กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaipost.net/public-relations-news/544097/)
โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือ ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 4 ‘การพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ทักษะการดำรงชีวิต’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
พัฒนาการศึกษา เสริมการเรียนรู้ทักษะการดำรงชีวิต
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 3,876 คน จากจำนวนประชากร 13 ชุมชน จำนวน 5,169 คน คิดเป็นร้อยละ 74.99 ของจำนวนประชากร สัดส่วนของสมาชิกเป็นผู้สูงอายุ ประมาณ 34% บุคคลทั่วไป 46% เด็กเยาวชนอยู่ที่ 18% ผู้ด้อยโอกาส/ผู้พิการ 2%
ส่วนที่มาของเงินกองทุนมาจากสมาชิกกองทุนสมทบเงินวันละ 1 บาท หรือปีละ 360 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินสนับสนุนจาก อบต. รวมทั้งเงินจากรัฐบาลที่ผ่านมายังสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เพื่อสมทบเข้ากองทุน ปัจจุบันกองทุนมีเงินหมุนเวียน 3,353,210 บาท
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือมีการจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกทั้งหมด 18 ประเภท ได้แก่ 1.ทุนการศึกษา 2.คลอดบุตร 3.สมรส 4.อุปสมบท 5.ประเพณีงานบุญ 6.ส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน 7.ส่งเสริมกองทุนพัฒนาอาชีพ 8.ส่งเสริมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.)
9.เจ็บป่วยนอน รพ. 10.อุบัติเหตุ (สูญเสียอวัยวะ) 11.ส่งเสริมชมรมสวัสดิการผู้สูงอายุ 12.ช่วยเหรือครอบครัวผู้สูงอายุ 13.สวดอภิธรรม 14.พวงหรีด 15.น้ำแข็งงานศพ 16. ภัยพิบัติ 17.ส่งเสริมกองบุญสาธารณประโยชน์ และ 18.เงินสงเคราะห์
นอกจากสวัสดิการทั้ง 18 ประเภทแล้ว กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือยังส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่สมาชิก ทั้งเยาวชน คนหนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ ตลอดจนคณะกรรมการกองทุนฯ เอง จนทำให้ได้รับรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ด้าน ‘การพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ทักษะการดำรงชีวิต’ จากการประกวดรางวัล ดร.ป๋วย ประจำปี 2566
โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้วิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาของสมาชิกในตำบล แยก 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กเยาวชน มีปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ขาดกิจกรรมที่เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วม ผู้สูงอายุ ขาดเวทีในการแลกเปลี่ยน ขาดคนดูแล ผู้ป่วยติดเตียง วัยทำงาน มีปัญหาหลักคือการว่างงาน เพราะในชนบทมีอาชีพหลักน้อย ส่วนมากรับจ้างรายวัน เกษตรกรายวัน
จากนั้นจึงนำปัญหามาหาทางแก้ไข เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน ในตำบลมีสภาเด็กและเยาวชน สามารถที่จะพัฒนาและส่งเสริมดำเนินการได้ เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี การสื่อสารสมัยใหม่ สามารถดึงเข้ามาช่วยงานของกองทุนสวัสดิการได้
นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนยังได้จัดอบรมต้นกล้า อพม. โดยมีพี่เลี้ยง 3 คนในการอบรมรูปแบบ online ให้แก่เยาวชน กำหนดเป้าหมายปีละ 7 คน 3 ปี จำนวน 21 คน เพื่อให้เยาวชนเป็นกลไกสำคัญในการลงเยี่ยมผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในตำบล เยี่ยม case และส่งต่อ case มายังประธานกองทุนสวัสดิการ เพื่อช่วยประสานเรื่องสิทธิต่าง ๆ
กลุ่มผู้สูงอายุ มีโรงเรียนผู้สูงอายุ สามารถนำความรู้ของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ เช่น ป่าชุมชน สมุนไพร อาชีพหัตถกรรม จักสาน การทอผ้า นำมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่สนใจได้
กลุ่มทำงานกลุ่มสตรี มีแนวทางในการหารือร่วมกับประธานกองทุนพัฒนาอาชีพในตำบลว่าจะสามารถสนับสนุนเรื่องคนว่างงานได้หรือไม่ จะมีวิธีการอย่างไร ?
หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือได้ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้นอกห้องเรียน เพื่อให้มีทักษะในการดำรงชีวิต เช่น
1.โครงการต้นกล้าคุณธรรมน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกองทุนสวัสดิการฯ จะอุดหนุนงบประมาณให้เครือข่ายเด็กและเยาวชนเป็นประจำทุกปี ล่าสุดจัดกิจกรรมฝึกอบรมคุณธรรมและศึกษาดูงานนอกสถานที่ ปี 2566 เครือข่ายเยาวชนจิตอาสาร่วมกับอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง วลัยใจฟาร์ม อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด
2.โครงการเยาวชนสร้างสุขไร้ทุกข์จากควันบุหรี่ กองทุนสวัสดิการฯ สนับสนุนโครงการต่อยอดจาก สสส.ในการลงพื้นที่ เพื่อลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ โดยได้บุคคลต้นแบบในการเลิกบุหรี่ ต่อยอดด้วยกิจกรรมกีฬาศูนย์สามวัย ฯลฯ
3.อาสารวมน้ำใจเยี่ยมผู้ประสบภัยในชุมชน เครือข่ายเยาวชนจิตอาสา ได้ลงพื้นที่ปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้กับผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ประสบภัยในชุมชน ขยายผลร่วมกับทีม อผส. ในการเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง โดยกองทุนของบจากกองทุนฟื้นฟูศักยภาพ อบจ.มหาสารคาม
4.โครงการถนนสายวัฒนธรรมร่วมแบ่งปันให้กับผู้ยากไร้ โดยให้เครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เรียนรู้วิถีวัฒนธรรม การทำบุญตักบาตร เพื่อนำข้าวสารอาหารแห้ง จัดทำเป็นชุดเตรียมให้กับคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการส่งมอบให้กับ case ผู้ยากไร้
โรงเรียนผู้สูงอายุ กองทุนสวัสดิการชุมชนจัดกิจกรรมให้แก่ผู้สูงอายุได้ 1 ปี มีกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น การจักสาน การแสดง การออกกำลังกาย การเรียนรู้เรื่องต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ อนามัย การพบปะสังสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจ มีจิตใจเบิกบาน รักสามัคคีกันทั้งตำบล โดยใช้ ‘Model การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ และนำเด็กเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ด้วย
งานวิจัยไทบ้าน ‘การวิจัยที่กินได้’
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ การศึกษาวิจัย เริ่มต้นจากทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ได้หารือร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เกิดเป็นความร่วมมือ มีการคัดเลือกกองทุนสวัสดิการชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้คัดเลือก
หัวข้องานวิจัยคือ “โครงการพัฒนาระบบยกระดับการจัดสวัสดิการชุมชนด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น” เริ่มดำเนิน การในช่วงปี 2558-2560 เป็นการวิจัยที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมหรือ ‘วิจัยไทบ้าน’ โดยมีคณะทำงานที่มาจาก สกว. มมส. และ พอช. ลงมาหนุนเสริมทีมนักวิจัย กำหนดโจทย์ ค้นหาเป้าหมาย ดำเนินการวิจัย ฯลฯ
จากการได้ร่วมกระบวนการวิจัยกับ สกว. กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือได้นำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ โดยจัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาอาชีพ ส่งต่อให้กับกลุ่มอาชีพสมุนไพร มีการลงพื้นที่ไปดูกลุ่มที่เข้มแข็ง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ที่ปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มต่าง ๆ เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพ และเมื่อกองทุนพัฒนาอาชีพได้รับเงินปันผลก็จะกลับคืนให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชนจำนวน 10%
‘กองทุนพัฒนาอาชีพ’ ที่เกิดขึ้น ถือว่ามาจากผลการวิจัยท้องถิ่น และถือเป็น “งานวิจัยที่กินได้” ของชาวหนองเรือ
ส่วนแผนในการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองเรือนั้น คณะกรรมการกองทุนฯ ตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง และสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการกองทุน นอกจากนี้ยังมองว่า การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน คือหลักสูตรที่สามารถจะพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้แก่พี่น้องในตำบลได้
“เรื่องการศึกษา เรียนรู้ ไม่ใช่แค่เรื่องการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดขีวิตของคนในตำบลทุกช่วงวัย เป็นการเรียนรู้ที่ให้อาชีพ ให้วิถีชีวิตแก่พี่น้องด้วย”
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์