“เทคโนโลยีเพาะเห็ด” ลดต้นทุนเพิ่มรายได้ โมเดลแก้จนชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ

“เทคโนโลยีเพาะเห็ด” ลดต้นทุนเพิ่มรายได้ โมเดลแก้จนชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ

โจทย์สำคัญจาก บพท. ให้ทีมนักวิจัยใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยกระดับรายได้ในปฏิบัติการโมเดลแก้จน อาชีพเพาะเห็ดมีห่วงโซ่อุปทานการผลิตยาว ขั้นตอนที่มีแรงงานมากที่สุดคือ “ผู้เปิดดอกเห็ด” การเลี้ยงให้เกิดดอกปัจจัยสำคัญคือโรงเรือนเพาะเห็ด

เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และบริบทคน

ทีมอาจารย์นักวิจัย และนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีเครื่องกลและการผลิต คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลงพื้นที่บ้านบะหว้า ตำบลบะหว้า อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เพื่อสอบถามความต้องการของกลุ่ม และวิเคราะห์เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และบริบทคนใช้งาน

การออกแบบเทคโนโลยีโรงเรือนเพาะเห็ดอย่างง่าย ระหว่างนักวิจัยและชาวบ้านจึงเกิดขึ้น ขั้นตอนการติดตั้งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสร้างโมเดล ระยะพัฒนาทดลอง และระยะส่งมอบ ทางกลุ่มเลือกใช้ระบบน้ำแบบพ่นหมอกจากเดิมใช้สายยางฉีดโดยตรง นำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาดังนี้

  1. ช่วยประหยัดน้ำ
  2. ลดความเสี่ยงน้ำขังในก้อน ลดปัญหาเห็ดเกิดเชื้อราได้ง่าย
  3. ช่วยควบคุมโรงเรือนเห็ดนางฟ้าไม่ให้ความชื้นเกิน 80%
  4. เมื่อมีความชื้นที่เหมาะสมเชื้อเห็ดจะเดินเส้นใยเร็วขึ้นพร้อมเกิดดอกได้ไว
  5. ระบบน้ำสามารถตั้งเวลาให้ความชื้นในโรงเรือนได้อัตโนมัติ

พัฒนาเทคโนโลยีด้วยหลักคิดประหยัดสุดประโยชน์สูง

โรงเรือนเพาะเห็ดอย่างง่ายโมเดลนี้ จะติดตั้งจำนวน 3 หลังมีขนาดความกว้าง 3.6 เมตร ความยาว 8 เมตร ภายในบรรจุเห็ดได้ 3,500 ก้อน ใช้วัสดุมีอายุใช้งานมากกว่า 1 ปี สูงสุด 5 ปี สามารถคืนทุนภายใน 1 ปี ปีต่อไปมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ถือว่าเป็นต้นแบบให้กับสมาชิกกลุ่มนำไปใช้เมื่อต้องการขยายการผลิต หรือให้กลุ่มชุมชนอื่นได้มาเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์

ถึงวันทดลองเทคโนโลยี (23 พ.ย. 2566) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตกลงร่วมกัน ให้กลุ่มเป็นผู้จัดหาวัสดุจากทรัพยากรในพื้นที่ ขอแรงช่างชุมชนสร้างโรงเรือนไว้รอ และช่างชุมชนมาร่วมติดตั้งศึกษาเรียนรู้นวัตกรรมไปพร้อมกัน ส่วนโครงการวิจัยได้สนับสนุนวัสดุวางระบบน้ำพ่นหมอก

เรียกได้ว่าเป็นการสร้าง “เทคโนโลยีเคลื่อนที่” ข้อค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับชุมชนด้วยการลงมือทำด้วยกันทุกขั้นตอน ทดลองพัฒนาจนสามารถใช้งานได้ตามความต้องการของชุมชน ชาวบ้านมีทักษะสามารถแนะนำเทคโนโลยีให้ผู้อื่นได้ทันที

การติดตั้งแบบนี้เป็นสิ่งท้าทายสำหรับนักวิจัย การต่อยอดจากทุนเดิมในชุมชนจะซับซ้อนกว่าการสร้างใหม่ แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันด้วยทุนแต่ละชุมชนไม่เท่ากัน ปรับรูปแบบโมเดลไปตามสถานการณ์ การหาซื้อวัสดุเพิ่มอาจไม่สะดวก บางครั้งต้องเสียสละเวลาจนถึงมืดค่ำ แต่ชุมชนให้ความร่วมมือและต้อนรับเป็นอย่างดี

บันทึกวินาทีแห่งคุณค่าอย่างภาคภูมิใจ กับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน

เมื่อการทดลองเทคโนโลยีโรงเรือนเพาะเห็ดอย่างง่ายสำเร็จ เห็นรอยยิ้มสีหน้าของทุกคนมีความสุขตื่นเต้นอย่างภูมิใจ และได้ยินเสียงชาวบ้านพูดคุยกันว่า “ดีจังเลย ถ้าเพิ่มโรงเรือนเพาะเห็ดขอนขาว เห็ดบด น่าจะเกิดดอกดี” ความรู้สึกการมีส่วนร่วม การเป็นเจ้าของเกิดขึ้นจากภายใน เป็นวินาที “แห่งคุณค่า” ชุมชนจะบันทึกไว้ว่ามีทีมนักวิจัยมาพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน

“ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจบ้านบะหว้า กำลังเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการจาก ธกส.สกลนคร เพื่ออบรมส่งเสริมอาชีพให้กับลูกหนี้ โมเดลแก้จนการเพาะเห็ดเป็นอาชีพในศูนย์เรียนรู้ นวัตกรรมโรงเรือนเพาะเห็ดจะมีผู้คนจากหลายอำเภอเข้ามาศึกษาเรียนรู้” นายจรูญ นาขะมิ้น ผู้ใหญ่บ้านบะหว้า หมู่ที่ 7

โอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่าย ทั้งองค์ความรู้และนวัตกรรมการเห็ดเศรษฐกิจในอนาคต

แนะกลุ่มเลือกเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธุรกิจต้องบริหารความเสี่ยงได้ มีโอกาสเพิ่มกำลังผลิต

แนวคิดชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ คือการส่งเสริมกลุ่มเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเริ่มจาก “ผู้เปิดดอกเห็ด” ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยชุมชนเป็นเจ้าของธุรกิจ รวมกลุ่มอย่างน้อยหมู่บ้านละ 30 ครัวเรือน แบ่งเป็นทีมบริหาร 5 คน เช่น หัวหน้า ผู้ช่วยทำบัญชี การตลาด ประสานงาน เป็นต้น และครัวเรือนยากจนอย่างน้อย 25 คน ที่ผ่านการรับรองตามเงื่อนไขโดยผู้นำชุมชน เพื่อเป็นแรงงานดูแลการผลิตตามศักยภาพ รวมถึงกลุ่มมีการช่วยเหลือครอบคลุมครัวเรือนด้านสงเคราะห์ด้วย นำไปสู่การสร้างกลไกความร่วมมือเชื่อมโยงกับกลไกตลาดและกลไกเชิงสถาบัน

การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ นอกจากจะเลือกให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่บริบทคนแล้วยังไม่พอ ควรเหมาะสมกับขนาดกิจการด้วย เพราะหลังจากนี้เงินซ่อมบำรุงจะเป็นภาระของกลุ่ม ถ้าซ่อมหลักพันแต่มีรายได้หลักร้อยเมื่อจัดการความเสี่ยงไม่ได้ อนาคตพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีร้างรออยู่ และไม่อยากให้เกิดขึ้น

ผลการดำเนินงานกลุ่ม 23พ.ย.2566 โรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า 3,500 ก้อน เปิดดอกมาแล้ว 20 วัน เก็บผลผลิตได้ 110 ก.ก. มียอดขาย 9,000 บาท ไม่รวมแบ่งกันบริโภค ต้นทุนในครั้งนี้ประมาณ 20,000 บาท (ค่าก้อนเชื้อ 17,500 บาท ค่าทำโรงเรือน 2,500 บาท) ส่วนสภาพก้อนเห็ดเชื้อเดินเต็มขาวสะอาดเหมือนพึ่งเปิดดอกมาได้ไม่นาน และยังไม่มีก้อนเห็ดเสียหาย

นักวิจัยเน้นย้ำกับชุมชนว่า ต้องบริหารกลุ่มด้วยหลักการธุรกิจเกื้อกูล ถ้าเริ่มต้นมองภาพไม่ชัดให้จำลองการจัดงานบุญมาใช้ ซึ่งทุกคนเข้าใจว่ามีหน้าที่หลักหน้าที่รองอะไรบ้าง

การลดต้นทุน เพิ่มรายได้ หากำไรได้มากขึ้น คือทักษะการเดินไปสู่ผู้ประกอบการ สมาชิกทุกคนต้องเป็นแรงงานอย่างมีศักดิ์ศรี ต้องไม่ใช่การสงเคราะห์ จึงจะยั่งยืน

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

บทความที่เกี่ยวข้อง /แหล่งอ้างอิง

  1. แนวคิดห่วงโซ่คุณค่าที่มุ่งเน้นเป้าหมายกลุ่มคนยากจน (Pro-Poor Value Chain)
  2. แพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ(บพท.)
  3. สารตั้งต้น “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” โมเดลแก้จนเพาะเห็ดเกื้อกูลคนฐานราก จ.สกลนคร – THECITIZEN.PLUS
  4. นำร่องขยายผล นำร่องเครือข่ายกลุ่มเพาะเห็ด ขยายผลโมเดลแก้จน “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” – THECITIZEN.PLUS
  5. ผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา “ชุมชนนวัตกรรม” นำชาวบ้านสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า – THECITIZEN.PLUS
  6. บัญชีกลุ่ม23พ.ย.66 ทักษะการเงินชุมชน ควรยกระดับใช้ประโยชน์ด้านธุรกิจ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