จากหมอลำกลอนสู่วงหมอลำในตำนาน: ระเบียบวาทะศิลป์

จากหมอลำกลอนสู่วงหมอลำในตำนาน: ระเบียบวาทะศิลป์

คงไม่มีมิตรรักแฟนดนตรีหมอลำท่านใดที่ไม่รู้จักวงดนตรีหมอลำในตำนานจากจังหวัดขอนแก่นที่มีเส้นทางการเดินทางมายาวนานถึง 60 ปีจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกในวันนี้ เส้นทางการปรับตัวของวงระเบียบ วาทะศิลป์จากวันที่มีเพียงดอกคูณ เสียงแคนและเสียงร้องหมอลำที่มีสมาชิกวงเพียง 4 คน ได้กลายมาเป็นวงระเบียบวาทะศิลป์ในปัจจุบันที่มีการแสดงยิ่งใหญ่ตระการตาที่ประกอบไปด้วยสมาชิกกว่า 300 ชีวิตและเทคโนโลยีการแสดงที่ทันสมัยไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากความพยายามที่จะพัฒนาดนตรีหมอลำกลอนแบบดั้งเดิมให้เหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าของดนตรีหมอลำในขณะที่ยังคงรักษารากเหง้าและกลิ่นอายของวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน

วงระเบียบ วาทะศิลป์ถือกำเนิดขึ้นโดยคุณพ่อระเบียบและคุณแม่ดวงจันทร์ พลล้ำ หมอลำกลอนจากบ้านสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และนักดนตรีอีกเพียง 2 คนที่บรรเลงเพียงแคนและกลองยาวประกอบการร้องหมอลำกลอนแบบดั้งเดิมที่บรรยายเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ นิทานชาดก คำสอนในพุทธศาสนา และความรู้ทั่วไป ซึ่งคุณพ่อระเบียบและคุณแม่ดวงจันทร์ได้ตระเวนแสดงหมอลำไปตามที่ต่าง ๆ ในภาคอีสานและมีสร้างชื่อเสียงให้กับวงระเบียบวาทะศิลป์พอสมควร หลังจากที่คุณแม่ดวงจันทร์เสียชีวิตในปีพ.ศ. 2548 ด้วยวัยเพียง 68 ปี วงระเบียบวาทะศิลป์ได้รับการสืบทอดโดยทายาทคือ “พ่อเอ๊ะ” ภักดี พลล้ำและ “พ่อเปีย” สุมิตรศักดิ์ พลล้ำ โดยทั้งสองท่านมีความเห็นว่าวงระเบียบวาทะศิลป์ควรได้รับการปรับตัวให้มีความหลากหลาย ทันสมัยและเหมาะสมกับยุคปัจจุบันเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ฟังที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาการแสดงโดยมีการประยุกต์ดนตรีลูกทุ่ง การแสดงตลกและการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอนเข้าไว้ในการแสดงที่มีความยาวกว่า 9 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากการปรับปรุงเนื้อหาในการแสดงแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะทำให้การแสดงเป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตาก็คือองค์ประกอบในการแสดงอื่น ๆ ที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย เวที และแสงสีเสียงต่าง ๆ ทำให้วงระเบียบ วาทะศิลป์กลายมาเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีการลงทุนสูงและมีมูลค่าทางธุรกิจนับร้อยล้านบาทต่อปี

ชุดการแสดงมูลค่าหลักแสน

บุญมา อุไรล้ำ หรือ “แม่น้อย” หัวหน้าช่างตัดชุดประจำวงระเบียบ วาทะศิลป์ผู้ผันตัวจากแดนเซอร์ของวงมาเป็นช่างตัดชุดประจำวงเนื่องจากมีพื้นฐานในการทำงานเป็นช่างตัดเย็บในโรงงานผลิตเสื้อผ้ามาก่อนเล่าให้ฟังว่า ชุดของนักแสดงแต่ละชุดมีความแตกต่างกันและมีต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น ชุดพระเอก นางเอกจะใช้เม็ดคริสตัลเยอะกว่าชุดอื่น ๆ บางชุดมีคริสตัลเป็นจำนวนหลายพันเม็ด ซึ่งคริสตัลแต่ละเม็ดก็จะมีราคาตั้งแต่เม็ดละ 70 บาทถึงหลักร้อยบาท ทำให้ชุดแต่ละชุดมีมูลค่าสูงตั้งแต่หลักหมื่นกลาง ๆ จนถึงหลักหลายแสนบาท ส่วนชุดของแดนเซอร์ส่วนมากจะประกอบด้วยขนนกกระจอกเทศและขนไก่ฟ้าที่ฟอกและย้อมสีนำเข้าจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อชิ้น แต่ละชุดใช้จำนวนขนนกมากน้อยแตกต่างกันไป ในปัจจุบัน ช่างตัดชุดนักแสดงก็มีจำนวนน้อยลงไปทุกวันเพราะเป็นงานละเอียดและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่สิ่งที่จะได้นอกจากความภาคภูมิใจที่เห็นความสวยงามของผลงานการตัดเย็บของตัวเองอยู่บนเวทีแล้ว ยังเป็นรายได้ที่มั่นคงสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี ค่าจ้างในการตัดเย็บชุดอยู่ที่ประมาณชุดละ 2,000-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความละเอียดของแต่ละชุด

