22 สิงหาคม 2567 เวลา เครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบลฯ เขื่อนแม่น้ำโขง นำโดยนางสาวสดใส สร่างโศรก ซึ่งเป็นตัวแทนเครือข่ายที่ทำหนังสือร้องเรียน ได้เข้าพบนายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป ที่ห้องประชุมกรรมธิการ N 402 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา โดยมีคณะกรรมธิการฯ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา และทีมเลขาณุการเข้าร่วมในการประชุม นอกจากนี้ยังมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆที่คณะกรรมธิการได้เชิญเข้าร่วมเพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อกรณีที่มีการร้องเรียน ได้แก่ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พลังงานจังหวัดอุบลราชธาชธานีในนามตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี บริษัทเจริญเอ็นเนอร์ยี่แอนด์วอเทอร์เอเชีย จำกัด (ประเทศไทย) และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่คณะกรรมาธิการเชิญแต่ติดภารกิจและไม่ได้มอบหมายผู้แทนเข้าร่วม
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเครือข่ายฯ ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการเขื่อนพูงอย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา กรณีแผนการก่อสร้างเขื่อนพูงอย ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงความมั่นคงของรัฐที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เขื่อนพูงอยเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตพื้นที่ สปป.ลาว บริเวณตอนล่างแม่น้ำโขงใต้เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบไหลผ่าน (Run-off-river) พัฒนาโครงการโดย บริษัทเจริญเอ็นเนอร์ยี่แอนวอเทอร์เอเชีย จำกัด (ประเทศไทย) และ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ มีความยาวสันเขื่อนประมาณ 3 กิโลเมตร กั้นแม่น้ำโขง มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 728 เมกกะวัตต์ และระดับกักเก็บน้ำ 98 เมตรเหนือระดับทะเลปานกลาง
สดใส สร่างโศรก ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวในที่ประชุมว่า เขื่อนพูงอยอาจส่งผลต่อพื้นที่เขตแดนไทยจากการเปลี่ยนแปลงของระดับแม่น้ำโขงและร่องน้ำลึก โดยเกรงว่าจะสูญเสียพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานีด้วย รวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของท้องถิ่นตลอดแนวชายแดนแม่น้ำโขง ที่จะเกิดจากปัญหาน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
เขื่อนพูงอยจะส่งผลกระทบหลายเรื่อง ประเด็นแรก ก็คือเขื่อนจะเกิดขึ้นภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) หรือที่เรียกกันว่าแผน PDP ที่กำหนดไว้ว่าจะมีกำลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสำรองไว้ 50% ทำให้รัฐบาลต้องการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 40,000 กว่าเมกะวัตต์ ซึ่งจะซื้อไฟฟ้าจากลาวประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ แล้วในแผนก็ระบุไว้ว่าเขื่อนพูงอยมีศักยภาพในการที่รัฐบาลจะรับซื้อ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ารัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนพูงอย สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับเราก็คือเราจะเป็นผู้แบกรับค่าไฟเพิ่มขึ้นเพราะมันเกินจากความจำเป็น ประเด็นที่สอง คือเขื่อนพูงอยที่สร้างอยู่ในประเทศลาว มันจะเป็นเขื่อนที่ปิดกั้นไม่ให้น้ำจากอุบลฯ ไหลลงแม่น้ำโขงแล้วก็ และจากการคำนวนจะทำให้น้ำเท้อขึ้นมาประมาณ 4 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่สูงขึ้น และจะมีผลต่อขอบเขตชายแดนที่แบ่งตามร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขง และประเด็นที่สาม คือน้ำจะท่วมอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะและรวมถึงเขื่อนปากมูลแน่นอน และในสถานการณ์ปัจจุบันที่คนอุบลฯ มีสภาพน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีในฤดูน้ำหลาก เพราะฉะนั้นเราก็จะกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมถาวรและรวมถึงอีสานด้วยเพราะจะได้รับผลกระทบร่วมหลายจังหวัด ผู้ประสานงานเครือข่าย ซึ่งกล่าวในฐานะผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง
ทางด้านชัยรัตน์ พงศ์พีระ พลังงานจังหวัดอุบลราชธานี ได้ชี้แจงว่าหากมีการศึกษาและเห็นว่าเขื่อนพูงอยมีผลกระทบ ก็จะมีคณะกรรมการสำหรับประเมินผลกระทบและแนวทางการรับมือ ซึ่งในระยะยาวจะมีการตั้งคณะกรรมการมไทย-ลาว เพื่อการประสานงานพร้อมยืนยันว่า ณ ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายละเอียดโครงการและผลการศึกษาผลกระทบ ทั้งนี้หากเป็นไปตามที่ภาคประชาชนคาดการณ์ จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดอุบลราชธานีอย่างมาก โดยจะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังง่ายขึ้นเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น และท่วมขังยาวนานขึ้น
