คนจันท์-ระยองเมินถูกสกัดร่วมเวทีแจงผลกระทบ ‘เหมืองทอง’ – ‘ชาวบ้านเหมืองพิจิตร-นักวิจัย’ ร่วมให้ข้อมูล

คนจันท์-ระยองเมินถูกสกัดร่วมเวทีแจงผลกระทบ ‘เหมืองทอง’ – ‘ชาวบ้านเหมืองพิจิตร-นักวิจัย’ ร่วมให้ข้อมูล

20152212173612.jpg

“เครือข่ายปกป้องป่าตะวันออก” และประชาชนจันทบุรี – ระยอง ร่วมจัดเวทีชี้แจงผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ พร้อมเชิญผู้ได้รับผลกระทบจากพิจิตร และนักวิจัยมาให้ข้อมูล ตัวแทนชาวบ้านยันจุดยืนคนในพื้นที่ “ไม่เอาเหมือง” แต่ที่ผ่านมาขาดข้อมูล – เผย ผญบ. สกัดไม่ให้เข้าร่วม

เรื่อง: อัฏฐพร ฤทธิชาติ

ภาพ: karnt thassanaphak 

20 ธันวาคม 2558 เวลาประมาณ 13.00 น. “เครือข่ายปกป้องป่าตะวันออก” ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ได้จัดเวทีประชุมวิชาการ เรื่อง “รู้เท่าทันนโยบายเหมืองทองคำภาคตะวันออก” ขึ้น ณ ศาลากลางบ้าน หมู่ที่ 3 ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี

เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และผลต่อสุขภาพของประชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงของพื้นที่เหมือง โดยมีประชาชนชาว อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และประชาชนจาก อ.เขาชะเมา และอำเภออื่นๆ ของ จ.ระยอง ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งทหารพราน มาร่วมสังเกตการณ์อีกกว่า 10 นาย

ในเวทีดังกล่าวได้เชิญตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร รวมทั้งตัวแทนผู้ป่วย เดินทางมาให้ข้อมูลและถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับจากการดำเนินกิจการของเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะการพบสารโลหะหนักในร่างกายของประชาชนในพื้นที่

20152212173717.jpg

20152212173755.jpg

สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง หนึ่งในประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เปิดเผยว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเหมืองรวมทั้งตัวเธอเอง ล้วนแต่ประสบปัญหาการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในร่างกาย มากบ้างน้อยบ้าง และขณะนี้กำลังขออพยพออกจากพื้นที่

“…ชาวบ้านเราล้มป่วยล้มตายเป็นใบไม้ร่วง… จนล่าสุดเราเรียกร้องไปทาง คสช. ขออพยพออกจากพื้นที่ แต่ถามว่าถ้ามีเหมืองแบบนี้อีกในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย จะต้องอพยพอีกกี่ชุมชน และมันคุ้มกันหรือไม่…” สื่อกัญญา ให้ข้อมูลพร้อมกับตั้งคำถาม

“…อย่าให้เหมืองเกิดอีกเลย ลูกหลานของเราจะได้รับผลกระทบ น้ำก็กินไม่ได้ ผักก็กินไม่ได้…” ตัวแทนประชาชนจาก จ.พิจิตร รายหนึ่งกล่าว

หลังจากนั้น เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ซึ่งทางมูลนิธิฯและหลายหน่วยงานได้เข้าไปศึกษาวิจัย ทั้งในแง่ปัญหาการปนเปื้อนของสารโละหนักในสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านต่อสุขภาพ ตลอดจนปัญหาการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนในการดำเนินชีวิตที่ประชาชนในพื้นที่ต้องแบกรับ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการพยายามหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วย เช่น การซื้อน้ำและอาหารจากภายนอกพื้นที่ เป็นต้น

นอกจากนี้ นิชา รักพานิชมณี นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์การทำเหมืองทองคำในต่างประเทศ ซึ่งพบว่าเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ขณะที่การบริหารจัดการของรัฐไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอในการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และอีกทั้งปัญหาเดิมก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ด้านทิวา แตงอ่อน และกัญญา ดุชิตา ตัวแทนเครือข่ายปกป้องป่าตะวันออก ซึ่งเป็นประชาชนชาว อ.แก่งหางแมว ด้วยเช่นกัน ได้ให้ข้อมูลว่า ประชาชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม อาทิ ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาน้ำจากบ่อบาดาลและประปาภูเขา โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาของโครงการเหมือง 

“เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหมืองแร่ทองคำ และไม่ต้องการเห็นเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ภาคตะวันออก และเราจะคัดค้านอย่างสงบ เปิดเผย และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อีกทั้งยังมีแผนจัดงานประชุมวิชาการในพื้นที่อื่นต่อไป” ทิวากล่าวยืนยัน

“ชาวบ้านไม่อยากให้มีเหมือง เพียงแต่ยังขาดข้อมูลที่ชัดเจน เราจึงต้องจัดเวทีเพื่อให้ชาวบ้านรู้ข้อมูล และให้เขาเลือกเอง” กัญญาเผย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พบว่า หลายจุดภายในภายในศาลากลางบ้านดังกล่าว ได้มีป้ายประกาศ “ห้ามใช้พื้นที่ในการประชุมชี้แจงการทำเหมืองทองคำ…” ลงนามโดยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน (รักษาการแทนผู้ใหญ่บ้าน) และเอกสารประกาศเตือนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ รวมทั้งทราบข้อมูลจากประชาชนที่มาร่วมงานว่า ผู้นำบางหมู่บ้านได้ประกาศห้ามไม่ให้ลูกบ้านมาเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ด้วย

20152212173653.jpg

20152212173701.jpg

ข้อมูลเพิ่มเติม

จ.จันทบุรี มีบริษัทยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและแร่อื่น จำนวน 13 คำขอ ในพื้นทีอำเภอแก่งส้มแมวและนายายอาม ทั้งหมด 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอราวัณ ไมนิ่ง, บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง, บริษัท พารอน ไมนิ่ง และบริษัท ซินเนอร์ยี่ ไมนิ่ง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีคำขอใดได้รับการอนุญาต 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

May 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1

24 May 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