อลังการหน้าฮ้าน

หน้าฮ้าน (ออกเสียงเป็นภาษาอีสานว่า “หน้าฮ่าน”) แปลว่า “หน้าเวที” สิ่งที่ผู้ชมจะจดจำจากการแสดงของวงระเบียบวาทะศิลป์นอกจากเสื้อผ้าที่มีการออกแบบและสีสันที่สะดุดตาแล้ว คงหนีไม่พ้นความยิ่งใหญ่ของเวทีที่มีขนาดสูงราว ๆ ตึกสี่ชั้นที่รวบรวมเทคโนโลยีการแสดงที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นด้านอุปกรณ์เครื่องเสียง ไฟ ที่เพิ่มความโดดเด่นให้กับทั้งนักร้อง นักแสดงและแดนเซอร์ “พ่อเอ๊ะ” ภักดี พลล้ำเล่าให้ฟังถึงรูปแบบการแสดงที่มีการปรับปรุงและมีการเพิ่มเติมอุปกรณ์ใหม่อยู่เสมอเพื่อให้การแสดงมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา มีการเดินทางเพื่อศึกษารูปแบบการแสดงในต่างประเทศเพื่อนำแนวทางในการแสดงใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการแสดงของวง

เวทีขนาดมหึมาของวงระเบียบวาทะศิลป์จะถูกเนรมิตขึ้นโดยใช้เวลาเพียงไม่เกิน 3  ชั่วโมง เตรียมพร้อมสำหรับการแสดงในแต่ละวันและจะถูกรื้ออกทันทีภายหลังที่การแสดงเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เพื่อขนย้ายอุปกรณ์ทุกชิ้นขึ้นรถบรรทุกเพื่อไปประกอบขึ้นใหม่เพื่อการแสดงในคืนต่อไป วงระเบียบวาทะศิลป์จะเปิดการแสดงเป็นฤดูกาลโดยในแต่ละปีจะเริ่มในช่วงต้นเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงออกพรรษาและแสดงต่อเนื่องไปจนถึงเข้าพรรษาในเดือนกรกฎาคมของปีถัดไป ซึ่งในแต่ละฤดูกาลจะเปิดการแสดงไม่ต่ำกว่า 300 ครั้ง จากนั้นจึงจะปิดวงเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงของการพักวง ออกแบบการแสดงและฝึกซ้อมสำหรับการแสดงในฤดูกาลต่อไป การที่วงที่ประกอบด้วยนักแสดงและทีมงานจะต้องเดินสายตระเวนไปแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ตามแต่จะมีเจ้าภาพจ้างให้ไปแสดงไม่เว้นแต่ละวันนั้น “อุปสรรคที่สำคัญคือสภาพดินฟ้าอากาศที่มีผลต่อการเดินทางและการแสดง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ชำรุดเสียหาย มีหลายครั้งที่วงจะต้องเผชิญกับฟ้าฝน พายุ บางครั้งถึงกับเวทีถล่มพังลงมากก็เคยมี ทำให้การแสดงต้องยุติลง แต่ถึงอย่างไร การแสดงในวันต่อ ๆ ไปก็ต้องเป็นไปตามปกติตามที่เจ้าภาพได้ว่าจ้างและทำสัญญามัดจำไว้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการแก้ปัญหากันเฉพาะหน้าแทบจะตลอดเวลาและต้องเตรียมอุปกรณ์สำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน” พ่อเอ๊ะเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์พายุฤดูร้อนที่ทำให้การแสดงที่จังหวัดบึงกาฬเมื่อต้นปีพ.ศ. 2566 ต้องหยุดชะงักและเวทีพังลงมาจากแรงลม  

