คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี และผู้ที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาที่ดิน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaipost.net/public-relations-news/546209/)
โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 9 ด้าน ‘ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
ความเป็นมาของกองทุน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 50 คน สมาชิกปัจจุบัน 1,107 คนจาก 12 หมู่บ้านในตำบล ได้รับงบประมาณสมทบจากรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)หรือ ‘พอช.’ รวมทั้งสิ้น 720,063 บาท (ปีงบประมาณ 2566 พอช.สมทบเป็นเงิน 103,704 บาท)
เงินสมทบจากสมาชิกถึงปัจจุบันเป็นเงิน 1,050,766 บาท เงินคงเหลือปัจจุบัน (กันยายน2566) เป็นเงิน 486,614 บาท มีกรรมการกองทุนฯ ร่วมกันบริหารงานจำนวน 20 คน คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรสตรี ผู้แทนองค์กรสาธารณสุข ผู้แทนกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน ผู้แทนผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากสมาชิกกองทุนฯ
กองทุนฯ ได้จัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก รวม 12 ประเภท คือ 1.สวัสดิการเด็กแรกเกิด 2.สวัสดิการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 3.สวัสดิการผู้สูงอายุ 4.สวัสดิการสมาชิกถึงแก่กรรม 5.สวัสดิการผู้ด้อยโอกาส 6.สวัสดิการเพื่อการศึกษา 7.สวัสดิการเพื่อพัฒนาอาชีพ 8.สวัสดิการประเพณีวัฒนธรรม 9.สวัสดิการผู้ประสบภัยพิบัติ 10.สวัสดิการกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 11.สวัสดิการผลกระทบจากโรคโควิด – 19 และ 12.สวัสดิการอื่น (อุปสมบท เข้าสุหนัต) และการร่วมกันแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ของสังคม
ในปี 2566 ที่ผ่านมา กองทุนสวัสดิการชุมชนสุไหงปาดี ได้จัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกกองทุนประเภทต่างๆ ดังนี้ 1.สมาชิกกองทุนสวัสดิการและประชาชนทั่วไป ได้รับการอำนวยความสะดวกด้านการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ดินทำกิน จำนวน 1,582 ราย (8 หมู่บ้าน)
- 2. สมาชิกกองทุนสวัสดิการได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ จำนวน 428 ราย (ร้อยละ 66)3.สมาชิกกองทุนสวัสดิการได้รับสวัสดิการด้านการพัฒนาอาชีพ จำนวน 283 ราย (ร้อยละ 25.56) 4.สมาชิกกองทุนสวัสดิการได้รับสวัสดิการด้านสังคม จำนวน 1,107 ราย (ร้อยละ 100)
ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ
ปมปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนกับเขตป่าฯ
ตำบลสุไหงปาดี ประกอบด้วย 12 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 8,093 คน ร้อยละ 70 นับถือศาสนาพุทธ และร้อยละ 30 นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สภาพทางสังคมมีความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้กลุ่มคนบางส่วนกลายเป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและเป็นผู้ที่มีบทบาทและสถานภาพทางสังคมน้อยกว่าสมาชิกอื่น เช่น ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมไปถึงกลุ่มคนด้อยโอกาสอื่นๆ
นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัญหาพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ทำมาหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษถูกทับซ้อนด้วยพื้นที่ป่าสงวน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตสหกรณ์นิคมปิเหล็ง ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เหมือนครั้งบรรพบุรุษ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลปิเหล็งจึงได้สำรวจข้อมูลปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไข พบว่ามีผู้เดือดร้อนจำนวน 1,528 ราย/ เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 11,765 ไร่ จำนวน 8 หมู่บ้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หมู่ที่ 2 ประเด็นปัญหา คือ ที่ดินทับซ้อนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ และป่าไม้ถาวร จำนวน 134 ราย 176 แปลง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 882 ไร่ 2 งาน พื้นที่ที่ดินทับซ้อนดังกล่าวนี้ ประชาชนที่ยังมีเอกสาร สค.1 และ นส.3 จำนวน 34 ราย
