‘สายน้ำและความหวัง’ชาวแพริมฝั่งสะแกกรัง จ.อุทัยธานี (2) การฟื้นฟูและอนุรักษ์ชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศ

‘สายน้ำและความหวัง’ชาวแพริมฝั่งสะแกกรัง จ.อุทัยธานี (2) การฟื้นฟูและอนุรักษ์ชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศ

1
วิถีชีวิตชาวแพสะแกกรังและผลผลิตจากแม่น้ำ  หากเป็นปลาเนื้ออ่อนรมควัน  ราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท

ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง  จังหวัดอุทัยธานี  เป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย  ขณะเดียวกันชุมชนชาวแพแห่งนี้ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยลดน้อยลง  จากเดิมที่ขึ้นทะเบียนกับทางราชการเอาไว้จำนวน 301 แพ  แต่ทุกวันนี้เหลืออยู่เพียง 154 แพ  และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ จนอาจทำให้ชุมชนชาวแพแห่งนี้เหลือเพียงตำนาน…ดังเช่นชุมชนชาวแพแห่งอื่นๆ ที่ล่มสลายไปแล้ว

สันทนา  เทียนน้อย  ประธานชุมชน ‘7 ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง’  ให้คำตอบถึงการหายไปของเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรังว่า  เนื่องจากชาวแพรุ่นเก่าๆ ล้มหายตายจากไป  ลูกหลานไปเรียนหรือทำงานอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัดจึงไม่ได้มาอยู่อาศัย  บางแพปล่อยให้ผุพังเสื่อมโทรม  บางแพก็เปลี่ยนมือ  ขายให้คนอื่น  หรือบางแพที่เคยผูกแพอยู่หน้าท่า  หน้าที่ดินของคนอื่น  เมื่อเจ้าของขายที่ดิน  หรือนำที่ดินไปปลูกสร้างอาคาร  บ้านพัก  รีสอร์ท ทำให้ชาวแพไม่มีทางขึ้น-ลง  ไม่มีหน้าท่าเอาไว้จอดแพ จึงจำต้องขายแพหรือย้ายขึ้นไปอยู่ที่อื่น  แพจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง

“นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง  ทำให้แม่น้ำสะแกกรังมีน้อย  น้ำไม่ถ่ายเท  แพเกยตื้น  ลูกบวบไม้ไผ่แตกหัก  การซ่อมแพต้องใช้เงินเยอะ  3-4 ปีก็ต้องเปลี่ยนลูกบวบใหม่อีก  ไม้ไผ่  ไม้ต่างๆ ก็แพง  คนอยู่ก็ลำบาก  จึงต้องขายแพหรือย้ายขึ้นไปอยู่บนฝั่ง  ทำให้แพลดน้อยลง  บางคนก็ขายแพให้นายทุนเอาไปทำรีสอร์ท  ทำที่พัก คนอยู่แพจึงน้อยลง”  สันทนา  ประธานชุมชน 7 ลุ่มแม่น้ำสะแกกรังเฉลยคำตอบ

2
ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง  ภาพถ่ายคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอุทัยธานี ปี 2444 มีเรือนแพและเรือสินค้าจอดหนาแน่น  ด้านซ้ายขึ้นฝั่งเป็นตลาด มีท่าข้าว  คนจีนมารับซื้อข้าวเปลือก แล้วล่องเรือออกไปขายยังเมืองต่างๆ  ส่วนด้านขวาคือวัดอุโปสถาราม

เรือนแพและคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า  เรือนแพอยู่คู่กับสังคมไทยมานานเพียงใด  แต่หากพิจารณาการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของคนไทย  โดยเฉพาะในลุ่มน้ำภาคกลาง  เช่น  เจ้าพระยา  ป่าสัก  ท่าจีน  แม่กลอง  ลำน้ำลำคลองสาขาต่างๆ ซึ่งผู้คนในอดีตใช้เป็นเส้นทางคมนาคมและค้าขาย  ทำให้เกิดตลาดน้ำ  ตลาดบนฝั่ง  มีการตั้งบ้านเรือน ตั้งชุมชนอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ  รวมทั้งปลูกสร้างเป็นเรือนแพเพื่อความสะดวกในการอยู่อาศัยและค้าขาย  ไม่ต้องย้ายบ้านเรือนและข้าวของในยามน้ำหลาก  จึงเป็นไปได้ว่า  เรือนแพน่าจะมีการปลูกสร้างมาพร้อมๆ กับการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนริมฝั่งน้ำ  แต่แตกต่างกันไปตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาให้ความเห็นว่า เรือนแพน่าจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา

โดยที่ผู้เป็นเจ้าของแพน่าจะเป็นคนจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาค้าขายในสมัยนั้น  เพราะย่านการค้าหรือตลาดในเมืองนั้นมักเกี่ยวข้องกับคนจีน

ขณะที่หลักฐานจากเอกสาร ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมเอกสารจากหอหลวง’  กล่าวถึงการติดต่อค้าขายระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพ่อค้าวานิชชาวต่างชาติทั้งฝรั่งจีนแขกญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  คือสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ ‘สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2’ (พ.ศ. 2223 – 2301) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 31 แห่งกรุงศรีอยุธยา  ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2275 – พ.ศ. 2301 ซึ่งรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะเสียกรุงถูกพม่าตีแตกในปี พ.ศ.2310

คำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมฉายภาพการค้าขายที่คึกคักในกรุงศรีอยุธยาเมื่อราว 300 ปีก่อนเอาไว้ว่า  มีเรือสินค้าจากนานาชาติเข้ามาค้าขาย  ส่วนบนฝั่งก็มีชาวจีนเข้ามาตั้งโรงกลั่นสุราและเลี้ยงสุกรขาย  ขณะที่เรือจากสุพรรณ  อ่างทอง  ลพบุรี  บรรทุกข้าวเปลือกมาขาย  มี ‘แพลอย’ พวกลูกค้าไทยจีนแขกเทศแขกจาม นั่งร้านแพขายสรรพสิ่งของต่าง ๆ กันทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ…

“ตรงวัดเจ้าพระนางเชิงฝั่งตะวันออกตั้งแต่ท้ายเกาะเรียนมีแพจอด  เรี่ยรายขึ้นมาจนถึงท่าเสือข้ามมีแพชุกชุมมากขึ้นจนมาถึงท้ายวัดเจ้าพระนางเชิง  ประมาณแพแต่กรุงศรีอยุทธยารอบพระนครนั้น  ราวสักสองหมื่นเสศพันปลายเปนแน่  ทั้งแพอยู่แลแพค้าขายในแขวงจังหวัดรอบกรุง  ไม่น้อยต่ำลงมาจากสองหมื่นเสศพันเลยเป็นแน่…” ขุนหลวงวัดประดู่ฯ ประมาณจำนวนแพที่เป็นบ้านและเป็นแพค้าขายรอบกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นว่ามีไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นแพ

3
เรือนแพในแม่น้ำที่พระนครศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 6

ย้อนอดีตให้เร็วขึ้น  ในปี พ.ศ.2504 มีการสร้างและฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘เรือนแพ’ นำแสดงโดย ‘ไชยา  สุริยัน’ พระเอกชื่อดังในยุคนั้น  เป็นภาพยนตร์แนวบู๊+ชิงรักหักสวาท  เนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มเพื่อนรัก 3 คนมาเช่าเรือนแพริมแม่น้ำในกรุงเทพฯ เป็นที่อยู่อาศัย (เนื้อเรื่องไม่ได้บอกว่าเป็นเรือนแพบริเวณใด) เพื่อทำตามความฝันของตน  มีนักมวย  นักร้อง  และตำรวจ  แต่ทั้ง 3 คนหลงรักลูกสาวเจ้าของแพเหมือนกัน เรื่องราวยุ่งเหยิงขึ้น  เมื่อพระเอกของเรื่อง 1 ใน 3 หนุ่มเรือนแพได้ใจตอบรับรักจากลูกสาวเจ้าของแพ (นางเอก)  แต่ท้ายที่สุดเขาไปพัวพันกับแก๊งอาชญากรรมจนถูกตำรวจและสมุนโจรตามล่า  เขาจบชีวิตด้วยกระสุนปืนจากกลุ่มโจรท่ามกลางน้ำตาของนางเอก…ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงอมตะประกอบ คือ ‘เรือนแพ’ ขับร้องโดย ‘ชรินทร์  นันทนาคร’

