ที่บ้านบะหว้า อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดเวทีติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ นำโดย อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนบริหารโครงการและงบประมาณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (หัวหน้าโครงการวิจัย) และ อาจารย์อรอนงค์ ขันเดช รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะนักวิจัย พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคีเครือข่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยน (Poverty Forum) ได้แก่ สนง.เกษตรอำเภออากาศอำนวย เทศบาลตำบลบะหว้า กรรมการกองทุนหมู่บ้านอำเภออากาศอำนวย และเครือข่ายพี่เลี้ยงในปฏิบัติการแก้จน ต.โพนงาม ต.ท่าก้อน เพื่อสะท้อนข้อมูลผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนเป้าหมายและ กลุ่มอาชีพในชุมชน/สังคม จากกระบวนการวิจัยโมเดล “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2567
นักวิจัยราชภัฏ นำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ
“ราชภัฏ” หมายถึง “คนของพระราชา” ซึ่งมีความหมายและนัยยะ ที่สำคัญและลึกซึ้งมาก เปรียบเสมือนว่า สถาบันราชภัฏทุกแห่ง ได้เป็นผู้ทำงานถวายเพื่อสนองพระราชกรณียกิจของพระองค์ ในเรื่องที่สำคัญ ๆ พัฒนาประชาชนทุกหมู่เหล่าได้มีโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้าน ช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกสถานที่รวมถึงชุมชนสังคมที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่น ๆ
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติงานวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ โดยคำนึงถึงประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยด้านสังคมในมนุษย์ที่มีความรู้สึกและมีพฤติกรรมที่ซับซ้อนแตกต่างกัน ดังนั้นขั้นตอนดำเนินงานลูกศรจะไม่ชี้ไปทางเดียวต้องชี้ไป-กลับ และสลับลำดับขั้นตอนกันไปมา บางพื้นที่หรือบางหมู่บ้านไม่ได้เริ่มต้นจากขั้นตอนที่หนึ่งเสมอไป เพราะต้องดูว่าอะไรเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และบริบทคน สังคม/ชุมชน
กรอบการประเมินโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง “ใฝ่เรียนรู้ สู้ชีวิต พิชิตจน”
โมเดลแก้จน อยู่ในแพลตฟอร์มขจัดความยากจน โดยหน่วย บพท. ทีมนักวิจัยโมเดลเกษตรมูลค่าสูง ฯ ออกแบบกระบวนการพัฒนาคนจนและอาชีพควบคู่กันไป การนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องดูว่ามีผู้ควบคุมดูแลได้ การเพิ่มทักษะอาชีพต้องดูจริตคนในชุมชนหรือลูกค้า มีกรอบการยกระดับงานวิจัยและเกณฑ์การประเมิน เพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมในพื้นที่ดำเนินการ ดังนี้
- ใฝ่เรียนรู้ นำครัวเรือนเป้าหมายเข้าถึงองค์ความรู้ ทักษะอาชีพ เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ คือระบบและกลไกของพี่เลี้ยง ซึ่งมหาวิทยาลัยจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ CIL. (Community Integrated Learning) เป็นการจัดสวัสดิการการเรียนรู้ ร่วมกับกระบวนการวิศวกรสังคม นำนักศึกษาร่วมเรียนรู้ควบคู่กับการพัฒนาท้องถิ่น
- สู้ชีวิต สามารถขยายฐานการผลิตหรือการตั้งกลุ่มอาชีพ สมาชิกเป็นแรงงานเดินสายพานการผลิต และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ มีผลประกอบการรายได้เหลือต้นทุนไว้ดำเนินกิจการรอบการผลิตต่อไป ที่สำคัญสามารถบริหารจัดการกับเทคโนโลยีในการผลิตทั้งด้านทักษะและค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา พร้อมด้วยมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเป็นอุปสรรคต่อคน งาน เงิน
