เรื่อง: กองบรรณาธิการ ภาพ: ประชาไท
เป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ หรือแม้แต่ได้รับผลกระทบจากกฏหมายที่ประกาศขึ้น
“การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเป็นแบบเก่าแล้ว” สุทธิเกียรติ คชโส ว่าอย่างนั้น
แบบเก่าที่เขาพูดถึง คือการเคลื่อนไหวเป็นรายประเด็น เข้าทำนอง พื้นที่ไหนเกิดเรื่อง ก็เคลื่อนไหวแค่ในพื้นที่ตัวเอง
“เราต้องการทำให้เป็นแบบใหม่ขึ้นมา”
เราที่สุทธิเกียรติหมายถึง คือกลุ่ม อีสานใหม่ ที่กองบรรณาธิการให้ที่มาที่ไปไว้ในบรรทัดเเรก
ในฐานะโฆษกของกลุ่มที่มีหมุดหมายในการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง เขามีทัศนะที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรฟังไว้บ้าง
01
อยากให้ช่วยขยายภาพความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่พูดถึง
ปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นสำคัญ รวมถึงนโยบายเเละกฎหมายต่างๆ มันจะไม่มีทางแก้ไขได้เลย ถ้าอยู่ในวังวนของนักการเมืองหน้าเดิม พวกเขาก็จะคอยออกแต่นโยบาย หรือกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน โดยที่ผลประโยชน์ไม่เคยหล่นลงมาที่ภาคประชาชน ซึ่งการแก้ไขระดับนี้ต้องมองถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งประชาชนเอาชนะได้ยากมาก
02
ในระยะเริ่มต้นควรทำอย่างไร
สิ่งที่ต้องทำระยะสั้นในแง่ของการทำงานกับชาวบ้าน คือการทำให้เห็นว่า พวกเขาคลุกคลีกับความสัมพันธ์แบบนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ ฉะนั้น ภาพที่ชาวบ้านเห็นจะสามารถอธิบายได้ดีที่สุดและข้อเสนอของชาวบ้านนั้นสำคัญมากที่จะเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาการผูกขาดอำนาจเรื้อรังเหล่านี้ ซึ่งในด้านการทำงานกับภาครัฐเราเพียงแต่ใช้กลไกที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด แต่กลไกภาครัฐแต่ละตัวก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนคติของผู้ปฏิบัติหน้าที่แต่สุดท้ายก็อยู่ที่คำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งมีความไม่แน่นอนนั่นเอง
03
ตอนนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลจากการรัฐประหาร ซึ่งเอาเข้าจริงๆ รัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ควรมีโมเดลอย่างไรในการเเก้ปัญหา
ก็ต้องมาดูว่าที่ผ่านมา หลังจากการเลือกตั้งแล้วเกิดอะไรขึ้น พบว่า มันถูกกีดกันโดยพรรคการเมืองพรรคใหญ่ๆ ชิงดีชิงเด่นโต้แย้งกันไปมาราวกับว่าพื้นที่ทางการเมืองเป็นสนามเด็กเล่น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนชายขอบ คนรากหญ้ากลับไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหาขึ้นเรื่อยๆ
แต่ถ้าพื้นที่ทางการเมืองนั้นเปลี่ยนขั้วกลับหัวเป็นสามัญชนคนธรรมดา จะมีการมองปัญหาคนชายขอบรากหญ้า ว่าเป็นเรื่องสำคัญและต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน รวมถึงการมองอนาคตข้างหน้าด้วยว่า สิ่งใดที่แก้ไขแล้วเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ต่อชาติ แต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
04
โครงสร้างนักการเมืองที่เป็นเสียงของประชาชนในการออกกฎหมาย ในเเง่ความเป็นจริงของการเมืองไทย มันสามารถผลักดันเรื่องเหล่านี้ไปได้อย่างไร
เรื่องนี้ต้องถูกแก้โดยใช้โมเดลข้อ 2 แต่การผลักดันในความจริงแล้วต้องทำในทุกระดับ เช่น ในระดับท้องถิ่นเองก็มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจประชาชนในการร่างข้อบัญญัติและบังคับใช้ได้ภายในท้องถิ่นนั้นๆ เพียงแต่ประชาชนทั่วไปไม่เคยรู้ และเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ไม่เคยให้ข้อมูลและความรู้
05
ทำไมที่ผ่านมา ประชาชนถึงไม่รู้
เอาจริงๆ แล้วประชาชนหรือชาวบ้านทั่วไปกลัวกฎหมายเสียด้วยซ้ำ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำให้ประชาชนกลัว โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าการใช้กฎหมายมันถูกหรือผิด ซึ่งถ้าเราทำให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิ หน้าที่ของตนเองและชุมชน