ชุมชนโคกยาวเดินหน้าร้อง ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ – ผอ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ชัยภูมิ ขอยกเลิกคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ พร้อมให้พิจารณารับรองแผนจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน
เมื่อวันที่ 16 ก.พ.58 เวลาประมาณ 12.30 น. ตัวแทนชาวบ้านชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กว่า 10 คนเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ (ศูนย์ดำรงธรรม) เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดขัยภูมิ และ พล.ต.มารุต ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งขอให้ทบทวนพิจารณาสั่งการเพื่อยกเลิกหนังสือคำสั่งบังคับให้ราษฎร์ผู้เดือดร้อนออกจากพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว โดยเร็วที่สุด และขอให้พิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชนโคกยาว
นายเด่น คำแหล้ ชาวบ้านชุมชนโคกยาว กล่าวว่า การมายื่นหนังสือในอีกครั้งนี้ เพื่อขอให้ทบทวนพิจารณาในกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อ วันที่ 6 ก.พ. 58 ที่เจ้าหน้าที่สนธิกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ จำนวนประมาณ 100 นาย เข้ามาปิดป้ายหนังสือประกาศ โดยคำสั่งที่ ทส.1621.4/2404 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2558 เรื่อง สั่งให้ผู้ถือครองพื้นที่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ หรือรื้อถอน หรือแก้ไข ทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้รื้อถอนสิ่งปลุกสร้าง พืชผลอาสินทั้งหมดออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม
นายเด่น บอกต่อว่า เหตุการณ์ที่สร้างความทุกข์ใจแบบนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้ง โดยผู้เดือดร้อนได้มีการร้องเรียนมาโดยตลอด แม้ล่าสุดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 58 ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยผลการประชุมในวาระที่ 3.1 กรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ มติที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังนี้
1) การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง
2) แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ยุติ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุ ให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
3) การดำเนินการหากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม
4) การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่
ผู้ยากไร้ ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นต้น
5) ขอให้คณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้น นำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไปประกอบการพิจารณาด้วย
นายเด่น กล่าวต่อมาว่า แต่ในทางปฏิบัติกลับสวนทางกับนโยบาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิ และไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้เดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ และกรอบแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับประชาชน ทำให้ต้องเสียเวลาการทำมาหากิน เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การมายื่นหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในครั้งนี้ พ.ต.สุรขัย ชอบยิ่ง เลขานุการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ เป็นตัวแทนรับหนังสือ พร้อมแจ้งว่าจะนำยื่นต่อท่านผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิได้รับทราบปัญหาผลกระทบความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ท่านได้พิจารณาดำเนินการให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิตของประชาชน จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบาย เป็นการต่อไป
จากนั้น เวลาประมาณ 15.00 น. ตัวแทนทั้งหมดได้เดินทางไปถึงนครราชสีมา เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 โดยทางเลขาฯ กองอำนวยการสำนักจัดการป่าไม้ที่ 8 เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือข้อเรียกร้อง จากนั้นจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา) ที่ทำเนียบรัฐบาล และเดินทางไปยื่นฯ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ เป็นการต่อไป
“ตามหนังสือที่ยื่นเพื่อให้ขอพิจารณายกเลิกคำสั่งไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ยังขอให้พิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน ในพื้นที่นำร่องในรูปแบบโฉนดชุมชน เนื้อที่ประมาณ 830 ไร่ ที่ชุมชนมีความพยายามเสนอแนวทางการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน มาก่อนหน้านั้น กล่าวคือ ชุมชนขอเป็นผู้ดำเนินการวางแผนการจัดการทั้งในเรื่องการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน โดยการเลือกรูปแบบการผลิตที่สอดคล้องกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบภูมินิเวศ รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล คือ สมาชิกจะใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยเท่านั้น ห้ามนำที่ดินไปทำธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่มีกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันปรับรูปแบบการผลิตให้พัฒนาไปสู่การเกษตรกรรมอินทรีย์แบบยั่งยืน เพื่อการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและที่อยู่อาศัยของชุมชน เป็นต้น ตามที่ได้แสดงรายละเอียดในหนังสือที่ยื่นไป” นายเด่นกล่าว
รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน