4 ส.ค. 2559 สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกันแถลงข่าวที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประกาศไม่ไม่ยอมรับสาระ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.กสทช.) ชี้เจตนายึดคลื่นความถี่ บิดเบือนเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ
ที่มาภาพ: NBTC Rights
คลิปการแถลงข่าวโดยสำนักข่าวประชาธรรม
แถลงข่าวเครือข่ายสื่อภาคประชาชนและองค์กรผู้บริโภคไม่ยอมรับสาระ(ร่าง)พ.ร.บ.กสทช. ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ 4 ส.ค.59 เวลา 13:45
Posted by Prachatham สำนักข่าวประชาธรรม on Wednesday, August 3, 2016
Liveช่วงสอง ร่างพ.ร.บ.กสทช.กับผลกระทบต่อสื่อชุมชน
Posted by Prachatham สำนักข่าวประชาธรรม on Thursday, August 4, 2016
เอกสารแถลงข่าวระบุ ดังนี้
ภาคประชาชนไม่รับร่าง พ.ร.บ.กสทช. ชี้เป็นร่างที่นำมาสู่การแย่งชิงทรัพยากรของชาติที่ประชาชนเป็นเจ้าของ และทำลายหลักการความเป็นองค์กรอิสระเพื่อการปฏิรูปสื่อ เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เครือข่ายผู้บริโภค ร่วมแถลงแสดงความไม่เห็นด้วยในเนื้อหาหลักของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นร่างที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่มีเจตนายึดคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของชาติที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ และล้มหลักการปฏิรูปสื่อที่ประชาชนร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้มาตั้งแต่ปี 2535 การแย่งทรัพยากรคลื่นความถี่ในครั้งนี้จะทำให้สังคมกลับไปสู่ยุคมืดของสิทธิเสรีภาพการสื่อสาร ที่หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ครอบครองคลื่นความถี่ทั้งหมด และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรม ทั้งที่โดยหลักการแล้วคลื่นความถี่มีสถานะเป็นทรัพยากรของชาติที่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วนกรณีปัญหาที่แท้จริงของ กสทช. กลับถูกละเลย ทั้งด้านประสิทธิภาพการทำงาน การใช้จ่ายงบประมาณ และการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม การที่ร่าง พ.ร.บ มอบอำนาจให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีอำนาจควบคุมกำกับดูแล กสทช. ตั้งแต่กระบวนการสรรหา ไปจนถึงการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีปัญหากับการดำเนินการระหว่าง กสทช. กับ แผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือว่าเป็นการครอบงำองค์กรอิสระและเป็นการแทรกแซง กสทช. ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการ กสทช. คุณสมบัติผู้สมัคร เพื่อกีดกันการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของภาคประชาชน ที่ชัดเจนคือการตัดตัวแทนภาคประชาชนด้านสิทธิเสรีภาพออกไปโดยสิ้นเชิง ในประการสำคัญ การลดอำนาจคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติงานของ กสทช. ให้เป็นเพียงคณะกรรมการกำกับการประเมินการปฏิบัติงาน กสทช. เท่ากับเป็นการปิดช่องทางการตรวจสอบถ่วงดุล การทำงานของคณะกรรมการ กสทช. และตกอยู่ในสถานะเป็นเพียงกลไกตรวจสอบภายในเท่านั้น อาจทำให้องค์กรนี้ยิ่งเป็นองค์กรที่ขาดความโปร่งใส และขาดธรรมาภิบาลมากขึ้น กรณีการกำหนดให้มีการจ่ายค่าชดเชยเมื่อเรียกคืนคลื่นความถี่ซึ่งเป็นการนำเงินสาธารณะไปให้หน่วยงานที่ถือครองคลื่นและแสวงประโยชน์ที่ผ่านมา ทั้งที่หลักการตามกฎหมายเดิมชัดเจนอยู่แล้วว่า การเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่นั้นหมายถึงคลื่นที่หน่วยงานรัฐทั้งหมดถือครองอยู่ มิใช่กรณีคลื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่านั้น เครือข่ายภาคประชาชนจึงเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 1. ให้นำกระบวนการสรรหาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. กสทช.ปี 2553 กลับมาใช้เพื่อเป็นหลักประกัน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ 2. ให้กำหนดตัวแทนด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจนว่าเป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ และกำหนดคุณสมบัติกรรมการด้านผู้บริโภคต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ กำหนดจำนวนปีของประสบการณ์การทำงาน ให้เท่า ๆ กับผู้สมัครกรรมการด้านอื่น 3. ให้กำหนดตัวแทนกรรมการด้านสิทธิเสรีภาพ เป็นหนึ่งในกรรมการชุดนี้ เพื่อรับประกันสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรคลื่นของประชาชนอย่างทั่วถึง 4. ให้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับการประเมินเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ของ กสทช. ตามเดิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความโปร่งใสขององค์กร และให้คงข้อกำหนดเรื่องเปิดเผยรายงานตรวจสอบของ กตป. ไว้อย่างเดิมด้วย 5. ให้ลดบทบาทคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการกำกับดูแล กสทช. ให้มีความเท่าเทียมกันและมีความร่วมมือในการทำงานในระดับเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง 6. ให้ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในการเรียกคืนคลื่นความถี่ฯ ออกไป และให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายปี 2553 กล่าวคือ เรียกคืนคลื่นความถี่ทั้งหมดเพื่อนำมาจัดสรรใหม่อย่างเป็นธรรม 7. ให้ตัดประเด็นการนำเงินกองทุนไปลงทุน เพราะกองทุนมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องการทำบริการอย่างทั่วถึงทั้งด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในการคุ้มครองผู้บริโภค การเสริมความเข้มแข็งประชาชน เรื่องการเท่าทันสื่อและเทคโนโลยีสื่อสาร ร่าง พ.