จดหมายเปิดผนึกจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กรณีปัญหาข่มขู่ คุกคามในหมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ

จดหมายเปิดผนึกจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กรณีปัญหาข่มขู่ คุกคามในหมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ

จากกรณีมีนายทหารที่อ้างว่าเป็นตัวแทนผู้ซื้อแร่ทองแดงจากทุ่งคำ บุกถึงหน้าบ้านเข้ามาเจรจากับแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ที่ผ่านมานั้น กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้ทำจดหมายเปิดผนึกไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

20142404124646.jpg

เรื่อง        ร้องเรียนการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน และกรณีปัญหาการข่มขู่ คุกคามในหมู่บ้าน

เรียน       คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง

ความเป็นมาจากเหตุการณ์ วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๗ ที่มีการส่งนายหน้าเข้ามาเจรจากับแกนนำผู้ใหญ่บ้านในยามวิกาล เพื่อให้ผู้ซื้อแร่ทองแดงจาก บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ขนแร่ผ่านทาง บนถนนสาธารณะของชุมชน ที่มีระเบียบชุมชนห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ๑๕ ตันใช้ทาง โดยยื่นข้อเสนอจะยกฟ้อง ๓ คดีอาญาซึ่งชาวบ้านจะต้องไปขึ้นศาลในวันที่ ๒๘ เมษายนนี้

รุ่งเช้าวัน ต่อมา เมื่อรถเครน ๑ คันวิ่งผ่านทางเข้าไปยังเหมืองทอง ตามด้วยรถบรรทุก ๑๘ ล้อ ๔ คัน รถปิดบังป้ายทะเบียนอีกไม่ต่ำว่า ๓ คันวิ่งเข้าออกระหว่างเหมืองทองกับหมู่บ้านตลอดวัน จากนั้น พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และผู้ติดตามชายฉกรรจ์อีก ๑๖ คน (๔ คนใน ๑๖ คนอ้างว่าเป็นทหาร) ที่อ้างถึงความเกี่ยวพันกับคนในตระกูลทิมสุวรรณที่มีสายสัมพันธ์ต่อกันอย่าง แน่นแฟ้น ได้บุกเข้าไปยังบ้าน นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อีกทั้งได้แสดงอาการคุมคามนักข่าวซึ่งอยู่ในช่วงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ก่อนจะยื่นข้อเจรจา จะขอผ่านทางชุมชนเพื่อขนแร่ทองแดง บีบคั้นจะเอาคำตอบให้ได้จากแกนนำ ทั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีแร่ทองแดงพร้อมขายในโกดังประมาณ ๑,๒๐๐ ตัน มูลค่า ๓๐๐ ล้านบาท (ตามคำให้การของพนักงานทุ่งคำในชั้นศาล) จึงเป็นเหตุผลให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดปิดด่านตรวจรถบรรทุกที่ผิด ระเบียบชุมชน ผิดกฎหมายจราจรที่ห้ามรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ๒๐ ตันใช้ทางหลวงชนบท และเพื่อป้องกันเหตุร้ายแรงที่ส่อเค้าคุกคามแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและ ประชาชนในหมู่บ้าน

ในคืนวันนั้น ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้านรวมตัวประชุมใหญ่ มติที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือ ไม่อนุญาตให้รถบรรทุกเกิน ๑๕ ตันใช้ถนนสาธารณะร่วมกับชุมชน และให้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย

ส่วนอีกเหตุผลสำคัญอีกประการ คือ พล.ท.ปรเมษฐ์ นายทหารนอกราชการที่ออกหน้าเข้ามาเจรจาในฐานะผู้ซื้อแร่ ไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาก่อน หรือเพียงตั้งใจเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหากำแพงใจให้ทุ่งคำ

ที่น่าสังเกต เช้านี้ (๒๓ เมษายน ๒๕๕๗) นายปรเมศ ปันสิทธิ์ ลูกชายของ นายปราโมทย์ ปันสิทธิ์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ต่อสายถึง นายสมัย ภักมี แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดแต่เช้าขอนัดคุยแกนนำ ขณะเดียวกันผู้ติดตามของ พล.ท.ปรเมษฐ์ ต่อสายจะเข้ามาทวงถามคำตอบของชาวบ้านว่ามีความคืบหน้าอย่างไร แต่ผู้ติดตามของ พล.ท.ปรเมษฐ์ ก็ยกเลิกการนัดหมายที่จะมาฟังคำตอบอย่างง่ายดายเพียงแค่รู้ว่า นายปรเมศได้ติดต่อเพื่อขอพูดคุยกับชาวบ้านแล้ว

