กทช.-สบท.MOU 13 บริษัทร่วมแก้ปัญหามือถือ-เน็ต ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค
23ส.ค.54-อนุฯ คุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคมผนึกกำลัง 13 บริษัท หวังแก้ปัญหาผู้ใช้บริการมือถือ เน็ตและโทรศัพท์บ้าน โดยทำให้เรื่องร้องเรียนได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและมีการหาทางออกร่วมกันในเรื่องเชิงนโยบาย ผลประชุมเบื้องต้นทุกบริษัทเห็นชอบในหลักการแล้ว ขั้นต่อไปจะพัฒนาสู่การลงนามบันทึกความตกลงร่วมกัน
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการทำความตกลงเบื้องต้นกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์บ้านจำนวน 13 ราย เพื่อพัฒนางานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ทั้งในมิติของปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียน และในมิติที่เป็นประเด็นเชิงนโยบาย
แนวคิดที่จะทำความร่วมมือนี้เกิดจากการที่คณะอนุกรรมการฯ มีประสบการณ์การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ร้องเรียนกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีผู้บริโภคที่ประสบปัญหาและใช้สิทธิร้องเรียนหลายพันราย บางส่วน สบท. สามารถให้คำปรึกษาในการแก้ไขได้ อีกส่วนเป็นเรื่องที่ต้องส่งต่อให้บริษัทผู้ให้บริการแก้ไข เฉลี่ยมากกว่า 2,000 เรื่องต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ แต่ยังใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรื่องร้องเรียนร่วมกัน อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น ยังไม่มีแนวนโยบาย เป็นเรื่องของระบบการให้บริการ ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางแก้ไขในภาพรวม
“เราทำเรื่องร้องเรียนโทรคมนาคมโดยตรงและเรารู้ว่าปัญหาที่เข้ามาเป็นเรื่องอะไร จึงต้องการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนให้ได้มากที่สุด ทั้งที่เป็นรายกรณีและที่เป็นภาพใหญ่ อีกสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ การผลักดันให้งานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสาระหลักประการหนึ่งที่ทุกบริษัทโทรคมนาคมต้องให้ความสำคัญ อันนี้คือเรื่องใหญ่”นางสาวสารีกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ มีการประชุมร่วมกับผู้แทนบริษัทต่างๆ ไปแล้ว 2 ครั้ง ผลจากการหารือครั้งล่าสุดปรากฏว่า คณะอนุกรรมการฯ และบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม 13 ราย ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ด้วยวิธีการพัฒนาช่องทางการรับเรื่องและการร่วมมือแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหารือกรณีร้องเรียนเป็นประจำ การจัดไกล่เกลี่ยข้อร้องเรียน ๓ ฝ่ายทางโทรศัพท์ เป็นต้น ส่วนการพัฒนามาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกันในเชิงนโยบาย มีแนวทางเช่น การจัดตั้งคณะทำงานร่วมรายประเด็น การประชุมปฏิบัติการ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภค และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับขั้นตอนต่อไปจะมีการพัฒนาเนื้อหาของ MOU ภายใต้กรอบที่ตกลงแล้ว จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ จะนัดหมายลงนามกับบริษัทต่างๆ ตามความพร้อมและความสมัครใจของแต่ละบริษัท
ในส่วนของรายชื่อ 13 บริษัทที่เห็นชอบในหลักการเบื้องต้น โดยมีการทำบันทึกการประชุมร่วมกันแล้วได้แก่
บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น จำกัด
บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน )
บริษัท ทรูมูฟ จำกัด
บริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต จำกัด
บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด
บริษัท ล็อกเล่ย์ จำกัด
บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จำกัด
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด
และบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด