อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและปากท้องของพวกเขา โดยการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ ลดฝุ่นควันจากการเผาซากไร่ และส่งเสริมการปลูกไผ่ กาแฟ ผลไม้ ผักอินทรีย์ การแปรรูป จัดหาตลาดรองรับ เป็นการบริหารจัดการตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ’
เช่น จัดตั้งโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ เปิดร้าน ‘แจ่มจริง’ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ สินค้าชุมชน และกาแฟคั่วแบรนด์ ‘ฟ้าแจ่ม’ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านที่ปลูกกาแฟหลายหมู่บ้านผลิตกาแฟคั่วบรรจุถุงออกมาจำหน่าย ไม่ใช่ขายกาแฟผลสุกหรือเชอร์รี่ที่ได้ราคาไม่กี่บาท !!
รากเหง้าปัญหาของคนแม่แจ่ม
อำเภอแม่แจ่ม ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย ด้านหลังดอยอินทนนท์ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 123 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,700,000 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง มีที่ราบตามเชิงเขา ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม มีทั้งหมด 7 ตำบล 106 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 59,000 คน มีทั้งคนเมือง ม้ง ลัวะ ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ฯลฯ
ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ก่อนจะมีกฎหมายป่าไม้ เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แต่กฎหมายที่เดินทางมาถึงทีหลัง ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย !!
ชาวแม่แจ่มส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกข้าวโพดขายเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งต้องใช้สารเคมี ทำให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำ การเผาเศษวัสดุซากข้าวโพด พืชไร่ นำไปสู่ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
จึงทำให้ชาวแม่แจ่มตกเป็นจำเลยของสังคมว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันจากการเผาซากไร่ เกิดปัญหาเขาหัวโล้น ทั้งยังเกิดปัญหาหนี้สินสะสมจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว รวมทั้งปัญหาที่ดินทำกินที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง ขาดความมั่นคงในที่ดินและสิทธิทำกิน ฯลฯ
สมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงาน ‘โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส’ (Mae Chaem Model Pluss) บอกว่า
อำเภอแม่แจ่มเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำของประเทศ เป็นพื้นที่ต้นกำเนิดน้ำแม่แจ่มซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำปิง น้ำจากแม่แจ่มไหลลงสู่แม่น้ำปิงร้อยละ 40 และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาร้อยละ 17
เขาบอกว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา การขยายตัวของพื้นที่ทำกินในป่าต้นน้ำแม่แจ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2552-2559 พื้นที่ในเขตป่าสงวนฯ แม่แจ่มกลายเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อส่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างรวดเร็ว จาก 86,104 ไร่ในปี 2552 ในปี 2554 เพิ่มเป็น 105,465 ไร่ และปี 2559 เพิ่มเป็น 123,229 ไร่
ผลกระทบจากการขยายตัวของไร่ข้าวโพดบนพื้นที่สูง คือ เกิดปัญหาภัยแล้งจากการบุกรุกพื้นที่ป่า พอถึงช่วงฤดูฝนเกิดปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง ดินทรายไหลลงไปในแหล่งน้ำ ทำให้แม่น้ำลำห้วยตื้นเขิน เกิดปัญหาน้ำแล้งตามมาผลกระทบจากการใช้สารเคมี การเผาซากข้าวโพดที่มีประมาณปีละ 95,000 ตัน ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาระบบทางเดินหายใจ เฉพาะในอำเภอแม่แจ่มมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมฝุ่นควันประมาณปีละ 5,000 ราย
แต่ที่สำคัญคือปัญหาหนี้สินจากการทำไร่ข้าวโพด เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้บริษัทเอกชนรับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ชาวแม่แจ่มส่วนใหญ่ที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ดังกล่าว ประมาณ 115,000 ไร่ ไม่มีตลาดรองรับ หรือต้องขายในราคาต่ำกว่าทุน ทำให้มีหนี้สินสะสม
โดยในปี 2560 เกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมกันประมาณ 1,400 ล้านบาท และหนี้กองทุนหมู่บ้านอีกประมาณ 300 ล้านบาท (ไม่รวมหนี้อื่นๆ และหนี้นอกระบบ)
“ดังนั้นการก้าวให้พ้นจากวงจรปัญหาหนี้สิน จะต้องสร้างระบบการเกษตรที่จะมาทดแทนการปลูกข้าวโพด เช่น ไผ่ กาแฟ ผัก ผลไม้ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ การแก้ปัญหาระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร การเชื่อมโยงระบบการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการผลิต กลางน้ำ คือการแปรรูป และปลายน้ำ คือการตลาด เพื่อให้เกษตรกรอำเภอแม่แจ่มหลุดพ้นออกจากวงจรหนี้สินสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ตลอดไป” สมเกียรติกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหา
‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ แก้ปัญหาทุกมิติ
จากปัญหาดังกล่าว ชาวแม่แจ่มจึงได้ริเริ่มการแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ปี 2550 โดยร่วมกับทุกภาคส่วน เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ สถาบันอ้อผญา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น อำเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ภาคเอกชน ธุรกิจ นักวิชาการ ฯลฯ
โดยในช่วงแรกเน้นการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต จากการปลูกข้าวโพดพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายหน้าดิน การใช้สารเคมี ทำลายแหล่งน้ำ ทำให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม เปลี่ยนเป็นการปลูกพืชผสมผสาน เช่น ปลูกไผ่ กาแฟ มะขามยักษ์ ผลไม้ อะโวคาโด เสาวรส ไม้ยืนต้น ปลูกผักอินทรีย์ ลดการเผาซากไร่ จนเริ่มเห็นผลในช่วงปี 2559-2560
หลังจากนั้นในปี 2561 จึงพัฒนามาเป็น ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ (Mae Chaem Model Plus) มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเป็นคณะทำงาน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนทุกมิติ โดยยับยั้งการบุกรุกป่า หยุดปัญหาไฟป่า หมอกควัน ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดการใช้สารเคมี ฯลฯ
ส่งเสริมการปลูกไผ่ เพื่อรักษาหน้าดิน เพราะรากไผ่ช่วยยึดหน้าดินไม่ให้ถูกชะล้างพังทลาย ใบไผ่บำรุงดิน ปลูกเพียง 2 ปีนำมาใช้ประโยชน์ได้ หน่อนำมากินและขาย ต้นไผ่ทำเฟอร์นิเจอร์ ปลูกกาแฟ เป็นพืชเศรษฐกิจ ให้ร่มเงา สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน นำพืชผลเหล่านี้มาสร้างธุรกิจ ‘ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ’ สร้างพื้นที่สีเขียว สร้างเมืองแม่แจ่มให้เป็น “เมืองป่าไม้” และที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัย และสิทธิทำกินของประชาชน
รูปธรรมที่เกิดขึ้น เช่น ตั้งแต่ปี 2562-2563 มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ งบประมาณมาจากการระดมทุนของชาวบ้านและองค์กรต่างๆ รวมทั้งการสมทบเงินจากบริษัทเอกชน รวมทั้งหมดประมาณ 2 ล้านบาทเศษ เพื่อก่อสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักรแปรรูปไม้ ตัดไม้ ฉลุลายไม้ สร้างบ่อแช่ไม้ไผ่ด้วยน้ำยากันมอดแมลงกินเนื้อไม้
โรงงานแปรรูปไม้ไผ่แห่งนี้มีชาวบ้านมาทำงานประจำ 5 คน ช่วยกันแปรรูปไม้ไผ่เพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ซุ้มนั่งพักผ่อนกลางแจ้ง เก้าอี้ชิงช้า ฉากกั้นห้อง แผ่นบังแดด (facade) แผ่นไม้ไผ่อัด หลังคา ฯลฯ โดยโรงงานจะรับซื้อไม้ไผ่จากชาวบ้าน ราคาตามขนาด ตั้งแต่ลำละ 60-70 บาท จนถึงไผ่ยักษ์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-10 นิ้ว ราคารับซื้อลำละ 200 บาทขึ้นไป
ส่วนด้านการตลาดหรือห่วงโซ่ ‘ปลายน้ำ’ นั้น ก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสได้จัดหาตลาดรองรับการแปรรูปไม้ไผ่ โดยมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งว่าจ้างให้ผลิตหลังคาไม้ไผ่ ราคาไพ (แผ่น) ละ 45/60 บาท (ไม่แช่น้ำยา/แช่น้ำยากันมอด)
