เส้นทางท่องเที่ยวบรรพชีวินวิทยา : กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองและกระจายรายได้ในพื้นที่ภาคอีสาน (กาฬสินธุ์)

เส้นทางท่องเที่ยวบรรพชีวินวิทยา : กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองและกระจายรายได้ในพื้นที่ภาคอีสาน (กาฬสินธุ์)

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น จัดกิจกรรมนำร่องสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยว/ทัศนศึกษา (Monitor Tour) สำหรับวางแผนการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา (School Trip) “เส้นทางท่องเที่ยวบรรพชีวินวิทยา” (Paleontology Tourism) ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และภาคอีสาน โดยใช้ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน (ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2567) รวมกับภาคีพันธมิตร ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์สิรินธร, ผู้แทนคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทัศนศึกษา, ตัวแทนนักเรียน (ชั้นประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น) และผู้ปกครอง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเทียวบรรพชีวินในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยว “เมืองรอง” ในภาคอีสานและการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวเมืองหลักไปสู่พื้นที่เมืองรอง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีแผนรวบรวมความพึงพอในและวิเคราะห์โอกาสเพื่อที่จะนำไปสู่การจัดเส้นทางทัศนศึกษา ซึ่งมีเป้าดำเนินการช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียน เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรองและการกระจายรายได้

เสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานขอนแก่น

ธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์อีสานก่อนกำเนิดมนุษย์

ข้อมูลที่น่าสนใจใน “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ภูมิศาสตร์ภาคอีสานใน มหายุคมีโซโซอิก (Northeastern Thailand During Mesozoic Era) พื้นที่ภาคอีสานเคยเป็นทะเลมาก่อนและได้ยกตัวขึ้นเป็นภูเขาและภูเขาไฟหลายแห่ง รวมทั้งพื้นที่บางแห่งทรุดตัวลงกลายเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและทะเลสาบที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย อย่างไรก็ดี พื้นที่อีสานในมหายุคมีโซโซอิกปรากฏไดโนเสาร์ชนิด สาหร่าย ปลา เต่า และสัตว์เลื้อยคลานอาศัยอยู่จำนวนมาก คือ โปรซอโรพอต และ ซอโรพอต ซึ่งซอโรพอตที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ ต่อมาใน ยุคจูแรสซิก อากาศเริ่มร้อนและแห้งแล้ง หลายพื้นที่ในอีสานกลายเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่กว้างใหญ่ มีแม่น้ำนับร้อยสายไหลจากเวียดนาม ลาว และกัมพูชามารวมกันทางตอนกลางของพื้นที่แล้วไหลไปทางทิศตะวันตกเป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมซอรัส สุธีธรนี, สยามโมโทรันนัส อิสานเอนซิส, คอมพ์ซอกเนธัส, กินรีมิมัส ฯลฯ แล้วเริ่มพัฒนาไปเป็นไดโนเสาร์อิกัวโนดอน และ ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ กระทั่ง ปลายยุคครีเทเซียส (ตอนต้น)เทือกเขาดงพญาเย็นยกตัวขึ้น เกิดแอ่งในภาคอีสาน 2 แอ่ง คือ แอ่งนครไทย และ แอ่งมหาสารคาม เป็นทะเลสาบน้ำเค็มจัดเกิดการสะสมของเกลือหินและแร่โพแทซ ต่อมาพื้นที่กลายเป็นทะเลสาบน้ำเค็มจัด (หรือช่วงที่กลายเป็นทะเลทราย) ก่อนหน้าที่ไดโนเสาร์ทั่วโลกจะสูญพันธุ์

จังหวัดกาฬสินธุ์มีจุดเด่นเรื่องของ “บรรพชีวินวิทยา” ที่มีความหลากหลายและมีแหล่งขุดพบที่ค่อนข้างใหญ่ และยังมีการขุดค้นต่อเนื่อง…

เสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม พื้นที่อีสานได้แปรเปลี่ยนสภาพภูมิศาสตร์เรื่อยมาอย่างยาวนานเป็นพลวัต กระทั่งมีการขุดค้นพบไดโนเสาร์ที่ “ภูกุ้มข้าว” จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วยหินที่สะสมตัว คือ หินเสาขัวราว 130 ล้านปี และหมวดหินภูพานราว 120 ล้านปี ภูเขาลูกนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “เทือกเขาภูพาน” ที่เกิดขึ้นจากการโก่งตัวของชั้นหินตะกอน โดยภูกุ้มข้าวและพื้นที่ใกล้เคียงชั้นหินได้โก่งงอเป็นรูปคล้ายประทุนเรือวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้  เรียกว่า “โครงสร้างรูปประทุนสหัสขันธ์” มองดูคล้ายเรือแจวคล่ำอยู่ ภายหลังเกิดกระบวนการร่อนโดยธารน้ำทำให้ส่วนที่สูงขึ้นถูกกัดเซาะหายไปเหลือเพียงส่วนที่เป็น “ภูสิงห์” และ “ภูทอก” อยู่ทางทิศตะวันตก มีภูกุ้มข้าวและภูปออยู่ตรงกลางพบเห็นเป็นลักษณะภูเขาเตี้ยแต่มีความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องไดโนเสาร์ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นแหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์จำนวนมากที่ซากขนาดใหญ่เกือบสมบูรณ์ เริ่มรายงานการพบซากไดโนเสาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 โดยพบกระดู 3 ชิ้น เป็นขาหน้าของซอโรพอด ต่อมาการปรับพื้นที่ถนนรอบภูกุ้มข้าวได้พบกระดูกไดโนเสาร์เพิ่มอีกในปี พ.ศ.2537 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคณะสำรวจจาก “กรมทรัพยากรธรณี” ขุดค้นพบกระดูกไดโนเสาร์มากถึง 630 ชิ้น (ขุดค้น 1 ปี) ปัจจุบัน ภูกุ้มข้าวถูกสำรวจและจัดให้เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานสำหรับคนที่มีความสนใจเกี่ยวกับไดโนเสาร์และเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” ซึ่งมีผู้ที่สนใจมาเยี่ยมชมและท่องเที่ยวมากถึงปีละ 3 แสนคนต่อไป และสร้างรายได้ให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์และภาคอีสานราวๆ 5 ล้านบาทต่อปี สำหรับคนที่แวะมาที่นี่นอกจากจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์แล้วยังมีกิจกรรมเกมสนุกสนานชิงของรางวัลจากพิพิธภัณฑ์สิรินธรอีกด้วย

ซากกระดูกไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว กาฬสินธุ์

นอกจากนั้น พื้นที่บริเวณภูกุ้มข้าวที่ขุดพบกระดูกไดโนเสาร์ ได้จัดแสดงตำแหน่งกระดูกไดโยเสาร์ภูกุ้มข้าว (ตุลาคม 2538 – กันยายน 2561) และชี้ให้เห็นว่า การขุดพบซากไดโนเสาร์ประเทศไทยมีมานานแล้ว กระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่พบอยู่ที่ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ.2519 โดยกรมทรัพยากรธรณี ขณะสำรวจแร่ยูเรเนียม “หินเสาขัว” กระดูกดังกล่าวได้รับการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสว่าเป็นส่วนปลายล่างสุดของกระดูกขาไดโนเสาร์ชนิดกินพืชจึงทำให้ทราบว่าประเทศไทยมีไดโนเสาร์ด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมาจึงมีการสำรวจซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทยร่วมกันระหว่าง “นักธรณีวิทยา” กับ “กับผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส” หากเดินทางไปที่ “พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว” อาคารพระญาณวิสาลเถร จะพบกับกระดูกไดโนเสาร์ที่ขุดพบและมีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์จัดแสดง

เส้นทางเดินป่าและความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา “ผาแดง”

หลังจากที่ออกจาก “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” และ “พิพิธภัณฑ์ภูกุ้มข้าว” (ตั้งอยู่ใกล้กันเพียง 500 เมตร) สามารถไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเส้นทางเดินป่าและความรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาบริเวณที่เรียกว่า “ผาแดง” การเดินทางจะต้องเดินทางเข้าไปในป่าลึกราวๆ 2-3 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางเรียบและมีทางชันเพียงเล็กน้อยก่อนถึงผาแดง เมื่อไปถึงจะได้เห็นผาแดง เป็นพื้นที่หน้าผาหินที่มีสีแดง ชั้นหินแบ่งเป็นชั้นๆ ซึ่ง วิทยากรจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร (สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อกลุ่มเยาวชนทีมไกด์เด็กจิตอาสา) ได้ร่วมเดินทางและสะท้อนให้เห็นว่า แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำก่อนถูกยกสูงขึ้นจากกระบวนการของธรรมชาติ สภาพหน้าผาแบ่งให้เห็นชัดเจนว่าเคยเป็นพื้นที่ต่ำและน้ำท่วมถึง โดยหินแต่ละชั้นมีความหนาไม่เท่ากันตามสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำในปีนั้นๆ รวมทั้งชี้ให้เห็นว่า กลุ่มไดโนเสาร์ที่พบที่จังหวัดกาฬสินธุ์บางชนิดมีความเหมือน/คล้ายกับกลุ่มไดโนเสาร์ที่พบในประเทศจีน รวมถึงชี้ว่า พื้นที่บริเวณดินแดนแถบนี้เป็นผืนแผ่นดินเดียวกันที่มีการไหลของแม่น้ำหลายร้อนล้านปีก่อนจะก่อกำเนิดเป็น “ลุ่มแม่น้ำโขง” และแม่น้ำสาขาต่างๆ ในปัจจุบัน รวมทั้งยืนอยู่มุมสูงที่ผาแดงสามารถมองเห็นภูมิศาสตร์จังหวัดกาฬสินธุ์ และพื้นที่ “เขื่อนลำปาว”

