‘หนังสือ’ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของความรู้และให้ทัศนคติใหม่กับเราแล้วหนังสือยังมีความสวยงามจนเปรียบเสมือนเป็นผลงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งกว่าจะมาเป็นหนังสือสักเล่มต้องใช้เวลาในการสรรค์สร้าง บางเล่มนอกจากจะใช้เวลาไปกับการเขียนและการผลิตแล้วยังต้องใช้เวลาไปกับการหาแรงบรรดาลใจและประสบการณ์รอบตัว ซึ่งนี่อาจเป็นเสน่ห์ที่ทำให้กลุ่มคนรักนักอ่านรู้สึกหลงใหลและชื่นชอบ
คณิต นนทเปารยะ นักออกแบบอิสระ ที่รักการอ่านหนังสือได้กล่าวไว้ว่า สำหรับเขาแล้วหนังสือมันเป็นชีวิต เป็นอาชีพ ให้ความสุขในแง่ที่มันเป็นแหล่่งความรู้ เป็นประตูที่พาเราไปสู่โลกโดยที่บางทีเราไม่ต้องออกไปไหน
ปราบดา หยุ่น นักเขียนก็ได้กล่าวถึงหนังสือไว้เช่นกันว่า “ หนังสือคือสิ่งทีรวมศิลปะหลายๆอย่างไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการพิมพ์ การเขียน การออกแบบ มันเป็นวัตถุที่ผสมผสานศาสตร์หลายๆอย่างเข้าด้วยกัน โดยหลายๆช่างฝีมือ ”
ทุกๆสิ่งที่ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือหนึ่งเล่มล้วนเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของศิลปะหลายแขนง มีทั้งศิลปะทางภาษาหรือวรรณศิลป์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเนื้อหาและอักขระ รวมถึงทัศนศิลป์ที่นำมาใช้ในการรังสรรค์ทั้งการจัดวาง รูปแบบตัวอักษร ภาพประกอบจนถึงหน้าปก ดังนั้นการทำหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่มก็เปรียบเสมือนกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีทั้งความรู้ ความสวยงามและคุณค่า
“ผมคิดว่าหนังสือทุกส่วนมีศิลปะสอดแทรกอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวเนื้อหา การเรียบเรียงภาษา การจัดองค์ประกอบของตัวหนังสือ ภาพประกอบ ภาพปก ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบทางศิลปะที่เรารู้สึกและสัมผัสได้เมื่อเราอ่านหนังสือ”
“หนังสือมันเป็นศิลปะในตัวของมันอยู่แล้ว ทุกอย่างรวมอยู่ในนั้นหมด”
“หนังสือคือสิ่งที่ทำให้เราได้มองเห็นโลกในมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย”
นี่คือความรู้สึกของผู้ที่ชื่นชอบในหนังสือที่บอกเล่าเกี่ยวกับความสวยงาม ศิลปะและคุณค่าของหนังสือซึ่ง ปราบดา หยุ่น ได้กล่าวถึงความงามและคุณค่าของหนังสือไว้ว่า“ความงามของหนังสือเล่มคือสัมผัสและไม่ใช่แค่สัมผัสเดียว เพราะเมื่อเราอ่านหนังสือจะได้ทั้งสัมผัสตรงๆคือสัมผัสที่มือ สัมผัสความรู้สึกที่เราได้รับจากการอ่าน สัมผัสทางสายตาที่ได้เห็นความสวยงามของการออกแบบ สัมผัสกลิ่นหมึก สัมผัสทางความคิด มันให้ความทรงจำกับเรา ถ้ายิ่งประทับใจมันจะอยู่ในความทรงจำเราไปตลอด ”
หนังสือกับผลงานศิลปะมีความคล้ายเคียงกันแต่แตกต่างกันตรงที่ว่าหนังสื่อไม่ได้มีไว้เพื่อให้มาชื่นชมเพียงเท่านั้นแต่เปี่ยมไปด้วยสาระความรู้ที่รอคอยให้ทุกคนมาเปิดอ่านไม่ใช่เพียงแค่มองผ่านแล้วเดินจากไปซึ่งเมื่อมีสาระความรู้และความสวยงามแล้วย่อมทำให้หนังสือมีคุณค่า แต่ทว่าคุณค่านั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ให้ความสนใจและเลือกที่จะหยิบมันขึ้นไปอ่าน