ตามหา “เสียงของเชียงตุง” ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา “เสียงของเชียงตุง” ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา “เสียงของเชียงตุง” ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ยินดีที่ได้รู้จัก

“เป็นห่วง” “มันเข้าไปได้เหรอ?” “จะปลอดภัยไหม?         

เราได้รับถ้อยคำที่ห่วงใยปนสงสัยเสมอเมื่อบอกว่าจะเดินทางไปทำงานที่เชียงตุง รัฐฉาน เมียนมา ซึ่งอันที่จริงเราก็กังวลเหมือนกัน หลังจากที่ฟังข่าวคราวการสู้รบของกลุ่มต่าง ๆ และรัฐบาลเมียนมา จากสื่อของไทย แต่ด้วยข้อมูลที่ “เพื่อน” ชาวเชียงตุงยืนยันว่า (ยัง)ปลอดภัย ไปได้ พวกเราสามคน เรา เพื่อนร่วมวิจัยและน้องผู้ช่วยนักวิจัย ก็ตัดสินใจยืนยันการเดินทางตามกำหนดการเดิม       

การเดินทางเข้าไปเชียงตุงครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของเรา หรือจะพูดได้ว่าเป็นครั้งแรกที่จะได้เข้าประเทศเพื่อนบ้านที่มากว่าการข้ามด่านไปซื้อของที่ท่าขี้เหล็กเมื่อสมัยยังเป็นวัยรุ่นและการค้าชายแดนแถวแม่สาย-ท่าขี้เหล็กยังคึกคัก          

การเดินทางเราใช้การเดินทางโดยรถยนต์ผ่านด่านชายแดนไทยที่แม่สายเข้าสู่ท่าขี้เหล็ก ต่อไปยังจังหวัดเชียงตุง ซึ่งเงื่อนไขของการเข้าประเทศเขาในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ผู้นำทางของเราบอกว่าทางเมียนมายังไม่อนุญาตให้ประเทศที่สามเข้าประเทศทั้งแบบรถยนต์หรือเครื่องบิน จะอนุญาตเฉพาะคนไทยที่มีบัตรประชาชนไทยเท่านั้นที่เข้าได้ และการเดินทางเข้าทางชายแดนแบบนี้จำเป็นต้องใช้ไกด์ท้องถิ่นด้วยเสมอไม่ว่าจะไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม

           เราออกเดินทางจากไทยที่ด่านแม่สายเวลาเช้า ฝนตก ๆ หยุด ๆ สลับกันไปตลอดทางที่ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ระหว่างทางเมื่อเดินทางลึกเข้าไปในรัฐฉานมากขึ้น ก็จะต้องยื่นเอกสารให้กับทางเจ้าหน้าที่เป็นระยะ เพื่อดูว่าเอกสารที่เรายื่นขอมานั้นครอบคลุมและอนุญาตไปถึงหรือเปล่า         

เดินทางมาถึงครึ่งทาง รถตู้ของเราแวะพักที่จุดพักรถท่าเดื่อ ที่เป็นจุดพักรถที่เป็นที่นิยม แวะทานอาหารกลางวัน “ข้าวซอยน้ำจ่าง” ซื้อสินค้าท้องถิ่น ที่ถูกใจก็เห็นจะเป็น เหล่าแมลงทอด จิ๊กกุง จิ้งหรีด ฯลฯ สารพัด และเขียดแห้งทอด ราคาก็ประมาณ 50 บาทต่อถ้วยเล็ก ๆ ราคาข้าวซอยก็ประมาณชามละ 40-50 บาทเช่นกัน ซึ่งเราก็เอนจอยและเปิดรับประสบการณ์อย่างเต็มที่ ^^   

เชียงตุงหลังมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง       

ประมาณบ่ายสองโมงพวกเราถึงเชียงตุง แต่ด้วยเรานัดหมายกับเพื่อนและคนให้ข้อมูลในช่วงเย็น จึงพอมีเวลาออกสำรวจย่านเมือง ของจังหวัดเชียงตุง ก่อน สภาพบ้านเรือน วิถีของผู้คนที่นี่ ในวันที่เราไปถึง ซึ่งผู้นำทางบอกกับเราว่าเมืองเชียงตุง เพิ่งจะมีไฟฟ้าใช้แบบ 24 ชั่วโมงเมื่อ 3-4 ปีมานี้เอง เมื่อก่อนจะใช้การปั่นไฟ หรือใช้แบตเตอรี่ จึงทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทันสมัยยังมีไม่มากนัก ซึ่งก็จริง เพราะร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น พัดลม ทีวี นั้นมีให้เห็นน้อยมาก แต่ที่เห็นบ่อยมากก็คือร้านขายโทรศัพท์มือถือ และร้านหม่าล่าปิ้งย่าง และเริ่มเห็นปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่สร้างเพิ่มมากขึ้นเช่นกันส่วนหมู่บ้านที่อยู่ไกลจากตัวเมืองออกไปก็ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงไฟฟ้าอยู่ แต่เราก็เห็นคนนอกเมืองติดแผงโซลาเซลล์กัน          

ถ้าเราลองจินตนาการดูว่า เมื่อมีไฟฟ้า แน่นอนว่า เมืองเปลี่ยนทันที แต่ไม่หมายความว่าที่ผ่านมาเขาจะอยู่ในความมืดมิด แต่เป็นการจ่ายไฟเป็นเวลา และอาจไม่ทั่วถึงในพื้นที่นอกเขตเมือง ซึ่งพอไฟเข้ามาแล้วก็เอื้อต่อธุรกิจท่องเที่ยวหรือธุรกิจการบริการมากขึ้น เห็นได้ชัดก็คือ ผับ บาร์ ทั้งขนาดใหญ่และน้อยเปิดเพิ่มขึ้น ซึ่งเราก็ไม่พลาดเข้าไปสร้างประสบการณ์ร่วม…แอบกระซิบว่า ว้าว กับราคาเหล้าเบียร์ นำเข้าจากที่นั่นมาก เพราะถูกกว่าจากบ้านเราประมาณเท่าตัว แถมการซื้อขาเหล้าเบียร์เขานั้นไม่ได้มีการจำกัดเวลาและการจำกัดอายุผู้ซื้อนะ           

แต่ว่าการเดินทางไปเยือนเชียงตุงครั้งนี้ เราสนใจเรื่องสื่อ โดยเฉพาะยิ่งทราบว่าเมื่อมีไฟฟ้าใช้ตลอด24 ชั่วโมงแล้ว จะเอื้อต่อการทำสื่อหรือรับสื่ออย่างไร จากการสำรวจแบบเรา เราก็พบว่าในพื้นที่เชียงตุง สื่อหลักที่เป็นของท้องถิ่นเอง คล้ายกับช่อง 11 เชียงใหม่ หรือวิทยุท้องถิ่น ที่ใช้คลื่นความถี่ดูฟรีแบบที่เราคุ้นชินนั้นไม่มี แต่ถ้าจะมีก็จะผ่านออนไลน์และมักใช้ภาษาเมียนมา ไม่มีสื่อหลักที่ใช้ภาษาถิ่นหรือไทใหญ่ ดังนั้น สื่อที่จะให้ข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่เกิดขึ้น หรือเป็นสื่อที่จะบอกเล่าเรื่องราว หรือที่เราเรียกว่า “เสียง” จำเป็นต้องอาศัยสื่อสังคมออนไลน์ของคนธรรมดา หรือตามแนวคิดที่เราสนใจคือ Hyperlocal Media หรือช่องทางออนไลน์ที่นำเสนอเรื่องราวในชุมชนเฉพาะถิ่นนั้น ๆ