หลังจากนั้นทางบริษัทจะนำหลังคาไม้ไผ่ไปอบน้ำยากันปลวกและผสมผงโลหะบางชนิดเพื่อให้หลังคาไม้ไผ่มีความทนทาน ทนแดด ทนฝน ทนปลวก มีอายุใช้งานประมาณ 15 ปี ที่สำคัญคือมีความสวยงาม แปลกตา เป็นที่ต้องการของธุรกิจท่องเที่ยว เช่น รีสอร์ท โรงแรม ฯลฯ
นอกจากนี้ยังเปิด ‘ร้านกาแฟแจ่มจริง’ เพื่อรองรับการปลูกกาแฟ ผลไม้ ฯลฯ โดยนำกาแฟที่ชาวบ้านปลูกมาคั่ว บรรจุถุงจำหนาย ปัจจุบันใช้ชื่อ ‘กาแฟฟ้าแจ่ม’ เป็นกาแฟอราบิก้าที่ปลูกแบบอินทรีย์ ดื่มแล้วท้องฟ้าจะแจ่ม โลกสว่างสดใส ราคาจำหน่ายขนาด 200 กรัม ถุงละ 180 บาท
รวมทั้งยังมีชาวบ้านในตำบลต่างๆ ที่ปลูกกาแฟ เช่น ที่บ้านกองกาย ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอช่วยกันพลิกฟื้นผืนป่าที่เคยเป็นเขาหัวโล้นจากการปลูกข้าวโพดมาปลูกกาแฟ สร้างพื้นที่สีเขียว สร้างความชุ่มชื้นให้แผ่นดิน โดยรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ผลิตกาแฟคั่วบรรจุถุงออกมาจำหน่ายเช่นกัน ขนาด 200 กรัม ราคา 200 บาท รวมทั้งจำหน่ายทางออนไลน์ทั่วประเทศ…
เป็นการปลูก…คั่ว…ขาย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ…จากเดิมที่ชาวบ้านเคยขายเมล็ดกาแฟสุกหรือกาแฟเชอร์รี่ให้พ่อค้าในราคาแค่กิโลกรัมละ 20 บาทเท่านั้น…แต่ปัจจุบันขายกาแฟคั่วได้ราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท…ทั้งยังช่วยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด เปลี่ยนเป็นไร่กาแฟและป่าไผ่ได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นไร่ !!
“คนอยู่ร่วมกับป่า” กระทรวงทรัพยฯ มอบสิทธิ์ใช้ที่ดิน 4 แสนไร่
ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินนั้น คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง “พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)” เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนทั่วประเทศ โดยมีหลักการสำคัญคือ “คนอยู่ร่วมกับป่าได้” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ ของภาคประชาชน
คณะทำงานแม่แจ่มโมเดลพลัสได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาป่าไม้ ที่ดิน และสิทธิทำกินของชุมชน ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ภูมิสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” ขึ้นมา เพื่อจัดทำข้อมูลแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง การออกทะเบียนประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยจะระบุชื่อเจ้าของที่ดินทำกิน มีผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.ลงนาม (คล้ายการออกโฉนด แต่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์) และมีข้อตกลงการใช้ที่ดินร่วมกัน เช่น จะไม่ขาย ไม่ขยาย ไม่บุกรุกป่า และใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการที่ดินให้กับชาวบ้านทั้งอำเภอ
นอกจากนี้คณะทำงานแม่แจ่มโมเดลพลัสและภาคีเครือข่ายยังมีส่วนในการผลักดันให้เกิด ‘พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562’ หรือ ‘พ.ร.บ. คทช.’ โดยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ ‘คทช.’ (มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) จะทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยการบูรณาการการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และภูมิสังคม การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มีเป้าหมายเพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน
จากการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางแม่แจ่มโมเดลพลัสร่วมกับหน่วยงานราชการ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมป่าไม้ อำเภอแม่แจ่ม อบต. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และชาวบ้านร่วมกันทำงาน ทำให้การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในอำเภอแม่แจ่มมีความคืบหน้ามาเป็นระยะ
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เดินทางมาเป็นประธานพิธี “มอบสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช. ‘กระดุมเม็ดแรก เส้นทางสู่แม่แจ่มยั่งยืนโมเดล’ ให้แก่ประชาชนแม่แจ่มทั้งอำเภอ เนื้อที่ประมาณ 400,000 ไร่…!!
