10 เรื่องเด่น 10 เรื่องด้อย ประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
เรื่องเด่นที่สุด : การปฏิรูปประกันสังคม
ในรอบปี 2554 ที่ผ่านมา “แรงงาน” เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญยิ่งในนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสมัยที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม กล่าวได้ว่าประเด็นเด่นที่สุดในรอบปี 2554 คงหนีไม่พ้นกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณา “ร่าง พรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….” จนผ่านเข้าสู่ชั้นวุฒิสภาในเดือนพฤษภาคม 2554 (แต่ในที่สุดก็ไม่ได้รับการหยิบยกมาพิจารณาต่อในรัฐบาลปัจจุบัน) กับกรณีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันหยิบยก “ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ…. (ฉบับนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และคณะ หรือที่เรียกว่าฉบับ 14,264 ชื่อ)” เข้าสู่การบรรจุวาระและพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ตามวาระการประชุมสภาฯสมัยสามัญนิติบัญญัติที่เพิ่งมีการเปิดสภาฯไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ต้นปี 13 มกราคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านแรงงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ เกษตรพันธสัญญา ฯลฯ จัดสมัชชาแรงงานปฏิรูปประกันสังคม มุ่งเน้นการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ประกาศเจตนารมณ์บนเวทีร่วมกับพี่น้องแรงงานอย่างชัดแจ้งว่า “การปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นวาระสำคัญยิ่ง ในการที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มอื่นๆมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันความมั่นคงในทางสังคม” จนในที่สุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการวาระ 1 ร่างพรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ทั้งฉบับคณะรัฐมนตรีและสมาชิกฯเสนอรวม 4 ฉบับ ทั้งนี้มีฉบับของเครือข่ายแรงงานที่เสนอผ่าน สส.สถาพร มณีรัตน์ และ สส.นคร มาฉิม โดยตรงรวมอยู่ด้วย) ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วม 3 เดือนเต็ม ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2554 สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในวาระ 2-3 ส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ และวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับหลักการวาระ 1 เห็นชอบกับร่างที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของวุฒิสภา เพราะมีการยุบสภาในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจำเป็นต้องให้รัฐบาลใหม่นำเสนอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาต่อ
ด้วยความกังวลขององค์กรเครือข่ายแรงงานเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล กฎหมายฉบับใดจะได้รับการพิจารณาต่อ รัฐบาลใหม่ต้องเป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนั้น และในที่สุดก็เป็นไปตามคาด คณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้หยิบยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเสนอต่อรัฐสภา จึงถือว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมิได้รับการพิจารณาต่อหรือ “ตกไป”
แต่นับว่ายังเป็นความโชคดีเพราะย้อนไปเมื่อปลายปี 2553 วันที่ 24 พฤศจิกายน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรเครือข่ายยื่นร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ….(ฉบับ 14,264 ชื่อ) ให้กับทางประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกช่องทางหนึ่งร่วมด้วย ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานไทย ที่ใช้เวลาเพียง 20 กว่าวันในการลงให้การศึกษาและล่าลายมือชื่อในพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี สระบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี อ่างทอง พะเยาและขอนแก่น ฯลฯ ถึงกฎหมายประกันสังคมฉบับวุฒิสภาจะตกไป อย่างน้อยก็ยังมีฉบับลงรายมือชื่อนี้ที่สามารถเดินหน้าได้ต่อ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อสิงหาคม 2554 การเดินหน้าผลักดันร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ….(ฉบับ 14,264 ชื่อ) ให้ได้รับการพิจารณาจึงมีความสำคัญยิ่งยวดนัก เพราะจากคำแถลงนโยบายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้กล่าวถึงความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม
