10 เรื่องด้อย ประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554 (1)
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
เรื่องด้อยที่สุด : การเลิกจ้างแรงงานด้วยข้ออ้างจากสถานการณ์น้ำท่วม
แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเริ่มคลี่คลาย สถานประกอบการหลายแห่งกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง แต่มิได้หมายความว่าลูกจ้างจะมีโอกาสได้กลับเข้าทำงานทุกคนอีกครั้งหนึ่ง
นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่อาศัยช่วงจังหวะเหตุการณ์น้ำท่วมประกาศปิดบริษัท เลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ทั้งแบบที่ปฏิบัติตามกฎหมายและเลี่ยงกฎหมาย รวมถึงการอาศัยข้ออ้างจากภาวะน้ำท่วมเพื่อเลิกจ้างเพราะต้องการล้มสหภาพแรงงาน หรือต้องการรับแรงงานที่จ่ายค่าแรงได้ต่ำกว่าเข้ามาทำงานแทน หรือกระทั่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน ในภาวะเช่นนี้สหภาพแรงงานที่มีปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์กับนายจ้างอาจถูกเลิกจ้างโดยอ้างเหตุวิกฤตได้”
จากรายงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อ 30 ธันวาคม 2554 ระบุว่า ขณะนี้มีแรงงานถูกเลิกจ้างจากอุทกภัยแล้วกว่า 25,289 คน ในสถานประกอบการ 88 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สระบุรี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ กล่าวได้ว่าลูกจ้างกลุ่มแรกๆที่ถูกเลิกจ้าง คือ กลุ่มแรงงานในระบบแบบเหมาช่วงและเหมาค่าแรง (subcontract) โดยเฉพาะในพื้นที่ปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา ที่สถานประกอบการกว่า 50-60% มีการผลิตโดยใช้ลูกจ้างจากบริษัทเหมาค่าแรง บางโรงงานมีลูกจ้างเหมาค่าแรงมากถึง 70-80% ซึ่งโรงงานจะใช้วิธีการบอกเลิกสัญญาบริษัทรับเหมาค่าแรง เนื่องจากโรงงานยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ปกติแล้วแรงงานจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรงในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก เมื่อมีการเลิกจ้างบริษัทเหมาค่าแรงมักไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย รวมทั้งด้วยสภาพการจ้างงานที่เป็นแบบเหมาช่วง-เหมาค่าแรงจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะทำให้แรงงานได้รับความช่วยเหลือจากระทรวงแรงงาน 2,000 บาทตามโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง
แน่นอนตัวเลขกว่า 25,289 คนนั้นเป็นตัวเลขที่นับจากข้อมูลของแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มแรงงานในระบบประเภทจ้างเหมาค่าแรง (subcontract) แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ
ดังตัวอย่างบางรูปธรรมที่ชัดเจนจากพื้นที่
กรณีที่ 1
กรณีการเลิกจ้างพนักงานบริษัทโฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมลำพูน จำนวนกว่า 2,000 คน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทอ้างว่าไม่มีออเดอร์และขาดทุนซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภัยพิบัติน้ำท่วม แต่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ตัวเลขผลกำไรของบริษัทที่ผ่านมา ล่าสุดปี 2553 บริษัทแห่งนี้มีกำไรถึง 591 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังได้ขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์และประเทศเวียดนาม จึงทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการหลีกเลี่ยงนโยบายการเพิ่มค่าจ้าง 40% ให้พนักงานที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2555 โดยใช้เครื่องจักรใหม่มาแทนกำลังคน เนื่องจากมีการขนย้ายเครื่องจักรเข้าออกโรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างเดิม บริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มตามส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นต้น
กรณีที่ 2
การเลิกจ้างพนักงานบริษัทไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กับการเลิกจ้างพนักงานมอร์เมริกา (ประเทศไทย) จำกัด ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารสุนัข เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ทั้ง 2 บริษัทต่างอ้างว่าเป็นผลกระทบมาจากเรื่องประสบภัยพิบัติน้ำท่วม และมีการหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยการเลิกจ้างให้กับพนักงาน
กรณีที่ 3