4

‘หนุ่มเรือนแพ’  เพลงลูกทุ่ง  โด่งดังเมื่อราว 50 ปีก่อน  ขับร้องโดย ‘กาเหว่า  เสียงทอง’ แต่งโดย ‘ครูไพบูลย์ บุตรขัน’  (ไม่ทราบปีที่แต่ง แต่น่าจะก่อนปี 2515 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายในชีวิตครูไพบูลย์) ครูไพบูลย์เกิดที่จังหวัดปทุมธานี  ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งในยุคนั้นยังมีเรือนแพริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ธนบุรี  นนทบุรี  และปทุมธานีไม่น้อย  ครูไพบูลย์จึงนำภาพที่เห็นจนชินตามาแต่งเพลง  มีเนื้อเพลงท่อนแรกว่า…

“บ้านพี่เป็นเรือนแพ  สาวน้อยเขาไม่แล  สาวแก่ เขาก็ไม่มอง
โตอยู่ริมฝั่งคลอง  เมื่อยามน้ำนอง  ลอยล่อง เหมือนดังวิมาน

เพราะมันไม่โก้  เหมือนตึกหลังโต ที่สูงตระหง่าน.
ไม่แลระริกโอฬาร  แต่เป็นบ้าน..เรือนแพ….”

นั่นคือตัวอย่างของบันทึกระวัติศาสตร์สังคมที่สะท้อนภาพชุมชนเรือนแพในแง่มุมต่างๆ เป็นภาพเรือนแพในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเวลานั้น  ก่อนจะค่อยๆ หมดไปในราวปี 2538  ดังคำบอกเล่าของ ‘ศรัญญา  บุญเพ็ชร์’  อดีตชาวแพริมน้ำเจ้าพระยาใกล้วัดฉัตรแก้วจงกลณี  เขตบางพลัด  กรุงเทพฯ (สัมภาษณ์เมื่อปี 2559 ปัจจุบันเสียชีวิต) บอกว่า…

“ครอบครัวฉันอยู่เรือนแพมาตั้งแต่ปี 2519  พ่อมีอาชีพขับเรือโยงขนส่งสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงสร้างเรือนแพเพื่อความสะดวก อยู่ในแพมานานเกือบ 20  ปี  เฉพาะคนที่ปลูกแพอยู่ที่นี่ก็มีเกือบ 30  หลัง  เรียกว่าเป็นชุมชนเรือนแพก็ได้  พอถึงปี  2537-2538  ตอนนั้นคลื่นจากเรือด่วนเจ้าพระยาตีลูกบวบจนพัง  จะเปลี่ยนบ่อยๆ ก็เปลืองแรง  เปลืองเงิน  พ่อจึงรื้อแพมาสร้างบ้าน แต่ก็สร้างอยู่ในน้ำนั่นแหละ  ไม่ไกลจากแพเดิม แล้วก็อยู่กันมาจนถึงทุกวันนี้  ส่วนแพหลังอื่นๆ ก็ทยอยรื้อแล้วสร้างบ้าน  บางครอบครัวก็ย้ายขึ้นฝั่ง  จนเรือนแพแถบนี้หมดไป”

5
‘ศรัญญา’ กับแพริมน้ำ  ภาพถ่ายประมาณปี 2525 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดฉัตรแก้วจงกลณี เขตบางพลัด (เยื้องกับรัฐสภาใหม่ในปัจจุบัน)

ฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนชาวแพแห่งสุดท้าย

                นอกจากชุมชนชาวแพริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะหมดไปในราวปี 2538 แล้ว  ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำน่านที่ อ.เมือง  จ.พิษณุโลก ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนชาวแพที่ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศก็ล่มสลายไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน  โดยในปี 2540  ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำน่านถูกคำสั่งของจังหวัดให้รื้อย้ายขึ้นไปอยู่บนฝั่ง รวม  275 หลังคาเรือน  (ที่มา : รวมเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองพิษณุโลก พ.ศ.2535)  เพราะทางราชการมองว่าชุมชนชาวแพปล่อยน้ำเสีย  ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ  ทำให้น้ำสกปรก  นอกจากนี้ยังกีดขวางทางเดินของน้ำ

ขณะที่ ‘ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง’ จ.อุทัยธานี ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เช่น  จังหวัดอุทัยธานี  เทศบาลเมืองอุทัยธานี  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  สำนักงานเกษตรจังหวัด  ชลประทานจังหวัด  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ ฯลฯ  เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศเอาไว้  เพราะถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

อย่างไรก็ตาม  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังต่างได้รับผลกระทบเนื่องจากปัญหาความแห้งแล้ง  ปริมาณน้ำในแม่น้ำสะแกกรังลดน้อยลง  ทำให้เรือนแพจำนวนมากได้รับความเสียหาย  เพราะเรือนแพที่เคยอยู่ในน้ำ  เมื่อน้ำแล้งแพจะเกยตื้น ลูกบวบไม้ไผ่ที่รองหนุนแพจะแตกหัก

นอกจากนี้เมื่อน้ำในแม่น้ำแห้งแล้ง  จะทำให้น้ำไม่ไหลเวียน  ออกซิเจนในน้ำมีน้อย  ส่งผลกระทบต่อปลาที่เลี้ยงในกระชัง  เพราะจะทำให้ปลาตาย  ชาวแพที่มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังต้องสูญเสียรายได้  และยังส่งผลถึงชาวประมงในแม่น้ำสะแกกรังที่หาปลาได้น้อยลง  รวมถึงแม่ค้าที่มีอาชีพขายปลาต่างได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่

ขณะเดียวกันเมื่อน้ำแล้ง  กอผักตบชวาจะไหลมารวมกันหนาแน่น  ทำให้กีดขวางเรือที่สัญจรไปมาในแม่น้ำสะแกกรัง  เรือพายไม่สามารถแหวกผ่านได้  ส่วนเรือที่ติดเครื่องยนต์ใบพัดก็จะเกี่ยวพันกับกอผักตบและสวะใต้น้ำ  ทำให้การสัญจรทางเรือยากลำบาก  ฯลฯ

6
สภาพแพที่เกยตื้นในช่วงปี 2562-2563  เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำสะแกกรังลดน้อยลง  ทำให้น้ำหนักของตัวเรือนแพกดทับลูกบวบไม้ไผ่ที่ช่วยพยุงแพในน้ำจนแตกหัก

     ปัญหาดังกล่าว  ชาวชุมชนชาวแพได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนและหน่วยงานในท้องถิ่นตั้งแต่ช่วงปี 2562  จนในปี 2563  นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ในขณะนั้น) จึงให้หน่วยงานในสังกัด  คือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี (พมจ.) ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี  เทศบาลเมืองอุทัยธานี  เกษตรจังหวัด  ชลประทานจังหวัด  ฯลฯ  จัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง

โดย พอช.ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นเริ่มสำรวจข้อมูลชุมชนชาวแพตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563   เช่น  ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชนชาวแพ  สำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการ  จัดทำแผนที่ทำมือ  ถ่ายรูปเรือนแพ  จับพิกัด GPS  ถอดแบบรายการการซ่อมแซมเรือนแพผู้เดือดร้อน  ฯลฯ  โดยมีผู้แทนชุมชนชาวแพจำนวน 13 คนร่วมเป็นคณะทำงาน

จากการสำรวจข้อมูลชุมชนชาวแพ  127 ครัวเรือน (เฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย) ประชากรประมาณ 300 คนเศษ  ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  ค้าขายในตลาด  เลี้ยงปลาในกระชัง  จับปลาในแม่น้ำ  ฯลฯ  พบปัญหาและความต้องการรวม 8 ด้าน  เช่น  ปัญหาน้ำแล้ง   สิ่งแวดล้อม  ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม  อาชีพ  รายได้  การจัดการท่องเที่ยวชุมชน  คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  เด็ก  ผู้ด้อย โอกาส  ด้านวัฒนธรรม  และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  โดย พอช.จะสนับสนุนให้ชุมชนชาวแพซ่อมแซมเรือนแพก่อน  เพราะชาวแพส่วนใหญ่มีรายได้น้อย  สภาพเรือนแพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากสร้างมานาน  ลูกบวบที่ใช้พยุงแพซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่ชำรุดแตกหัก

ในเดือนกรกฎาคม 2563  หน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอุทัยธานีและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รวม 16 หน่วยงานได้จัดพิธี ‘ลงนามความร่วมมือการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวแพสะแกกรังและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี’  เพื่อร่วมกันเดินหน้าฟื้นฟูชุมชนชาวแพ

7

เริ่มซ่อมแพตั้งแต่ปี 2563

       การซ่อมแซมเรือนแพจำนวน 127 หลัง  เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2563  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมเรือนแพเฉลี่ยหลังละ 40,000 บาท  ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนไม้กระดานปูพื้นแพที่ผุพัง  หลังคาสังกะสี  ฝาเรือน ลูกบวบไม้ไผ่  ฯล  หากเกินงบสนับสนุนเจ้าของแพจะสมทบเอง  โดยมีช่างชุมชนและจิตอาสาจากจังหวัดต่างๆ  ประมาณ 80 คนหมุนเวียนมาช่วยกัน

นอกจากนี้  พอช.ยังสนับสนุนงบประมาณจัดทำแพกลางของชุมชนเพื่อใช้เป็นที่ประชุมและจัดกิจกรมต่างๆ  สนับสนุนการปรับปรุงสภาพแวดล้อม  บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้ง   ส่งเสริมอาชีพ  ฟื้นฟูภูมิปัญญาชาวแพ  ส่งเสริมศิลปะ  วัฒนธรรม  ส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ฯลฯ  ใช้งบประมาณทั้งหมด 7,350,000 บาท  (เฉลี่ยครัวเรือนละ 58,000 บาท)

ปัจจุบันการซ่อมแพทั้ง 127 หลังดำเนินการแล้วเสร็จ  แต่ยังมีการซ่อมแซมเพิ่มเติมอีกจำนวน 37 หลัง  เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2567 นี้ 

8
การเปลี่ยนลูกบวบที่ใช้พยุงแพ  โดยใช้เหล็กและถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร (ราคาใบละ 550 บาท) แทนบวบไม้ไผ่  แพหนึ่งหลังจะต้องใช้ถังพลาสติกไม่ต่ำกว่า 10 ลูกตามขนาดของแพ  ส่วนค่าจ้างช่างจะคิดราคาเหมาตามจำนวนช่องของลูกบวบๆ ละ 4,500 บาท  แพหนึ่งหลังจะมีลูกบวบประมาณ 3-4 ลูกขึ้นไป  หากเปลี่ยนลูกบวบทั้งหมด รวมค่าวัสดุและค่าแรงไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท/แพ

เสียงและความหวังของชาวแพ

คุณตาชำนาญ  พรหมสุทธิ์  วัย 80 ปี  ผู้อาวุโสแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง  เกิดและใช้ชีวิตในเรือนแพมาตั้งแต่เด็ก  ปัจจุบันยังเลี้ยงชีพด้วยการหาปลาในแม่น้ำและเลี้ยงปลาแรด  ปลาสวายในกระชัง  และหากสืบสาวไปถึงรุ่นปู่ย่าที่เป็นชาวเรือนแพ  ตระกูลพรหมสุทธิ์น่าจะใช้ชีวิตในแพริมแม่น้ำสะแกกรังมานานไม่ต่ำกว่า 100 ปี  ส่วนคุณตาว่ายน้ำเป็นและลงเบ็ดหาปลามาก่อนอ่านออกเขียนได้เสียอีก

