ความในใจจากเยาวชนไทยพลัดถิ่น หลังพรบ.สัญชาติพลิก

ความในใจจากเยาวชนไทยพลัดถิ่น หลังพรบ.สัญชาติพลิก

วันเด็ก..ผู้ใหญ่หลายคนมักถามว่าเด็กๆอยากได้ของขวัญอะไร แต่สำหรับเด็กๆไร้สัญชาติ เด็กๆไทยพลัดถิ่นแล้ว ของขวัญที่อยากได้ไม่มีอะไร นอกจาก"สัญชาติไทย"
 
          ปีที่ผ่านมา เราคงเคยได้ยินข่าวคนไทยพลัดถิ่นเดินเท้าเข้ากรุง เพื่อผลักดันร่างพ.ร.บ.สัญชาตินี้ต่อรัฐบาล จนร่าง พ.ร.บ.สัญชาติฯ ผ่านวาระที่ 1 ของวุฒิสภาก่อนมีการยุบสภาในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ 

      อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ นักข่าวพลเมืองลูกหลานไทยพลัดถิ่นจังหวัดระนอง เป็นเยาวชนที่ร่วมผลักดันและติดตามร่างพ.ร.บ. สัญชาติ  หลังจากต่อสู้ร่วมกันนับสิบปี  พร้อมกับสื่อสารเรื่องราวของพี่น้องไทยพลัดถิ่นผ่านงานนักข่าวพลเมืองหลายชิ้นเพื่อที่จะสื่อสารและสร้างความเข้าใจให้กับสังคมรับรู้ 
 
           หลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่ ทางเครือข่ายได้เสนอกฎหมายต่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เพื่อให้มีมติครม.ยืนยันภายใน 60 วัน (คือภายในวันที่ 29 กันยายน 2554) และส่งให้รัฐสภาพิจารณา รับรองเพื่อดำเนินการต่อในขั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ฯวุฒิสภา  ก่อนนำเข้าพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป   แต่ในขั้นตอนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติฯ ของกรรมาธิการฯ นั้น  กลับพลิก พร.บ. สัญชาติฉบับนี้
 
          โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555  กรรมาธิการวุฒิฯ สภา ได้มีการเพิ่ม  มาตรา 7/1 เนื้อหาว่าด้วย "การสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ตามบทนิยามคำว่า "ไทยพลัดถิ่น" ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายถึง การสำรวจจัดทำทะเบียนของคนไทยพลัดถิ่นซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ"  และบรรจุเข้าวาระการประชุมวุฒิสภาในวันที่  16 มกราคม 2555 นี้
 
ข้อความดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดเงื่อนไขของกลุ่มบุคคลที่จะได้สัญชาติไทยตามกฎหมายฉบับนี้ไว้ ๓ ประการโดยใช้ทะเบียนราษฎรเป็นเครื่องมือ ได้แก่
 
          ๑. ต้องเป็นผู้ที่ได้จัดทำทะเบียนคนไทยพลัดถิ่น (กลุ่มอื่นไม่ได้สิทธิ)
 
          ๒. ต้องเป็นผู้ที่มีทะเบียนแล้ว (ผู้ที่ยังไม่ได้ทำทะเบียนไม่ได้สิทธิ) และ
 
          ๓. ต้องเป็นผู้ที่จัดทำทะเบียนก่อนวันที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ (เพิ่มเติมภายหลังไม่ได้)
 
          ทำให้ทางเครือข่ายฯประกาศเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันพ.ร.บ.สัญชาติฉบับเดิมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ก่อนที่กรรมาธิการวุฒิฯสภาจะพิจารณากฎหมาย โดยวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๕ จะจัดเวทีวิชาการเพื่อเรียนรู้ พ.ร.บ. ที่พลิก และแถลงข่าว  รวมถึงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๕ จะนัดรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาเพื่อผลักดันพ.ร.บ.สัญชาติฉบับเดิม ซึ่งพี่น้องได้ร่วมกันผลักดันมาตั้งแต่ต้น
 
          อาอีฉ๊ะ   กล่าวต่อว่า   มาตรา7/1ที่เพิ่มมานี้ จะทำให้มีผู้ไม่ได้รับสิทธิกว่า80%ของคนไทยพลัดถิ่น  คือกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ในบัตรไม่ได้ระบุว่าเชื้อชาติไทย บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าหรือกัมพูชาแต่ไม่ระบุเชื้อสาย เป็นต้น ซึ่งหมายความว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาทั้งหมด อาจจะไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตใดๆเลย
 
          "เด็กๆหลายคนในสังคมอาจจะมีความสุข สนุกสนานกับการได้เป็นคนสำคัญในวันเด็กแห่งชาติ ถ้ามองอีกด้านในขณะที่เด็กคนอื่นๆในสังคมไทยกำลังมีความสุข พวกเขาได้รับการยอมรับและถูกมองว่า เป็นอนาคตของประเทศชาติ แต่ด้านกลับกัน ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งมี่หลายคนอาจมองไม่เห็นหรืออาจมองข้ามพวกเขาไป พวกเขาได้แต่นั่งมองเพื่อนๆของพวกเขา เด็กเหล่านี้คือเด็กๆไร้สัญชาติ เด็กๆไทยพลัดถิ่น พวกเราแถบจะไม่เคยได้สัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้เลย เด็กหลายคนได้นั่งรถถังของทหาร ได้นั่งเครื่องบินจำลอง ได้ทำอะไรหลายๆอย่างที่ตัวเองอยากจะทำ แต่พวกเราทำไม่ได้ เพราะเราถูกมองจากสังคมว่า แปลกแตกต่าง ความฝันของพวกเราก็ไม่ได้ต่างจากเด็กทั่วไป เราอยากพัฒนาประเทศ อยากปกป้องประเทศ อยากทำให้ประเทศเจริญ แต่เราก็ทำไม่ได้หากเราไม่มีโอกาส เพราะเราไม่มีสัญชาติไทย และในวันเด็กแห่งชาติของทุกปี ของขวัญที่เราอยากได้และภาวนาให้ได้มาเร็ว เราไม่เคยต้องการของขวัญชิ้นชิ้นใด มากไปกว่า สัญชาติไทย"  อาอีฉ๊ะ กล่าวทิ้งท้าย
 
ดูเรื่องราวของการสื่อสารเพื่อผลักดันและติดตามร่างพ.ร.บ.สัญชาติของเครือข่ายไทยพลัดถิ่น ในรายการพลเมืองผู้เปลี่ยนทิศ ตอน ก้าวที่กล้า ได้ที่ http://tvthainetwork.com/2010/board/index.php/topic,760.0.html


รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และเว็บไซต์ http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_11012012_02

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