ดังนั้นจึงทำให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายภาคประชาชน 145 องค์กร ยื่นข้อเสนอเรื่องนโยบายเร่งด่วนต่อรัฐบาล และการเร่งรัดพิจารณากฎหมายภาคประชาชนจำนวน 9 ฉบับ ที่รัฐสภา
18 สิงหาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ….(ฉบับ 14,264 ชื่อ)
13 กันยายน 2554 วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมเครือข่ายองค์กรแรงงาน เข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ ครม.เห็นชอบสนับสนุนร่าง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ….(ฉบับ 14,264 ชื่อ) พร้อมทั้งกฎหมายฉบับต่างๆของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมจำนวน 9 ฉบับเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
2 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนอกฎหมายของภาคประชาชนจำนวน 9 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ… (ฉบับ 14,264 ชื่อ) เป็นหนึ่งในกฎหมายดังกล่าว
พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่รัฐสภา ที่ประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรวม 24 ฉบับ 1 ใน 24 ฉบับนั้น คือ ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ…(ฉบับ 14,264 ชื่อ)
21 ธันวาคม 2554 ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ… (ฉบับ 14,264 ชื่อ) ถูกบรรจุวาระและเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งขณะนี้มีเพียงร่างกฎหมายประกันสังคมของเครือข่ายแรงงานฉบับเดียว ยังไม่มีร่างรัฐบาลหรือร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกบพิจารณาร่วมด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างจาก พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถึง 7 ประการ คือ
(1) สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นหน่วยงานที่มีการบริหารงานแบบอิสระ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี โดยมีเลขาธิการประกันสังคมมาจากการสรรหา มีการระบุอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน
(2) การบริหารงานกองทุนประกันสังคมผ่านรูปแบบการมีคณะกรรมการชุดต่างๆ ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เอื้อต่อประโยชน์ผู้ประกันตน ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการเพิ่มคณะกรรมการการลงทุนและคณะกรรมการการตรวจสอบเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ชุด
(3) ผู้ประกันตน คู่สมรส และบุตร สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ทุกสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม รวมถึงในกรณีฉุกเฉิน ล่าช้า อาจเกิดอันตรายกับผู้ประกันตน ก็สามารถใช้บริการในสถาน พยาบาลนอกเหนือจากที่เป็นคู่สัญญาได้ โดยสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยตรง
(4) การขยายกลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 33 ให้ครอบคลุมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้าน ตามพรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และคนทำงานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย รวมถึงการขยายขอบเขตคำว่า “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมถึง “แรงงานชั่วคราวของภาครัฐ”
(5) สิทธิประโยชน์ของทดแทนของผู้ประกันตน ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด (มาตรา 33 , 39, 40) ให้ครอบคลุมทั้ง 7 กรณี หรือสอดคล้องกับบริบทความต้องการของผู้ประกันตนให้มากที่สุด คือ เจ็บป่วย เสียชีวิต คลอดบุตร ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
(6) ผู้ประกันตนทุกคน (ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด หรือทำงานในสถานประกอบการขนาดใด) มีสิทธิเลือกตั้งหรือเสนอชื่อตนเองเข้ารับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ลักษณะ 1 คน ต่อ 1 เสียงได้
(7) การเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ เช่น ไม่ส่งเงินสมทบ , ไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตน
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า “กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนใหญ่มาก มีเงินในกองทุนกว่า 7 แสนล้านบาท ต้องดูแลผู้ประกันตนประมาณ 10 ล้านคน จึงต้องมีระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัวและโปร่งใสตรวจสอบได้ ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่บังคับใช้ในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับการบริหารจัดการงานประกันสังคม จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งร่าง พรบ.ประกันสังคมฉบับ 14,264 ชื่อนี้ ได้แก้ไขทั้งในเรื่องนิยามคำว่าลูกจ้าง นายจ้าง ค่าจ้าง ทุพพลภาพ ให้มีขอบเขตการคุ้มครองที่ครอบคลุมกับลูกจ้างทุกประเภท รวมถึงการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆให้สอดคล้องและเป็นธรรมมากขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างและระบบการบริหารงาน รวมถึงกำหนดบทบาทของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อสร้างหลักประกันในการตรวจสอบการบริหารกองทุนให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น”
สอดคล้องกับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้เสนอร่างกฎหมาย กล่าวว่า “เหตุที่ต้องการปฏิรูปประกันสังคม เนื่องจากการบริหารงานที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน ทำให้เกิดการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส และไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ยังมีปัญหาด้านการบริการ การรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุม ขาดประสิทธิภาพ การขยายสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรที่ควรขยายเป็น 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องต่อการที่เด็กจะได้ศึกษาต่อได้อย่างมีคุณภาพ การขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มและครอบครัวของผู้ประกันตน ส่วนแนวคิดการปฏิรูปประกันสังคมเป็นหน่วยงานอิสระก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน มีมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน โดยมีกรรมการต้องมาจากการเลือกตั้ง และประธานคณะกรรมการต้องมาจากสรรหา รวมทั้งการมีคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการการลงทุน และคณะกรรมการการแพทย์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการบริหารงานที่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
เรื่องด้อยที่สุด : การเลิกจ้างแรงงานด้วยข้ออ้างจากสถานการณ์น้ำท่วม
แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเริ่มคลี่คลาย สถานประกอบการหลายแห่งกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง แต่มิได้หมายความว่าลูกจ้างจะมีโอกาสได้กลับเข้าทำงานทุกคนอีกครั้งหนึ่ง
นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่อาศัยช่วงจังหวะเหตุการณ์น้ำท่วมประกาศปิดบริษัท เลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ทั้งแบบที่ปฏิบัติตามกฎหมายและเลี่ยงกฎหมาย รวมถึงการอาศัยข้ออ้างจากภาวะน้ำท่วมเพื่อเลิกจ้างเพราะต้องการล้มสหภาพแรงงาน หรือต้องการรับแรงงานที่จ่ายค่าแรงได้ต่ำกว่าเข้ามาทำงานแทน หรือกระทั่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน ในภาวะเช่นนี้สหภาพแรงงานที่มีปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์กับนายจ้างอาจถูกเลิกจ้างโดยอ้างเหตุวิกฤตได้”
จากรายงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อ 30 ธันวาคม 2554 ระบุว่า ขณะนี้มีแรงงานถูกเลิกจ้างจากอุทกภัยแล้วกว่า 25,289 คน ในสถานประกอบการ 88 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สระบุรี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ กล่าวได้ว่าลูกจ้างกลุ่มแรกๆที่ถูกเลิกจ้าง คือ กลุ่มแรงงานในระบบแบบเหมาช่วงและเหมาค่าแรง (subcontract) โดยเฉพาะในพื้นที่ปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา ที่สถานประกอบการกว่า 50-60% มีการผลิตโดยใช้ลูกจ้างจากบริษัทเหมาค่าแรง บางโรงงานมีลูกจ้างเหมาค่าแรงมากถึง 70-80% ซึ่งโรงงานจะใช้วิธีการบอกเลิกสัญญาบริษัทรับเหมาค่าแรง เนื่องจากโรงงานยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ปกติแล้วแรงงานจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรงในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก เมื่อมีการเลิกจ้างบริษัทเหมาค่าแรงมักไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย รวมทั้งด้วยสภาพการจ้างงานที่เป็นแบบเหมาช่วง-เหมาค่าแรงจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะทำให้แรงงานได้รับความช่วยเหลือจากระทรวงแรงงาน 2,000 บาทตามโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง
แน่นอนตัวเลขกว่า 25,289 คนนั้นเป็นตัวเลขที่นับจากข้อมูลของแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มแรงงานในระบบประเภทจ้างเหมาค่าแรง (subcontract) แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ
ดังตัวอย่างบางรูปธรรมที่ชัดเจนจากพื้นที่
กรณีที่ 1
กรณีการเลิกจ้างพนักงานบริษัทโฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมลำพูน จำนวนกว่า 2,000 คน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทอ้างว่าไม่มีออเดอร์และขาดทุนซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภัยพิบัติน้ำท่วม แต่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ตัวเลขผลกำไรของบริษัทที่ผ่านมา ล่าสุดปี 2553 บริษัทแห่งนี้มีกำไรถึง 591 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังได้ขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์และประเทศเวียดนาม จึงทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการหลีกเลี่ยงนโยบายการเพิ่มค่าจ้าง 40% ให้พนักงานที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2555 โดยใช้เครื่องจักรใหม่มาแทนกำลังคน เนื่องจากมีการขนย้ายเครื่องจักรเข้าออกโรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างเดิม บริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มตามส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นต้น
กรณีที่ 2
การเลิกจ้างพนักงานบริษัทไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กับการเลิกจ้างพนักงานมอร์เมริกา (ประเทศไทย) จำกัด ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารสุนัข เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ทั้ง 2 บริษัทต่างอ้างว่าเป็นผลกระทบมาจากเรื่องประสบภัยพิบัติน้ำท่วม และมีการหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยการเลิกจ้างให้กับพนักงาน
กรณีที่ 3
นายตุลา ปัจฉิมเวช ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่อ้อมน้อยมีแรงงานได้รับผลกระทบแล้วจากกรณีต่างๆรวมไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอ ปัญหาส่วนใหญ่ที่มาร้องเรียนมากที่สุดคือ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดต่อนายจ้างไม่ได้ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่มีกำหนด ถ้าไม่ไปทำงานที่อื่นนายจ้างจะไม่จ่ายและไล่ออก น้ำท่วมไปทำงานไม่ได้ถูกหักค่าจ้างให้ออกและสมัครงานใหม่ นายจ้างหักเงินแต่ไม่ส่งประกันสังคม เป็นต้น มีกรณีคนงานที่พุทธมณฑลสาย 5 ถูกสั่งให้ไปทำงานที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ลำพูน พอน้ำลดกลับมาดูบ้านและยืนยันขอทำงานที่เดิม แต่นายจ้างจะถือว่าขาดงานและจะถูกลงโทษ ยังมีกรณีคนงานหญิงร้องนายจ้างจัดที่พักพิงให้นอนรวมกันในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รู้สึกอึดอัด ไม่อยู่ก็ไม่ได้ ไปทำงานลำบาก อาจถูกให้ขาดงานหรือมีความผิดฐานขัดคำสั่ง ยังมีกรณีแรงงานข้ามชาติเกิดอุบัติเหตุเครื่องตัดนิ้วขาดและเป็นแผลที่มือต้องรักษาด้วยตนเอง
กรณีที่ 4
มีสถานประกอบการจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจริง แต่กลับเลือกใช้วิธีการเลิกจ้างแรงงานแทนการเข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างของกระทรวงแรงงาน โดยให้เหตุผลว่าแม้น้ำจะลดลงแล้วแต่ตัวโรงงานได้รับความเสียหายอย่างมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ไตรมาส จึงจะกลับมาผลิตได้ใหม่ เมื่อถึงตอนนั้นโรงงานจึงจะประกาศรับสมัครแรงงานกลับเข้าทำงาน แน่นอนในมุมของนายจ้างแล้วการเลิกจ้างและการจ่ายเงินชดเชยในบางส่วนถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการชะลอการเลิกจ้างโดยการจ่ายค่าจ้างตามเกณฑ์ 75% ของเงินเดือน โดยที่ไม่รู้ว่าโรงงานจะกลับมาผลิตสินค้าได้อีกเมื่อใด ดังเช่นกรณีของโรงงานซันแฟ็ค นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2554 และเลิกจ้างแรงงานทั้งหมด
กรณีที่ 5
โรงงานไดนามิค โปรโมชั่นและเคมิคัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ย่านพุทธมลฑลสาย 4 เป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ยังคงปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด และจากข้อมูลเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 พบว่าโรงงานยังไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าหลังน้ำลดลูกจ้างกว่า 600 คน จะได้มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนผู้บริหารแจ้งว่าจะจ่ายเงินเดือนให้ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีลูกจ้างคนใดได้รับเงินค่าจ้างแม้แต่น้อย ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากมีสภาพจิตใจย่ำแย่ เครียด วิตกกังวล เพราะขาดรายได้ อีกหลายคนก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ไม่มีเงินส่งทางบ้าน บางคนต้องเป็นหนี้เพิ่ม เพราะกู้เงินนอกระบบเพื่อมาดำรงชีพให้สามารถอยู่ได้
เรื่องเด่นอื่นๆ
เรื่องเด่นที่ 2: เครือข่ายแรงงานร่วมใจกู้วิกฤติอุทกภัยและช่วยเหลือพี่น้องแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม
จากวิกฤตการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา ได้สร้างความเสียหายและผลกระทบกับทุกภาคส่วน ภาคแรงงานซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง มวลน้ำมหาศาลที่ถาโถมเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางโดยตรง นำมาสู่ผลกระทบที่มิเพียงสถานประกอบการหรือนายจ้างเพียงเท่านั้น แต่กลับลูกจ้างในฐานะแรงงานที่เป็นกำลังการผลิตส่วนสำคัญต่างได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า สถานประกอบการต้องปิดตัวลง การหยุดงานเป็นเวลานาน ความไม่ชัดเจนของการจ่ายค่าจ้าง หรือกระทั่งการเลิกจ้าง เหล่านี้เป็นปัญหาที่รุมเร้าแรงงานตลอดช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย
แน่นอนรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องมิได้นิ่งนอนใจ หลายฝ่ายต่างมีความพยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือ-บรรเทา-เยียวยา เพื่อให้ความเดือดร้อนที่พี่น้องแรงงานประสบได้รับการผ่อนคลายและดีขึ้น แต่กระนั้นเองนโยบายของรัฐทั้งมติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงานโดยตรง ก็มิอาจจะเข้าถึงปัญหาที่แรงงานประสบอย่างแท้จริง กล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว แรงงานในภาคอุตสาหกรรมหรือแรงงานในระบบนั้นมิได้มีเพียงแรงงานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการเพียงเท่านั้น แต่การไหลบ่าของกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมออกนอกสู่โรงงาน ที่มาในชื่อของ “แรงงานเหมาช่วง แรงงานเหมาค่าแรง” ก็เป็นแรงงานในระบบอีกกลุ่มใหญ่ที่เผชิญกับสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าว รวมถึงในกลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และเกษตรกรพันธสัญญา นี้มินับว่าสถานการณ์จริงตอกย้ำให้เห็นเพิ่มเติมว่า “แรงงาน” ในฐานะที่เป็น “ประชากรแฝง” ก็ยิ่งไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ เมื่อแรงงานเหล่านี้ไม่มีทะเบียนบ้านในการแสดงหลักฐานยืนยันความมีตัวตน ในที่สุดการช่วยเหลือก็กลายเป็นทิศทางที่ผกผันกับการไหลบ่าของมวลน้ำที่ปะทะถาโถมรุนแรงกระแทกกระทั้นอยู่ตลอดเวลา
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรพันธมิตรด้านแรงงาน รวมถึงองค์กรแรงงานในพื้นที่ประสบภัย เปิดศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วม ครอบคลุมใน 4 กลุ่มแรงงาน คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานในกลุ่มเกษตรพันธสัญญา คือ
(1) ศูนย์แรงงานในระบบ จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ (1.1) ศูนย์บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (1.2) ศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.สมุทรสาคร และ จ.นครปฐม (1.3) ศูนย์คลองหลวง ตลาดบางขัน ย่านรังสิต จ.ปทุมธานี
(2) พื้นที่ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ จำนวน 3 กลุ่มอาชีพ คือ ตัดเย็บเสื้อผ้า , ขับรถรับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่), ซาเล้ง ใน 9 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ เขตหนองจอก เขตบางเขน เขตภาษีเจริญ เขตจตุจักร เขตลาดกระบัง เขตบึงกุ่ม เขตหลักสี่ เขตวังทองหลาง เขตสะพานสูง
(3) พื้นที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ (3.1) วัดป่าฝ้าย วัดไก่เตี้ย โรงงานเอสซีเค อ.เมือง จ.ปทุมธานี (3.2) โรงงานไม้อัดวนชัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี (3.3) มัสยิดแก้วนิมิต ซอย 40 ตรงข้ามมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (3.4) พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา (3.5) พุทธมณฑล สาย 4 และสาย 5 รวมถึงการประสานงานด้านข้อมูลกับพื้นที่คริสตจักรสามแยก สภาคริสตจักรในประเทศไทย ที่ช่วยเหลือกลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ปลางที่ทำงานในสวนกล้วยไม้ จ.นครปฐม ร่วมด้วย
(4) พื้นที่ช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเกษตรพันธสัญญา จำนวน 3 กลุ่มอาชีพ ใน 2 พื้นที่ คือ กลุ่มเลี้ยงหมู กลุ่มเลี้ยงไก่เนื้อ ใน ต.ท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี และกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ในบ้านขี้เหล็ก ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