“ผมหาปลามาตั้งแต่เรียนชั้น ป.1 แล้ว  ออกเรือไปหากับผู้ใหญ่  เมื่อก่อนปลาชุม  หาง่าย  มีปลาแรด  ปลาเนื้ออ่อน สารพัดปลา ช่วงเดือนอ้าย  เดือนยี่น้ำจะลง  ปลาจะเยอะ  จะมีปลาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในคลองสะแกกรัง  พวกปลาฉลาด  ปลากราย  น้ำกินเมื่อก่อนก็ใช้น้ำในคลอง  แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว น้ำมันเริ่มเน่า  แต่ยังพอใช้อาบ  ใช้ซักล้างได้”

คุณตาชำนาญเรียกแม่น้ำสะแกกรังว่า “คลอง” เหมือนกับคนรุ่นเก่าๆ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าหลวง  รัชกาลที่ 5 ที่เคยเสด็จประพาสเมืองอุทัยธานีเมื่อ 123 ปีก่อน  โดยทางเรือกลไฟก็เรียกว่า “คลองสะแกกรัง” เช่นกัน

คลองสะแกกรังในช่วงที่ไหลผ่านเมืองอุทัยธานีไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุงมีความยาวประมาณ 7-8 กิโลเมตร  หากปีใดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อยจากความแห้งแล้งเพราะน้ำจากทางภาคเหนือไม่ไหลมาเติมเต็ม  แม่น้ำสะแกกรังก็จะพลอยแห้งแล้งไปด้วย  ทำให้แพเกยตื้น  ปลาที่เลี้ยงในกระชังจะตายหรือเสียหายเพราะออกซิเจนในน้ำจะมีน้อย  คนเลี้ยงต้องจับปลาที่ยังไม่ได้ขนาดขึ้นมาขายก่อน  ราคากิโลฯ ละไม่กี่บาทก็ต้องขาย  เพราะหากปล่อยไว้ปลาจะตายหมดกระชัง  เสียหายหนักกว่าเดิม..!!

นอกจากนี้น้ำทิ้งจากในเมืองที่ผ่านท่อน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำสะแกกรังตลอดเดือนตลอดปีก็ช่วยเร่งให้สะแกกรังเน่าเสียเร็วขึ้น “ตอนนี้คนเลี้ยงปลาในกระชังลดน้อยลงเพราะปัญหาน้ำเน่าเสีย  ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไข  จะได้หากินในคลองนานๆ” คุณตาชำนาญบอก

9
คุณตาชำนาญและป้าแต๋วทำปลาย่างและขายบนแพ

“ป้าแต๋ว”  ศรีวภา วิบูลรัตน์ วัย 70 ปี  เจ้าของกิจการร้าน ‘ป้าแต๋วปลาย่าง’ อาวุโสน้อยกว่าคุณตาชำนาญ  แต่หากสืบสาวไปถึงต้นตระกูล  บรรพบุรุษของป๋าแต๋วล้วนเกิดและอาศัยอยู่ในเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรังมานานและต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 100 ปีเช่นกัน  เพราะคุณแม่ของป้าแต๋วปีนี้อายุ 91 ปี  ยังมีชีวิตอยู่

ป้าแต๋วเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของคนลุ่มน้ำสะแกกรัง  เพราะมีรายการทีวี  สื่อออนไลน์  ยูทูปเปอร์  ตลอดจนหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ มาสัมภาษณ์  นำไปเผยแพร่ไม่รู้กี่สิบสำนัก  จนคนรู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง  ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาอุทัยธานี  ไม่พลาดที่จะต้องแวะแพปลาย่างของป้าแต๋ว  ซึ่งมีทั้งปลาเนื้ออ่อนรมควัน ปลาช่อน  ปลากด  ปลาสวาย  ปลาซิว  น้ำพริกปลาย่าง  ขนมพื้นบ้าน  ฯลฯ

โดยป๋าแต๋วจะย่างหรือรมควันปลาด้วยขี้เลื่อยและใช้เสื่อรำแพนคลุมเพื่อให้ความร้อนระอุทั่วถึง  ไฟไม่แรงเกินไป  เพราะจะทำให้ปลาไหม้หรือมีรสขม หากเป็นปลาตัวใหญ่  เช่น  ปลาเนื้ออ่อนตัวขนาดแขน  ต้องใช้เวลารมควันนานถึง 3 วัน  จนเนื้อปลาแห้งกรอบ  สีสวย  เหลืองอร่าม  และตากปลาบนแพอีกแพหนึ่ง  เมื่อเสร็จสรรพก็จะนำมาขายอีกแพที่อยู่ติดกัน  ปลาที่เอามาทำขายส่วนใหญ่จะรับซื้อมา   มีทั้งปลาในแม่น้ำสะแกกรังและปลาจากที่อื่น

“ป้าทำปลาขายตั้งแต่อายุ 18 ปี  เมื่อก่อนเอาไปขายที่ตลาด  ปลาสร้อย 5 ไม้  20 บาท  ปลาเนื้ออ่อนกิโลฯ ละ 4-5 บาท  เอามารมควันขายราคาไม่กี่บาท  แต่ตอนนี้ปลาหายาก  ปลาเนื้ออ่อนรมควันป้าขายกิโลฯ ละ 3,000 บาท  ราคามันสูง  แต่เอาไปทำอะไรกินก็อร่อย  ต้มยำ  ต้มโคลง  หรือเอามาทำปลาป่นกินกับน้ำพริก  กินกับข้าวก็อร่อย”

ป้าแต๋วสาธยาย  และทิ้งท้ายว่า  “ตั้งแต่ช่วงโควิด  นักท่องเที่ยวมาน้อยลง  แต่ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้น  แต่ป้าก็อยากจะให้มีการลอกคลอง  เพราะช่วงหลังๆ นี้น้ำในคลองสะแกกรังมันแล้ง  น้ำไหลไม่สะดวก  จะทำให้น้ำเน่าได้  ถ้ามีการขุดลอกคลองก็จะดี  น้ำจะได้ไหลเวียน  คนมาเที่ยวทางเรือก็จะสะดวก”

10
ปลายท่อน้ำทิ้งจากในเมือง 1 ในหลายท่อที่ไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังตลอด 24 ชั่วโมง

อนาคตชาวแพสะแกกรัง

สันทนา  เทียนน้อย  ประธานชุมชน 7 ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง  บอกว่า  เดิมเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังที่ขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่ามีทั้งหมด 301 แพ  แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 154 แพ/หลัง  เนื่องจากชาวแพรุ่นเก่าๆ ล้มหายตายจากไป  ลูกหลานไปเรียนหรือทำงานอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัดจึงไม่ได้อยู่อาศัย  บางแพปล่อยให้ผุพังเสื่อมโทรม  บางแพก็เปลี่ยนมือ  ขายให้คนอื่น  หรือบางแพที่เคยผูกแพอยู่หน้าท่า  หน้าที่ดินของคนอื่น  เมื่อเจ้าของขายที่ดิน  หรือนำที่ดินไปปลูกสร้างอาคาร  บ้านพัก  รีสอร์ท ทำให้ชาวแพไม่มีทางขึ้น-ลง  ไม่มีหน้าท่าเอาไว้จอดแพ จึงจำต้องขายแพหรือย้ายขึ้นไปอยู่ที่อื่น  แพจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง

“เมื่อก่อนคลองจะกว้างกว่านี้  แต่ตอนนี้คลองมันตื้นเขิน  เพราะน้ำลดน้อยลง  น้ำถ่ายเทไม่สะดวก  ปลาก็ลดลงด้วย  คนอยู่แพก็ลำบาก  เพราะเดี๋ยวนี้ไม้แพงขึ้น  3-4 ปีก็ต้องเปลี่ยนลูกบวบที  ไม้ไผ่เมื่อก่อนลำละ 20 บาท  แต่ตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 60 บาท  และเป็นไม้ไผ่ที่เนื้อยังไม่แข็งเต็มที่  ใช้ไปไม่กี่ปีก็ต้องเปลี่ยนอีก”  ประธานชุมชนบอกถึงปัญหาที่ชาวแพสะแกกรังต้องเผชิญ

ขณะที่ แววดาว  พรมสุทธิ์  รองประธานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงชนบทชาวแพสะแกกรัง  บอกอย่างมีความหวังว่า  แม้ว่าชุมชนชาวแพจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ  แต่ก็ยังมีหน่วยงานต่างๆ มาช่วยสนับสนุนฟื้นฟูชุมชนชาวแพ  เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ที่สนับสนุนการซ่อมแซมเรือนแพที่ชำรุดทรุดโทรม  รวมทั้งหมด 127 หลัง

นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆ ที่ พอช.สนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนชาวแพที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ  เช่น  การท่องเที่ยวชุมชน  งานประเพณีสงกรานต์ในช่วงเดือนเมษายนนี้  จะจัดให้มีพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ  คนเฒ่าคนแก่  โดยจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมสืบสานประเพณีนี้ด้วย

มีโครงการส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจชุมชนชาวแพ  โดยจะทำแพร้านค้าชุมชนชาวแพ  จำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากเศษผ้า  เช่น  ย่าม  และของชำร่วยต่างๆ   ทำอาหารปลาอัดเม็ดจากรำข้าว  เพื่อขายให้คนเลี้ยงปลาในกระชัง  และให้นักท่องเที่ยวซื้อไปให้อาหารปลาในแม่น้ำสะแกกรัง   นำปลามาแปรรูปทำปลาย่าง  ปลาแห้ง  น้ำพริกจากปลา  ขายในตลาดและแพร้านค้าชุมชน  ฯลฯ  โดย พอช.สนับสนุนประมาณ 300,000 บาท

รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นกองทุนของชาวแพ  ใช้ชื่อว่า “กลุ่มออมทรัพย์ลุ่มน้ำสะแกกรัง” โดยให้สมาชิกชาวแพที่ได้รับการซ่อมแพจำนวน 127 ครัวเรือน  ร่วมกันออมเงินเข้ากลุ่มเดือนละ 50 บาท/ครอบครัว  เริ่มออมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563  แล้วนำเงินออมมาให้สมาชิกที่เดือดร้อนกู้ยืม  เช่น  นำไปประกอบอาชีพ  ปรับปรุงเรือนแพ  ฯลฯ  คิดดอกเบี้ยเพื่อเป็นรายได้เข้ากลุ่มร้อยละ 1 บาท/เดือน  ที่ผ่านมาปล่อยกู้ให้สมาชิกไปแล้ว  รวมเป็นเงินประมาณ 150,000 บาท   ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์มีเงินสดหมุนเวียนประมาณ 100,000 บาทเศษ

“เราวางแผนงานว่า  โครงการต่างๆ ที่ พอช.สนับสนุน  ทั้งการซ่อมแพ  แพร้านค้า  การส่งเสริมอาชีพต่างๆ และการท่องเที่ยวชุมชน  จะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้  และจะทำต่อไป  เพราะเรามีกองทุนชาวแพของเราแล้ว  เมื่อมีรายได้จากกลุ่มต่างๆ เช่น  จากการขายของที่ระลึก  ขายอาหารปลา  เราจะนำกำไร 5 เปอร์เซ็นต์มาเข้ากลุ่มออมทรัพย์  เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน  ทำให้กลุ่มและกองทุนของชาวแพเติบโตช่วยเหลือกันได้นานๆ”  แววดาวรองประธานโครงการฯ บอกถึงแผนงานที่กำลังจะเดินหน้าต่อไป

นี่คือเรื่องราวของชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศที่แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ แต่พวกเขาก็ยังมีความหวังในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด  รวมทั้งยังรวมพลังกันพัฒนาชุมชนชาวแพให้มั่นคงตลอดไป…!!default

ชุมชนชาวแพสะแกกรังที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานีมานานกว่า 100 ปี

   *****************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