หากจะวัดขนาดกันแล้ว ตัวเมืองอุทัยธานี ถือเป็นเมืองขนาดเล็ก มีพื้นที่ไม่กี่ตารางกิโลเมตร เฉพาะขอบเขตเมืองเก่ามีเนื้อที่ประมาณ 1.69 ตารางกิโลเมตร แต่ภายใต้ความเล็กกะทัดรัดนี้ กลับอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น เป็นสถานที่กำเนิดของ ‘นายทองดี’ ที่บ้านสะแกกรัง ซึ่งต่อมามีบุตรชายนามว่า ‘ทองด้วง’ ผู้เป็นองค์ปฐมราชวงศ์จักรี หรือ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช’ จังหวัดอุทัยธานีจึงนำมาตั้งเป็นคำขวัญของจังหวัดว่า “เมืองพระชนกจักรี”
นอกจากนี้ในลำน้ำสะแกกรังยังเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย ขนาบข้างด้วย ‘วัดอุโปสถาราม’ และตลาดริมน้ำสะแกกรังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสครั้งแรกในปี พ.ศ.2444 หรือเมื่อ 123 ปีก่อน รวมทั้งยังมีย่านตลาดเก่า มี ‘ตรอกโรงยา’ ที่ตั้งของโรงสูบฝิ่นถูกกฎหมายก่อนจะโดนคำสั่งของ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ สั่งปิดโรงฝิ่นทั่วประเทศในปี พ.ศ.2502
แต่ที่สำคัญก็คือ…สถานที่ต่างๆ เหล่านี้ยังมีลมหายใจ…ยังบอกเล่าเรื่องราว ตำนาน และประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่น…เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต…ที่คนอุทัยธานีช่วยกันดูแลรักษาเอาไว้ !!
เมืองเก่าเล่าเรื่อง…จาก“อู่ไท…ถึงอุทัยธานี” ”
อุทัยธานี เป็นเมืองเก่า ก่อตั้งเมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย หลักฐานที่นำมาอ้างอิง คือ ‘วัดกร่าง’ ที่เคยถูกทิ้งร้าง หากพิจารณาจากรูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏในโบสถ์ สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัยตอนปลาย ต่อเนื่องมาถึงสมัยอู่ทองหรืออโยธยา จนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น มีอายุราว 600 ปี ได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพิชัยปุรณาราม ชาวบ้านเรียกว่า “วัดพิชัย”
‘เมืองอุทัยธานี’ เดิมเรียกว่า “อู่ไท” (ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองฉางในปัจจุบัน) เหตุที่เรียกว่า “อู่ไท” นั้น เดิมพื้นที่เมืองอู่ไทเป็นเมืองด่านชั้นนอกที่คอยป้องกันสอดส่องกองทัพพม่าที่จะรุกเข้ามาทางทิศตะวันตก มีชาวมอญและกะเหรี่ยงตั้งรกรากอยู่ก่อน เมื่อมีคนไทยเข้ามาอยู่อาศัยจึงเรียกหมู่บ้านที่ตนอยู่ว่า “อู่ไท” และต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “อุไท”
ส่วนเมืองอุทัยธานีในปัจจุบัน อยู่ในเขต ‘เทศบาลเมืองอุทัยธานี’ ตั้งอยู่ที่ตำบล ‘อุทัยใหม่’ ริมแม่น้ำสะแกกรัง อยู่ห่างจากเมืองอู่ไท (อุทัยเก่า) หรืออำเภอหนองฉางในปัจจุบันประมาณ 20 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเมืองนี้เริ่มเป็นชุมชนหนาแน่นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระยาเมืองอุทัยธานี (เสือ พยัฆวิเชียร) ขอพระราชทานย้ายที่ตั้งเมืองจากเมืองอู่ไท เนื่องจากเมืองเก่าอยู่ท่ามกลางป่าดง ตลอดจนการศึกสงครามกับพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจึงทำให้เมืองถูกทำลายและทิ้งร้าง
ดังพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสเมืองอุทัยธานีครั้งแรกในปี พ.ศ.2444 (เสด็จประพาสทางเรือจากพระนครศรีอยุธยาไปยังมณฑลฝ่ายเหนือจนถึงเชียงใหม่) มีความตอนหนึ่งว่า…“เมืองอุไทยธานีเก่าตั้งอยู่ในที่ซึ่งเป็นที่ดอน อยู่ห่างจากคลองสะแกกรังประมาณ 500 เส้น ไต่ถามไม่ค่อยได้ความ แต่สังเกตโดยพระพุทธรูปซึ่งมีผู้นำมาให้ เห็นว่าเป็นเมืองเก่ามาก คงจะเป็นชั้นเมืองกำแพงเพ็ชร แต่เห็นจะได้ทิ้งโทรมเสียตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงเสียนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อพม่าเผาครั้งหลังที่สุด จึงได้เผาแต่บ้านอุไทย หาได้เผาเมืองอุไทยไม่ แต่นั้นมาจึงได้ย้ายเมืองมาตั้งคลองสะแกกรัง”
การค้าข้าวและชุมชนชาวแพ
นอกจากเหตุผลในการย้ายเมืองดังกล่าวแล้ว ที่ตั้งของเมืองอุทัยธานีใหม่ยังติดกับแม่น้ำสะแกกรัง (มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในจังหวัดกำแพงเพชร ไหลผ่านนครสวรรค์ลงมายังอุทัยธานี และบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 225 กิโลเมตร) และเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดความสะดวกในการติดต่อค้าขาย โดยเฉพาะการค้าข้าว จึงมีคนจีนเข้ามาตั้งโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกและส่งข้าวไปขาย จนบ้านสะแกกรังกลายเป็นย่านการค้า มีตลาด มีเรือนแพจอดอยู่หนาแน่น
พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จเมืองอุทัยธานีครั้งแรกในปี พ.ศ.2444 ครั้งนั้นพระองค์เสด็จประพาสด้วยเรือกลไฟไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วล่องเข้าไปใน ‘คลองสะแกกรัง’ เข้าสู่ ‘เมืองอุไทยธานี’ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการค้าข้าวเป็นหลัก เพื่อทำพิธีมอบพระแสง (ดาบ) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่เจ้าเมืองอุไทยธานี หลังจากนั้นได้เสด็จประพาสตลาดริมคลองสะแกกรัง แล้วข้ามเรือไปยังวัดอุโปสถารามที่อยู่ตรงข้ามตลาดเพื่อนมัสการเจ้าอาวาส ดังข้อความตอนหนึ่งที่พระองค์ทรงบันทึกเอาไว้ว่า…
“เวลาบ่ายลงเรือแจว มีเรือไฟเล็กลากไปตามลำคลอง ถนนมีแต่ร้อนนัก จึงไม่ได้เห็นบ้านเรือนตอนข้างบกซึ่งซ้อนกันอยู่เป็นสองชั้น เห็นแต่ข้างหลังบ้าน ไปขึ้นที่ท่าตลาดใต้วัดขวิด ตลาดนั้นมีผู้คนแน่นหนา แต่ถนนนั้นยังเป็นทรายอ่อน และรางน้ำนั้นมักจะเต็ม ไม่เป็นถนนที่ได้ทำ เป็นแต่ทางคนเดิน ได้เห็นบ้านเรือนแน่นหนา ราษฎรเป็นคนบริบูรณ์ ความบริบูรณ์ของเมืองนี้อาศัยการค้าข้าวเพียงอย่างเดียว เพราะเหตุที่แผ่นดินนอกคลองนั้นออกไปเป็นที่พื้นราบมาก มีลำห้วยซึ่งมีน้ำแต่ฤดูฝน ราษฎรเข้าใจไปเองในวิธีที่จะปิดน้ำไว้ขังเลี้ยงต้นข้าว เหมือนอย่างอิริเคชั่น (การชลประทาน–ผู้เขียน) ข้าวไม่มีเสีย จึงเป็นที่นาอุดมดีกว่าตอนข้างริมน้ำซึ่งอาศัยน้ำท่า…”
การเสด็จประพาสเมืองอุทัยธานีของรัชกาลที่ 5 มีภาพถ่ายที่สำคัญหลายภาพ คาดว่าเป็นฝีมือของข้าราชการที่ติดตามเสด็จ แต่บางภาพมีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ภาพที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่น ภาพในตลาดสะแกกรัง ภาพเรือนแพ เรือกระแชงบรรทุกสินค้าที่จอดอยู่ริมตลิ่ง และวัดอุโปสถารามที่อยู่ริมแม่น้ำหรือคลองสะแกกรัง
