3 ก.ย. 2559 จากเหตุการณ์การเข้ารื้อถอนอาคารในชุมชนป้อมมหากาฬวันแรก กทม. ซึ่งนำโดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพระนคร สำนักการโยธา สำนักเทศกิจ และสำนักสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (3 ก.ย. 2559) เพื่อดำเนินการตามแผนการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างบริเวณป้อมมหากาฬ จำนวน 13 หลัง ระหว่างวันที่ 3-4 ก.ย. 59 แต่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้ทำสิ่งกีดขวางปิดกั้นทางเข้า พร้อมปักหลักร่วมกับเครือข่ายที่เข้ามาร่วมต่อต้านการรื้อถอน จนสถานการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้นเป็นระยะ
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามหน้าที่ ตามกฎหมายและคำสั่งศาล เพราะหากกทม.ไม่ทำก็จะเป็นละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยการเข้ารื้อย้ายวันนี้จะใช้มาตรการปฏิบัติอย่างนิ่มนวลจากเบาไปหนัก และจะทำการรื้อเฉพาะบ้านที่แจ้งความประสงค์ร้องขอให้กทม.ช่วยรื้อ จำนวน 13 หลังเท่านั้น ส่วนที่ยังไม่ยินยอม กทม.ก็ยังไม่เข้าดำเนินการ
ตั้งแต่ เวลาประมาณ 9.30 น. กทม.เริ่มรื้อบ้านบริเวณด้านหลังติดกับฝั่งติดคลองซึ่งมีรั้วปิดล้อมทางเข้าชุมชน เจ้าหน้าที่จึงรื้อถอนรั้วออก แต่ชาวบ้านนั่งขวางทางทำให้ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ จนเวลา 09.45 น. เจ้าหน้าที่จึงถอนกำลังเพื่อประชุมวางแผนโดยเชิญตัวแทนชาวชุมชนร่วมหารือ
ต่อมาเวลาประมาณ 10.20 น. ได้มีการการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่าง พล.ต.อ.อัศวิน กับชาวชุมชนป้อมมหากาฬ โดยมีนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และนักวิชาการร่วมพูดคุยด้วย ได้ข้อสรุปว่า วันนี้ (3 ก.ย.59) กทม.จะเข้ารื้อถอนบ้านที่ยินยอมและขอให้กทม.รื้อ จำนวน 12 หลัง ยกเว้นบ้านเลขที่ 99 ซึ่งเป็นบ้านเรือนไทยโบราณจะถูกเก็บไว้เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตให้คนมาเรียนรู้ โดยการรื้อย้ายดังกล่าวจะให้เสร็จภายใน 2 วันนี้ หลังจากนี้ อีกราว 40 กว่าหลังคาเรือน จะไม่มีการรื้อถอน โดยหากมีผู้ยินยอมให้รื้อ กทม.จึงจะเข้ารื้อ
นอกจากนี้ การประชุมยังมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมพหุภาคีระหว่างหน่วยงานรัฐและตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อเจรจาหาทางออกร่วมกันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งจะประชุมร่วมกันในสัปดาห์หน้า จากนั้นชาวชุมชนจะรวมตัวเพื่อร่วมเป็นพยานการรื้อถอนบ้านเรือน12หลังสุดท้ายตามข้อตกลง
ด้าน เพจเฟซบุ๊ก ชุมชนป้อมมหากาฬ โพสต์ข้อความระบุถึงข้อสรุปต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ว่า
กว่า 24 ปีที่ผ่านมา ชุมชนป้อมมหากาฬ ขอยืนยันว่า เราเคารพต่อกฎหมาย หาได้กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นการละเมิด เพิกเฉยต่อกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน เราก็รับโดยดุษฎีว่า มีพี่น้องรับเงินการรื้อย้ายแล้วจริง แต่ภายใต้ข้อเท็จจริงนี้ก็มีที่มาที่ไปหลายเหตุหลายปัจจัยที่นำไปสู่การบังคับรับเงิน ซึ่งเราแสดงเจตจำนงค์มาโดยตลอดในการคืนเงินก้อนนี้ พร้อมแสดงความบริสุทธิ์ใจให้สังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้
ในห้วงเวลาที่พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬยืนเผชิญหน้ากับกรุงเทพมหานครอยู่ตรงนี้ เราเคารพต่อความประสงค์ของพี่น้องที่ต้องการจะย้ายออก โดยเราจะเฝ้ามองทุกค้อนที่ท่านลงแรงตอก ทุกสิ่งที่ท่านลงแรงงัด ด้วยความเจ็บปวด และต่อจากนี้เราจะดำเนินการขับเคลื่อนให้ข้อตกลงร่วมจากการเจรจาเดินหน้าเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้
โดยข้อตกลงร่วม ประกอบด้วย
1.จะมีการรื้อบ้าน 12 หลังตามที่สมัครใจเท่านั้น และจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลการรื้อด้วย
2.จะมีการตั้งกรรมการร่วมพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งชุมชนร่วมกันก่อน โดยจะไม่มีการไล่รื้อใด ๆ เพิ่มหลังจากนี้
3.จะไม่มีการรื้อ บ้านไม้โบราณ แต่บ้านไม้โบราณดังกล่าวจะต้องไม่มีผู้อาศัย โดยที่ชุมชนจะเป็นผู้ดูแลรักษา
ที่สุดนี้ ไม่ว่าการเจรจาจะจบลงอย่างไรก็ดีนั้น เราปรารถนาให้ กรุงเทพมหานคร เข้าใจด้วยว่า “บ้าน” ไม่ใช่แค่ไม้ อิฐ หิน ดิน ทราย “ชุมชน” ไม่ใช่แค่บ้านหลายหลังคาเรือนตั้งเรียงรายติดกันเฉยๆ เพราะ “บ้าน” เป็นมากกว่านั้น “ชุมชน” ก็เป็นมากกว่านั้น
ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ เราอยู่ด้วยกันมาอย่างครอบครัวอย่างพี่น้อง หลายคนเกิดโตที่นี่ หลายคนแม้ไม่ได้เกิดที่นี่ แต่ก็เติบโตมีชีวิตมีครอบครัวอยู่ที่นี่จนแก่จนเฒ่า และต่างก็หวังว่า
ชุมชนป้อมมหากาฬแห่งนี้ จะเป็นเรือนตายสุดท้ายของชีวิตของเรา ทุก ๆ คน