การเมือง/สิ่งแวดล้อม 9 พฤษภาคม 2555
NGO โต้กรมเหมืองแร่ฯ ยันทุนจีนรุกคืบเหมืองโปแตชอีสาน เล็งขยายพื้นที่ หนองคาย, นครพนม
จากการแถลงข่าวของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กพร. และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีหารือได้ข้อยุติการตรวจสอบขั้นตอนการขอประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช ทั้งนี้ ในเนื้อหาส่วนหนึ่งอธิบดี กพร.ได้ระบุว่า การเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน 2555 ได้มีการยกแหล่งแร่โปแตชให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัทเหมืองแร่ของจีน นั้น ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง
“กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะดำเนินการรับจดทะเบียนคำขออาชญาบัตรพิเศษ และดำเนินการคำขอตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่อไป มิได้มีการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดแต่อย่างใด” (ดูใน www.dpim.go.th)
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ซึ่งได้ติดตาม ตรวจสอบ กรณีการทำเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่อง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 9 พ.ค. 55 ว่า หลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศจีนก็ปรากฏว่ามีข่าว ที่เกี่ยวเนื่องกับนายทุนเหมืองของจีน รุกเข้ามาเพื่อขอสัมปทานแหล่งแร่ในภาคอีสานเพิ่มขึ้นอีกหลายพื้นที่
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง ของพ.ร.บ.แร่ 2510 ในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดให้เอกชนสามารถยื่นคำขออาชญาบัตรกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อประกอบการเชิงพาณิชย์ และทำการผลิตแร่โปแตช
“จากการติดตามพบว่ากำลังมีการยื่นขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจแหล่งแร่โปแตช ในพื้นที่อ.สังคม, อ.ท่อบ่อ, อ.ศรีเชียงใหม่ และอ.สระใคร จ.หนองคาย เนื้อที่ประมาณ 1 แสนไร่ อ.เรณูนคร และอ.พระธาตุพนม จ.นครพนม เนื่อที่ประมาณ 1 แสนไร่ เช่นเดียวกัน โดยบริษัท แม่โขงไมนิ่ง และบริษัท ไทยโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างทั้งไทย-จีน และ ไทย-ฝรั่ง”
นอกจากนี้โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ที่มีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ คัดค้านมากว่า 12 ปี ก็มีข่าวว่าบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ผู้ขอประทานบัตรกำลังจะขายหุ้น เพื่อระดมให้กับโครงการที่ต้องใช้ทุนมหาศาลอย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่า พร้อมกันนี้ บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ก็ได้ตกลงที่จะขายหุ้นส่วนหนึ่งในเหมืองแร่อลูมิเนียมในลาวให้กับผู้ร่วมลงทุนจากจีน (ดูใน http://www.bangkokpost.com/business/economics/290833/itd-set-to-sell-stakes)
“ถึงแม้ว่ายังไม่มีการเปิดเผยออกมาก็เชื่อว่าเหมืองแร่โปแตชที่อุดรฯ จะขายให้จีน เพราะที่ผ่านมาอิตาเลี่ยนไทย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายทุนจีน ซึ่งรวมทั้งโครงการทวายนี้ด้วย” นายสุวิทย์ให้ข้อมูล
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทุนจีนได้รุกคืบเข้ามาอย่างหนักในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีกลุ่มนักธุรกิจในนาม “สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน” เดินสายล็อบบี้ เพื่อให้เกิดการลงทุนในภาคอีสาน และการเดินทางไปเยือนประเทศจีนของนายกรัฐมนตรี ก็เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน โดยเฉพาะกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช หากว่าหน่วยงานของรัฐเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติเข้ามากอบโกยเอาทรัพยากร ก็จะเกิดผลกระทบตามมาอย่างมหาศาล
“การทำเหมืองในประเทศจีนมีปัญหามาก ทั้งในเรื่องมาตรฐานด้านวิศวกรรมที่ต่ำ เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมของในการตัดสินใจ ดังนั้น การที่ กพร.กำลังจะเอาแผ่นดินไทยไปขายให้ต่างชาติ กพร. ต้องตอบให้ได้ว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร” นายสุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/
นายเดชา คำเบ้าเมือง ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
ตู้ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
โทรศัพท์ : 081-3696266
อีเมล์ : decha_61@yahoo.com ; huktin.ud@gmail.com