5 ส.ค. 2558 องค์กรภาคประชาสังคม 42 องค์กร และนักกิจกรรมและนักวิชาการ 52 รายชื่อ ร่วมออกจดหมายเปิดผนึก “ทางออกเฉพาะหน้า กรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา” กรณีความขัดแย้งในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา และล่าสุดวันนี้ (5 ส.ค. 2558) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะเปิดให้มีการยื่นซองประมูลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล คือให้มีการเปิดเวทีสาธารณะ นำเสนอและถกเถียงข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเชื่อว่าจะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมของสังคม โดยมีข้อเสนอเฉพาะหน้า คือการชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จนกว่ารายงาน EHIA จะแล้วเสร็จ และยกเลิกผลการจัดเวทีรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าเทพา (ค.1 – ค.3) และจัดกระบวนการรับฟังความเห็นที่โปร่งใสใหม่และให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างตั้งแต่เริ่มต้น
จดหมายเปิดผนึก ระบุด้วยว่าจากการวิเคราะห์เบื้องต้นแผน PDP2015 ซึ่ง ครม.ให้ความเห็นชอบไปเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า มีการกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในอนาคตสูงมาก (25%-39%) โดยเฉพาะในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า (2558-2570) แม้จะมีการปรับจากแผนเดิมเพื่อลดการคาดการณ์ GDP และเพิ่มสัดส่วนการอนุรักษ์พลังงานแล้ว แต่ก็ยังมีกำลังผลิตสำรองเหลือเยอะมาก เพราะมีการเพิ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เข้าไปในแผน PDP2015 มากกว่าแผนเดิมเสียอีก
จากการวิเคราะห์เบื้องต้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า การไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา จะไม่กระทบต่อกำลังผลิตสำรอง/ความมั่นคงพลังงาน แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงในสังคมในขณะนี้ ถูกจำกัดอยู่เฉพาะผู้ผลักดันพลังงานถ่านหินที่อ้างเรื่องความจำเป็นด้านพลังงาน และผู้คัดค้านที่ยกเรื่องการปกป้องสิทธิชุมชนและทรัพยากรท้องถิ่น หากแต่ยังขาดพื้นที่การเปิดเผยและถกเถียงข้อมูลอย่างโปร่งใสรอบด้าน เพื่อร่วมกันทำความเข้าใจและตัดสินใจในประเด็นการวางแผนพลังงานในภาพใหญ่ และทางเลือกพลังงานที่จะใช้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อสังคมไทยร่วมกัน
“ณ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่สังคมไทย จะต้องเปิดกว้างให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล และปรึกษาหารือ เพื่อร่วมกันหาทางเลือกพลังงานที่จะใช้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อไป” จดหมายเปิดผนึกระบุ
ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (5 ส.ค. 2558) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ ได้มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประกวดราคาและเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา สำหรับการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ โดยมีผู้เข้ายื่นซองและผ่านการตรวจสอบ ได้แก่ 1. กลุ่มกิจการร่วมค้าระหว่าง อัลสต้อม พาเวอร์ ซิสเต้มส์.กับมารูเบนี คอร์ปอเนชั่น และ 2.กลุ่มกิจการร่วมค้าระหว่าง พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเม้น จำกัด(มหาชน)
นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. กล่าวว่า หลังจากนี้ กฟผ. จะใช้เวลาในการพิจารณาด้านเทคนิคของผู้ที่เข้ายื่นซองประกวดราคา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นจะมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค และหลังจากนั้นจะพิจารณาด้านราคา ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน โดยมูลค่าการก่อสร้างจะใช้วงเงิน 49,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติโครงการและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA และ EIA ของโครงการแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการยื่นซองดังกล่าวได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาดูแลรักษาความปลอดภัยเนื่องจากเกรงว่าจะมีกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวจะมาประท้วง แต่ไม่มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด
ส่วนผู้จัดการออนไลน์ รายงานวานนี้ (4 ส.ค. 2558) ว่า นายสมนึก กลดเสือ ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จ.กระบี่ กล่าวว่า ตามที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะเปิดให้มีการยื่นซองประมูลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในวันพรุ่งนี้ (5 ส.ค.) ซึ่งในส่วนของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จะไม่การเคลื่อนไหวแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมา ได้มีการทำข้อตกลงใน 3 ประเด็น แล้วคือ
