คุยกับ นศ.ปีนตึก! แขวนป้าย‘บริษัท ม.ขอนแก่นจำกัด มหาอธิ(เผด็จ)การ’ ค้าน ม.นอกระบบ

คุยกับ นศ.ปีนตึก! แขวนป้าย‘บริษัท ม.ขอนแก่นจำกัด มหาอธิ(เผด็จ)การ’ ค้าน ม.นอกระบบ

20150804205423.jpg

“ผมทำในนามนักศึกษาคนหนึ่งของ มข.ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยของเราออกนอกระบบ” พายุ หนึ่งในนักศึกษาผู้ปฏิบัติการในครั้งนี้กล่าว

8 เม.ย. 2558 เวลาประมาณ 16.00 น. ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นักศึกษาชาย 2 คนได้ปีนขึ้นไปยืนอยู่ที่ชั้นบนสุดของบริเวณอาคารศูนย์อาหารและบริการ 1 หรือ คอมเพล็กซ์ และทำการแขวนป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ระบุข้อความว่า ‘บริษัท ม.ขอนแก่นจำกัด มหาอธิ(เผด็จ)การ’ ห้อยลงมาจากด้านบนของตัวอาคาร

จากนั้นมีการโปรยใบปลิว โดยมีเนื้อหาถึงเหตุผล 4 ข้อ ไม่ต้องการให้นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ คือ  1.ไม่มีส่วนร่วมในการออกความเห็น  2.โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกัน  3.อำนาจอาจรวมอยู่ที่ผู้บริหารคนเดียว 4.อาศัยจังหวะเผด็จการในการออกนอกระบบ ต่อมาเจ้าหน้าที่มีตำรวจ และ รปภ.มหาวิทยาลัย ได้นำตัวนักศึกษาทั้ง 2 คน ลงมาและพาไปที่สำนักงานทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยเพื่อตักเตือน

20150804205522.jpg

โต๊ะข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส พูดคุยกับ ‘พายุ’ นักศึกษาปี 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในนักศึกษาที่ทำกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งระบุว่าไม่ใช่เขาไม่กลัวที่สูง เมื่อขึ้นไปแล้วเขาก็ต้องรอนั่งรอให้มีคนพาตัวลงมา เพราะหวาดเสียวเกินกว่าจะกลับลงมาในทางเดิม แต่เขาก็กล้าที่จะลุกขึ้นมาสื่อสารถึงสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย

“สิทธิของเรา เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แม้อาจถูกหาว่าปลุกปั่น สร้างความวุ่นวาย แต่เราทำในสิ่งที่ถูกต้องในจิตสำนึก เราเชื่ออย่างนั้น จึงไม่กลัว” พายุกล่าว

พายุ อธิบายถึงข้อความในป้ายไวนิลว่า คำว่า  ‘บริษัท ม.ขอนแก่น’ ต้องการสื่อสารถึง มข .ที่กำลังเตรียมตัวออกนอกระบบ เปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยที่เน้นให้การศึกษา เปลี่ยนไปเป็นบริษัทที่มุ่งเรื่องผลกำไร นอกจากค่าเทอมและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สูงขึ้น ยังมีเรื่องสวัสดิการต่างๆ ของนักศึกษาก็อาจได้รับผลกระทบ การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้ว โอกาสในการเข้าถึงของคนจนย่อมเป็นไปได้ยากมากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนที่ดินของมหาวิทยาลัยซึ่งเดิมมีชาวบ้านอยู่อาศัยทำกิน อาจมีการขับไล่ชาวบ้านออกเพื่อนำไปแสวงหาผลกำไรที่มากกว่า ดังที่เกิดขึ้นแล้วในกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็อาจเกิดกรณีไม่ต่างกัน

ส่วนคำว่า ‘มหาอธิ(เผด็จ)การ’ นั้น สื่อว่าอธิการบดีจะเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อำนาจในการบริหาร ดูแลทุกๆ อย่างในมหาวิทยาลัยจะรวมอยู่ที่อธิการบดี อีกทั้งการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบส่วนมากจะทำในยุคของเผด็จการ โดยอธิการบดี มข.เป็นผู้เสนอ และ สนช.ซึ่งมีอธิการบดี มข.ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นผู้พิจารณาผ่านกฎหมาย โดยไม่มีส่วนร่วมจากนักศึกษาและประชาชน

เมื่อถามเขาว่ากลัวไหม เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอยู่ในฐานะที่ถูกจับตามอง และในช่วงเที่ยงวันเดียวกันนี้ เกิดกรณีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ อ้าง มาตรา 44 ห้ามนิสิตและกลุ่มลูกชาวบ้านจัดงานเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ในมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยบูรพา (คลิกอ่านข่าว) พายุตอบว่าไม่กลัว เพราะนี่เป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา

“ผมแสดงความเห็นในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งที่ควรมีสิทธิมีเสียงอะไรบ้าง โดยส่วนตัวผมเชื่อเรื่องประชาธิปไตย การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษา จากบุคลากร จากหลายๆ ฝ่าย แต่ที่ผ่านมา มข.ไม่มี” พายุกล่าว 

นักศึกษา มข.เล่าด้วยว่า จากการคัดค้านการนำ มข.ออกนอกระบบในยุคก่อนหน้านี้ เขาได้ร่วมกับกลุ่มเพื่อนจัดเวทีชี้แจงข้อมูล โดยเชิญอธิการบดี มข.มาเข้าร่วม แต่ก็ถูกเมินเฉย ทำให้สรุปบทเรียนได้ว่า ทำอย่างไรผู้มีอำนาจคงไม่สนใจรับฟัง

“ตอนนี้กฎหมายผ่านวาระ 1 แล้ว เราไม่มีเวลารอ ต้องแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการคัดค้าน และแสดงออกเพื่อตั้งคำถามกับนักศึกษาคนอื่นๆ เรื่องนี้” พายุกล่าว และระบุด้วยว่ากิจกรรมของเขาและเพื่อนคือกระบวนการเพื่อกระตุ้นเพื่อนนักศึกษา อีกทั้งยังมีการทำข้อมูลเพื่อให้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมถึงต้องคัดค้าน

พายุกล่าวด้วยว่าเขาและเพื่อนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยนอกระบบถูกนักศึกษาส่วนหนึ่งมองว่าเป็น “พวกขวางการพัฒนา” แต่ก็มีนักศึกษาส่วนหนึ่งเห็นด้วย โดยเฉพาะในเรื่องค่าเทอมแพง และนักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยส.จะรับรู้ได้มากว่าภาระเรื่องการศึกษา เป็นภาระหลังอย่างหนึ่งของครอบครัว

ส่วนการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ เขายืนยันจะร่วมกับเพื่อนคัดค้านต่อไปจนกว่าร่างกฎหมายจะถูกถอดออกจาก สนช.

20150804205728.jpg

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