หมู่ที่ 3 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ป่าสงวนแห่งชาติ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ จำนวน 228 ราย 364 แปลง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 1,142 ไร่ พื้นที่ที่ดินทับซ้อนดังกล่าวนี้ ประชาชนมีเอกสาร สค.1 และ นส.3 จำนวน 88 ราย
หมู่ที่ 5 พื้นที่ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ จำนวน 235 ราย 285 แปลง รวมจำนวน 2,228 ไร่ พื้นที่ที่ดินทับซ้อนดังกล่าวนี้ ประชาชนมีเอกสาร สค.1 และ นส.3 จํานวน 119 ราย
หมู่ที่ 7 พื้นที่ทับซ้อนนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง กับ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ จำนวน 153 ราย 177 แปลง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 2,524 ไร่ ในพื้นที่ ที่ดินทับซ้อนข้างต้นนี้ ประชาชนมีเอกสารกสน 5 และ กสน.3 จำนวน 131 ราย
หมู่ที่ 8 พื้นที่ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ป่าไม้ถาวร และนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง จำนวน 196 ราย 135 แปลง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 1,390 ไร่ พื้นที่ที่ดินทับซ้อนดังกล่าวนี้ ประชาชนมีเอกสาร ส.ป.ก. และ นส.3 จำนวน 32 ราย
หมู่ที่ 10 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ จำนวน 175 ราย 204 แปลง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 1,352 ไร่ พื้นที่ที่ดินทับซ้อนดังกล่าวนี้ ประชาชนมีเอกสาร สค.1 และ นส.3 จำนวน 86 ราย
หมู่ที่ 11 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ จำนวน 171 ราย 204 แปลง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 736 ไร่ พื้นที่ที่ดินทับซ้อนดังกล่าวนี้ ประชาชนมีเอกสาร สค.1 จำนวน 49 ราย
หมู่ที่ 12 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ป่าไม้ถาวร เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ จำนวน 232 ราย 368 แปลง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 1,510 ไร่ พื้นที่ที่ดินทับซ้อนดังกล่าวนี้ ประชาชนมีเอกสาร สค.1 และ ส.ป.ก. จำนวน 15 ราย
จากปัญหาสู่ทางออก…
จากปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนกับเขตป่าต่างๆ รวมทั้งที่ดินนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล สุไหงปาดีจึงได้ร่วมกับชาวบ้านและผู้นำในท้องถิ่นขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามนโยบายของรัฐบาล ตามแนว ทางของ ‘คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ’ (คทช.) โดยมีการสำรวจและลงทะเบียนประชาชนที่ทำกินในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าฯ ในปี 2563 ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยกำหนดให้สำรวจข้อมูลแล้วเสร็จภายใน 240 วัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เวลาได้ล่วงมานานหลายปีแล้ว แต่ปัญหายังไม่คลี่คลาย ประชาชนที่เข้าไปทำกินในพื้นที่ทับซ้อนกับป่าฯ ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุม นอกจากนี้ประชาชนยังต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกคลองสุไหงปาดี (สายเก่า) ตามแนวคลองเดิมเพิ่มเติมอีกประมาณ 6 กิโลเมตรให้แล้วเสร็จ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากในพื้นที่ทุ่งนาปากล่อ และสามารถทำนาหรือการเกษตรอื่นๆ ได้ผล
ดังนั้นกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดีจึงได้ร่วมกับพระสงฆ์ ชาวบ้าน และผู้นำในท้องถิ่นขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินอย่างต่อเนื่อง โดยการทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในเวลาต่อมา จังหวัดนราธิวาสจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ตำบลสุไหงปาดีทับซ้อนที่ดินของรัฐ ตามคำสั่งที่ 100716/2563
โดยมีคณะกรรมการ 4 คณะ คือ คณะที่ 1 คณะทำงานอำนวยการ คณะที่ 2 คณะทำงานแก้ไขที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของราษฎรในเขตนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง คณะที่ 3 คณะทำงานแก้ไขที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของราษฎรทับซ้อนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติฯ และคณะที่ 4 คณะทำงานแก้ไขที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของราษฎรทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำบางนรา แปลงที่ 1, 2