โดยกรมป่าไม้ได้มอบหนังสืออนุญาตตามมาตรา 16 และการอนุมัติโครงการตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1,2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เพื่อให้ชาวแม่แจ่มอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“การมอบหนังสืออนุญาตในครั้งนี้ จะทำให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างถูกต้องเหมาะสม มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ มีการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืน เกิดความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในการฟื้นฟูสภาพป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว บำรุงรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของประเทศ ป้องกันรักษาพื้นที่ป่าให้คงอยู่ ตลอดจนฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนสืบไป” นายจตุพร ปลัดกระทรวง ทส.กล่าว
‘ตำบลท่าผา’ ต้นแบบการแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย-ฝุ่นควัน-พัฒนาอาชีพ
ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ จะมีการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่เทศบาลตำบลท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอรูปธรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในตำบลท่าผา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’
อุทัย บุญเทียม นายกเทศมนตรีตำบลท่าผา บอกว่า ตำบลท่าผามีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน รวม 1,800 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง (80 %) และปกาเกอะญอ มีอาชีพปลูกข้าวโพด ข้าว หอมแดง ถั่วเหลือง กะหล่ำปลี เลี้ยงวัว ฯลฯ เนื้อที่ทั้งตำบลประมาณ 115 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม และเขตอุทยานแห่งชาติแม่โถ ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน นอกจากนี้ยังมีปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาหนี้สินจากการทำเกษตร น้ำท่วม น้ำแล้ง ฯลฯ
“ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินนั้น เราเริ่มตั้งแต่ปี 2562 โดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทุกหมู่บ้าน ๆ ละ 5 คน รวม 10 หมู่บ้าน ทำงานร่วมกับป่าไม้ อำเภอ โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส และเทศบาลท่าผา มีการจัดประชาคมหมู่บ้าน เพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น ถ้าใครทำกินหรือขยายพื้นที่ทำกินหลังปี 2557 จะไม่ได้รับสิทธิ์ เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า มีการจัดเก็บข้อมูลที่ดินทำกิน ใช้เครื่องมือ GPS จับพิกัดที่ดินทำกินรายแปลง แนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน จนได้ข้อมูลที่ดินทั้งตำบลในปี 2563 จากนั้นจึงเอาข้อมูลมาทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับรองข้อมูล รับรองสิทธิ์ให้ถูกต้องอีกครั้ง” นายกเทศมนตรีตำบลท่าผาบอกถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา
เขาบอกด้วยว่า การจัดทำข้อมูลการครอบครองที่ดินทำกินรายแปลงในตำบลท่าผา เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางมติ ครม. 26 พฤศจิกายน 2561 และนำไปสู่การมอบสิทธิประโยชน์การใช้ที่ดิน คทช. โดยทางอำเภอแม่แจ่มและกรมป่าไม้เป็นผู้อนุญาตอย่างถูกต้อง โดยจะมีพิธีมอบสิทธิประโยชน์การใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนฯ ให้แก่ประชาชนในตำบลท่าผาในงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ วันที่ 8 ธันวาคมนี้ ที่เทศบาลตำบลท่าผา โดยจะมีรอง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธานมอบหนังสือการใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่ชาวบ้านประมาณ 1,300 ครอบครัว ประมาณ 2,000 แปลง เนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ (เฉลี่ยครอบครัวหนึ่งประมาณ 15 ไร่)