“เซ็กเกี๋ยกั้ง” และโรงสูบยาฝิ่น
การค้าข้าวของชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านสะแกกรังส่วนหนึ่งขยับขยายกิจการมาจากนครสวรรค์และชัยนาทที่อยู่ติดกัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้ชุมชนริมน้ำสะแกกรังขยายตัว เกิดเป็นตลาด ร้านค้า เรียกว่า ‘ตลาดบ้านสะแกกรัง’ ขณะที่คนจีนที่เข้ามาเรียกบ้านสะแกรังตามสำเนียงของตนเองว่า “เซ็กเกี๋ยกั้ง”
นอกจากตลาดสะแกกรังแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชายชาวจีนก็คือ ‘ฝิ่น’ นิยมสูบแก้ปวดเมื่อยเนื้อตัว โดยเฉพาะกุลี แรงงานชาวจีนที่รับจ้างแบกข้าว ทำให้เคลิบเคลิ้ม นอนหลับสบาย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าโรงสูบฝิ่นเริ่มลงหลักปักฐานที่ตลาดสะแกกรังในสมัยใด แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 การสูบฝิ่นในเมืองไทยเวลานั้นยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ค้าขายได้โดยการขอสัมปทานหรือเสียภาษีให้แก่รัฐ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับฝิ่นใหม่ ประกาศใช้ในเดือนเมษายน พ.ศ.2464 โดยทางราชการอนุญาตให้มีการตั้งโรงยาฝิ่นและสูบฝิ่นได้ แต่จะต้องสูบในโรงฝิ่นเท่านั้น ห้ามนำออกไปภายนอก และห้ามเจ้าของโรงสูบฝิ่นนำฝิ่นไปขายข้างนอก หรือขายให้เอาไปสูบข้างนอก…
นับจากนั้น โรงสูบฝิ่นก็แพร่หลายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในย่านที่มีชุมชนชาวจีนตั้งอยู่ รวมทั้งที่ตลาดสะแกกรังด้วย ชาวบ้านเรียกว่า “ตรอกโรงยา” เพราะมีโรงสูบยาฝิ่นตั้งอยู่ มีชาวฝิ่นเดินเข้าออกตลอดวัน ซึ่งภายในโรงสูบฝิ่นโดยทั่วไปจะมีเตียงไม้หรือแคร่ยกพื้นปูเสื่อ มีหมอนกระเบื้องเอาไว้ให้ผู้สูบฝิ่นนอนสูบ มีบ้องฝิ่นลักษณะคล้ายปี่ชวาหรือปี่พระอภัย
บรรดาชาวฝิ่นหรือ ‘ศิษย์พระอภัยมณี’ ต่างรื่นเริงบันเทิงใจนานหลายสิบปี ขณะที่การลักลอบค้าฝิ่นเถื่อนก็สร้างผลกำไรให้แก่ผู้ที่เกี่ยวอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังปี พ.ศ.2488 มีการลำเลียงฝิ่นจากชายแดนภาคเหนือของไทย หรือ “สามเหลี่ยมทองคำ” ทั้งนำเข้ามาขายในเมืองไทย และส่งออกไปต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นมอร์ฟีนและเฮโรอีน
กล่าวกันว่า ผู้ค้าฝิ่นเถื่อนในยุคนั้นก็คือบุคคลสำคัญในรัฐบาลนั่นเอง ดังนั้นเมื่อมีการยึดอำนาจจากรัฐบาล ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ ในปี 2500 ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จึงกวาดล้างแหล่งทุนสีเทาของรัฐบาลเก่า โดยการกวาดจับฝิ่นเถื่อน และต่อมารัฐบาลใหม่ได้ประกาศให้การสูบฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2502 เป็นเส้นตายวันสุดท้ายที่จอมพลสฤษดิ์สั่งปิดโรงสูบฝิ่นทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีโรงสูบฝิ่นประมาณ 90 โรงที่โดนสั่งปิด ค่ำวันนั้นบ้องฝิ่นนับพันนับหมื่นบ้อง พร้อมทั้งอุปกรณ์การสูบฝิ่นถูกลำเลียงนำมากองที่ท้องสนามหลวงแลดูราวภูเขาย่อมๆ เพื่อรอการฌาปนกิจ ท่ามกลางสายตาละห้อยและอาลัยอาวรณ์ของบรรดาศิษย์พระอภัยมณี…!!