การเปิดอัตลักษณ์กาฬสินธุ์ทั้งไดโนเสาร์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกับไดโนเสาร์ และเชื่อมกิจกรรมของชุมชน เส้นทางผจญภัยกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและผลกระทบกับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลความปลอดภัยและให้ความรู้

เสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานขอนแก่น

ภารกิจ…พลิกแผ่นดิน “ภูน้อย”

ดังกล่าวข้างต้น จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นพื้นที่ขุดพบไดโนเสาร์ในประเทศไทย ปัจจุบันยังมีการค้นพบซากไดโนเสาร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์สิรินธรได้พาคณะเดินทางไปชมซากไดโนเสาร์อีกแห่งที่ “ภูน้อย” บนพื้นที่ขนาดประมาณสนามบาสเกตบอล นักบรรพชีวินวิทยาค่อยๆ เปิดหน้าดินบนภูน้อยออกจนพบกับซากกระดูกที่มีการสะสมตัวในช่วงเวลาต่างๆ ราว 150 ล้านปีก่อน พบซากดึกดำบรรพ์หนาแน่น ซึ่งเป็นกระดูกและฟันของไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ บางชั้นพบส่วนของสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น จระเข้ ปลา และเต่า การขุดค้นพบคลอดระยะเวลาที่ผ่านมานักบรรพชีวินวิทยาได้เปิดหน้าดินกว่า 10 เมตร ทำให้พบซากดึกดำบรรพ์กว่า 5,000 ชิ้น นับว่าเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายและสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้น ระหว่างทางเดินขึ้นไปยังภูน้อยหากสังเกตตลอดแนวทางเดิน (นอกพื้นที่ขุด) อาจพบกับก้อนหินที่มีชิ้นส่วนกระดูกของไดโนเสาร์ให้พบเห็นได้อย่างไรก็ตาม เพื่อการอนุรักษ์ให้คงอยู่กับพื้นที่ผู้ที่พบเห็นหรือนักท่องเที่ยวไม่ควรนำชิ้นส่วนที่พบกลับติดมือออกไป สำหรับคนที่เดินทางไปที่ภูน้อยจะมีชาวบ้านดูแลอยู่ตลอดวันจันทร์-ศุกร์ในเวลาราชการ และปิดทำการในวันเสาร์-อาทิตย์ หากเดินทางไปในวันหยุดถ้าต้องการเข้าเยี่ยมชมสามารถเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่/ผู้นำชุมชนที่เทศบาล

แหล่งท่องเที่ยวภูน้อยเป็นพื้นที่ของการศึกษาวิจัยและค้นคว้าของนักธรณีวิทยาอยู่ และคนที่ไปท่องเที่ยวจะได้เห็นร่องรอย เรื่องราว และการขุดค้นไดโนเสาร์ของภูน้อยที่ใหญ่ระดับเอเชียอาคเนย์

เสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานขอนแก่น

เชื่อมโยงผู้ประกอบการท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน

การจัดเส้นทางท่องเที่ยวบรรพชีวิน จังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่เพียงแต่นำไปสู่การเรียนรู้และสัมผัสเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ ไดโนเสาร์ ธรณีวิทยา ฯลฯ เท่านั้น แต่ยังมีความพยายามเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวด้วย เช่น การเกาะเกี่ยววิสาหกิจชุมชนที่ทำกิจกรรมผ้ามัดย้อมจากธรรมชาติ (Eco Print) “รักโลกบนผืนผ้า” ชุมชนมีการนำองค์ความรู้พื้นถิ่นในการผลิตผ้ากับการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ได้จากความโดดเด่นของภูมิศาสตร์แผ่นดินกาฬสินธุ์มาใช้ย้อมผ้า เช่น ดิน ใบไม้ และดอกไม้ กระทั้งได้ผืนผ้าที่มีลวดลายสวดงาม รวมถึงการเชื่อมโยงร้านอาหารและเมนูอาหารที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่กาฬสินธุ์ เช่น ร้าน Hebrews Steak นำเสนอเมนูเนื้อวากิลกาฬสินธุ์ เมนูปลาและกุ้งที่เลี้ยงโดยชาวบ้านในพื้นที่กาฬสินธุ์ และร้านอาหารโฮมการ์เด้น ยางตลาด นำเสนอเมนูอาหารพื้นถิ่นกับการยกระดับเมนูอาหารท้องถิ่นสู่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวตลาดบน ตลอดทั้งการเชื่อมกลุ่มผู้ประกอบการภูนา คาเฟ่ และเพชรจินดาฟาร์ม นำเสนอการผลิตแบบพึ่งพาธรรมชาติและเกษตรกรรมปลอดสารเคมี ซึ่งการจัดทริปเส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าวนี้ ททท. ได้เชื่อมประสานความร่วมมือกับบริษัทนำเที่ยวศรีดารา เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเที่ยว เนื่องจากบริษัทเอกชนถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันด้านการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

