ตลาดหลักทรัพย์ / BOI-ก.ล.ต.-ภาคธุรกิจ-พอช. ร่วมจัดงาน “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน” (Multilateral Collaboration for Sustainability) เชื่อมประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน และสร้างความเข้าใจมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคมภายใต้การสนับสนุนจาก BOI ที่จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ของเงินลงทุนให้แก่ภาคเอกชนที่จะสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งชุมชน
วันนี้ (1 มีนาคม) ระหว่างเวลา 13.00-16.30 น. ที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน” (Multilateral Collaboration for Sustainability) ร่วมจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (THAI LCA) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ รวมถึงเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคมภายใต้การสนับสนุนจาก BOI โดยมีผู้บริหารบริษัทต่างๆ เข้าร่วมงานกว่า 350 คน เช่น บริษัทมิตรผล โตโยต้า คูโบต้า ฯลฯ และมีผู้แทนชุมชนจำนวน 14 ชุมชนจากเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน และเครือข่ายป่าชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ ร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
สานพลังเอกชนหนุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก
ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนไทย มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม ตลอดจนส่งเสริมความเสมอภาคและความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านตลาดทุนที่สำคัญของ ก.ล.ต. ที่สอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายภาครัฐ ในการลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้เกิดการจ้างงาน และมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยพัฒนาเกณฑ์ผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือทางการเงินเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้ภาครัฐและเอกชนมีเครื่องมือระดมทุนในโครงการที่มุ่งเน้นความยั่งยืน
ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจซึ่งเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนผนวกแนวคิดเรื่อง ESG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) และสามารถเปิดเผยข้อมูลให้ได้ตามมาตรฐานสากล อันจะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่โดยรวมของคนในประเทศเพื่อที่ทุกคนจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างสมดุลทั้งภาคธุรกิจและสังคม ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคเอกชน ประสานพลังความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ รวมถึงเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคม ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อันจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนไทย ชุมชน และหน่วยงานเพื่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 50 ในการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” พร้อมส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วน เพื่อให้ตลาดทุนเป็นพื้นที่สำหรับอนาคตของทุกคน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า จากกระแสของโลกและกระแสของการลงทุนที่เปลี่ยนไป เมื่อมาประกอบกับจุดแข็งของประเทศไทย บีโอไอจึงเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนโดยมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว หรือยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) โดยบีโอไอได้วางเป้าหมายให้บรรลุผล 3 ด้าน ได้แก่ (1) Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ (2) Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง (3) Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมของบีโอไอถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาคเอกชนกับชุมชน อันจะช่วยสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยให้สิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% ของเงินลงทุนที่ภาคเอกชนสนับสนุนองค์กรท้องถิ่น เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันให้บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพมีบทบาทในการช่วยพัฒนาชุมชนและสังคมให้มากยิ่งขึ้น
นำจุดแข็งด้าน ‘การตลาด’ ของภาคเอกชนช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็ง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวในประเด็นการร่วมกันสานพลังเอกชนเพื่อช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำว่า เนื่องจากการพัฒนาของประเทศไทยมีปัญหา ยิ่งพัฒนาไปมีแต่ความอ่อนแอ มีแต่ความเหลื่อมล้ำ โดยเชื่อว่าต้องสร้างหัวรถจักรก่อน ตามแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ ทำให้เกิดการสร้างเมืองหลวง นำไปสู่ปัญหาชุมชนแออัด โดย กทม.มีชุมชนเมืองที่แออัดกว่า 30% มีการทำลายป่า ทำลายแหล่งน้ำ จนนำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องในประเด็นของความเหลื่อมล้ำ ถ้ามาจัดการปัญหาความเหลื่อล้ำตอนที่มีปัญหา มีหนี้แล้ว จะยิ่งทำให้การออกจากปัญหาจะยากยิ่งกว่าเดิม
“ทำไมต้องสานพลัง โดยเฉพาะภาคเอกชน หลายบริษัทได้มีการช่วยเหลือชุมชน ทำการบริจาค โดยเฉพาะในบริษัทใหญ่ก็ทำ CSR ถ้าบริษัทเอกชนที่ทำการบริจาคก็จะมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท และจะสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้อย่างไร เช่น ขยะ น้ำ สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญภาคเอกชน มีความเข้าใจ ‘ตลาด’ เพราะตลาด คือจุดแข็งของภาคเอกชนที่จะเป็นสะพานเชื่อมชุมชนให้เกิดการพัฒนาไปด้วยกันกับระบบตลาดได้ จะทำให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืนและจะสามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ภาครัฐถ้าเป็นผู้นำชุมชนเข้าสู่ตลาดอาจไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพาเข้าสู่ระบบตลาด หาพื้นที่ หาตลาดให้ ดังนั้นการสานพลังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าต่างคนต่างทำก็จะเป็นเบี้ยหัวแตก” ดร.กอบศักดิ์บอกถึงเหตุผลที่ต้องสานพลังภาคเอกชน
ดร.กอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า ถ้าภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยพัฒนาชุมชน 1 บริษัทต่อ 1 ชุมชน ก็อาจทำให้เกิดระบบชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาได้ สุดท้ายการสานพลังในครั้งนี้จะไม่ใช่ทำแค่ภาคเอกชน แต่ยังเป็นการสานพลังทุกภาคส่วนกับ พอช. กับ สวส. ที่จะช่วยคัดเลือกชุมชนที่เข้มแข็งเข้ามาร่วมทำงานกับภาคเอกชน รวมถึง BOI ที่มีการสนับสนุนและสานพลังกับชุมชนแบบพุ่งเป้าตามรูปแบบการสนับสนุน อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องถ้าภาครัฐไม่เอื้อหรือเข้ามาช่วยก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด จึงต้องนำไปสู่การสานพลังแบบ 1บวก 1 และมากกว่า
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่าพอช.มีภารกิจกสำคัญคือการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรชุมชนมีความสามารถและความเข้มแข็ง ให้องค์กรชุมชนสามารถรวมกลุ่มกันได้ และถึงจุดหนี่งก็สนับสนุนให้องค์กรชุมชนสามารถแสวงหาทรัพยากรในการส่งเสริมความเข้มแข็งจากแหล่งอื่น ซี่งการพัฒนาของชุมชนพบว่าความรู้บางส่วนอาจยังมีไม่เพียงพอจึงต้องไปสรรหาความรู้จากแหล่งอื่นเข้ามาสนับสนุน
“ชุมชนเข้มแข็งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ซี่งชุมชนที่เข้มแข็งจะสามารถเป็นที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาได้ ดังนั้นการพัฒนาต่อยอดให้องค์กรชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งแล้วนั้น นอกจากภาครัฐและภาคชุมชนเองแล้วก็ต้องมีการพัฒนาต่อยอดจากภาคธุรกิจเอกชนที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดย พอช.จะทำหน้าที่ช่วยให้การเชื่อมโยงดังกล่าวเกิดขึ้นและจะการันตีองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง” ผอ.พอช. กล่าว
พอช.-ขบวนชุมชนภูเก็ตชวนภาคเอกชนหนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก
นางวารุณี สกุลรัตนธารา แกนนำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ตที่ร่วมกับชุมชนต่างๆ ในจังหวัดขับเคลื่อนแนวคิด ‘ภูเก็ตเกาะสวรรค์’ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของโครงการว่า คนภูเก็ตต้องมีสุขภาพดี มีการศึกษา ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่เกิดจากภาคประชาชนของจังหวัด ซึ่งถึงแม้ว่าจังหวัดภูเก็ตจะมีภาพของจังหวัดที่มีภาคธุรกิจอยู่มากมาย แต่ก็พบว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ตอนนี้มีการดำเนินการโครงการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้เด็กปฐมวัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำงานสนับสนุนร่วมกับทางมูลนิธิยุวพัฒน์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยมีแนวทางการขอรับการสนับสนุนจาก BOI ซี่งอยู่ในระหว่างการยื่นเสนอโครงการมายัง BOI ผ่านบริษัท Innovation ที่มีทาง พอช.ร่วมสนับสนุนการดำเนินการด้วย
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการ โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ICAP) มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า การลงทุนการพัฒนากับเด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์เด็กเล็กที่ครอบคลุมทั้งประเทศอยู่ 5 หมื่นกว่าแห่ง ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว แต่ใช้แค่เพียงสำหรับให้เด็กกินนอนเท่านั้น ดังนั้นโครงการพัฒนาเด็กให้เด็กเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ICAP ที่คาดหวังว่าเด็กนั้น ๆ จะมีสุขภาพที่ดีหลังจากได้รับการพัฒนาตามแนวทางของ ICAP ที่มีการจัดการทั้งภายในและภายนอก และได้เรียนรู้อย่างสนุกของเด็ก 2-4 ขวบ ที่มีกระบวนการ Discussion กัน ซึ่งเด็กจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ก่อนการจัดงานสานพลังเอกชนฯ ในวันนี้ จากการเชื่อมประสานของ พอช. ระหว่างเครือข่ายชุมชนในจังหวัดภูเก็ตกับภาคธุรกิจตามแนวทางการสานพลังภาคเอกชนของ BOI ทำให้ขณะนี้มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้ความสนใจที่จะสนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการที่ พอช.ร่วมกับมูลนิธิยุวพัฒน์ดำเนินการนำร่องในศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศตั้งแต่กลางปี 2566 ที่ผ่านมา รวม 60 แห่ง รวมทั้งที่ภูเก็ตด้วย โดยนำเอารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High Scope ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลกมาใช้แทนการเรียนการสอนแบบเดิมๆ หรือเป็นเพียง “สถานที่กินนอนของเด็ก” โดยเน้นให้เด็ก (อายุ 2-6 ขวบ) ได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ผ่านมุมกิจกรรมการเล่นและสื่อที่เหมาะสมหลากหลาย ทำให้เด็กมีพัฒนาการต่างๆ ดีขึ้น ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา สังคม (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://web.codi.or.th/20230607-46045/)
โดยขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ตได้นำโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กนี้มาเสนอต่อบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อขยายโครงการศูนย์เด็กเล็กจากเดิมที่มีอยู่เป็น 10 แห่งในเมืองภูเก็ต โดยจะใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 6,200,000 บาท เพื่อปรับปรุงห้องเรียน จัดมุมกิจกรรมการเล่น จัดหาสื่อ หนังสือ ของเล่น และจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ โดยเบื้องต้นบริษัทแห่งนี้ได้ตกลงที่จะสนับสนุนโครงการและงบประมาณแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการตามกระบวนการของ BOI เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องการลดหย่อนภาษีให้บริษัทเอกชน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการจัดงาน “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน” ในวันนี้แล้ว พอช.จะร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมีความสนใจที่จะพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ การเกษตร พัฒนาที่อยู่อาศัย ดูแลสิ่งแวดล้อม ป่าชุมชน ฯลฯ ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการเพื่อสานพลังกับภาคเอกชนในการสนับสนุนเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมของบีโอไอต่อไป
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์