นายตุลา ปัจฉิมเวช ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่อ้อมน้อยมีแรงงานได้รับผลกระทบแล้วจากกรณีต่างๆรวมไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอ ปัญหาส่วนใหญ่ที่มาร้องเรียนมากที่สุดคือ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดต่อนายจ้างไม่ได้ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่มีกำหนด ถ้าไม่ไปทำงานที่อื่นนายจ้างจะไม่จ่ายและไล่ออก น้ำท่วมไปทำงานไม่ได้ถูกหักค่าจ้างให้ออกและสมัครงานใหม่ นายจ้างหักเงินแต่ไม่ส่งประกันสังคม เป็นต้น มีกรณีคนงานที่พุทธมณฑลสาย 5 ถูกสั่งให้ไปทำงานที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ลำพูน พอน้ำลดกลับมาดูบ้านและยืนยันขอทำงานที่เดิม แต่นายจ้างจะถือว่าขาดงานและจะถูกลงโทษ ยังมีกรณีคนงานหญิงร้องนายจ้างจัดที่พักพิงให้นอนรวมกันในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รู้สึกอึดอัด ไม่อยู่ก็ไม่ได้ ไปทำงานลำบาก อาจถูกให้ขาดงานหรือมีความผิดฐานขัดคำสั่ง ยังมีกรณีแรงงานข้ามชาติเกิดอุบัติเหตุเครื่องตัดนิ้วขาดและเป็นแผลที่มือต้องรักษาด้วยตนเอง
กรณีที่ 4
มีสถานประกอบการจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจริง แต่กลับเลือกใช้วิธีการเลิกจ้างแรงงานแทนการเข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างของกระทรวงแรงงาน โดยให้เหตุผลว่าแม้น้ำจะลดลงแล้วแต่ตัวโรงงานได้รับความเสียหายอย่างมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ไตรมาส จึงจะกลับมาผลิตได้ใหม่ เมื่อถึงตอนนั้นโรงงานจึงจะประกาศรับสมัครแรงงานกลับเข้าทำงาน แน่นอนในมุมของนายจ้างแล้วการเลิกจ้างและการจ่ายเงินชดเชยในบางส่วนถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการชะลอการเลิกจ้างโดยการจ่ายค่าจ้างตามเกณฑ์ 75% ของเงินเดือน โดยที่ไม่รู้ว่าโรงงานจะกลับมาผลิตสินค้าได้อีกเมื่อใด ดังเช่นกรณีของโรงงานซันแฟ็ค นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2554 และเลิกจ้างแรงงานทั้งหมด
กรณีที่ 5
โรงงานไดนามิค โปรโมชั่นและเคมิคัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ย่านพุทธมลฑลสาย 4 เป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ยังคงปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด และจากข้อมูลเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 พบว่าโรงงานยังไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าหลังน้ำลดลูกจ้างกว่า 600 คน จะได้มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนผู้บริหารแจ้งว่าจะจ่ายเงินเดือนให้ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีลูกจ้างคนใดได้รับเงินค่าจ้างแม้แต่น้อย ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากมีสภาพจิตใจย่ำแย่ เครียด วิตกกังวล เพราะขาดรายได้ อีกหลายคนก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ไม่มีเงินส่งทางบ้าน บางคนต้องเป็นหนี้เพิ่ม เพราะกู้เงินนอกระบบเพื่อมาดำรงชีพให้สามารถอยู่ได้
เรื่องด้อยที่ 2: แรงงานภาคตะวันออก 3 บริษัทเดินเท้าร่วม 130 กิโลเมตร ทวงถามความเป็นธรรมในการจ้างงาน
กว่า 130 กิโลเมตรจาก จ.ระยอง ปลายทางเมืองหลวงประเทศไทย ที่ตั้งของกระทรวงแรงงาน แรงงานภาคตะวันออกกว่า 2,000 คน กับการเดินเท้าเพื่อทวงถามความเป็นธรรมในการจ้างงาน ย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 แรงงานกว่า 2,000 คน จาก 3 บริษัทใหญ่ คือ บริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผลิตยางรถยนต์ บริษัทฟูจิตสึเจเนอรัล ประเทศไทย ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องปรับอากาศ และบริษัทพีซีบีเซ็นเตอร์ ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน เช่น การทำงานเพิ่มขึ้นจาก 2 กะ เป็น 3 กะ ยกเลิกเบี้ยการผลิต ยกเลิกข้อตกลง 36 เดือน และที่สำคัญ คือ นายจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับต่อการขอสวัสดิการจากลูกจ้างคืนจาก 3 ข้อที่ลูกจ้างเคยได้ นายจ้างขอคืนกลับถึง 5 ข้อ ซึ่งเท่ากับลูกจ้างจะไม่ได้อะไรเลย ในขณะเดียวกันนายจ้างก็ประกาศหยุดงาน โดยอ้างสาเหตุมาจากการทำงานของเครื่องจักรมีปัญหา ทั้งที่ผลประกอบการของนายจ้างชี้ชัดว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย มีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2552 จาก 9 ล้านบาท เป็น 1,564 ล้านบาท
ในระหว่างพิพาทแรงงานได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยมีเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดเข้ามาเป็นตัวกลาง อีกทั้งสหภาพแรงงานทั้งสามบริษัทได้เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร (ในช่วงนั้น) มีการเรียกนายจ้างและแรงงานมาให้ข้อมูลแต่ก็ไม่เป็นผล มิหนำซ้ำกลับถูกท้าทายจากกลุ่มนายจ้างผู้มีอิทธิพลที่เป็นเครือญาตินักการเมืองในปีกรัฐบาลออกมาแสดงท่าทีไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในช่วงที่นายจ้างประกาศหยุดงานและอยู่ระหว่างเจรจากว่า 14 ครั้ง แต่ก็ล้มเหลว บริษัทได้มีการนำแรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวกัมพูชาและแรงงานไทยระบบเหมาค่าแรงผ่านบริษัทนายหน้าจัดหางาน เข้ามาทำงานในโรงงานแทนแรงงานไทยที่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรม
การเดินเท้ากว่า 130 กม. จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในเมื่อระบบการบริหารจัดการแรงงาน ความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติระหว่างนายทุน นักการเมือง และประชาชนที่ขายหยาดเหงื่อแรงงานยังมีช่องว่างอยู่ เมื่อเสียงของแรงงานเบาและไม่เคยถึงผู้กำหนดนโยบาย การเดินเท้าสู่กระทรวงแรงงานจึงเป็นปฏิบัติการส่งเสียงดังเพื่อทวงถามความเป็นธรรมจากผู้กำหนดนโยบาย
เรื่องด้อยที่ 3: พนักงานเคเอฟซีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
เมื่อพฤษภาคม 2554 พนักงานเคเอฟซีในเครือบริษัทยัม เรสเทอรองส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด คือ นายกฤษ สรวงอารนันท์ น.ส.ศิวพร สมจิตร และนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ได้ถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากทั้ง 3 คน เป็นแกนนำในการเรียกร้องด้านสวัสดิการให้กับพนักงาน ที่ผ่านมาพนักงานโดยเฉพาะในระดับล่างและผู้จัดการร้านได้รับค่าจ้างต่ำกว่าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอื่นๆ โดยได้ค่าจ้างเพียงชั่วโมงละ 27 บาท หรือเดือนละ 5,200 บาท หากปรับขึ้นเงินเดือนก็ปรับเพียง 100-200 บาท ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก พนักงานเหล่านี้จึงรวมตัวกันลงชื่อกว่า 260 คน ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อนายจ้าง เช่น ขอให้ปรับขึ้นเงินเดือน ปรับโบนัส ปรับปรุงสวัสดิการ ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จัดให้มีวันหยุดตามวันหยุดประเพณี ปรับปรุงค่ารักษาพยาบาล ค่ารถ จัดอาหารฟรีแก่พนักงานวันละ 1 มื้อ แต่นายจ้างไม่พอใจและได้เรียกแกนนำทั้ง 3 คนเข้าไปพบ เพื่อขอให้เซ็นใบลาออกพร้อมกับให้ซองขาว และยังได้ขึ้นชื่อบนเว็บไซต์ของบริษัท
เรื่องด้อยที่ 4: ชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติจากพม่าถูกล่ามโซ่ทั้งที่ยังเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุจากการทำงาน: ความด้อยประสิทธิภาพของกองทุนเงินทดแทน
นายชาลี ดีอยู่ เเรงงานข้ามชาติชาวมอญจากประเทศพม่า อายุ 28 ปี ได้ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 7 ปี ปัจจุบันทำงานก่อสร้างกับผู้รับเหมาในย่านปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ระหว่างทำงานกำลังฉาบปูนเพื่อต่อเติมอาคารบริษัท ซีพี ค้าปลีกและการตลาด จำกัด ได้เกิดอุบัติเหตุปูนหล่นทับระหว่างทำงานจนทำให้ลำไส้เเตกและทะลักออกมานอกช่องท้อง จนต้องนำส่งโรงพยาบาลปทุมธานี ทว่าทั้งนายจ้างของนายชาลี นายจ้างรับเหมา เเละเจ้าของอาคารที่กำลังก่อสร้าง ต่างไม่เหลียวเเลนำค่ารักษาเเละเงินชดเชยมาจ่ายให้นายชาลีเเละโรงพยาบาล
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปทุมธานีแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากท้องที่ปทุมธานีมาจับโดยอ้างว่าเป็นเเรงงานผิดกฎหมาย ทั้งที่นายชาลีได้แจ้งว่าตนได้ขึ้นทะเบียนเเรงงานข้ามชาติมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องแล้ว เเต่เมื่อประสบอุบัติเหตุเอกสารประจำตัวได้สูญหายไปทั้งหมด ทำให้นายชาลีได้ถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อรอการผลักดันกลับประเทศพม่า ขณะที่อาการบาดเจ็บยังต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงร้องขอให้ สตม. ส่งนายชาลีไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เเต่ก็ถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขัง โดยการล่ามโซ่ขานายชาลีไว้กับเตียงคนไข้ เเละมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมอยู่ด้านนอกตลอดเวลา ในที่สุดจากการเรียกร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชน ตำรวจจึงได้ปลดโซ่และมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายชาลีทันทีเนื่องจากใบอนุญาตทำงานไม่หมดอายุ ทำให้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายชาลีเเละจ่ายค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท เนื่องจากสตม.