เส้นทางการเดินทางแบบสำรวจเป็นการนำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างเส้นทาง โดยเฉพาะโรงเรียนต่างๆ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ โดยจะเสนอขายในระยะยาว…

เสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานขอนแก่น

การไปทำกิจกรรมส่วนเกษตรจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้เชิงท่องเที่ยวการเกษตร เช่น ปลูกต้นไม้ ทำอีเอ็มบอล

เสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานขอนแก่น

ชื่อมโยงชุมชน ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมชุมชน “พระธาตุยาคู”

ข้อมูลจากกรมศิลปากร ชี้ว่าพระธาตุยาคู หรือ พระธาตุใหญ่ จากหลักฐานทางโบราณคดี สร้างในสมัยทวารวดีและเป็นวัดสำคัญในเมืองฟ้าแดดสงยาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง สมัยอยุธยาพบการบูรณะให้เป็นเจดีย์ในผังแปดเหลี่ยม และหลังจาก พ.ศ.2475 มีการต่อเดิมส่วนยอดเจดีย์ให้สูงขึ้นโดยช่าง “ชาวญวณ” คำว่า “ยาคู” (ญาคู) เป็นคำพื้นถิ่นอีสานใช้เรียกพระเถระที่มีจริยวัตรงดงามน่านับถือ อีกทั้งพระธาตุยาคูยังเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุพระเถระรูปสำคัญ ลักษณะสถาปัตยกรรมพระธาตุยาคูเป็นเจดีย์ทรงบัวแปดเหลี่ยมสร้างก่ออิฐไม่สอปูน มีส่วนฐานตอนล่างย่อมุมไม้ยี่สิบ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงเรียงลดหลั่นกัน 5 ชั้น รับบัวแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นแต่งเป็นกลีบบัวประดับที่ฐานโดยรอบ ถัดขึ้นไปเป็นบัวแปดเหลี่ยมขนาดเล็ก 2 ชั้นรับปลียอด รอบพระธาตุในตำแหน่งทิศทั้งแปดปักใบเสมาหินทราย จำนวน 11 หลัก บางทิศปักเพียงใบเดียว บางทิศปักเรียงซ้อนกัน 3 ใบ มีทั้งที่เป็นแผ่นเรียบและสลักเรื่องราวพุทธประวัติ ชาดก เช่น มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก และเตมียชาดก เป็นต้น ส่วนคันดินล้อมพระธาตุสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2526 เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝน ทางทิศใต้ของพระธาตุพบฐานเจดีย์จำนวน 5 ฐาน เรียงกันไปตามแนวทิศเหนือ-ใต้ แต่ละฐานมีส่วนล่างสุดเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเช่นเดียวกัน ส่วนเหนือขึ้นไปมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น เป็นฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ หรือเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกอซุ้มในตอนกลางของแต่ละด้าน บางองค์เหนือขึ้นไปเป็นเป็นฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส บางองค์เป็นมุมทั้งสี่ก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กซ้อนทับให้เหลื่อมกัน เอกลักษณ์ของพระธาตุแห่งนี้ คือ เป็นเจดีย์สำคัญในเมืองฟ้าแดดสงยาง และฐานเจดีย์รายแสดงให้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมเจดีย์สมัยทวารวดี เสมาหินทรายที่สลักเรื่องราวพุทธประวัติและชาดก แสดงลักษณะงานประติมากรรมชิ้นเอกสมัยทวารวดีในพื้นที่ภาคอีสาน นอกกจากนั้น หากเดินทางไปที่พระธาตุยาคู จะพบกับสินค้าชุมชน คือ “ธุง” หรือ “ตุง” ประดิษฐ์ของชาวบ้านในชุมชนที่ใช้สำหรับบูชาพระธาตุและทำเป็นของประดับตกแต่งภายใน การสนทนากับชาวบ้านพบว่า การทำสินค้าดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชุมชนได้มากถึงเดือนละ 1 แสนบาท เป็นรายได้ที่ผู้สูงอายุและคนในชุมชนได้รับจากการท่องเที่ยว

พระธาตุยาคู เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่มีความสำคัญของจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้คนหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้ และดูธุงอีสานที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม หรือ “ทะเลธุง” การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านเรื่องราวของพระธาตุ

เสกสรร ศรีไพรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานขอนแก่น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