Hyperlocal เชียงตุง: เติมเต็มการสื่อสารท้องถิ่น   

การเข้าไปเยือนเชียงตุงครั้งนี้ เราตามหาเสียงจริง ๆ ซึ่งเในที่นี้ ก็คือ สื่อ ที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนของเขา และเมื่อทราบว่าสื่อของเขา คือสื่อออนไลน์ทางแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ยูทูป ติ๊กต๊อก เป็นหลัก (แต่ตอนนี้ เฟซบุ๊ก และ เอ๊กซ์ หรือทวิตเตอร์ ถูกทางการควบคุมการใช้) จากประสบการณ์ของเราที่มีโอกาสไปพูดคุยกับ Hyperlocal เชียงตุง พบว่าจุดเริ่มต้นการเป็นผู้ผลิตเนื้อหาก็คือการไม่มีอะไรทำ ไม่รู้ทำอะไรในช่วงโควิด จึงถ่ายเรื่องราวใกล้ ๆ ตัว การใช้ชีวิต การทำมาหากินตามวิถีของเขา หรืออาจเป็นการนำเสนอประเพณีวัฒนธรรมในชุมชนของพวกเขาในมุมที่พวกเขาอยากเล่า และใช้เครื่องมือเพียงแค่โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวในการทำงาน แต่เมื่อเนื้อหาที่พวกเขาไปโดนใจผู้ชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทย ก็ทำให้ช่องเติบโตและขยายไปสู่การสร้างรายได้อื่น ๆ ทั้งจากแพลตฟอร์มและการทำธุรกิจต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า บางกรณีก็ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่น เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้นไปได้อีก หรือบางกรณีก็พอใจกับการเป็นผลิตเนื้อหาเป็นงานเสริมจากอาชีพหลัก แต่ทุกคนล้วนตอบเหมือนกันว่าเป้าหมายของพวกเขาที่ยังคงผลิตเนื้อหาหรือทำสื่อนอกเหนือจากโอกาสทางด้านรายได้แล้ว พวกเขาอยากให้คนได้รู้จัก เข้าใจและรัก “เชียงตุง” ของพวกเขาให้มากขึ้น แม้จะท้อกับความยากลำบากในการเข้าถึงแพลตฟอร์มและระบบการเมืองในประเทศก็ตาม        

ในมุมมองของเรา เรามองว่าบทบาทและความสำคัญของช่องของผู้ผลิตเนื้อหาจากชุมชนแบบนี้ ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสในชีวิตของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชุมชนของพวกเขา ในแง่มุมของการเป็นหน้าต่างบานเล็ก หลาย ๆ บานที่เปิดให้ผู้คนภายนอกได้มองเห็น ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ ความงดงามและความเจ็บปวดของวิถีชุมชน ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าต่างที่จะทำให้คนในชุมชนได้มองเห็นภายนอกอย่างน้อย ๆ ก็ได้มองเห็นเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยจากการที่พวกเขาเดินทางไปเยือนบ้านเรา แล้วถ่ายทอดบ้านเราในมุมของเขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นมุมมองเชิงบวกเสมอ


การทำงานของพวกเขาในมุมมองเรา แม้หลายคนอาจคิดว่าก็แค่ผลิตเนื้อหาบ้าน ๆ สื่อที่ขายชีวิตประจำวัน เท่านั้น แต่สำหรับเรา เรารู้สึกยกย่องพวกเขา เพราะมองว่าพวกเขาคือการเติมเต็มและบางครั้งเป็นการทดแทนระบบการสื่อสารในชุมชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนระบบการสื่อสารมวลชนท้องถิ่น (Media Deserts) ซึ่งหากไม่มีหน้าต่างบานเล็ก ๆ เหล่านี้กระจายตัว ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นและเป็นไปในพื้นที่ตามความสนใจและความเชี่ยวชาญเฉพาะ อย่างแข็งขันแล้ว ใครจะทำ ในวันที่สังคมปิด อยู่ในประเทศที่รู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกหน้าและยังเผชิญกับความไม่แน่นอนกับสงครามกลางเมืองอยู่ทุกวัน          

หันกลับมามองบ้านเรา ยุคที่เขาบอกว่ามีผู้ผลิตเนื้อหามากล้นจนจะไม่มีคนดู แต่จริง ๆ หากพิจารณาในมิติข้อมูลข่าวสาร เราเองอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสื่อชุมชนหรือสื่อท้องถิ่น (Media Deserts) ที่แทบไม่มีข่าวท้องถิ่น (News Deserts) อยู่หรือเปล่า?

รศ.ดร. ภัทรา บุรารักษ์

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่

คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา 


ตามหา "เสียงของเชียงตุง" ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา "เสียงของเชียงตุง" ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา "เสียงของเชียงตุง" ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา "เสียงของเชียงตุง" ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา "เสียงของเชียงตุง" ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา "เสียงของเชียงตุง" ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา "เสียงของเชียงตุง" ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา "เสียงของเชียงตุง" ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

ตามหา "เสียงของเชียงตุง" ในวันที่สงครามกลางเมืองยังครุกรุ่น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