ทำให้เกิดการแสวงหาตามมามากมายเลย  ต้องคิดกันใหม่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะเปิดพื้นที่ให้ความเมตตาผลิบาน คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่กัน ถ้ารัฐคิดได้ ลองปรับใหม่ ทหารไม่ต้องทำทุกเรื่อง ทหารทำเรื่องความมั่นคง แล้วเปิดพื้นที่อื่นให้คนอื่น ผมย้ำว่าสิ่งที่พูดไม่ใช่วันเดียวสำเร็จ แต่เป็นขั้นตอนที่จะทำให้เราเข้าใจกันและกันอาจทำได้ดีกว่ากรณี  Bangsa Moro (ข้อตกลงสันติภาพที่มินดาเนา อันเป็นการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน milf) ก็ได้  เพราะเรามีฐานที่ดีกว่าความขัดแย้งจาก Bangsa Moro ขณะที่มินดาเนาเขารบกันมานานกว่าเรามาก ผมยังมีความหวังว่าถ้าเราในสังคมไทยตระหนักว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แต่ภาคใต้ เราอยู่เฉยๆก็มีส่วนทำให้ปัญหาแรงขึ้น ผมคิดว่าเรามีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหานี้

อนุพงศ์ : สิ่งที่อาจารย์อรรถจักรพูดถึงการจัดการความรุนแรงโดยใช้กำลัง เหมือนกับที่คุณพ่อพูดว่าเป็น Power of gun  ถ้าเราจะกลับมาจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยความรักความเมตตา หรือ  Power of wisdom and Compassionate การจัดการปัญหาที่อื่นๆเขาจัดการอย่างไร และเราจะปรับมาใช้ในสามจังหวัดได้อย่างไร

บาทหลวง นิพจน์ : เรื่องความรุนแรงเป็นประเด็นหนึ่งของสภาสังคายนาวาติตันเมื่อ52 ปีที่แล้ว และออกเอกสารว่าด้วยสันติภาพในโลก  ครบรอบ 50 ปีเมื่อปีที่แล้วและผมได้ไปประชุมเพื่อมองไปใน 50 ปีข้างหน้าว่า อันนี้เป็นบทบาทของศาสนา สิ่งที่สำคัญในบทบาทศาสนาคือไม่ใช่แค่เพียงตนเอง แต่บทบาทศาสนาจะเกิดในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความรุนแรง ความอยุติธรรม จนกระทั่งสภาพระสังฆราชแห่งเอเชียบอกว่า พันธกิจในเอเชียคือการเสวนาระหว่างประชาชนของศาสนากับประชาชนคนเล็กคนน้อย  คนชายขอบ คนได้รับผลกระทบ  กับวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อสังคมแห่งสันติและความยุติธรรม มีการประชุมปรึกษาหารือว่าในความขัดแย้งเราจะทำให้เกิดความกลมกลืนโดยการคืนดีกันได้ไหม  และบอกตรงกันว่าเราจะต้องนำเสนออารยธรรมที่หลุดออกจากอารยธรรมสมัยใหม่ รัฐชาติ วัตถุนิยม อำนาจนิยม ซึ่งตอนนี้อารยธรรมของวัตถุนิยมมันขาดซึ่งศีลธรรม จริยธรรม และชีวิตจิต ไม่ได้เอาคุณค่าของการอภัย  แต่เอาความแค้น การเอาชนะเป็นหลัก ซึ่งได้มีข้อเสนอเรื่องการกลับใจ เพราะการจะคืนดีได้ เราต้องกลับใจก่อน เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ เราก็เป็นคนบาปคนหนึ่ง เราก็จะรำพึงค่อยๆเปลี่ยนแปลงจากภายใน  เมื่อเราแค้น เราจะต้องรู้ว่าเราจะค่อยๆเปลี่ยนอย่างไร สิ่งที่เป็นของแข็งข้างในเราจะทำให้อ่อนได้อย่างไร เพื่อที่เราจะได้มีพลังด้านบวกในธรรมชาติมาสร้างสรรค์เรา ถ้ามนุษย์เราดึงเอาพลังสิ่งที่เป็นบวก สร้างสรรค์ เราก็จะเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่หลุดจากกรอบเพื่อสร้างอารยธรรมใหม่ได้เพื่อสันติ เพื่อสังคมที่ยุติธรรมและสันติ  และสันติกับสิ่งแวดล้อมด้วยได้อย่างไร  เราจะต้องกลับใจกันหมด เราต้องเอาคำสอนของพระเยซูเจ้า ท่านบอกว่าคนตบแก้มข้างหนึ่งต้องหันไปอีกข้างหนึ่ง เขาขอเสื้อข้างนอก เอาเสื้อข้างในให้อีก ยากมาก เป็นความเปลี่ยนแปลงถอนรากถอนโคน  ผมคิดว่าต้องกลับมาหาคุณค่าของปัญญาที่อยู่ในทุกฝ่าย พุทธ คริสต์ มุสลิม ทุกฝ่าย  เป็นอารยธรรมที่เราต้องแสวงหา ถ้าเราสร้างค่อย อาจแก้ไขระดับเล็ก ไปสู่ภาพใหญ่ได้

อนุพงศ์ : พระครูไปทำงานขับเคลื่อนชาวพุทธในสามจังหวัด กรณีท่านสว่างมรณภาพ จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพหรือไม่

พระครูพิพิธสุตาทร : ในกลุ่มทำงานพูดคุยกันก็คิดว่าจะต้องเดินหน้ากันต่อ เพียงแต่อาจต้องระมัดระวังมีการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น ที่คุยกันว่าอย่างไรการเดินหน้าทำงานด้านสันติภาพโดยหลักการสันติ อหิงสาเป็นเรื่องใหญ่มาก  เพราะไม่มีทางอื่น จะไปสู้รบปรบมือจะทำอย่างไร พระสงฆ์จะต้องติดอาวุธ หรือชาวพุทธต้องมีอาวุธป้องกันตัวเอง ไม่น่าจะใช่ ทำอย่างไรจะอยู่ได้อย่างปลอดภัย ก็ต้องฝากภาครัฐ เพราะชาวพุทธที่นั่นรู้สึกมากช่วงเกิดเหตุการณ์ใหม่ ว่าไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่ต่อมาเขาก็รู้สึกว่าปลอดภัยมากขึ้น มีการจัดการชุมชนของตนเอง ที่จะสามารถให้ดูแลความปลอดภัยด้วยตัวเองได้ มีการบริหารจัดการให้มีการสร้างรายได้ให้ชาวพุทธที่อยู่ที่นั่น อย่างผู้ที่มีสวนยาง ก็ยังห่วงเรื่องกรีดยางไม่ได้ ทำอาชีพอื่นเสริมให้เขารู้สึกปลอดภัยในพื้นที่ได้ และขยับไปสู่พี่น้องมุสลิม มีอาชีพเสริม ทำให้พื้นที่มีความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน เป็นโมเดลที่น่าใจ อาจต้องขยับไปชุมชนอื่นๆ ที่มีการอยู่ร่วมกัน แต่ประเด็นคือปัญหาตอนนี้คือ การมองกันแบบหวาดระแวง เราจะแก้เรื่องนี้ได้อย่างไร เราต้องกลับมาตั้งสติ คิดทบทวนหลักคำสอนพุทธศาสนามากขึ้น เช่นที่ท่านพุทธทาส พูดว่าเราเป็นคนศาสนาใด ก็ต้องรู้จักคำสอน ลึกซึ้งในคำสอนของตัวเอง ขณะเดียวกัน ขณะนี้สังคมไทยกลายเป็นสังคมมีคนต่างศาสนาอยู่ร่วมกันมากขึ้นเป็นลำดับ เราก็ต้องรู้จักศาสนาอื่นด้วย เพื่อให้เราอยู่ร่วมกับเขาปฏิบัติกับเขาถูกต้อง  ขณะนี้การขยายตัวของผู้คนหลากหลายศาสนาเพิ่มขึ้น  สุดท้ายท่านพุทธทาสพูดถึงการออกจากการเป็นทาสของวัตถุนิยม เป็นเรื่องใหญ่มาก คือการออกจากการเป็นทาสของวัตถุนิยมเป็นเรื่องใหญ่มาก หลายพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง หลายครั้งสาวไปลึกไปเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ความอยากได้อยากมี ของฉันถูกคุณผิด ไม่ใช่ระหว่างศาสนาเท่านั้น แม้ในคนในศาสนาเดียวกันก็มีความขัดแย้ง  ดังนั้นเรื่องการสนานเสวนาสำคัญมาก ที่เราต้องทำให้มีมากขึ้น ไม่มีวงคุย จะหาทางออกไม่ได้

อนุพงศ์ : ประเด็นคือเราไม่ใช่ผู้สูญเสีย มีคำพูดว่าตายสิบเกิดแสน เกิดความเกลียดชังขยายวง เพราะมีปัจจัย เช่น เกิดกรณีตากใบ เราจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ได้ผลกระทบไม่ผูกพยาบาท

ผศ.ดร.สุชาติ :  ผมมีประสบการณ์ตรง เคยคุยกับพี่น้องสามจังหวัดที่พบ เขาพูดทำนองว่า พวกเรามุสลิมถูกโจมตีว่าหัวรุนแรง ชอบล้างแค้น เขาถามผมกลับว่า อาจารย์ลองคิดดูว่าตอนนี้กี่พันศพ คนบาดเจ็บเท่าไหร่ แล้วคูณด้วยญาติพี่น้องมหาศาลเท่าไหร่ตอนนี้ อาจารย์ลองนึกดูว่าศาสนาเราถ้าไม่มองว่าความตายเป็นการกำหนดจากพระผู้เป็นเจ้า แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิของพระผู้เป็นเจ้าต้องกลับคืนสู่พระองค์ไม่ว่าการตายของเราจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ตามเป็นการกำหนดจากพระผู้เป็นเจ้า เราถูกกระทำให้ตายอย่างไรก็แล้วแต่เขาก็ทำใจว่านี่คือกำหนดจากพระผู้เป็นเจ้า ถ้าเราไม่คิดแบบนี้อาจารย์คิดดูว่าสามจังหวัดจะลุกเป็นไฟขนาดไหน เราจะเคียดแค้นตามล่าแค่ไหน  แต่แน่นอนอาจมีบางคนส่วนน้อยที่อาจเป็นรู้สึกเคียดแค้นในฐานะมนุษย์ที่อาจจะมี  กลับมาที่ท่านพระครูพูดถึงพระอาจารย์สว่าง ซึ่งผมสะเทือนใจเพราะมีโอกาสร่วมวงเสวนากับท่านที่นราธิวาส  ยังจำที่ท่านพูดว่า อาตมาสามารถพูดมลายูได้ ผมคิดว่ามีความหวังอยู่ อย่างน้อยมีภาพที่งดงาม ในงานศพของท่านมีมุสลิมมา  ยังมีมุสลิมอีกจำนวนมากที่รักและเคารพท่าน  มิตินี้เป็นเรื่องงดงามและสำคัญที่เรามีอัตลักษณ์หลายอย่างถูกครอบและแข็งกระด้าง ฉันเป็นพุทธ คริสต์ มุสลิม บรรยากาศมีเป็นเราอยู่

ส่วนประเด็นอาจารย์อรรถจักรพูดถึงพหุวัฒนธรรมที่ทางการพยายามชูเป็นนโยบายลงไป ผมอยากตั้งคำถามด้วยเช่นกันว่านโยบายพหุวัฒนธรรมมักจะบูรณาการความต่างในขณะที่ความจริงแล้วจะต้องเป็นการแชร์ความเหมือน เรามีอะไรเหมือนกันบ้างมาแชร์กัน แล้วปล่อยให้แต่ละคนต่างกันได้ ทุกวันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราไม่ยอมรับความต่างไม่ว่าทางมุสลิมเองที่มองพี่น้องต่างศาสนิก หรือพี่น้องต่างศาสนิกมองมุสลิมเองอย่างกรณีที่เกิดขึ้นโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ที่โรงเรียนเป็นเขตพุทธมีกฏระเบียบ  มุสลิมต้องแต่งกายตามระเบียบเหมือนคนพุทธ แล้วในกรุงเทพที่หลายพื้นที่ที่มีสุเหร่ามากมาย เด็กพุทธจะต้องมาแต่งกายสวมหมวกกะปิเยาะเหมือนเด็กมุสลิมหรือ แบบนี้ไม่ใช่พหุวัฒนธรรม เพราะพหุวัฒนธรรมจะต้องเคารพในความที่เขาเป็น และในความต่างเรามีความเหมือนกันมากมายที่มาแชร์กันได้ เช่นที่พระครูพิพิธสุตาทรทำไม่เฉพาะภาคใต้ ในเชียงใหม่ที่เราทำทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม  ที่รวมกัน เราไปชุมชนไหนเจอปัญหาสุขภาพ คนโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน  แล้วเราจะช่วยสร้างสุขภาพที่ดีบนพื้นฐานศาสนาของเราแต่ละศาสนาได้อย่างไร มิตินี้ถ้าเราค่อยขยายวง อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  ต้องเปิดพื้นที่กลางให้ชาวบ้านมากขึ้น ในฐานะที่ผมเป็นมุสลิมในสังคมไทย ผมยังเห็นความงดงามในการที่สังคมไทยยังให้เสรีภาพในการนับถือศาสนามากกว่าหลายสังคม ที่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐไม่ได้มาแทรกแซงอออกกฏหมายเหมือนในหลายประเทศ เช่นห้ามคลุมฮิยาบในที่สาธารณะ เป็นต้น   แต่เมื่อใดก็ตามเมื่อรัฐเข้ามาแทรกแซง  จะทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น เช่นที่ มายอ ในโรงเรียนปอเนาะอิสลาม ที่รัฐอาจรู้สึกว่าเป็นแหล่งฝึกก่อการร้ายหรือไม่ ในขณะที่เด็กมาออกกำลังกายกัน เป็นต้น  อคตินี้ ถ้ารัฐเข้ามาในพื้นที่ปริมณฑลของศาสนาไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม จะเพิ่มความซับซ้อนในความขัดแย้งมากขึ้น ผมจึงคิดว่าปล่อยชาวบ้าน ถึงที่สุดชาวบ้านจะพยายามจัดการกันได้ ในส่วนของมุสลิมมีต้นทุนคำสอนมากมายเพียงแต่เราไม่มีโอกาสมาคุยกัน  สิ่งที่พระครูพิพิธสุตาทรพูดผมคิดว่าสำคัญมากๆคือ  การเสวนาภายในศาสนา  ที่ผ่านมาที่ผมไปทำงานในภาคใต้ก็จะเป็นการสานเสวนากับผู้นำศาสนา เยาวชน ครู  เป็นการพูดคุย ทบทวนตัวเอง เรามองเพื่อนต่างศาสนิกอย่างไร  หรือเวลาผมไปบรรยายตามที่ต่างๆ คำถามแรกที่ผมจะโยนเข้าไปบรรยายคือ ถามนักศึกษาที่ไม่ใช่มุสลิมว่า เมื่อพูดคำว่ามุสลิมนึกถึงอะไร  คำตอบคือเดาได้เลยครับ  นึกถึงไม่กี่คำ  ไม่กินหมู มีเมีย 4 คน  รุนแรง ผู้ก่อการร้าย   การที่เพื่อนต่างศาสนิกไม่รู้จักเรา ปัญหาอยู่ที่เขาไม่ศึกษาเอง หรือเราในฐานะที่เป็นมุสลิมได้ทำให้เขาเห็นความงดงามของอิสลามที่อยู่ในตัวเราหรือไม่  แล้วผมก็ยกคำของนักวิชาการท่านหนึ่งว่า ทุกวันนี้ไม่เพียงคนที่ไม่ใช่มุสลิมที่ล้มเหลวในการเข้าใจมุสลิม แต่มุสลิมเองก็ล้มเหลวที่จะอธิบายตัวเอง ผมคิดว่าอิสลามสอนกันมาตลอด มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ย้ำตลอด  เราเกิดมาเป็นมนุษย์ก่อนจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ในอิสลามก็สอน แม้แต่การสร้างมนุษย์อดัม ก็ให้วิทยปัญญาหลายอย่าง ดินที่เอามาสร้างมาจากทุกสีของโลก ความหลากหลาย บอกอะไรเราหลายอย่าง มนุษย์เราไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้ เราจะอยู่อย่างไรท่ามกลางความแตกต่างบนพื้นฐานเคารพกัน และไม่จำเป็นต้อเหมือนกัน

พระครูพิพิธสุตาทร : อย่างที่อาจารย์สุชาติพูด  การเข้าไปในสุเหร่าได้ไหม  สมควรหรือไม่สมควร   คนพุทธทั่วไปจะมีโอกาสจะเดินเข้าไปมัสยิดได้หรือไม่  หลายครั้งก็เป็นปัญหาว่ามัสยิดไม่ได้เปิดรับคนต่างศาสนามาเรียนรู้ อีกฝั่งหนึ่งก็ไม่กล้าจะเข้าไป การเปิดพื้นที่เรียนรู้ระหว่างกันเป็นเรื่องน่าสนใจ เท่าที่มีโอกาสสอนลูกศิษย์ พาไปมัสยิด ส่วนใหญ่จะบอกว่านี่เป็นครั้งแรกแทบทุกคน อาตมาไปภูเก็ตไปเยี่ยมมัสยิดที่นั่น  หลายท่านบอกว่ารู้จักอาจารย์สุชาติ อาตยมาบอกว่ารู้จักกันดี กลายเป็นคุ้นเคยกันโดยปริยาย ที่สำคัญและน่าแปลกใจว่าทำไมเพิ่งเกิดขึ้นคือ คนที่มัสยิดบอกว่า นี่คือกลุ่มพระกลุ่มแรกที่เข้ามาในมัสยิดนี้ทั้งที่ตั้งมานานแล้ว   คำถามคือทำไมเราไม่ไปเยี่ยมเยือนกัน ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเข้าตรัสว่า วิสาสา ปรมาญาติ  ความคุ้นเคยต่างหากเล่าเป็นญาติ เมื่อเราคุ้นเคยกันมากเท่าไหร่ความเป็นญาติมากขึ้นเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่เกิดตามกันมาไม่คุ้นเคยไม่มีปฏิสัมพันธุ์กันก็ไม่ได้เป็นญาติในทางพระพุทธศาสนา เป็นเพียงญาติทางสายโลหิต  ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้ได้เรียนรู้กันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ผศ.ดร.สุชาติ :  ผมเคยทำกิจกรรมกับเด็กมุสลิม ม.ปลาย ที่เป็นเหยื่อ 40 คน วันสุดท้ายพาไปวัดที่พัทลุงซึ่งเจ้าอาวาสและโต๊ะอิหม่ามทำงานด้วยกัน  เด็กมุสลิมบอกว่านี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ก้าวเท้าเข้าวัด ได้คุยพระใกล้ๆ ผมเห็นแววตาของเด็กที่กระหายใครรู้จักคนที่แตกต่างกับตัวเอง แล้วเราผู้ใหญ่ขัดขวางการที่เด็กจะได้เรียนรู้จากคนอื่นที่แตกต่างจากเขา

อนุพงศ์ : เรื่องแบบนี้เพิ่งเกิดขึ้นในระยะ 14-15 ปีที่ผ่านมา ที่เห็นคนต่างศาสนิกเป็นอื่นใช่ไหมครับ

ผศ.ดร.สุชาติ :   ใช่ครับ

บาทหลวง นิพจน์ :  ที่ตัวอย่างที่เชียงใหม่ มีเรื่องศาสนิกสัมพันธ์ คนพุทธ มุสลิม โปรแตสแตนท์  คาทอลิก ซิกซ์ ฮินดู เขามารวมกัน นำเยาวชนมาทำกิจกรรม  ค่ายเยาวชนสานสัมพันธ์กันในเมือง ส่วนของบนดอย ที่มีหลายชาติพันธ์ หลายเผ่า และนับถือในหลากหลายศาสนา แต่เรามีกองทุนข้าวเอาข้าวเป็นฐาน ชาวบ้านบอกว่าเราเป็นศาสนาไหน เผ่าไหนก็ตาม แต่ฐานเราคือข้าว ข้าวมีธรรมะให้ชีวิตกับเรา กินข้าวและแบ่งปันกัน แม่ม่าย เด็กกำพร้า คนจากศาสนาต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นใคร กลายเป็นเครือข่ายที่อยู่บนฐานวัฒนธรรมข้าวเดียวกัน คนได้สัมผัสเรียนรู้ในปัญหาร่วมกัน วิถีเดียวกันแล้วเอาศาสนามาสร้างสรรค์ได้ด้วยกระบวนการศาสนิกสัมพันธ์ และเอาประเด็นของชีวิตที่เหมือนกันร้อยมารวมกัน  และเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างกัน

ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร : ปี 47 เกิดเรื่องเพราะมีการยิงทิ้งกันตั้งแต่ปี 44-45  เรื่องตำรวจ นายกบอกว่าผู้ก่อการมีกี่คน ผบชน.บอกว่า 70 คน นายกฯ บอกว่าอาทิตย์ละ 4 คน เขาพูดในสภา  มันฝังลึกมาก เลยเกิดปรากฏการณ์ที่พระเพิ่งเข้ามัสยิดครั้งแรกแปลกใจ เด็กนักเรียนมุสลิมเพิ่งได้เคยเข้าวัดครั้งแรก ทั้งหมดเกิดจากมีกระบวนการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์มากขึ้น การทำงานร่วมกันอย่างที่ทั้ง 3 ท่าน และ 3 ศาสนาทำงานในเชียงใหม่หลายเรื่องมาก มีความก้าวหน้ามาก

ผมคิดว่าเงื่อนไขสำคัญที่เราต้องคิดคือ  บางครั้งรัฐไทยอาจต้องยอมแพ้ทางยุทธวิธีแต่ชนะทางยุทธศาสตร์ หรือเพลี่ยงพล้ำทางยุทธวิธีบ้าง เช่น  เราคงไม่สามารถบอกให้คนภาคใต้ทั้งหมด หรือชาวพุทธ หรือพี่น้องมุสลิมทั้งหมดบอกว่าให้เมตตา  คงจะไม่ได้   แต่รัฐไทยหรือคนทั้งหมดอาจจะบอกว่าอุดมคติเราหรือยุทธศาสตร์เราคือให้คนอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตา  ยุทธวิธีจะทำอย่างไร ผมคิดว่าสามารถทำได้ในหลายมิติ ซึ่งคงต้องใช้พลังทางสังคมไปกฏดันรัฐ

อันแรกที่เห็นชัดๆคือ 1.กระบวนการจะเปิดพื้นที่สว่างให้ชัดที่สุดคือ การจับกุมทั้งหมดจะต้องเปิดเผย จะต้องทำให้เห็นได้ ตอนนี้พี่น้องมุสลิมจำนวนมากที่ถูกจับรู้สึกว่าถูกปิด ไม่รู้อะไร กรณีสุดท้ายที่ดูในเน็ตคือมีการบุกเข้าไปใน ตันหยงเปา มีเด็กถูกลูกหลงบาดเจ็บและไม่สามารถออกมาได้ แล้วพอทหารเข้าไป  เงิน 10,000 หายไป โอเค กองทัพก็ออกมาอธิบาย แต่นั่นแปลว่าอะไร แปลว่าคุณไม่เปิดพื้นที่ กรณีแบบนี้มีเรื่อยๆ ดังนั้น  สิ่งสำคัญคือการเพลี่ยงพล้ำทางยุทธวิธีอยู่บ้าง คือคุณมีข้อมูลอยู่แล้ว  แต่คุณเปิดเผยเรื่องการจับกุม จะทำให้คนทั้งหมดมองเห็น แล้วเฟคนิวส์ (ข่าวปลอม) จำนวนมากก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ แน่นอนระยะแรก  ผมใช้คำว่าอาจจะเพลี่ยงพล้ำทางยุทธวิธี แต่ในระยะยาวจะทำให้พี่น้องมุสลิมที่ถูกจับสบายใจ ฉันรู้ว่า 1-2-3-4 อยู่ตรงนี้

อนุพงศ์ : สิ่งที่อาจารย์นำเสนอ ในบางช่วงผู้นำกองทัพภาคที่ 4 ก็ทำอยู่เหมือนกันเช่นกัน เช่น การปิดล้อมตรวจค้น ก็มีผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปร่วมเจรจา แต่ประเด็นคือต้องสม่ำเสมอใช่ไหมครับ

ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร : ควรเป็นแนวปฏิบัติที่คุณไม่ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติถือว่าผิด ทั้งหมดนี้ในช่วงแรกอาจเพลี่ยงพล้ำทางยุทธิวิธี เช่น พวกเขาอาจจะรู้ และเดาได้ แต่ทางเราก็ต้องเพื่อความมั่นคง เราก็ต้องคิดตามไปเรื่อยๆ นี่คือ การเปิดเผย เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น  เป็นประเด็นหลักที่พี่น้องทางใต้อึดอัดมาก

 2 .คือสิ่งที่เราต้องทำให้เป็นระบบคือ  เราต้องสร้างเงื่อนไขให้คนสามารถเข้าถึงความเมตตาได้ ไม่เช่นนั้นเราจะเรียกร้องให้ผู้สูญเสียทั้งหมดให้เมตตาคงลำบากอยู่  เงื่อนไขทั้งหมดที่ทำให้คนเข้าถึงความเมตตาได้คือ  ทำให้เกิดการเยียวยาทุกฝ่าย  เพราะผู้สูญเสียมีทั้งพุทธและมุสลิม สัดส่วนใกล้เคียงกันและโดยมากเป็นคนธรรมดา คงไม่ใช่แค่ดูแลพี่น้องลูกหลานของคนที่ตากใบ แต่รวมไทยพุทธด้วย  ผมกำลังนึกถึงว่า มีคณะกรรมการที่ดูแลผู้สูญเสียทุกคนในนั้น กรรมการกลางที่มาจากทั้ง 2 ฝ่าย และดูแลกันอย่างเป็นธรรม ยุติธรรม ผู้ดูแลตรงนี้ต้องเปิดเผย โปร่งใสว่าทุกคนได้รับการดูแล กระบวนการนี้จะเป็นเงื่อนไข ที่ทำให้พุทธและมุสลิมสามารถมองเห็นได้ว่าเราสามารถอยู่ร่วมกัน และสามารถมองกันด้วยสายตาที่มีเมตตาได้ กรรมการชุดนี้ต้องทำงานและถูกตั้งมาจากหลายฝ่ายที่เห็นพ้องต้องการ สิ่งนี้ผมคิดว่าจะเยียวยาความรู้สึก  ความรู้สึกนี่สำคัญนะครับ ความจริงเป็นอย่างไรอาจไม่สำคัญเท่ากับคุณรู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น เราต้องทำให้เกิดสิ่งนี้เพื่อเยียวยาและเดินไปสู่สิ่งที่ทั้ง 3 ท่านพูดว่าหัวใจของทุกศาสนาคือเมตตา

อนุพงศ์ : สิ่งที่รัฐทำและแก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีต คือแก้ปัญหา พคท.(พรรคคอมมิวนิสแห่งประเทศไทย)โดยใช้นโยบาย 66/23  เรียกว่าเมตตาหรืออภัยหรือไม่ โดยที่รัฐเป็นผู้หยิบยื่นให้  เราจะใช้แนวทางแบบนี้กับการแก้ไขปัญหาสามจังหวัด เหมาะสมหรือไม่

ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร : ความสำเร็จของ  66/23 คงไม่สามารถอธิบายได้จากนโยบายอย่างเดียว แต่ต้องอธิบายจากความเพลี่ยงพล้ำของ พคท.ด้วย สำหรับผมเอง ผมคิดว่าแม้ไม่มีนโยบาย 66/23 พี่น้องที่เข้าป่าก็ต้องกลับมา เพราะ พกท. พังไปแล้ว