หลังจากนั้น คณะกรรมการและคณะทำงานทั้ง 4 คณะได้จัดทำเวทีประชาคมเพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน ตลอดจนการสืบค้นหลักฐานการถือครองที่ดินทำกินของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการเชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมารับทราบปัญหาและพบปะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จนนำไปสู่ข้อสรุปเบื้องต้นและเกิดผลต่างๆ ดังนี้
- หน่วยงานราชการและชาวบ้านได้ขุดคลองส่งน้ำปากล่อ หมู่ที่ 3 – หมู่ที่ 11 ระยะทาง 6 กิโลเมตร เพื่อเป็นพื้นที่ทางการเกษตรและทำนาตามที่เกษตรกรร้องขอ
- หลังการขุดคลองส่งน้ำแล้ว ทำให้ลดพื้นที่น้ำท่วมขังไร่นาและสวนของชาวบ้านได้ประมาณ 450 ไร่
- กองทุนสวัสดิการชุมชน ชาวบ้าน และหน่วยงานราชการ รวบรวมข้อมูลที่เป็นปัญหาพื้นที่ทับซ้อนนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา
- ประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกที่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีความมั่นใจในพื้นที่ทำกินของตนเอง
- คณะทำงานได้รวบรวมเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องส่งไปยังคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป
“สร้างความเป็นธรรม…..เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”
แม้ว่าขณะนี้การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านตำบลสุไหงปาดียังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่ก็มีแนว โน้มทางออกที่ดี นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานหลายสิบปี โดยมีปัจจัยที่สำคัญ เช่น
ผู้นำที่เข้มแข็ง ประชาชนได้เข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือเรื่องปัญหาพื้นที่ทำกินจากท่านเจ้าคุณพระเทพศีลวิสุทธิ์ (ปัจจุบันคือพระธรรมวัชรจริยาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค18) ท่านเจ้าคุณ ฯ คือผู้นำหลักของชาวบ้านในการเป็นผู้ประสานสิบทิศ เพื่อให้ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการ องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ มาร่วมประชุมหาทางออก และลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลประเด็นปัญหาพื้นที่ทับซ้อนต่าง ๆ เพื่อส่งข้อมูลและข้อร้องเรียนให้ส่วนราชการอำเภอสุไหงปาดีได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ชุดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
บทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี มีบทบาทในการช่วยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีการพูดคุยเจรจาหาทางออก และสร้างแนวทางในการจัดการปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้กองทุนฯ ยังเป็นสื่อกลางในการลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน สร้างความเข้าใจ ทำให้สามารถลดการบุกรุกป่าได้ในระดับหนึ่ง
ความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ชาวบ้านและผู้นำชุมชนมีความสามัคคีร่วมกันแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ได้ร่วมกับภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ หน่วยงานความมั่นคง ร่วมกันหาทางออกในการบริหารจัดการที่ดินทำกิน ทำให้ลดความขัดแย้ง อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขสันติ
นอกจากนี้ยังทำให้ชาวบ้านรู้ขอบเขตพื้นที่ทำกินของตนเอง สามารถใช้พื้นที่ทำกินของตนเองได้อย่างมั่นใจและมั่นคง มีการจำแนกพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านให้เห็นชัดเจน ทำให้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าลดน้อยลง และทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้และทรัพยากรต่างๆ ด้วย
และที่สำคัญ…คือการสร้างสังคมที่เป็นธรรม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ทับซ้อนมานาน ทำให้ลูกหลานมีที่ดินทำกินที่มั่นคงสืบต่อไป…!!
พระธรรมวัชรจริยาจารย์ ผู้มีส่วนสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
********************