ในส่วนของตัวแทนบริษัทเจริญเอ็นเนอร์ยี่แอนวอเทอร์เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานได้ยืนยันว่า มีการประสานกับทุกหน่วยงานรัฐของไทยเพื่อสร้างความเข้าใจและจัดทำการประเมินผลกระทบตามหลักเกณฑ์และข้อสังเกตของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสมอ และให้ข้อมูลว่าโครงการเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-off-river) พร้อมมีระบสะพานปลาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาในแม่น้ำ โดยแม้จะมีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำจริง แต่จะไม่ทำให้เกิดปริมาณน้ำล้นตลิ่งและไม่ท่วมอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ นอกจากนี้ยังยืนยันว่าโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการอุทกภัย จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้โครงการยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบ หากมีความจำเป็นก็สามารถยกเลิกได้
“ในเรื่องการเดินทางของทางปลา เราไม่ได้ทำเป็นลักษณะบันไดปลา ซึ่งบันไดทางปลาของเราจะมีโขดหินและหญ้า รวมทั้งพืชน้ำที่มีความคล้ายกับแหล่งเพาะพันธุ์ปลาจริง เราได้มีการศึกษาทางปลาจากหลายที่และนำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งทางปลาจะไม่เหมือนเขื่อนเขื่อนปากมูลเพราะเราเน้นธรรมชาติ ในส่วนของพลังงานไฟฟ้าก็จะใช้เวลา 10 กว่าปีจากตอนนี้กว่าจะมีการซื้อขาย ส่วนรายงานผลกระทบเรื่องชายแดนเราได้หารือเบื้องต้นซึ่งรัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อพื้นที่ต่างๆ เช่น แก่งตะนะ และพื้นที่อื่นๆในฝั่งไทย” สุรเชษฐ ธำรงลักษณ์ ตัวแทนบริษัทเจริญเอ็นเนอร์ยี่แอนวอเทอร์เอเชีย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมในที่ประชุม
ชุมลาภ เตชะเสน ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า โครงการเขื่อนพูงอยตอนนี้มีเพียงการศึกษาผลกระทบในขอบเขตของพื้นที่ สปป. ลาวเท่านั้น และยังอยู่ในขั้นตอนที่ลาวกำลังรวบรวมข้อมูลก่อนมานำเสนอให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพิจารณาร่วมกัน โดยยังต้องรับฟังผลกระทบข้ามพรมแดนจากสมาชิกประเทศอื่นร่วมด้วย หลังจากนี้ทางการไทยจะทำการวิเคราะห์ผ่านอนุกรรมการวิชาการเพื่อให้ข้อคิดเห็น และเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับภูมิภาค ก่อนร่วมจัดตั้งแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) เพื่อการติดตามผลกระทบและกำหนดมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ทรงชัย ปฏิยุทธิ รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลซึ่งเป็นข้อสังเกตเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเล่าว่าแม้ลาวจะเป็นเจ้าของโครงการแต่ก็มีพันธกรณีตามกระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยต้องเคารพหลักความเท่าเทียมกันของรัฐ คือ การกระทำใดๆจะต้องไม่กระทบต่อรัฐอื่น ในด้านข้อกังวลต่อการแบ่งเขตแดนนั้นจะเป็นเรื่องของการพิสูจน์ทราบและเจรจรจรจาแบ่งเขตแดนตามแนวร่องน้ำ อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผลกระทบเรื่องระดับน้ำอย่างใกล้ชิด และจะนำเสนอความคิดเห็นที่ได้รับทราบต่อรัฐบาลเพื่อประกอบการพิจารณาการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนพูงอยต่อไป
ในส่วนของตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยณัฐจารีย์ ศรีเพ็ชร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจพลังงาน ก็ยืนยันว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีการทำข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการเขื่อนพูงอยแต่อย่างใด และหากจะมีการซื้อขายจะต้องมีการพิจารณาผ่านคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจำเป็นต้องริเริ่มจากทางการลาวเป็นผู้เสนอเรื่องเข้ามา เพื่อให้มีการพิจารณาร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้สรุปประเด็นสำคัญว่า ขณะนี้โครงการเขื่อนพูงอยอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลให้ครบถ้วนและครอบคลุมซึ่งกำกับและติดตามโดยคณะอนุกรรมาธิการวิชาการภายใต้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ (MRC) และเป็นช่วงที่กำลังดำเนินการตามแผนปฏิบัติการหรือ Roadmap ที่เห็นชอบร่วมกันจากคณะกรรมการร่วมและยังไม่เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือตามระเบียบปฏิบัติของ MRC รวมถึงกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง ที่สำคัญยังไม่มีข้อมูลด้านอุทกวิทยา ชลศาสตร์ด้านประมง สิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ – สังคมยังไม่ครบถ้วน ซึ่งคณะกรรมการแม่น้ำโขงอยู่ระหว่างเพิ่มเติมข้อมูลและแก้ไขตามข้อคิดเห็นของฝ่ายไทย
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ มีข้อกังวลถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าด้านการลงทุนจัดหาพลังงานลักษณะนี้ โดยจำต้องเปรียบเทียบกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงของประเทศและประชาชนตามแนวชายแดนไทย-ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่จะกระทบต่อแนวเขตแดนของไทย รวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตท้องถิ่น พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพิจารณาผลกระทบของโครงการ ในฐานะผู้สังเกตการณ์หรือคณะทำงานภายใต้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเป็นช่องทางรับฟังและสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง