ครม.สั่งปิดเหมืองชาตรี นายกฯ ลั่นสิ้นปีนี้จะไม่มีเหมืองทองคำอีกต่อไป – ‘อัครา’ งง! ประทานบัตรถึง 2571

ครม.สั่งปิดเหมืองชาตรี นายกฯ ลั่นสิ้นปีนี้จะไม่มีเหมืองทองคำอีกต่อไป – ‘อัครา’ งง! ประทานบัตรถึง 2571

20161005192203.jpg

10 พ.ค. 2559 ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (10 พ.ค.2559) มีการพิจารณาการต่อใบใบอนุญาตประกอบโลหกรรม เหมืองแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 13 พ.ค.2559 จากที่ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีและผู้แทน 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมรับฟังความคิดเห็นฝ่ายคัดค้านและสนับสนุน

ทั้งนี้ ผลการประชุม ครม.มีมติ ดังต่อไปนี้

1.ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย

2.ในกรณีของบริษัท อัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัท อัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต

3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหะกรรมของบริษัท อัคราฯ ดังนี้
– กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่
– กระทรวงสาธารณสุข ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
– กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รมว.อุตสาหกรรม) ระบุว่า นายกรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติร่วมกันของทั้ง 4 กระทรวงข้างต้นแล้ว

“กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ ทั้งด้านการกำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมือง การดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

ทั้งนี้ การช่วยเหลือพนักงานของบริษัท อัคราฯ นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานกับกระทรวงแรงงานในการให้ความช่วยเหลือแล้ว จะประสานผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรให้นำเงินกองทุนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 45 ล้านบาท มาให้การช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบด้วย 

ส่วนวันพรุ่งนี้ (11พ.ค.) อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะแถลงชี้แจง เกี่ยวกับประเด็นที่บริษัทจะต้องดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ที่ ครม. มีมติอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นางอรรชกา มั่นใจว่า มติดังกล่าวที่ทำให้หยุดเหมืองทองคำ จะไม่ส่วผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและออสเตรเลียรวมถึงนักลงทุนประเทศอื่น เพราะเชื่อว่าจะอธิบายให้เข้าใจได้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงชีวิตประชาชนเป็นสำคัญ

เปิดทางให้ บ.อัคราฯ  ดำเนินการถึงสิ้นปี 59 สั่งฟื้นฟูพื้นที่รอบเหมือง 3 ปี

สำนักข่าวไทย รายงานว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมร่วมระหว่าง 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบต่อชุมชนจากการทำเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากมีสารตกค้างโลหะหนักเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชน และเกิดความขัดแย้งในชุมชน จึงเสนอที่ประชุม ครม.รับทราบ ในการยุติการอนุญาติอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดทั่วประเทศ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรของบริษัทเอกชนทุกราย

ขณะนี้มีเอกชนได้ยื่นเสนอขออาชญาบัตรมาให้พิจาณา 177 แปลง จากบริษัทเอกชน 12 ราย ในพื้นที่ 10 จังหวัด และการขออนุญาติขุดเหมืองทองคำ 107 แปลง ในพื้นที่ จ.เลย เนื่องจากการผลิตทองคำในประเทศไทยมองว่ายังไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ เพราะต้องใช้หินแร่ทองคำ 1 ตันผลิตทองคำได้เพียง 2 กรัม และผลิตทองคำได้เพียง 3-4 ตันต่อปี มูลค่าทองคำประมาณ 3,600 ล้านบาทต่อปี 

นอกจากนี้ หัวหน้า คสช.ยังได้กำชับว่า การเปิดสำรวจและทำเหมืองทองคำ ต้องไม่สร้างมลพิษ ต้องไม่เกิดความขัดแย้งจากชุมชนและดำเนินไปด้วยความโปร่งใส เมื่อเปิดปัญหาดังกล่าว 4 กระทรวงจึงเห็นชอบยุติแผนดังกล่าว  เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น แม้บริษัทอัคราฯ จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย รัฐบาลพร้อมต่อสู้ในชั้นศาล เพื่อรักษาผลกระทบต่อสุขภาพกับชาวบ้านในพื้นที่

นายชาติ หงศ์เจียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบข้อเสนอเปิดทางให้บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ขยายเวลาประกอบกิจการไปจนถึงสิ้นปี 59 เพื่อนำแร่ที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์  เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเตรียมการยกเลิกประกอบกิจการ  พร้อมทั้งให้บริษัทอัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองทองคำและฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบ บนพื้นที่ 3,000 ไร่ จำนวน 14 แปลง ทั้งการปลูกต้นไม้ ปรับสภาพดิน เก็บบ่อเหมืองทองคำให้เหมือนเดิมในช่วง 3 ปี ข้างหน้า

นอกจากนี้ยังได้ทำเงินกองทุนกองทุนพัฒนาท้องถิ่นประมาณ 45 ล้านบาท มาช่วยเหลือพนักงานของบริษัท 1,583 คน และนำเงินกองทุนประกันความเสี่ยงที่เหลืออยู่ 87 ล้านบาท ช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพกับชาวบ้านในชุมชน ตลอดจนการปรับปรุงน้ำบาดาลในพื้นที่จำนวน 10 บ่อ เพื่อให้ชาวบ้านบริโภคได้เหมือนเดิม โดยไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจากการทำเหมือง

นายกฯ ลั่น สิ้นปีนี้จะไม่มีเหมืองแร่ทองคำอีกต่อไป

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในกรณีการพิจารณาต่ออายุประกอบโลหกรรม (โรงถลุง) ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่มีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ถึงปัญหามลภาวะและผลกระทบด้านสุขภาพ

“ผมสั่งการไปแล้วว่าภายในสิ้นปีนี้ ไม่มีการทำเหมืองแร่ทองคำอีกต่อไป รัฐบาลนี้จะต้องแก้ปัญหาปรับพื้นที่แก้สภาพ หางานให้คนอีกพันกว่าคน ใครจะรับผิดชอบให้ผม สร้างมากี่ปี ปัญหาเกิดมาจากใคร ผมก็ต้องแก้ไปอย่างนี้ แต่สิ้นธันวาคมปีนี้จะต้องไม่มีเหมืองทองคำอีกต่อไป จนกว่าจะชัดเจน วันนี้ก็ตรวจสอบตั้ง 5 หน่วยงาน กรรมการ 5 ฝ่ายลงไป ก็ไปพิจารณาเอาเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว 

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนก็จะเยียวยาไป ให้ทางกระทรวงสาธารณสุขไปดู ยังไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่าเกิดจากพื้นที่มีมากมีน้อยเเค่ไหน ทำให้ชัดเจน ถ้าไม่เชื่อหน่วยงานนี้ เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ ก็ไม่ต้องไปเชื่อใครแล้ว  

‘อัครา’ งง เผยประทานบัตรเหมืองทองคำชาตรี ได้รับอนุญาตถึง 2571

ต่อมา บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ส่งแถลงถึงสื่อมวลชน แจ้งว่า ตามที่มีคำแถลงจากท่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรมในวันนี้ (10 พ.ค. 2559) กรณีให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัทฯ หยุดดำเนินกิจการเหมืองภายในสิ้นปี 2559 นี้ สร้างความประหลาดใจให้กับบริษัทฯ เป็นอย่างมากเนื่องจากบริษัทฯ ยังคงมีประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตอยู่จนถึงปี 2571 ซึ่งบริษัทฯ ได้วางแผนการทำเหมืองไว้แล้วจนถึงเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่บริษัทฯ เริ่มดำเนินกิจการ บริษัทฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นมาตลอดว่ากิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีแต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยทั้งในระดับท้องถิ่นและต่อประเทศไทยโดยรวม

ขณะนี้ บริษัทฯ ยังไม่ได้รับเอกสารแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ จากทางภาครัฐ ซึ่งอย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะได้ทำการหารือกับที่ปรึกษาด้านกฏหมายเพื่อพิจารณาช่องทางการดำเนินการต่างๆ ตามกฏหมายที่เราสามารถทำได้ต่อไป

ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฏหมาย และข้อกำหนดทุกอย่างตามกฏหมายแห่งประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  (กพร.) อย่างเคร่งครัดเสมอมา และบริษัทฯ ขอถือโอกาสนี้ขอบพระคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ให้การสนับสนุน พิจารณาข้อมูลจากบริษัทฯ ในการนำเสนอข่าวด้วยดีและเป็นธรรมเสมอมา มา ณ ที่นี้ด้วย 

 

20161005192145.png
 

ชาวบ้านรอบเหมืองและภาคประชาชนมาร่วมรอฟังผล 

ไทยพีบีเอสรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. มีตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งมีพื้นที่ประกอบกิจการ คาบเกี่ยว 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก รวมกว่า 3,000 ไร่ เดินทาง มาเฝ้ารอติดตามฟังผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งชาวบ้านรับทราบว่าอาจมีการเสนอวาระต่อใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมให้กับเหมืองแร่ทองคำชาตรีของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันนี้

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มภาคประชาชนบางส่วนในกรุงเทพมหานครเดินทางมาร่วมให้กำลังใจกลุ่มชาวบ้านและร่วมรับฟังผลการประชุมด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ และหากมีการอนุมัติให้ต่อใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมจริง อาจทำให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับกิจการเหมืองแร่ทองคำ และอาจนำไปสู่การผลักดันนโยบายสำรวจแร่ในอีก 12 จังหวัดด้วย หลังจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งระงับการสำรวจไปก่อนหน้านี้ ตามที่กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือร้องเรียน

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านและภาคประชาชนได้นำทั้งดอกกุหลาบและดอกไม้จันทน์มารอมอบให้ที่ประชุม ครม.ด้วย หากผลประชุมวันนี้ ออกมาในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