จดหมายแอมเนสตี้ถึงประธานาธิบดีอินโดนีเซียร้อง ‘เลิกโทษประหารชีวิต’

จดหมายแอมเนสตี้ถึงประธานาธิบดีอินโดนีเซียร้อง ‘เลิกโทษประหารชีวิต’

วันนี้ (20 ก.พ. 2558) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่ลงนามโดย ซาลิล เช็ตติ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถึงประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย แสดงความกังวลต่อการประหารชีวิตที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติอย่างน้อย 11 คน ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการฆาตกรรม

ข้อเรียกร้องของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อรัฐบาลอินโดนีเซีย คือ 1.ยุติแผนการประหารชีวิตทั้ง 11 คนโดยทันที และให้ทบทวนกรณีอื่นๆ ทั้งหมด ทั้งนี้โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเปลี่ยนโทษประหารชีวิตให้เป็นโทษจำคุก 2.จัดทำความตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการประหารชีวิต ทั้งนี้โดยมีเจตนารมณ์เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต สอดคล้องกับมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ และ 3.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศ เพื่อยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตในทุกข้อบัญญัติ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังได้ประกาศจุดยืนคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โดยระบุว่าโทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

ทั้งนี้ จดหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

 

จดหมายเปิดผนึกจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถึงประธานาธิบดีอินโดนีเซียกรณีโทษประหารชีวิต

ฯพณฯ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด 
Istana Merdeka Jakarta 10110 อินโดนีเซีย

18 กุมภาพันธ์ 2558

เรียน ฯพณฯ 
จดหมายเปิดผนึกว่าด้วยโทษประหารชีวิต

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อแสดงความกังวลจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่มีต่อการประหารชีวิตที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติอย่างน้อย 11 คน ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการฆาตกรรม 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต และเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด

หากอินโดนีเซียเดินหน้าประหารชีวิตบุคคลเหล่านี้ จะเป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีนักโทษประหารอย่างน้อยสองคนที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีต่อศาลสูงสุด มาตรฐานระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่า ไม่ควรมีการประหารชีวิตกรณีที่คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกังวลด้วยว่า ที่ผ่านมานักโทษประหารบางคนอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อให้สามารถยื่นคำร้องอุทธรณ์คดีต่อศาลสูงได้

Rodrigo Gularte นักโทษชาวบราซิลได้รับการตรวจพบว่ามีอาการจิตเภทและไบโพลาร์ และมีลักษณะอาการทางจิตอื่น ๆ อาการของเขายังทรุดลงในระหว่างคุมขังในแดนประหาร กฎหมายระหว่างประเทศห้ามใช้โทษประหารชีวิตกับผู้ที่พิการด้านจิตใจหรือสติปัญญา เรายินดีกับรายงานล่าสุดที่ว่าทางการอินโดนีเซียกำลังประเมินคดีของนาย Gularte ใหม่ และอาจไม่ประหารชีวิตเขา หากพบว่าเขามีอาการทางจิต 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังตกใจกับการแสดงจุดยืนของรัฐบาลอินโดนีเซียที่จะปฏิเสธไม่รับคำร้องขอลดหย่อนโทษ กรณีที่เป็นนักโทษประหารเนื่องจากความผิดด้านยาเสพติด ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลที่จะร้องขอให้อภัยโทษหรือเปลี่ยนโทษ และเป็นสิทธิที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย และข้อ 6 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในรัฐภาคี

มีการอ้างว่าการรื้อฟื้นการประหารชีวิตในอินโดนีเซียเป็นการตอบโต้กับอาชญากรรม รวมทั้งอาชญากรรมด้านยาเสพติด อย่างไรก็ดี ความผิดด้านยาเสพติดยังไม่ถือว่ามีคุณสมบัติเป็น “ความผิดร้ายแรงสุด” ซึ่งอาจมีการนำโทษประหารชีวิตมาใช้ได้ตามกติกา ICCPR นอกจากนั้น ยังไม่มีพยานหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตจะช่วยป้องกันอาชญากรรมได้อย่างเป็นผลมากกว่าการลงโทษชนิดอื่น ๆ จากการศึกษาอย่างละเอียดขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารชีวิตกับอัตราการฆ่าคนตายได้ข้อสรุปว่า ไม่มีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าการประหารชีวิตส่งผลในเชิงป้องปรามอาชญากรรม มากกว่าการจำคุกตลอดชีวิต 

ดังที่องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานอื่น ๆ ได้เคยแถลงไว้ การแก้ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงสุดและความไม่มั่นคง จำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมทางอาญาอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนควรมีความมั่นใจว่า เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายผ่านการอบรมมาเป็นอย่างดี และมีความรู้มากเพียงพอที่จะสอบสวนความผิดทางอาญา โดยไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรมั่นใจได้ว่าระบบยุติธรรมมีความเป็นอิสระ เป็นธรรม และมีความเป็นกลาง 

การใช้โทษประหารชีวิตต่อไปในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ยังอาจบั่นทอนความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ต้องการคุ้มครองไม่ให้พลเมืองของตนถูกตัดสินประหารชีวิตในประเทศอื่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลตระหนักว่า เมื่อเดือนเมษายน 2557 รัฐบาลอินโดนีเซียยินยอมจ่ายค่าชดเชยเพื่อให้มีการเปลี่ยนโทษประหารชีวิตสำหรับคนทำงานบ้านชาวอินโดนีเซียที่ต้องคดีในซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากเธอได้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่านายจ้างตนเอง ทั้งที่ในความจริงผู้หญิงคนดังกล่าวอาจกระทำการเช่นนั้นเพื่อป้องกันตนเอง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศยังประกาศที่จะขัดขวางไม่ให้มีการประหารชีวิตพลเมืองชาวอินโดนีเซียอย่างน้อย 229 คนซึ่งต้องโทษประหารในต่างประเทศสำหรับความผิดเกี่ยวกับการฆ่าคนตายและยาเสพติด แม้เราชื่นชมกับความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียที่จะหาทางลดหย่อนโทษให้กับผู้ต้องโทษประหารชีวิตในต่างประเทศ แต่การนำโทษประหารชีวิตมาใช้ต่อไปในประเทศของตนเอง สะท้อนถึงสภาวะสองมาตรฐานที่เป็นปัญหาอย่างยิ่ง 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องรัฐบาลอินโดนีเซียให้

•    ยุติแผนการประหารชีวิตทั้ง 11 คนโดยทันที และให้ทบทวนกรณีอื่น ๆ ทั้งหมด ทั้งนี้โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเปลี่ยนโทษประหารชีวิตให้เป็นโทษจำคุก 

•    จัดทำความตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการประหารชีวิต ทั้งนี้โดยมีเจตนารมณ์เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต สอดคล้องกับมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

•    แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศ เพื่อยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตในทุกข้อบัญญัติ

เราหวังว่าท่านจะพิจารณาข้อเสนอแนะเหล่านี้ 

ขอแสดงความนับถือ

ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty)
เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