- พิชิตจน เปลี่ยนกิจกรรมสู่กิจการเพื่อสังคม มีภาคีเครือข่ายและหุ้นส่วน สู่การสร้างเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE) ประกอบด้วย 5 มิติ โดย แรงงาน สิ่งแวดล้อม และความมั่งคั่ง ซึ่งเป็น 3 มิติแรกที่ระบบให้ความสำคัญ แรงงานจะต้องเป็นศูนย์กลางของธุรกิจและการพัฒนา และ อีก 2 มิติ คือ ค่านิยมทางจริยธรรมที่ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน มิติสุดท้ายคือ ธรรมาภิบาล ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม โครงสร้างการบริหารจึงควรเน้นการมีส่วนร่วมและยึดหลักประชาธิปไตย
มอบนวัตกรรมชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ กับกลยุทธ์สร้างความไว้ใจ
รูปธรรมที่เกิดจากการน้อมนำศาสตร์พระราชา และกรอบการวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ สู่การปฏิบัติโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจบะหว้า ผลคือผ่านการประเมินสามารถเป็นผู้ผลิตและบรรจุก้อนเห็ด เลื่อนระดับสู่ขั้นตอนการสู้ชีวิต ซึ่งครัวเรือนเป้าหมายและกลุ่มสามารถตอบขั้นตอนการผลิตได้ถูกต้อง มีแรงงานในระบบการผลิตที่จะแนะนำคนอื่นได้ 3 คน รวมถึงมีรายได้จากการจำหน่วยเห็ดใน 2 ไตรมาส นำเงินฝากบัญชีธนาคาร ธกส. 70,000 บาท (6พ.ค.67) มีการกำหนดโครงสร้างแบ่งหน้าที่การทำงาน และจัดระบบสวัสดิการเกื้อกูลในชุมชน
ทีมนักวิจัยวิเคราะห์เทคโนโลยีสำคัญที่ใช้ในการบรรจุก้อนเห็ดคือ หม้อต้มไอน้ำ จุดเด่นคือควบคุมอุณหภูมิ 100 องศาฯ ได้สม่ำเสมอ สามารถลดความเสียหายของก้อนเห็ดได้ หัวใจการผลิตก้อนคือเปลี่ยนราเสียเป็นเชื้อรา(เห็ด)ดี มีหลักในการเลือกเทคโนโลยีคือประหยัดสุดประโยชน์สูง ส่วนนวัตกรรมอื่น ๆ ทางกลุ่มร่วมเป็นหุ้นส่วนหรือใช้แรงงานสมาชิกในการผลิตเองได้ เป็นการพัฒนาทักษะการผลิต เมื่อเจออุปสรรคในอนาคตจะสามารถเลือกเทคโนโลยีมาแก้ไขได้ตรงจุด
การมอบในครั้งนี้มีคุณค่าและความหมาย ดั่งเช่นการรับมอบใบประกอบวิชาชีพ ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่ได้รับอย่างมีศักดิ์ศรี นอกจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีแล้ว นักวิจัยยังจับคู่ธุรกิจกับฟาร์มเห็ดสุเทพ ปูทางสู่โอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่ในอนาคต เพราะหัวใจสำคัญในการสร้างกิจการให้สำเร็จคือการสร้างความไว้ใจ (Trust Economic) มี 3 องค์ประกอบ คือ ค่านิยมร่วม (Logic) ใส่ใจกับความชอบและจริตคน (Empathy) และความเก่ง (Authenticity)
วิจัยแก้จนต้องเกิดโมเดลที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญที่เป็นฐานรากคือทุนมนุษย์ สิ่งที่ใช้ในการขับเคลื่อนคือทุนเศรษฐกิจ สิ่งเกื้อหนุนเสริมคือทุนสังคม จนเกิดหน่วยการทำงานในรูปแบบกิจการหรือธุรกิจให้ได้ เพราะในการพัฒนาธุรกิจต้องเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ วิจัยแก้จนก็เช่นกันถ้าไม่มีการเลื่อนระดับทางสังคมก็ไม่ต่างกับการกุศล
ขอเป็นกำลังใจให้นักวิจัยผู้ที่ตระหนักต่อการพัฒนาท้องถิ่น กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ด้วยคำผญาสั่งสอนของบรรพบุรุษ
“หล่าคำเอยคันเทียวทางบ่สุดเส้น อย่าถอยหลังให้เขาย่ำ ตายขอให้ตายหน้าพุ้น เขาจั่งย่องว่าหาญ”
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