            นอกจากสภาพดินฟ้าอากาศแล้ว เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมาทำให้วงระเบียบวาทะศิลป์ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากการแสดงทุกอย่างถูกระงับ นักแสดงทุกคนขาดรายได้ และทำให้วงต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมากเพราะได้ลงทุนในวัสดุอุปกรณ์สำหรับการแสดงในฤดูกาลนั้นไปก่อนหน้าแล้ว และยังต้องคืนเงินมัดจำให้กับเจ้าภาพที่จองคิวการแสดงล่วงหน้านานข้ามปี เหตุการณ์นี้ทำให้วงต้องมีการปรับตัวเพื่อหารายได้มาประคับประคองวงให้รอดพ้นจากวิกฤตให้ได้ ความโชคดีประการหนึ่งของวงในตำนานอย่างระเบียบวาทะศิลป์คือฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นจำนวนมากที่ก็ต่างคิดถึงการแสดงของวงระเบียบวาทะศิลป์ในช่วงที่การแสดงในที่สาธารณะและการชุมนุมของผู้คนจำนวนมากเป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน วงระเบียบวาทะศิลป์จึงหันมาเปิดการแสดงให้กับแฟนคลับดูอีกครั้งบนโลกออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รายได้จากการขายบัตรออนไลน์และเงินสนับสนุนจากแม่ยกช่วยประคับประคองให้วงฝ่าพ้นวิกฤตมาได้ 

รู้จัก “ต้าวหยอง” ขวัญใจแม่ยก

คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะยกให้ “ต้าวหยอง” หรือ “ยุคลเดช ปัจฉิม” ให้เป็นแม่เหล็กประจำวงระเบียบวาทะศิลป์ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู รอยยิ้มอันสดใสและลีลาท่าเต้นที่ไม่เหมือนใครของต้าวหยองเป็นที่ถูกใจแฟนคลับและแม่ยกเป็นอย่างมาก เงินสนับสนุนจากแม่ยกและแฟนคลับพันธุ์แท้ของต้าวหยองในการแสดงแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นปลาย ๆ ถึงหลักแสน ไม่นับโอกาสพิเศษอย่างเช่นการจัดงานวันเกิดของต้าวหยองที่ถ่ายทอดสดผ่านระบบสตรีมมิ่งที่เปิดโอกาสให้แฟนคลับให้ของขวัญวันเกิดผ่านช่องทางการโอนเข้าบัญชีได้ ซึ่งต้าวหยองได้รับของขวัญวันเกิดไปเป็นมูลค่ามากกว่า 2 ล้านบาท ด้วยความสำเร็จและชื่อเสียงที่โด่งดังของต้าวหยองจึงทำให้ต้าวหยองกลายมาเป็นไอดอลของคนวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ที่อยากก้าวเข้ามาสู่วงการหมอลำเป็นจำนวนมาก

แต่เส้นทางความสำเร็จของต้าวหยองไม่ได้ราบรื่นปราศจากอุปสรรคเหมือนที่หลายคนคิด ต้าวหยองเกิดในครอบครัวที่ยากจนในจังหวัดกาฬสินธุ์ พ่อและแม่มีอาชีพรับจ้าง และบ่อยครั้งที่จะต้องย้ายมาอาศัยอยู่กับย่าหรือยายเนื่องจากพ่อและแม่ต้องไปรับจ้างทำงานต่างถิ่น เมื่อเรียนอยู่ประถมศึกษา 6 ได้ไปบวชเรียนกับหลวงลุงซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอโสการาม อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เพื่อที่จะได้มีโอกาสเรียนหนังสือ หลังจากบวชเรียนได้ 3 พรรษา ได้ลาสิกขาเพื่อเรียนต่อในระดับมัธยม 3 ที่กาฬสินธุ์ โดยมีวิชาที่ชอบที่สุดคือวิชาพละและเคยเข้าแข่งขันปิงปองในระดับจังหวัด แต่ก็รู้ตัวดีว่าไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นนักกีฬาในระดับแนวหน้าได้เพราะขาดโอกาสและการสนับสนุนในหลาย ๆ ด้านและมีฐานะยากจน ส่วนความคิดที่จะไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่เด็กคนอื่นใฝ่ฝันอย่างหมอหรือวิศวกรไม่เคยมีอยู่ในหัวของต้าวหยอง บางวันต้าวหยองเลือกที่จะอดข้าวมื้อกลางวันเพราะเงิน 20 บาทที่มีอยู่นั้นสามารถที่จะทำให้คนในครอบครัวได้อิ่มท้องมากกว่าที่ตัวเองจะได้อิ่มคนเดียว จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อพี่ซึ่งเป็นแดนเซอร์ของวงระเบียบวาทะศิลป์ได้กลับมาเยี่ยมครอบครัวและชักชวนให้ต้าวหยองมาสมัครเป็นแดนเซอร์ จึงตัดสินใจเลือกเส้นทางหมอลำเพื่อแบ่งเบาภาระของทางครอบครัว ปัจจุบันต้าวหยองไม่เพียงที่จะไถ่ถอนที่นาของครอบครัวได้แล้วยังสามารถซื้อที่ดินเพิ่มเติมและปลูกบ้านหลังใหม่ให้กับครอบครัวอีกด้วย 