“ฟื้นบ้าน ย่านเมือง อุทัยธานี…บ้านเล่าเรื่อง”
แม้ว่าโรงสูบฝิ่นที่ตลาดสะแกกรังจะโดนคำสั่งปิดไปด้วยตั้งแต่กลางปี 2502 ทำให้ตรอกโรงยาเกิดความเงียบเหงา ไม่มีชาวฝิ่นเดินเข้าออกคึกคักเหมือนแต่ก่อน ทำให้ร้านรวงในย่านนั้นพลอยซบเซาไปด้วย แต่ชีพจรของเมืองอุทัยธานียังคงโลดเต้นต่อไป แม้จะมีตึกรามบ้านเรือนใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ตึกแถวเก่าๆ ขนาด 2 ชั้นยังคงเป็นเอกลักษณ์และเป็นเสน่ห์ของเมือง วัดเขาสะแกกรังที่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ไม่ไกลจากเมืองยังมีผู้คนจากทั่วสารทิศมาสักการะ และผู้มาเยือนต่างไม่พลาดที่จะรอตักบาตรยามเช้าที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง
ล่วงมาถึงปี 2553 เทศบาลเมืองอุทัยธานีร่วมกับหน่วยในท้องถิ่น เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ชุมชน 15 ชุมชนในเขตเทศบาล และมหาวิทยาลัยนเรศวร (จังหวัดพิษณุโลก) ช่วยกันฟื้นฟูตลาดเก่าสะแกกรัง รวมทั้งโรงสูบยาฝิ่นที่ตั้งอยู่ในตลาดเก่าหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตรอกโรงยา” ให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา
โดยการเปิด ‘ถนนคนเดินตรอกโรงยา’ ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด มีอาหาร ขนม เครื่องดื่ม สินค้าพื้นบ้าน ของที่ระลึกวางขายมากมาย เปิดถนนคนเดินครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยจะเปิดและมีกิจกรรมต่างๆ ทุกเย็นวันเสาร์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 4 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม ทำให้ตลาดเก่าบ้านสะแกกรังและตรอกโรงยากลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายยาเก่าแก่ที่เปิดกิจการมานานนับร้อยปี ได้บอกเล่าเรื่องราวของตน โดยใช้ถ้อยคำเพื่อรณรงค์กิจกรรมนี้ว่า “ฟื้นบ้าน ย่านเมือง อุทัยธานี…บ้านเล่าเรื่อง” เช่น นำภาพเก่าๆ ภาพที่มีความสำคัญในอดีต ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ มาจัดแสดงภายในร้าน หรือทำเป็นแผ่นป้ายนิทรรศการ โดยมีเจ้าของร้านเป็นผู้บรรยาย บอกเล่าเรื่องราวของร้าน…เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เช่น ร้านขายยาฮกแซตึ้ง ร้านยาหอมซามิ้นโอสถ ร้านรุ่งเรืองพาณิชย์ ฯลฯ
ฮกแซตึ๊ง ตั้งอยู่ย่านกลางเมือง ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ เดิมเคยเป็นโรงเจตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นที่พำนักของชาวจีนที่เข้ามาเสี่ยงโชคที่เมืองอุทัยธานี เมื่อยังไม่มีงาน ไม่มีที่พัก บรรดาชาวจีนจะใช้โรงเจแห่งนี้เป็นที่พัก และยังมีอาหารให้กิน ต่อมาโรงเจได้ขยับขยายมาดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้งเปิดร้านขายยาขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “ฮกแซตึ๊ง” คนจีนที่พักอยู่โรงเจบางคนมีความสนใจเรื่องยาจึงได้เข้ามาช่วยงานที่ร้าน พร้อมทั้งเรียนรู้การปรุงยาสมุนไพรไทย-จีนไปด้วย เมื่อมีความรู้แก่กล้าแล้วจึงเป็นช่องทางให้ออกไปเปิดร้านขายยาขึ้นมาใหม่ เช่น ร้านขายยาซามิ้น
ศุภวัลย์ ศรีสุเทพ วัยเฉียด 70 ปี ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านขายยาแผนโบราณ ‘ยาหอมซามิ้นโอสถ’ ใกล้วงเวียนตลาดสดเทศบาล บอกว่า เตี่ยหนีสงครามและความยากจนจากเมืองจีนเข้ามาขึ้นฝั่งที่กรุงเทพฯ ต่อมาได้นั่งเรือขึ้นมาหางานทำที่อุทัยธานี และได้ทำงานที่ร้านขายยาฮกแซตึ๊งนาน 3-4 ปี จนมีความรู้ด้านการปรุงยาสมุนไพรไทย-จีน เมื่อสะสมเงินทุนได้จึงออกมาเปิดร้านขายยา ‘ซามิ้น’ ขึ้นมา ยาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ร้านคือ ‘ยาหอม’ ชนิดผง มีสมุนไพรหลัก คือ ชะเอม อบเชย พิมเสน จันทร์เทศ กานพลู ฯลฯ มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ แก้วิงเวียนเป็นลม หน้ามืดตาลาย อ่อนเพลีย ฯลฯ ปัจจุบันใช้ชื่อร้านว่า ‘ซามิ้นโอสถ’ มีความเก่าแก่เกือบ 100 ปี
