วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการเสวนาวิชาการเรื่อง “การวางแผนครอบครัวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรทุกช่วงวัย” จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) โดยมี รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ กล่าวรายงาน พร้อมทั้งมอบประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์แก่สมาคมฯ ประจำปี พ.ศ. 2566 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับคัดเลือกเป็นอาสาสมัครดีเด่นสมาคมฯ ประจำปี พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ วิทยากรในการเสวนาวิชาการฯ ประกอบด้วย 1) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) หัวข้อ “เครื่องมือและการจัดสวัสดิการทางสังคมที่หนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร” 2) ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “รูปแบบของประชากรที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในแต่ละช่วงวัย” 3) ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน นักวิชาการอิสระ หัวข้อ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในมุมมองที่หลากหลาย” 4) ดร.นายแพทย์ บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หัวข้อ “การจัดบริการสุขภาพในทุกช่วงวัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร” ดำเนินรายการโดย แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร กรรมการสมาคมฯ
นอกจากนี้ มีการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร โดย ผู้แทนกระทรวง พม. และสมาคมฯ ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมนำเสนอในประเด็น สวัสดิการชุมชน เพื่อคนทุกวัย โดย นายชัยวิชญ์ภณ ตังกิจ นักปฏิบัติการชำนาญการพิเศษ พอช. พร้อมผู้แทนจากสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สำนักงานประสานขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม สำนักพัฒนาผู้นำแลพนวัตกรรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย
นายวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยในปัจจุบันเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายมิติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางประชากรเป็นมิติหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ เนื่องจากประชากรของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำมาก จนจำนวนประชากรในวัยเด็กและวัยทำงานลดลงทุกวัน ในขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก กระทรวง พม. มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนและสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ได้ตระหนักถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว และได้จัดทำสมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย หรือ “นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ ได้แก่ 1) เสริมพลังวัยทำงาน 2) เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน ‘เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ’ 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ 4) เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าว ตามที่กระทรวง พม. เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป และตนได้มอบหมายให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทุกจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ทั่วประเทศ ให้ทำความเข้าใจ 5 ประเด็นในนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร และร่วมกันขับเคลื่อน โดยมอบเป็นการบ้านและจากการติดตามมีการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ การทำงานกระทรวง พม. ที่เน้นเรื่องการสงเคราะห์ จะต้องเป็นการทำงานเชิงรุกตามกระแสการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรโลกให้ทัน และถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันผลักดัน
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณทางสมาคมฯ ที่ร่วมจัดการเสวนาในวันนี้ ซึ่งท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรประเทศไทย บทบาทของสมาคมฯ และการทำงานของกระทรวง พม. ร่วมกันกับการเสวนาวิชาการในเช้าวันนี้ จะเป็นตัวสำคัญในการที่จะหาทางออก ซึ่งร่วมกันถกถึงเรื่องวิกฤตของประชากรของประเทศที่นับวันกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุที่เร็วยิ่งขึ้น การลดจำนวนลงของเด็กแรกเกิดและทำให้บาลานซ์ของประชากรในประเทศไทยนั้นไม่มีความสมดุลย์เกิดขึ้นมันก็จะก่อปัญหาอีกหลายอย่าง ตนเชื่อว่าการเสวนาในวันนี้จะได้นำเอาผลที่ได้รับไปเป็นข้อมูลเพื่อที่จะสังเคราะห์ออกมาเป็นนโยบายในรูปแบบต่างๆต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. เรามีนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ที่ต้องบอกว่าไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพราะว่าการที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรนั้น จะดูผลเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ต้องดูทั้งตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุรวมถึงคนพิการคนวัยทำงานแล้วก็ในทุกภาคส่วนของสังคมการสร้างระบบนิเวศให้คนรุ่นใหม่นั้น มีความต้องการที่จะมีครอบครัวแล้วก็มีบุตรซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานจะต้องมาร่วมมือกันสร้างโครงสร้างต่างๆเหล่านี้ เพื่อเอื้อให้คนรุ่นใหม่นั้นมีครอบครัวที่สมบูรณ์แล้วก็ยั่งยืน
รศ.ดร.ฤาเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสวนาวิชาการเรื่อง “การวางแผนครอบครัวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร ทุกช่วงวัย” จะช่วยให้ได้องค์ความรู้ในเรื่อง การวางแผนครอบครัวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรทุกช่วงวัย เพื่อใช้ในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และใช้ขับเคลื่อนงานสมาคมฯ ในระดับพื้นที่ โดยความร่วมมือกับกระทรวง พม. ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนางานด้านประชากรร่วมกันในอนาคต ซึ่งกระทรวง พม. มีการทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรทั้งเชิงรับและเชิงรุกอย่างเข้มแข็ง ซึ่งสมาคมฯ มีนโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมให้ทุกการเกิดเป็นการเกิดที่มีคุณภาพและเติบโตเป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยกลไกขับเคลื่อนของภาครัฐและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนหนุนเสริมทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งให้สำเร็จตามเป้าหมาย
ด้านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดย นายชัยวิชญ์ภณ ตังกิจ นักปฏิบัติการชำนาญการพิเศษ พอช. นำเสนอประเด็น “สวัสดิการชุมชน เพื่อคนทุกวัย” โดยระบุว่า สวัสดิการชุมชนกับการพัฒนาทุกช่วงวัย สวัสดิการชุมชนที่เกิดขึ้นเกิดจากภาคประชาชน โดยแนวคิดสังคมไม่ทอดทิ้งกัน เราต้องการให้ภาคประชาชนเป็นเจ้าของ เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง ประเทศไทยเข้มแข็ง พอช.อาสาเป็นกลไกหนึ่งช่วยขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการชุมชน เมื่อประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนร่วมหนุนเสริม โดยในอนาคตมีการดึงเอกชนเข้ามาร่วมด้วย
สวัสดิการชุมชนเริ่มจากความคิพื้นฐานคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งที่สำคัญ คือ ถ้าเราสามารถสร้างสวัสดิการได้ ทุกคนอาจจะอยากมีลูกเพราะมีการรองรับ เงินรับรองบุตร แก่ เจ็บ ตาย ครอบคลุมทุกช่วงชีวิต และในปัจจุบันสวัสดิการชุมชนครอบคลุมมากกว่า 20 เรื่อง เช่น สิ่งแวดล้อม ป่าเป็นสวัสดิการชุมชน มีอาหารจากป่า เช่น เห็ดเผาะ หน่อไม้ ปลา ครอบคลุมทุกมิติ มีประเพณีวัฒนธรรม สวัสดิการแต่งงาน ใครแต่งงานมีเงินไปช่วยเหลือ เกิดมาแล้วต้องได้รับการดูแล สวัสดิการชุมชนเป็นทางออกที่ไปเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาหลายมิติได้ แต่ประชาชนต้องเข้าใจและตระหนัก ครอบคลุมทุกมิติให้ประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าของ สร้างการมีส่วนร่วมกับภาครัฐให้ได้ เน้นการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ปัจจุบันมีการทำเรื่องธนาคารขยะ สร้างรายได้ให้กับกองทุนสวัสิการมากกว่าเงินสมทบ