แอมเนสตี้ฯ แนะทางการลาวให้เสรีภาพสื่อในการถามคำถามต่อผู้นำที่เข้าร่วม “อาเซียนซัมมิท” อย่างเต็มที่ พร้อมเสนอ 11 คำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในอาเซียนที่หวังว่าจะได้คำตอบจากการประชุมครั้งนี้
7 ก.ย. 2559 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลลาวให้ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน ตลอดจนอนุญาตให้สื่อมวลชนทำงานได้อย่างอิสระโดยปราศจากความหวาดกลัวที่จะถูกแทรกแซงหรือคุกคาม
ข้อเสนอแนะของแอมเนสตี้เกิดขึ้นหลังจากมีสื่อมวลชนต่างชาติจำนวนมากเดินทางมายังลาวเพื่อรายงานข่าวการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนหรือ “อาเซียนซัมมิท” ครั้งล่าสุด ณ กรุงเวียงจันทน์ ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา โดยมีรายงานว่าข่าวของสื่อมวลชนเหล่านั้นต้องถูกคัดกรองโดยกองเซ็นเซอร์ก่อนลงตีพิมพ์หรือออกอากาศ
สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่รายงานข่าวจากลาวบอกกับแอมเนสตี้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้รับอนุญาตจากทางการลาวให้ถามคำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนบางเรื่อง นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่าทางการลาวอาจส่งคนติดตามตัวสื่อมวลชนต่างชาติตลอดเวลาที่พวกเขาพำนักอยู่ในลาวด้วย
ราเฟนดี จามิน ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เผยว่ามาตรการที่บังคับใช้กับสื่อมวลชนที่รายงานข่าวอาเซียนซัมมิทในลาวถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน ตลอดจนสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของชาวลาวและคนทั่วโลก สื่อมวลชนควรทำงานของพวกเขาโดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกแทรกแซงหรือคุกคาม
“ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่ควรจำกัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกถามหรือไม่ถูกถามในเรื่องใดบ้าง โดยเฉพาะในการประชุมระดับสูงที่ถูกจับตามองจากทั่วโลก อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องสำคัญมากที่สื่อมวลชนจะต้องถามคำถามที่ประชาชนทั่วไปในลาวไม่สามารถถามเองได้ เนื่องจากเกรงกลัวทางการ” ราเฟนดีกล่าวเสริม
11 คำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถึงผู้นำอาเซียน
1.เมื่อไรที่การไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของอาเซียนจะนำไปสู่มาตรการอันจริงจังเพื่อเคารพและปกป้องสิทธิที่ประชาชนในอาเซียนสมควรได้รับภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล?
2.ทางการบรูไนจะรับรองได้หรือไม่ว่าการบังคับใช้ประมวล กฎหมายอาญาชารีอะฮ์เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล รวมทั้งไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง การใช้โทษประหารชีวิต การทรมาน การปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณอื่นๆ หรือการลงโทษที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์?
3.ทำไมรัฐบาลกัมพูชาถึงใช้ตำรวจและกระบวนการทางอาญาเพื่อคุกคาม สร้างความหวาดกลัว และจำคุกผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคมและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง?
4.ประธานาธิบดีโจโกวีแห่งอินโดนีเซียจะยุติการประหารชีวิตในประเทศทันที เดินหน้ายกเลิกโทษประหารชีวิต และแก้ปัญหาการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนทบทวนคดีต่างๆ ที่ต้องโทษประหารชีวิตอย่างเป็นอิสระหรือไม่?
5.สมบัด สมพอน นักกิจกรรมภาคประชาสังคมชาวลาวที่คาดว่าถูกอุ้มหายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ตอนนี้อยู่ที่ไหน?
6.เมื่อไรที่ทางการมาเลเซียจะปล่อยตัวอดีตผู้นำฝ่ายค้าน “อันวาร์ อิบราฮิม” และนักโทษทางความคิดคนอื่น ๆ ?
7.ทางการเมียนมาจะอนุญาตให้กลุ่มคนพลัดถิ่นอย่างชาวโรฮิงญา ชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ผู้ที่หลบหนีการสู้รบในรัฐกะฉิ่นและฉานสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้อย่างเต็มที่เมื่อไร?
8.เมื่อไรที่ทางการฟิลิปปินส์จะยุติการสังหารนอกกฎหมาย ตลอดจนสั่งให้มีการสอบสวนอย่างอิสระ เป็นกลาง โปร่งใส และมีประสิทธิภาพต่อ “สงครามยาเสพติด” ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 2,000 คนในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา?
9.เมื่อไรที่ทางการสิงคโปร์จะเลิกปราบปรามบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมทางการเมืองที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของพวกเขาอย่างสงบ?
10.ทางการไทยจะปล่อยตัวและยกเลิกข้อหาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของพวกเขาอย่างสงบหรือไม่?
11.หลังจากที่เวียดนามให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ทำไมเจ้าหน้าที่เรือนจำยังคงทำการทรมานและปฏิบัติต่อนักโทษ ซึ่งรวมถึงนักโทษทางความคิดอย่างโหดร้ายทารุณอยู่อีก?