1.ให้มีการยกเลิกรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และท่าเทียบเรือขนถ่านหินบ้านคลองรั้ว 2.หยุดประมูลทั้ง 2 โครงการโดยไม่มีกำหนด และ 3.ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายฯ ซึ่งในเบื้องต้น ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบและสั่งให้ระงับโครงการชั่วคราวไว้แล้ว
นายสมนึก กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ว่าทาง กฟผ.จะดำเนินการต่อก็เชื่อว่าจะไม่มีผลทางกฎหมาย และทางกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินในพื้นที่ ก็จะไม่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยกันเข้าใจแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ก็จะรอดูท่าทีของ กฟผ.ว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป ซึ่งทางเครือข่ายก็พร้อมที่จะคัดค้านหากว่า กฟผ.ยังดื้อที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกมีเนื้อหา ดังนี้
จดหมายเปิดผนึก จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่และโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา อย่างเข้มข้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นำไปสู่การคัดค้านของประชาชนในพื้นที่โครงการทั้งสอง และเสียงทัดทานจากประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ทั้งนี้ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังยืนยันที่จะเปิดประมูลงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่อย่างแน่นอนในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 นี้ ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าเทพาก็ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.3) โดยมีการใช้กำลังทหารปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ และภาพข่าวที่ปรากฏต่อสาธารณะแสดงให้เห็นว่า ในการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา (เวที ค.1 และ ค.3) มีการใช้วิธีไม่โปร่งใสและขัดกับหลักธรรมาภิบาลอย่างโจ่งแจ้ง เช่นการแจกสิ่งของเพื่อให้ประชาชนที่สนับสนุนเซ็นชื่อเข้าร่วมเวที ในขณะที่ประชาชนฝ่ายคัดค้านกลับถูกขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ในความขัดแย้งระหว่างฝ่ายผลักดันและคัดค้านโครงการทั้งสอง มีข้อมูลสองด้านที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ฝ่ายรัฐ และ กฟผ. อ้างว่าโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพามีความจำเป็นต่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาคใต้ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชี้แจงต่อประชาชนว่าภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้า 3,000 เมกะวัตต์ แต่มีโรงไฟฟ้าอยู่ในภาคใต้เพียง 800 เมกะวัตต์เท่านั้น ขณะเดียวกันฝ่ายประชาชนผู้คัดค้านโครงการโต้แย้งว่า ภาคใต้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าอย่างเพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งพลังงานถ่านหิน นอกจากนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของทั้งประเทศก็ยังมีอย่างเหลือเฟือ ภายใต้ข้อโต้แย้งดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ระบุไว้ในแผน PDP2015 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 กลับพบว่า 1. กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2558-2570 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 25-39 % ซึ่งเกินจากระดับมาตรฐาน (15%) ไปสูงมาก ส่วนที่เกินจากมาตรฐานดังกล่าวคิดเป็นกำลังผลิต 2,818-9,455 เมกะวัตต์ ในกรณีที่นำโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา (รวม 2,800 เมกะวัตต์) ออกจากแผนฯ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วงดังกล่าวก็จะยังคงมีอยู่ในระดับ 18-34 % ตัวเลขจากแผน PDP2015 เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า โรงไฟฟ้ากระบี่ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทพ 2,000 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มต้นใช้งานในปี พ.ศ.2562 และ 2564 ตามลำดับนั้น อาจไม่ใช่โครงการที่จำเป็นต้องก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และสามารถเลื่อนโครงการออกไปได้อย่างน้อย 12 ปีโดยไม่กระทบต่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าแต่อย่างใด กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตามแผน PDP 2015 (หน่วย : ร้อยละ)