อนุพงศ์ :แต่การนิรโทษกรรมโดย 66/23  ก็ทำให้คนกลับบ้านได้ง่ายขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร  : ก็มีผล แต่ก็การนำคนกลับบ้าน โดยยังไม่คิดว่าจะมีกระบวนการทำให้เกิดการมองเห็นซึ่งกันและกัน กลับทำให้ไทยพุทธจำนวนหนึ่งระแวงอีกว่า เอาโจรกลับบ้าน นี่เป็นวิธีคิดของรัฐที่ไม่ยอมเข้าใจเงื่อนไขทั้งหมด

ผศ.ดร.สุชาติ : ผมขอเสริม เรื่องที่สำคัญที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ การทำศพ 2 พิธี ที่สุไหงโกลก ที่ปรากฏว่ามีศพของเจ้าหน้าที่รัฐที่แย่งกัน ฝ่ายพุทธจะทำพิธีพุทธ และตอนหลังก็มาทำพิธีศาสนาอิสลาม เนื่องจากฝ่ายมุสลิมทราบว่าเขาเข้ามารับนับถือศาสนาอิสลาม แต่ที่ผมอ่านจากข่าวบอกว่าเจ้าหน้าที่บอกว่าที่เข้ามารับเพราะจะมาสืบหาข่าว ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้จะยิ่งสร้างปัญหาให้ซับซ้อนมากขึ้น  จะเห็นว่าในส่วนของมุสลิมที่เขาต้องเข้ามาจัดการ ไม่ใช่ต้องการแย่งอะไร แต่มุสลิมจะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิมคนหนึ่งที่สำคัญมากที่พี่น้องเขาตาย เขาจะต้องไปทำพิธีศพให้เรียบร้อยเพื่อประโยชน์ของผู้ที่เสียชีวิตเองและผู้ที่มีชีวิตอยู่  แต่พอรัฐมาบอกว่า เขาไม่ใช่ เขาเป็นพุทธนั่นแหละ แต่เข้าเพื่อหาข่าว จะได้เข้าถึงชาวบ้านได้ง่าย ผมคิดว่าเป็นวิธีที่ต้องเลิกทำเพราะจะยิ่งขยายวงความขัดแย้ง

อนุพงศ์: ถามทางท่านพระครู  งานที่ท่านทำที่ภาคเหนือเรื่องศาสนิกสัมพันธ์ ในพื้นที่สามจังหวัดมีความพยายามเริ่มไปได้มากน้อยแค่ไหน

พระครูพิพิธสุตาทร : อาจจะเริ่มไปเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่มากนัก แต่เป็นความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง เพราะเราเห็นแล้วว่าการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง มีวิธีเดียวเท่านั้นคือสันติ อหิงสา ดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ซึ่งเมื่อกลับไปดูว่าทำอะไรบ้าง  จะเห็นว่าได้มีการชวนพระ ชาวพุทธในพื้นที่ภาคใต้มาคุย  เขารู้สึกว่าเขาถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐ เห็นไหมเอาเงินงบประมาณไปสร้างมัสยิด แต่วัดไม่ได้สนใจ  เป็นความรู้สึก ความจริงเป็นอย่างไรอีกเรื่อง แต่ความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญ  เราเลยเริ่มไปพูดคุย ให้ข้อมูลทั้งหลายถูกเผยแพร่ระหว่างกัน ชาวพุทธมีข้อมูลที่ใกล้เคียงกัน จนเกิดกิจกรรมในพื้นที่ที่มีการให้กำลังใจกัน ทำงานช่วยเหลือเพื่อนที่ได้รับผลกระทบ เกิดการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างพี่น้องชาวพุทธ และพระสงฆ์ก็มีโอกาสได้สอนธรรมมะ ตรงนี้คือเรื่องสำคัญมากและทำไปแล้ว สิ่งที่กำลังทำต่อและไม่ใช่แค่พี่น้องพุทธเท่านั้น แต่ต้องเผื่อแผ่ไปยังผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่ ซึ่งได้คุยกับผู้นำศาสนาที่นั่นก็ยินดีพร้อมจะร่วมมือกัน  ซึ่งอาตมาคิดว่าเป็นอีกแนวที่สำคัญ พูดถึงการสานเสวนานานาศาสนาไม่ใช่แค่มานั่งพูดคุย ไม่พอ ต้องมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน เช่นที่ อ.สุชาติพูดว่าเครือข่ายศาสนาเราทำอะไร เรามีพี่น้องพุทธ คริสต์ทั้ง 2 นิกาย มุสลิมมาทำงานด้วยกัน  โดยเอาชีวิตคนเป็นตัวตั้ง  เช่น ชีวิตคนผู้ติดเชื้อ HIV  เพราะคนที่ติดเชื้อ HIV ไม่ได้เลือกศาสนา สามารถติดได้กับทุกคน ดังนั้นโอกาสของการเอาชีวิตคนเป็นหลักว่า 1.จะดูแลผู้ติดเชื้ออย่างไร 2.ทำอย่างไรจะใช้หลักศาสนาไม่เขาติดเชื้อ และ 3.การดูแลคนใกล้ชิดอีก ต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง ก็จะใช้หลักการศาสนาดึงมาใช้ เช่นไปเยี่ยมบ้าน ก็ได้เรียนรู้จากพี่น้องคริสต์ว่าต้องทำอะไรบ้าง เป็นการเรียนรู้กันได้มากจากการปฏิบัติจริง และที่ผ่านมา อ.อรรถจักรได้ไปช่วย การทำวิจัยร่วมกันโดยใช้หลักศาสนา ชื่อเรื่อง ศาสนธรรมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งปรากฏว่าที่นั่นอยากทำนั่นนี่ เป็นการวิจัยท้องถิ่น และสกว.ให้การสนับสนุน ซึ่งทำให้เราได้ยิ่งใกล้ชิดกัน รู้จักกัน ได้เรียนรู้จากกันได้มากเลยทีเดียว  ตรงนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างไร เป็นประเด็นที่ว่ามีพื้นที่ให้เราได้ทำเรื่องทำนองนี้ไหม  รัฐจะเปิดช่องทางแบบนี้ให้เกิดการพูดคุย การทำงานร่วมกันของศาสนาต่างๆ ผู้นำศาสนาต่างๆมีโครงการทำร่วมกัน เช่น การทำเรื่องส่งเสริมดูแลสุขภาพของพระสงฆ์และผู้นำศาสนา ในที่สุดจะได้เข้าใจหลักคำสอนของกันและกันว่าทำไมดูแลตนเองดีหรือไม่ ใช้หลักการอะไร รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น  เป็นการสร้างความเมตตา การุณที่มีอยู่ในใจ ได้มีพื้นที่แสดงออก ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ผศ.ดร.สุชาติ : บทเรียนสำคัญที่เราเรียนรู้จากการทำร่วมกันระหว่างศาสนา คือสำหรับคนทั่วไปอาจมองว่า อย่างกรณีภาคใต้ อาจจะมองว่า มีฮูกุมปากัต  หรือกฏของชุมชน ผู้นำศาสนาเปลี่ยนยาก มักจะมองอย่างนั้น อย่างกรณี HIV เอดส์ เห็นชัดเจนที่เริ่มแรกๆ เหมือนกับทั่วไป ผู้นำศาสนาก็จะต่อต้านว่าผู้ที่ติด HIV เอดส์ ว่าเป็นพวกผิดศีลธรรม พระเจ้าลงโทษ แต่พอโครงการเริ่มพยายามให้เห็นว่าคนที่เป็นเหยื่อของ HIV เอดส์  คนที่ไม่ได้ผิดศีลธรรมก็สามารถติดได้ เด็กที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่คลอดจากแม่ ซึ่งแม่ได้รับจากสามีโดยไม่ได้เกี่ยวกับการทำผิดศีลธรรม  ตอนแรกผู้นำศาสนาไม่ทำพิธีศพ ไม่ละมาดให้   แต่พอผู้นำศาสนาเข้าใจ ตอนหลังผู้นำศาสนาเปลี่ยนกลายเป็นแนวร่วมที่สำคัญสร้างให้คนที่เป็นเหยื่อเห็นคุณค่า ในตัวเองแม้เขาจะอยู่ในสภาพเช่นนั้น  เป็นบทเรียนที่สำคัญมากๆ เพราะเวลาเรามองว่าไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม ผู้นำศาสนาจะแข็ง ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง หรือแม้เรื่องความรุนแรงใดใด แต่ผมคิดว่าถ้าเรามีการทำความเข้าใจ เรียนรู้ซึ่งกันและกันสามารถเปลี่ยนแปลงได้

อนุพงศ์ : เรื่องการทำความเข้าใจกัน ผมมีข้อสังเกตว่าปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้เรามักจะสื่อสารว่า ควรให้คนในพื้นที่ได้มาตัดสินใจเรื่องของเขาเอง ไม่ใช่เรื่องของคู่ขัดแย้ง จริงๆแล้ว แค่นั้นหรือ หรือต้องให้คนไทยทั้งประเทศมีส่วนร่วมตัดสินใจ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะเหยื่อไม่ใช่แค่เฉพาะคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะแม้แต่ทหาร  ตำรวจที่ลงไปอยู่และเสียชีวิตก็มีญาติพี่น้องที่อยู่ทั่วประเทศ ถ้าสร้างการมีส่วนร่วมให้คนเข้ามาร่วมตัดสินหรือแก้ปัญหา จะช่วยคลี่คลายหรือไม่

บาทหลวง นิพจน์ : มีตัวอย่าง คือเมื่อสินามิเกิดขึ้นในภาคใต้   องค์กรต่างๆเข้าไปจนถึงเดี่ยวนี้ และนี่เป็นหัวใจว่าโลกตอนนี้กำลังเจอความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาร่วมกัน เป็นกรณีหนึ่งที่น่าจะนำเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางศาสนาได้ที่สุดเลย  ทุกศาสนิกมาผนึกกำลังเพื่อรื้อฟื้นไม่ใช่แค่ผลกระทบจากสินามิ แต่ก้าวไปสู่การสร้างเครือข่ายว่ามิติศาสนาจะสร้างสรรค์จากปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ ความแตกต่าง การยอมรับร่วมกันเพื่อมองไปข้างหน้า ประเด็นนี้ น่าจะเป็นประเด็นหนึ่งของกระบวนการที่ทำให้ศาสนิกสัมพันธ์เคลื่อนที่ การที่คนทุกข์ด้วยกันมาร่วมกัน มันก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งได้ดีมาก ผมลงไปร่วมหลายครั้ง และตอนนี้สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นหลัก อาจช่วยให้เราเคลื่อนไข ปัญหาความขัดแย้งที่เราเจอก็เป็นพื้นที่หนึ่ง แต่หากเราเปิดพื้นที่กว้างขึ้นไปอีก เรามองภาพอนาคตร่วมว่าเราจะเจอชะตากรรมร่วม ตรงนี้อาจสร้างจิตสำนึกร่วมกัน พอเห็นวิสัยทัศน์ ก็มาสร้างยุทธศาสตร์ยุทธวิธี กระบวนการวิจัยพัฒนาได้  ในสิ้นศตวรรษนี้ถ้าเราไม่กลับใจ การเป็นเหยื่อของความรุนแรงจะไม่ช่วยให้เราเผชิญวิกฤตข้างหน้า