ส่วนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น นายกเทศมนตรีตำบลท่าผา บอกว่า เทศบาลร่วมกับชาวบ้านและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ จัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบทตำบลท่าผา’ ในปี 2563 เพื่อสนับสนุนการซ่อมสร้าง ปรับปรุงบ้านเรือนประชาชนที่มีฐานะยากจนในตำบล โดยให้คณะกรรมการในแต่ละหมู่บ้านร่วมกันสำรวจข้อมูลผู้เดือด ร้อน และนำข้อมูลมาทำประชาคมรับรองสิทธิ์
พบผู้เดือดร้อนทั้งตำบล 205 ครัวเรือน พอช.สนับสนุนงบประมาณครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 40,000 บาท รวม 6 ล้านบาทเศษ เพื่อนำมาปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือน โดยใช้ช่างชุมชน แรงงานจิตอาสา ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 205 ครัวเรือน (ในปี 2566 ขยายโครงการบ้านมั่นคงไปที่ตำบลบ้านทับติดกับตำบลท่าผา จำนวน 215 ครัวเรือน พอช.สนับสนุนงบประมาณ 12.9 ล้านบาท)
นอกจากนี้เทศบาลยังร่วมกับชุมชน และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน ร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตั้งแต่ปี 2561 เช่น ลดการปลูกข้าวโพด ส่งเสริมการปลูกไผ่ กาแฟ ผักสลัด ผักอินทรีย์ต่างๆ ไม้ผล อะโวคาโด้ เงาะ และไม้ยืนต้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องพึ่งข้าวโพดเพียงอย่างเดียว โดยนำไม้ไผ่มาทำเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ แคร่ ถ้วยกาแฟ ฯลฯ มีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในตำบลรองรับ ส่วนกาแฟมีบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ มาช่วยส่งเสริมการปลูกและจะรับซื้อผลผลิต มีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 40 ราย
“เมื่อก่อนชาวบ้านท่าผาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลักเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลือพื้นที่ปลูกประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ยังปลูก เราส่งเสริมให้นำซังข้าวโพด ต้นข้าวโพดที่เก็บฝักแล้วมาใช้ประโยชน์ นำมาเป็นอาหารสัตว์ ทั้งอาหารสดและเป็นอาหารหมักให้แก่วัว ทำให้ไม่ต้องเผา และช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ด้วย” นายกเทศมนตรีบอกถึงการลดปัญหาฝุ่นควันจากการเผาซากไร่
รวมทั้งยังมีอาสาสมัครหมู่บ้านละ 7-10 คน ช่วยกันเฝ้าระวัง ทำแนวกันไฟ ลาดตระเวน ดับไฟป่า ไฟจากไร่นา ฯลฯ ทำให้เทศบาลตำบลท่าผาได้รับเกียรติบัตรจากจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ในฐานะหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นด้านการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันดีเด่นประจำปี 2566
“แม้จะแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินได้แล้ว แต่ในตำบลยังมีปัญหาการขาดแคลนแห่งน้ำในการเกษตร เรามีแหล่งน้ำเป็นต้นทุนอยู่แล้วจากลำน้ำสาขาแม่แจ่ม แต่จะต้องมีที่กักเก็บ เพื่อกระจายน้ำไปให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง หากเกษตรกรมีน้ำใช้ก็จะทำการเกษตร ปลูกพืชผักต่างๆ ทำให้มีรายได้ตลอดปี ไม่ต้องพึ่งข้าวโพดเพียงอย่างเดียว จะช่วยลดปัญหาหนี้สิน ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นด้วย” อุทัย บุญเทียม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าผา บอกถึงแผนงานที่เทศบาลจะผลักดันต่อไป
…นี่คือตัวอย่างการแก้ไขปัญหาทุกมิติของชาวแม่แจ่ม แม้จะเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นต้นแบบในการลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหา ด้วยพลังของคนแม่แจ่ม โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุน และจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวแม่แจ่มและภาคีเครือข่ายในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ เนื่องในโอกาสการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่เทศบาลตำบลท่าผา…
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์