ร.บ. นี้ต้องพึงเคารพจุดประสงค์หลักของกองทุนที่กำหนดให้นำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะและช่วยเหลือคนด้อยโอกาสทั่วไป 8. ให้กำหนดว่าอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้มาตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.กสทช.ปี 2553 ให้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องร้องเรียน มิใช่มีเพียงแค่พิจารณากลั่นกรองเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเท่านั้น เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) |
ด้านสำนักข่าวประชาธรรม รายงาน ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ กล่าวว่า สังคมไทยมีความตื่นตัวและผลักดันให้รัฐสร้างหลักประกันสิทธิการสื่อสารภาคประชาสังคมตั้งแต่ปี 2535 จนนำไปสู่การบัญญัติเป็นมาตราในรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อรองรับสิทธิดังกล่าว นี่เป็นกระบวนการต่อสู้ที่ประสานความร่วมมือกับภาครัฐที่มีความเข้าใจ นักวิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ดังนั้นเมื่อมีความพยายามจะปรับองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่จากสององค์กร (กสท.และกสช.) ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาเป็นกสทช. ซึ่งเป็นการปรับในเชิงรูปแบบแต่โครงสร้างของสิทธิการสื่อสารของภาคประชาสังคมสาระสำคัญยังคงอยู่ แต่ร่างฉบับนี้เป็นการปล้นสิทธินี้กลับไปที่รัฐ
“เมื่อก่อนประชาชนเป็นผู้รับ ขาดสิทธิ เมื่อประชาชนเป็นผู้ใช้หมายความว่าได้เข้าถึงพื้นที่หรือเป็นบรรทัดฐานในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในพื้นที่สาธารณะของประชาชน ทีมีส่วนร่วมที่ผ่านมา ดังนั้นการปฏิรูปสื่อจึงไม่ใช่การช่วงชิงเพียงแค่การเข้าไปใช้คลื่นความถี่เพื่อสร้างกำไร แต่เป็นการรักษารากฐานนี้ไว้ ดังน้นร่างกฎหมายกสทช.ฉบับนี้จะพาสังคมไทยไปสู่ยุคมืดของการสื่อสารและการเป็นพลเมือง ภาคประชาชน”
นายวิชาญ อุ่นอก สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่สุดคือการจัดสรรคลื่นความถี่ ในร่างตัวนี้จะเรียกคืนคลื่นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่ใช้คลื่นเพื่อให้กสทช.นำมาจัดสรร หากหน่วยงานเดิมบอกว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ สื่อชุมชนที่มีสถานะเป็นผู้ใช้คลื่นชั่วคราวก็จะคงสถานะนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้นหากว่ามีการคลื่นตามร่างกฎหมายนี้ระบุว่าจะต้องมีการชดเชยเงินจากกองทุน วิจัยแลพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อ ประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)ให้กับผู้ประกอบการดังกล่าวอีก ขณะที่ภาคชุมชนดำเนินการมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีกลับยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวเลย
“ถ้าร่างตัวนี้ผ่าน เป็นการวัดความจริงใจว่าผู้บริหารบ้านเมืองให้ความสำคัญกับปฏิรูปสื่อ ไม่เพียงสื่อภาคบริการชุมชนเท่านั้น แต่ยังกระทบกับสื่อทุกประเภท”
ด้านนางสุวรรณา จิตรประภัสสร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เนื้อหาของร่างพ.ร.บ.จะกระทบต่อผู้บริโภคทั้งหมด ไม่เพียงแต่สื่อมวลชน หรือสื่อชุมชนเท่านั้น แต่ยังกระทบกับผู้ประกอบการ เยาวชนที่ต้องการเข้ามาใช้คลื่นความถี่ในการสื่อสาร เพราะทุกคนเกี่ยวพันกับคลื่นความถี่ทุกชนิดและจะได้รับผลกระทบจากองค์กรที่จะเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่ในอนาคต
“สำหรับส่วนการเคลื่อนไหวต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2559 นี้ ตนคาดหวังกับประชาชนมากกว่าที่อยู่ในห้องนี้ หวังว่าจะมาร่วมกันจับตามองทรัพยากรการสื่อสาร ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราจะปล่อยให้รัฐเป็นผู้จัดการฝ่ายเดียวหรือไม่ หากพิจารณาประสบการณ์การจัดการทรัพยากรภายใต้การดูแลของรัฐที่ผ่านมา ฉะนั้นประชาชนควรช่วยกันติดตามใน 3 เรื่อง หนึ่ง ร่าง พ.ร.บ. กสทช. สอง ร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจรัฐ สาม จับตาพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะมีงานศึกษายืนยันว่าจะกระทบเศรษฐกิจมากกว่าส่งเสริม”
อนึ่ง ในวันที่ 15 ส.ค.ที่จะถึงนี้ ตัวแทนผู้บริโภค เครือข่ายพลเมืองเน็ตและเครือข่ายสื่อภาคประชาชนจะเข้าพบคณะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อชี้แจงข้อเสนอของภาคประชาชนต่อไปในช่วงบ่ายเป็นต้นไป