เรวดี จะเรียมพันธ์ อายุ 54 ปี เจ้าของร้าน ‘รุ่งเรืองพาณิฃย์’ ตั้งอยู่หัวมุมตลาดเทศบาล จำหน่ายเครื่องเขียน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ธงชาติ พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ของพระราชวงศ์ ฯลฯ บอกว่า ร้านนี้เปิดมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุร้านประมาณ 80 ปี เธอสืบทอดกิจการมาจากคุณแม่ซึ่งเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 90 ปี (หากคุณแม่ยังมีชีวิตปีนี้จะมีอายุ 95 ปี)
เธอบอกว่า สมัยคุณปู่คุณย่ายังอาศัยอยู่ในเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรัง ต่อมาจึงได้มาซื้อตึกแถวอยู่บนฝั่ง ส่วนที่ดินเป็นที่ดินเช่าจากกรมการศาสนา ร้านอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำสะแกกรัง เมื่อก่อนขายเครื่องเขียน หนังสือเรียน หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ ส่วนเธอเพิ่งมาสืบทอดกิจการเมื่อคุณแม่เสียชีวิตเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
เธอบอกด้วยว่า นอกจากเมืองอุทัยธานีจะมีประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวเก่าๆ ที่น่าสนใจแล้ว ที่นี่ยังมีพระตำหนักส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำสะแกกรัง ไม่ไกลจากย่านตลาดมากนัก และเมื่อพระองค์เสด็จมาประทับที่นี่ ท่านจะมาเดินชมตลาดหรือออกกำลังกายริมแม่น้ำอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 60 พรรษาถือเป็นปีมหามงคลในปี 2558 ชาวตลาดร้านค้า รวมทั้งชาวแพสะแกกรังจึงช่วยกันปรับปรุง ทาสีอาคาร บ้านเรือน และเรือนแพด้วยสีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำวันเสาร์ วันพระราชสมภพของพระองค์ ทำให้ย่านอาคารร้านค้าและเรือนแพในเขตเทศบาลแลดูสดใสสวยงามจนถึงทุกวันนี้
ทส.เตรียมแผนพัฒนาเมืองเก่า-‘พอช.’ ฟื้นฟูชุมชนชาวแพ
นอกจากการฟื้นฟูเพื่อชุบชีวิตเมืองและตลาดเก่าดังกล่าวแล้ว หน่วยงานต่างๆ ยังเข้ามาส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าด้วย เช่น ในปี 2563 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าเพื่อประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นที่ปรึกษาดำเนินการภายใต้โครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า และต่อมาคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเห็นชอบแผนงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564
ส่วนขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี มีเนื้อที่ประมาณ 1.69 ตารางกิโลเมตร (1,058 ไร่) และขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่องมีเนื้อที่ประมาณ 7.21 ตารางกิโลเมตร (4,504 ไร่) ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่ (Zoning) เนื่องจากพื้นที่ภายในเมืองเก่า มีองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองส่วนใหญ่ตั้งกระจุกตัวหนาแน่นอยู่บริเวณใจกลางเมือง และตามแนวถนนศรีอุทัย
โดยมีองค์ประกอบเมืองที่สำคัญ เช่น 1.แม่น้ำสะแกกรัง 2.เขาสะแกกรัง 3.วัดอุโปสถาราม 4.วัดขวิด (ร้าง) 5.วัดสังกัสรัตนคีรี (วัดเขาสะแกกรัง) 6.วัดธรรมโฆษก 7.วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) 8.วัดพิชัยปุรณาราม 9.พื้นที่ย่านการค้าดั้งเดิมบริเวณถนนท่าช้าง 10.ย่านชุมชนชาวจีนตรอกโรงยา และ 11.ชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง ฯลฯ
ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีแผนในการฟื้นฟูชุมชนชาวแพสะแกกรังรวม 8 ด้าน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยสนับสนุนการซ่อมแซมเรือนแพ รวม 127 หลัง นอกจากนี้ยังส่งเสริมเรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส ด้านวัฒนธรรม และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน…
(อ่านต่อ… ‘สายน้ำและความหวัง’…ชาวแพริมฝั่งสะแกกรัง จ.อุทัยธานี…ตอนที่ 2)
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์