ผศ.ดร.สุชาติ : ผมเสริมคุณพ่อ คุณพ่อนึกถึงสินามิ ผมนึกถึงถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ทั้งโลกมาร่วมกัน ผมคิดว่าทำไมเรารอให้เกิดวิกฤตแล้วมาร่วมกัน เราได้รับบทเรียนแล้วมาร่วมกันตั้งแต่ยังไม่มีวิกฤต มาเตรียมพร้อม

อนุพงศ์ : แต่เราไม่เคยเห็นถ้ามีปัญหาความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์แล้วจะมีส่วมร่วมลักษณะนี้

ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร :  เราคงต้องท้าทายสังคมไทย ว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่แค่ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้

ผศ.ดร.สุชาติ :  ผมก็ท้าชวนสังคมมุสลิมในฐานะที่ผมเป็นมุสลิมให้ฉุกคิด คือ มีพระบิณฑบาตรตอนเช้าและมีเอ็มสิบหกตามหลัง ผมก็จะบอกว่าผมสะเทือนใจมากในภาพนี้ ในฐานะที่ผมเป็นมุสลิม ผมพยายามจะบอกว่าอิสลามมีต้นทุนเยอะมากท่ามกลางชุมชนที่เราอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตามแล้วเราเจอวิกฤตจากภายนอกเข้ามาทำลายไม่ว่าจะทำลายใคร สังคมมุสลิมเราจะต้องช่วยกันปกป้อง มีสัญญาที่เรียกว่่ารัฐธรรมนูญมะดีนะ  สมัยท่านศาสดา สัญญาชัดเจนว่าถ้ามุสลิมถูกฝ่ายอื่นมาโจมตี คริสต์ ยิวต้องมาช่วย ยิว คริสต์ถูกฝ่ายอื่นมาโจมตี  มุสลิมก็ต้องช่วย มิติอย่างนี้ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้คุยกันได้เห็นสิ่งที่เราพูดถึงหลักศาสนา ความงดงามนี้ ถ้าผมอยู่ในพื้นที่ ถ้าพระบิณฑบาตรตอนเช้าผมอยากเห็นภาพมุสลิมปกป้องพระบิณฑบาตรไม่ใช่ให้ทหารถือเอ็มสิบหกเข้ามา คิดว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิม ถ้าเพื่อนต่างศาสนิกที่อยู่กับเราจะได้รับอันตราย ผมคิดว่าถ้าเราเปิดพื้นที่มิตินี้ให้มากขึ้นก็จะเป็นอีกหนทาง

อนุพงศ์ : ก็กลับไปอย่างที่คุณพ่อว่า เอา Power of gun ออกไปเอา Power of wisdom และ   Compassionate กลับมา

บาทหลวงนิพจน์ : อันนี้เป็นคำขององค์ดาไลลามะเลยนะครับ ท่านพูดว่า Power of wisdom และ Compassionate  ความเมตตากรุณาที่มาจากใจ มันอาจจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า พลังด้านบวก

อนุพงศ์ : ภาพอย่างนี้ผมเห็นคนรุ่นอาจารย์อรรถจักร ยุค 1960 ภาพที่ต่อต้านสงครามเวียดนามด้วยการเอาดอกไม้ไปเสียบปลายกระบอกปืนเลย

ผศ.ดร.สุชาติ : ผมจะไม่มีความเชื่อเลยว่า ตอนนี้ในหมู่พี่น้องชาวพุทธที่กำลังร้อนแรง มีบอกว่าตั้งกองกำลังไปสู้เลย จะตั้งกองกำลังอย่างไรก็ตาม จะไม่ใช่คำตอบ อย่างไรพี่น้องในสามจังหวัด คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นมุสลิม หรือแม้แต่กับมุสลิมฝ่ายก่อการที่จะใช้ความรุนแรงจะสู้อย่างไรผมก็ไม่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ

อนุพงศ์ : ซึ่งอันนี้ผมก็เห็นที่ไอร์แลนด์เหนือทางฝั่ง Ulster Unionist   ก็มีกองกำลังของตัวเองที่มาสู้กับ I.R.A. สุดท้ายชาวบ้านกับชาวบ้านก็รบกันเอง

บาทหลวงนิพจน์ : สุดท้ายทั้งสองฝ่ายก็กลับใจ ความรุนแรงไม่สามารถจะแก้ไขได้ ต้องมาหาอีกกระบวนทัศน์หนึ่งเท่านั้น จึงจะหาทางออกได้ ไม่เช่นนั้นจะวนเวียนอยู่อย่างนั้น ไม่ออก ต้องข้ามมาสู่อีกกระบวนทัศน์หนึ่ง ซึ่งกระบวนทัศน์นั้นเราได้คุยกันแล้วว่าเป็นเป้าหมาย และอีกกระบวนทัศน์หนึ่งคือเราอยู่ในโลกที่วิวัฒนาการมาถึงวิกฤตมาก สังคม ศาสนาวิกฤต เรียกร้องอารยธรรมใหม่ ทุกฝ่ายจะสร้างอารยธรรมยุติธรรมสันติให้คนรุ่นหลัง ทุกศาสนามาร่วมกันซึ่งท้าทายพวกเรา

อนุพงศ์ :คุยกันมาพอสมควร อาจารย์อรรถจักรมีอะไรจะทิ้งท้ายเรื่องการคืนความเป็นมนุษย์เพื่อคลี่คลายปัญหา

ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร  :  ประเด็นท้ายสุด สิ่งที่ทั้ง 3 ท่านเห็นตรงกันคือ ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาภาคใต้แต่เป็นปัญหาของสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยศาสนธรรม เราต้องใช้วิธีนี้ในการคลี่คลายปัญหา

อนุพงศ์ : ขอบพระคุณทุกท่านครับ

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