เส้นทางสู่อนาคตของวงระเบียบวาทะศิลป์

            ปีพ.ศ. 2566 เป็นปีที่วงระเบียบวาทะศิลป์เดินทางมาจนมีอายุครบ 60 ปี ถ้าเปรียบเทียบเป็นคนก็คงเป็นวัยเกษียณที่เริ่มจะปล่อยวางและใช้ชีวิตอย่างผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม วงระเบียบวาทะศิลป์ยังคงมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง พ่อเอ๊ะยังมีความฝันที่จะทำให้วงระเบียบวาทะศิลป์เป็นวงที่มีการแสดงเทียบเท่ากับการแสดงในระดับโลก “อยากจะทำให้วงระเบียบวาทะศิลป์เป็นวงหมอลำที่มีการแสดงที่ยิ่งใหญ่อย่างศิลปินระดับโลกอย่างเช่น ไมเคิล แจ็คสันหรือศิลปินที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ ที่ได้เดินทางไปแสดงทั่วโลก ที่ผ่านมาวงระเบียบวาทะศิลป์ยังไม่เคยเดินทางไปเปิดการแสดงในต่างประเทศ แต่ถ้าเค้าทำได้แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้”

            นอกจากความฝันที่จะยกระดับวงระเบียบวาทะศิลป์ให้เทียบเท่ากับการแสดงของศิลปินระดับโลกแล้วแล้ว พ่อเอ๊ะยังกล่าวถึงสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นคือการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิการของศิลปินนักร้อง นักแสดง หมอลำ และแดนเซอร์ ในวงระเบียบวาทะศิลป์ นักแสดงส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและจบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (เป็นเกณฑ์การรับสมัครนักแสดงของวงที่จะต้องมีการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3) รายได้จากการแสดงเป็นรายได้หลักเพียงช่องทางเดียวสำหรับนักแสดงคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเหมือนต้าวหยอง นักแสดงหลายคนมาทำงานเพื่อเดินตามความฝันของตนเองเพียงระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักก็เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง และต้องมีการฝึกนักแสดงหน้าใหม่ขึ้นมาทดแทนตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถต่อยอดประสบการณ์หรือความสามารถของนักแสดงให้ขึ้นไปสู่จุดที่สูงขึ้นได้

จากท้องถิ่นสู่สากล

            ในปีพ.ศ. 2566 เป็นปีทองของวัฒนธรรมอีสาน กระแสอีสานฟีเวอร์ที่อบอวลอยู่ในบรรยากาศของสังคมไทยเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะการปรากฏตัวและการได้รับความนิยมของวัฒนธรรมอีสานในสื่อต่าง ๆ และเริ่มมีสัญญาณของขยายตัวของการยอมรับดนตรีหมอลำมากขึ้น จากเดิมดนตรีหมอลำที่มีภาพลักษณ์เป็นดนตรีของผู้ที่มีรายได้น้อยที่จัดการแสดงกันตามงานวัด หรืองานบุญต่าง ๆ แต่ในปีนี้จะเห็นการปรากฏตัวของวงระเบียบวาทะศิลป์ในเวทีที่ไม่เคยเห็นดนตรีหมอลำมาก่อน เช่น งานประกวด Miss Grand Thailand x ระเบียบวาทะศิลป์ที่นำนางงามตัวแทนของแต่ละจังหวัดมาประกวดการร้องหมอลำเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะที่จะได้เซ็นต์สัญญาร่วมงานแสดงกับวงระเบียบวาทะศิลป์เป็นเวลา 1 ปี และการแสดงของวงในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอย่างเทศกาล Big Mountain ที่เขาใหญ่ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการที่วงระเบียบวาทะศิลป์ได้รับการสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์ระดับโลกอย่างเครื่องดื่มเป๊ปซี่และรถยนต์ฟอร์ด ทำให้เป็นเรื่องที่น่าขบคิดว่าการปรับตัวของดนตรีหมอลำมาสู่การแสดงที่ครบเครื่องทำให้เพิ่มมูลค่าที่ไม่ใช่เพียงแต่ในมิติของการแสดงหรือทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มศักยภาพของการเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างที่สามารถมีรายได้จากการโฆษณาสินค้าอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ (การแสดง) ของตนเอง     

  • บทความโดย ศักดิ์ศรี วงศ์ธราดล/ถ่ายภาพโดย เกริกอิทธิ จันทวงษ์   
  • ขอขอบคุณโรงแรม Ad Lib Khon Khaen สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่สัมภาษณ์พ่อเอ๊ะและต้าวหยอง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