สายน้ำแม่สะงาเปลี่ยนทิศ ซูตองเป้คงท้าทาย (ตอนที่ 1 )

สายน้ำแม่สะงาเปลี่ยนทิศ ซูตองเป้คงท้าทาย (ตอนที่ 1 )

สะพานซูตองเป้ในเดือนสิงหาคม 2567

ภาพฉากสะพานข้าวซูตองเป้แปรเปลี่ยนเปลี่ยนสะพานข้ามแม่น้ำกว้างสุดตาเสมือนหนึ่งทะเลสาบ มองบางมุมก็สวยอีกแบบเหมือนสะพานอูเบง สะพานไม้สักที่ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน เมืองอมรปุระ ประเทศพม่า

แต่นี่ไม่ใช่ทะเลสาบ หากเป็นนาข้าวของชาวบ้านกุงไม้สักที่ปลูกข้าวกำลังโตงามแต่ต้องจมอยู่ใต้น้ำเกือบ 2 เดือน

ทำให้ปีนี้ภาพของสะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในประเทศทอดยาวเหนือรวงข้าวก็จะไม่มีให้ได้เห็นอีก

บทความชิ้นนี้จะพาผู้อ่านติดตามความเป็นมา การแก้ไขปัญหา และอนาคตของชาวนาใต้สะพานซูตองเป้ ด้วยหวังว่าจะเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญให้ได้เรียนรู้

สะพานซูตองเป้ในเดือนสิงหาคม 2567

1.รู้จักทุ่งนาใต้สะพานซูตองเป้ : ผืนดินมหัศจรรย์ที่ทำรายได้ทั้งการท่องเที่ยวและพืชเศรษฐกิจ

อธิษฐานสำเร็จ คือความหมายของ  “ซูตองเป้”  สะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

นับเป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้วที่สะพานซูตองเป้ กลายเป็นอีกสถานที่หนึ่งในความทรงจำของคนไทยหลายๆ คน  ภาพของสะพานไม้ไผ่เหนือรวงข้าวที่มีฉากหลังเป็นภูเขา ทั้งงดงาม ทั้งเปี่ยมความหมายของแรงศรัทธาชาวพุทธที่ต้องการมาทำบุญและไม่เหยียบย่ำข้าวชาวนา จึงได้สร้างสะพานข้ามรวงข้าว

ภาพแห่งแรงศรัทธานี้สร้างความอัศจรรย์ให้หลายคนที่ได้พบเห็นทั้งจากด้วยตา จากภาพถ่าย การบอกต่อ คำร่ำลือ จนกลายเป็นอีกหนึ่ง  unseen ไทยแลนด์ในเวลานั้น คนทั้งประเทศรู้จักซูตองเป้ในชั่วเวลาไม่นาน  และนั่นทำให้ทุกปี ซูตองเป้กลายเป็นอีกแหล่งเศรษฐกิจท่องเที่ยวให้กับแม่ฮ่องสอน โดยคาดว่าเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าร้อยล้านต่อปีสำหรับที่นี่ เพราะซูตองเป้เดินทางมาไม่ยาก ทั้งยังเป็นทางผ่านขึ้นหมู่บ้านจีนยูนนาน บ้านรักไทย

แต่นอกเหนือจากมิติการท่องเที่ยวที่ทำให้สถานที่แห่งนี้กระตุ้นเศรษฐกิจแม่ฮ่องสอนให้เฟื่องฟู “ถั่วลายเสือ”  อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ก็กำลังมาแรงในความเป็นของฝากยอดนิยมของแม่ฮ่องสอน เกษตรกรบ้านกุงไม้สัก มักจะมีรายได้จากถั่วลายเสือประมาณ 3.5-4 หมื่นบาทต่อไร่ พร้อมกันนั้นช่วงฤดูหนาวยังปลูกกระเทียม ผักชี ผักกาด พืชผักสำหรับประกอบอาหารกินในครัวเรือนและเหลือแบ่งขาย ในขณะที่การปลูกข้าวนั้น คือการปลูกเพื่อเก็บไว้กินตลอดทั้งปี ดังนั้น เนื้อที่ท้องนาเกือบพันไร่ริมแม่น้ำสะงา รอบๆ ซูตองเป้จึงนับเป็นแผ่นดินทองของคนที่นี่

วันที่ 1 สิงหาคม 2567  คือวันแรกที่คันดินกั้นแม่น้ำและทุ่งนาต้านแรงกระแสน้ำจากแม่น้ำแม่สะงาที่เชี่ยวกรากไม่ไหวจึงหลากท่วมลงสู่ไร่นาซึ่งปริมาณน้ำที่ทะลักเข้ามามีประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของแม่น้ำ จึงทำให้ท้องนากลายเป็นทะเลสาบในชั่วข้ามคืน

นาข้าวจมอยู่ในน้ำทั้งหมดในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567

สำหรับหมู่บ้านกุงไม้สัก ปรากฏการณ์น้ำท่วมนาข้าวไม่ใช่ครั้งแรกของที่นี่ คำบอกเล่าของเกษตรกรแทบทุกคนพูดตรงกันว่า น้ำท่วมนาทุกปีตั้งแต่พวกเขายังเด็ก แต่ว่าเป็นการท่วมลักษณะแม่น้ำไหลผ่าน เพียงสองสามวันก็หาย ซึ่งแตกต่างจากปีนี้ ที่ท่วมเนิ่นนาน ไม่ทีท่าว่าจะลดลงได้เลย กระทั่ง 3 สัปดาห์ผ่านไป กระแสข่าวจากสื่อที่ลงภาพน้ำท่วมสะพานซูตองเป้ ได้กลายเป็นจุดสนใจของคนส่วนใหญ่ เวทีภาครัฐ ท้องที่ท้องถิ่นพบปะกับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจึงเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้านกุงไม้สัก

(โปรดติดตามตอนที่ 2)

การประชาคมหมู่บ้านและส่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