ที่มา: แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, 30 มิถุนายน 2558 2. กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตามแผน PDP 2015 ที่สูงเกินมาตรฐานไปอย่างมากมายนั้น มีข้อชี้แจงจากกระทรวงพลังงานว่า มีสาเหตุมาจากการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโต GDP เฉลี่ยจากเดิม 4.41% ลงเหลือ 3.94% ต่อปี และมีการเพิ่มแผนอนุรักษ์พลังงานเป็น 100% จากแผนเดิมที่ใช้เพียง 20% อย่างไรก็ตาม เมื่อนำแผน PDP 2015 มาเปรียบเทียบกับแผนฉบับเดิมคือ แผน PDP 2010 Rev. 3 กลับพบว่า แผน PDP 2015 มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าแผน PDP 2010 Rev.3 ซึ่งขัดแย้งกับสมมติฐานในการจัดทำแผนฯ ที่คาดการณ์ว่าการใช้ไฟฟ้าในอนาคตจะลดลง และสะท้อนว่าสาเหตุที่แท้จริงของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินความจำเป็นไปมากนั้น ก็คือการเพิ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้าไปในแผน PDP 2015 มากเกินไปนั่นเอง เปรียบเทียบกำลังผลิตติดตั้งแผน PDP 2015 และ แผน PDP 2010 Rev.3 ที่มา: 1. แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP2015) การแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายเพื่อเจรจาปัญหาโรงไฟฟ้ากระบี่ร่วมกันนับเป็นสิ่งที่ดี เพราะสะท้อนถึงความห่วงใยของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนที่อดอาหารประท้วง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่ถูกแต่งตั้งขึ้นนี้ ไม่อาจแก้ไขความขัดแย้งกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกหลายโครงการที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ เพราะกรอบอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นเพียงการพิจารณาปัญหาที่ปลายเหตุ คือมาตรการบรรเทาผลกระทบของโครงการ แต่มิได้พิจารณาต้นตอของปัญหาที่แท้จริง นั่นคือ ภายใต้แผน PDP 2015 โรงไฟฟ้ากระบี่และเทพามีความจำเป็นต้องก่อสร้างจริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ เพราะหาก กฟผ. เร่งรีบผลักดันโครงการทั้งสอง โดยเฉพาะการเปิดประมูลโรงไฟฟ้ากระบี่และมีการลงนามสัญญาใดๆ เกิดขึ้น ก็จะเกิด “ภาระผูกพันทางการเงิน” ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับในระยะยาวทันที นอกจากนี้ การเร่งรีบเปิดประมูลโดยอ้างว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ยังเป็นข้ออ้างที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และอาจทำให้รัฐต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะต้อง “เสียค่าโง่” หากการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเวลาตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง การผลักดันโครงการด้วยกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ มีข้อกังขาถึงความไม่โปร่งใส และไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในวงกว้างเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยลุกลามบานปลาย อีกทั้งทางเลือกพลังงานของประเทศในขณะนี้ เป็นประเด็นสาธารณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน โดยเฉพาะมีผลกระทบไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่จะต้องแบกรับภาระทางการเงินหากเลือกลงทุนผิดพลาด และแบกรับภาระทางสิ่งแวดล้อม ทั้งจากมลพิษและภาวะโลกร้อน หากประเทศไทยเลือกที่จะพึ่งพิงพลังงานถ่านหินในอนาคต ณ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่สังคมไทย จะต้องเปิดกว้างให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล และปรึกษาหารือ เพื่อร่วมกันหาทางเลือกพลังงานที่จะใช้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อไป พวกเรา 42 องค์กร และ 52 บุคคล ที่มีชื่อแนบท้ายจดหมายนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา และการวางแผนพลังงานของประเทศไทย ดังนี้ 1. เปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้มีการนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน ซึ่งอาจมีมากกว่าเพียงสองด้านที่กล่าวมา ในเรื่องความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า ความเหมาะสมของแผน PDP 2015 ภาระทางการเงินของผู้บริโภคในระยะยาว และความจำเป็นและเหมาะสมของพลังงานถ่านหินในประเทศไทย เป็นต้น 2. ชะลอการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ จนกว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะแล้วเสร็จ 3. ยกเลิกผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (เวที ค.1 ถึง ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ภายใต้กระบวนการที่โปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาล ……………………………………………………………………………….. บุคคล |