๑๑:๐๐ น. ของวันดังกล่าว นายปรเมศ และผู้ติดตามรวม ๓ คน มาถึงจุดนัดหมายที่จะพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

ตัว แทนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ตั้งคำถามต่อการรับรู้ของทุ่งคำถึงการเข้ามา ของกลุ่มทหารในฐานะผู้ซื้อแร่ ซึ่งสร้างความหวั่นเกรงในความไม่ปลอดภัยให้ชาวบ้าน

นายปรเมศยอมรับว่า ทุ่งคำรู้มีกลุ่มทหารเข้ามาในหมู่บ้าน แต่ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับวิธีการ-พฤติกรรมในการเจรจาที่สร้างความหวั่น เกรงในความไม่ปลอดภัยให้ชาวบ้านจากท่าทีของกลุ่มทหารที่เข้ามาเหล่านั้น และยังไม่ทราบว่าใครหรือบริษัทใดเป็นผู้ซื้อแร่ของทุ่งคำ เพราะต้องสอบถามไปยังสำนักงานใหญ่ก่อน

ทั้งนี้ นายปรเมศ ได้ยื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเปิดการเจรจากับทุ่งคำอีก ครั้ง โดยยกเรื่องการ “ปิดเหมือง ฟื้นฟู”  ซึ่งเป็นความต้องการของชาวบ้านขึ้นมาเป็นประเด็น

แต่จากประสบการณ์การ เจรจาที่ผ่านมาระหว่างทุ่งคำกับชาวบ้าน ประเด็นแรกที่ทุ่งคำใช้ในการแลกเปลี่ยน คือ การให้ชาวบ้านทำลายกำแพงใจ เพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดีเสมอมา โดยปัจจุบันตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๓๓ คน ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งและอาญา ๗ คดีเรียกค่าเสียหายมากกว่า ๒๗๐ ล้านบาท

อีก ทั้ง ทุ่งคำ โดยนายปราโมทย์ ปันสิทธิ์ กรรมการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ก็เคยยื่นข้อเสนอนอกรอบโดยจะแบ่งหุ้นให้กับชาวบ้าน ๒๐% จะผลิตทองคำโดยไม่ใช้ไซยาไนด์ จะให้ชาวบ้าน ๖ หมู่บ้าน เข้าตรวจสอบการดำเนินกิจการเหมืองแร่ได้ตลอดเวลา และจะแบ่งผลกำไรให้กับชาวบ้านในรูปแบบกองทุน

ด้านนายธนาวุธ ทิมสุวรรณ นายก อบจ. เลย ก็เคยออกตัวว่าเป็นนายหน้าที่ต้องการจะซื้อแร่ทองแดงจากทุ่งคำ โดยเสนอจะให้ค่าหัวคิวกับชาวบ้าน ๕% เพื่อแลกกับการขนแร่ผ่านถนนสาธารณะ ซึ่งจะต้องมีการทำลายกำแพงใจในช่วงขนแร่และจะสร้างคืนให้เมื่อขนแร่แล้ว เสร็จ

แต่การเจรจาทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างทุ่งคำกับชาวบ้าน ๖ หมู่บ้าน ขาดความจริงใจ ไม่ใช่การแก้ปัญหา เป็นเพียงการหาแง่และกฎหมายที่นายทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับ ชาวบ้านที่จะขนแร่ผ่านถนนสาธารณะและทำเหมืองต่อไปเท่านั้น

ดังนั้น ตัวแทนในการเจรจาของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จึงตั้งเงื่อนไขก่อนที่จะมีการเจรจา ให้ทุ่งคำรับประกันว่า จะไม่มีการขนแร่ทองแดงก่อนการเจรจา ให้เปิดเผยบริษัทผู้ซื้อแร่ ให้แสดงสัญญาซื้อขายแร่ระหว่างทุ่งคำกับคู่สัญญา ให้แสดงใบอนุญาตขนแร่ที่ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และให้ผู้ที่จะมาเจรจามีเอกสารบันทึกการประชุมของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจ ในการตัดสินใจเด็ดขาดมาแสดง ทั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงใจ และพิสูจน์ว่า กระบวนการในการซื้อ-ขาย และขนแร่ที่ผู้ซื้อและผู้ขายทำให้เป็นประเด็นเร่งด่วนถึงขนาดนี้ จะไม่ใช่การซื้อ-ขาย และขนแร่เถื่อน ผิดกฎหมาย โดยนายปรเมศ ตัวแทนของทุ่งคำที่แสดงความต้องการจะให้มีการเจรจาได้รับเงื่อนไขของ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทุกประการ

แต่ยังไม่พอ สำหรับความกังวลของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เมื่อวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด เริ่มจากขบวนรถตู้ของกลุ่มนายทหาร มีรถตำรวจนำหน้าเปิดทางและปิดท้ายให้ขบวน

ย้อนไปถึงการใช้กองกำลังตำรวจ บัญชาการโดย พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์ หรือ “ผู้การเสือ” เพื่อปิดกั้นชาวบ้านไม่ให้เข้าร่วมใน เวทีพับลิก สโคปปิง ๒ ครั้ง อีกทั้งตำรวจยังเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการทำลายกำแพงใจของชาว บ้าน ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งราชการในขณะนั้น) มีตำแหน่งเป็น กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของทุ่งคำ ตลอดจนการที่ตำรวจไม่เคยได้เข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยให้ชาวบ้าน เช่น คดีขู่วางระเบิด ๒ จุดในหมู่บ้านไม่มีความคืบหน้า

ที่น่าสังเกตคือ พล.ท.ปรเมษฐ์ เป็นอดีตนายทหารที่ทำธุรกิจหลายอย่างและรู้จักมักคุ้นกับ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ อดีตกรรมการบริหารของทุ่งคำ

ปัจจุบันทั้งคู่ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับ บริษัท เสริมทรัพย์ไพศาล กรุ๊ป 1999 และ พล.ท.ปรเมษฐ์ ยังอ้างถึงความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างการเจรจากับแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดว่า “เป็นพี่เป็นน้อง” กับ ตระกูลทิมสุวรรณ ซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลเหมืองแร่ในจังหวัดเลย

ยิ่ง เมื่อมองเหตุการณ์ความรุนแรงจากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ กรณีที่ดินตลาดปัฐวิกรณ์ ซึ่งปรากฏชื่อในพาดหัวข่าวว่า พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค เป็นประธานที่ปรึกษา บริษัท ปัฐวิกรณ์ จำกัด

เครือข่ายความ สัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้วิเคราะห์มาเหล่านี้ จะมีการเชื่อมโยง เกื้อหนุน โดยทุกฝ่ายจะแบ่งบทบาทกันอย่างไร

แล้วความปลอดภัยของชาวบ้านหากเกิดกรณีคุกคาม หรือความสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

ยิ่ง ในทัศนะของชาวบ้านที่ผ่านมา ทุ่งคำไม่เคยมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และความรู้สึกของชาวบ้านที่รับรู้ได้ในขณะนี้ คือ มีการส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้ามาก้าวร้าว ข่มขู่ พร้อมข่าวลือแพร่สะพัดเรื่อง”อุ้มแกนนำ” ซึ่งน่าแปลกที่ทุ่งคำส่งตัวแทนมาให้ความหวังกับชาวบ้านต่อการเจรจาว่าจะมี การปิดเหมืองและฟื้นฟู

“ความสับสนกังวล” จึงเป็นคำถามในเวลานี้ที่ชาวบ้านทุกคนมีต่อท่าทีของทุ่งคำ

ธุรกิจ ค้าทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และละเมิดสิทธิของชุมชนอย่างร้ายแรง ทิศทางนี้หรือที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านหรือคนไทยต้องการ

ด้วยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงขอร้องเรียนมายังหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ

  • ๑. ขอให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน
  • ๒. ขอให้ ผู้บัญชาการทหารบก ดำเนินการสอบสวนวินัยกลุ่มนายทหารดังกล่าวในข้อความข้างต้น
  • ๓. ขอให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการสอบสวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จากคดีวางระเบิด ๒ จุดในหมู่บ้านไม่มีความคืบหน้า
  • ๔. ขอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการสอบสวนการซื้อ-ขาย-ขนแร่ และดำเนินการด้านความปลอดภัยของแกนนำและชาวบ้านเป็นคดีพิเศษ
  • ๕. ขอให้ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาตการซื้อ-ขายแร่ และใบอนุญาตขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด
  • ๖. ขอให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดในการใช้รถบรรทุกขนย้ายแร่ที่มีน้ำหนักเกินกฎหมาย กำหนด

โดยขอให้ทุกหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบพิจารณาและดำเนินการอย่างเร่งด่วน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เลขที่ ๑๔
บ้านนาหนองบง หมู่ ๓ ต.เขาหลวง
อ.วังสะพุง จ. เลย ๔๒๑๓๐

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