การเปิดศูนย์ช่วยเหลือมิได้เพียงบรรเทาทุกข์ด้วยสิ่งของยังชีพเท่านั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรพันธมิตรยังได้ร่วมมือกับนักศึกษาคณะต่างๆจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รวมกว่า 20 คน ร่วมกันจัดเก็บข้อมูลจากแรงงานผู้ประสบภัยในพื้นที่ตั้งศูนย์ เพื่อรวบรวมสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงที่พี่น้องแรงงานต้องประสบ ด้วยความมุ่งหวังว่า “การเปล่งเสียงของแรงงานครั้งนี้” จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ส่งผ่านไปยังผู้กำหนดนโยบาย เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้มีนโยบายหรือกลไกการช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงานที่ประสบภัยพิบัติอย่างแท้จริง
เรื่องเด่นที่ 3: การขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมแรงงานนอกระบบในมาตรา 40 จาก 3 กรณี เป็น 5 กรณี
นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแรงงานนอกระบบในกลุ่มอาชีพต่างๆที่ไม่เคยได้รับสิทธิประกันสังคมมาก่อน เช่น ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรพันธสัญญา ผู้รับงานไปทำที่บ้าน คนเก็บของเก่า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มัคคุเทศก์ แท็กซี่ เสริมสวย แม่ค้าหาบเร่แผงลอย ฯลฯ ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมได้ตามมาตรา40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 โดยเป็นการขยายสิทธิการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบใน 2 ทางเลือก โดยทางเลือกแรก คือ จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ประชาชนจ่าย 70 บาท รัฐบาลอุดหนุน 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต ทางเลือกที่สอง คือจ่ายเงินสมทบ 150 บาท ประชาชนจ่าย 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 ด้าน คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีบำเหน็จชราภาพ ส่วนผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 5 กรณี ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบอัตรา 3,360 บาทต่อปีเหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมาจะได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 3 กรณี เท่านั้น คือ คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยมาก เพราะไม่มีกำลังที่จะจ่ายเงินสมทบ และไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการที่แท้จริงในสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับลักษณะการจ้างงาน
เรื่องเด่นที่ 4: คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบพ.ศ. 2555-2559
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อไป จากการสำรวจแรงงานนอกระบบปี 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนผู้ทำงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน โดยเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานหรือเป็นแรงงานนอกระบบ 24.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ 14.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.7 ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2548-2552) พบว่าผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้การส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบมีประสิทธิภาพจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยแผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อขยายโอกาสการมีงานทำ และยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯ คือ (1) เพื่อให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมและมีความใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์ที่แรงงานในระบบได้รับ (2) มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work) (3) แรงงานนอกระบบมีสมรรถนะตรงกับความต้องการของแรงงานนอกระบบและตลาดแรงงาน (4) แรงงานนอกระบบมีโอกาสเข้าถึงข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับตลาดงาน และแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ (5) มีกลไกการทำงานในลักษณะภาคีและเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแรงงานนอกระบบ ชุมชน กลุ่มการเกษตร กลุ่มอาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพ (6) ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงแรงงานนอกระบบตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน
(อ่านต่อ)