ดำเนินการควบคุมตัวโดยมิชอบเเละมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเอกสารก่อนการควบคุมตัวการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตามทุกวันนี้กระทรวงเเรงงานก็ยังไม่ได้เข้ามาดูแลเเละเยียวยานายชาลี ดีอยู่ แม้แต่น้อย
กรณีของชาลี ดีอยู่ เป็นภาพสะท้อนสำคัญในเรื่องแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครอง/ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนการบาดเจ็บจากการทำงาน ทั้งที่รัฐบาลไทยมีพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (เรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) ค.ศ. 1925 รวมถึงรัฐบาลไทยยังปฏิเสธ/ผลักภาระ/ปัดความรับผิดชอบโดยกระทรวงแรงงานมีประกาศให้นายจ้าง สถานประกอบการจัดทำประกันภัยคุ้มครองการทำงานแรงงานข้ามชาติ (เบี้ยประกันภัย 500 บาทกับบริษัททิพยประกันภัย) เพื่อให้มีหลักประกันคุ้มครองกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยให้มีการคุ้มครองในมาตรฐานเดียวกับแรงงานไทยซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ทั้งนี้ได้กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติต้องจัดทำประกันภัยให้กับแรงงาน ซึ่งหากนายจ้างไม่ดำเนินการทำประกันภัยให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมออกคำสั่ง ทั้งๆความเป็นจริงแล้วเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานโดยตรงที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้
ไม่นับในกรณีของแรงงานไทยก็ไม่แตกต่างกัน ทั้งๆที่ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนมีเงินอยู่ถึง 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสะสมโดยเงินสมทบแต่ละปีเก็บได้ประมาณ 3 พันล้านบาท แต่จ่ายไปเพียงปีละ 2 พันล้านบาท ทั้งๆที่หลักการกองทุน คือ เก็บเงินจากนายจ้างเพื่อจ่ายเงินทดแทน ดูแลและฟื้นฟูคนงาน ส่งเสริมและป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน หลายครั้งที่คนงานเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน นายจ้างส่วนหนึ่งมักอ้างว่าไม่ได้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่ม เพราะยิ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นายจ้างก็ต้องจ่ายเบี้ยเข้ากองทุนเงินทดแทนสูงขึ้น หรือในกรณีที่คนงานป่วยจากการทำงาน เช่น ได้รับสารเคมี สารตะกั่ว เข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก แต่แพทย์ก็มักไม่กล้าวินิจฉัยว่าป่วยจากการทำงาน เพราะหากนายจ้างไม่ยอมรับคำวินิจฉัยก็กลัวนายจ้างฟ้องร้องและไม่อยากไปขึ้นศาล กองทุนเงินทดแทนจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกวัน แต่ทุกวันนี้แรงงานกลับไม่สามารถเข้าถึงกองทุนได้แม้แต่น้อย
เรื่องด้อยที่ 5: เมื่อแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม
เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเพื่อรับรองความเป็นพลเมืองของประเทศต้นทางเรียบร้อยแล้ว แรงงานข้ามชาติจะต้องเข้าสู่การคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมประมาณ 480,000 คน อย่างไรก็ตามในรอบปี 2554 ที่ผ่านมากลับพบปัญหาที่เป็นผลมาจากการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองถึง 6 ประการ
(1) มีหลายบริษัทที่นายจ้างส่งเงินสมทบล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งเมื่อครบกำหนดการชำระแล้วต้องนำเงินสมทบมาจ่ายภายใน 15 วัน หากเลยกำหนดจะโดนปรับดอกเบี้ย ทำให้มีนายจ้างบางคนที่จ้างแรงงานจำนวนมากจึงแก้ปัญหาด้วยการไม่ส่งเงินสบทบเลย เพราะไม่อยากเสียค่าปรับจำนวนมาก ทำให้แรงงานจึงเสียสิทธิแม้ว่านายจ้างจะหักเงินแรงงานไปแล้วก็ตาม
(2) ข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษาพยาบาลระหว่างรอบัตรประกันสังคม พบว่าในระหว่างที่แรงงานรอบัตรนั้น ต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น จึงจะสามารถเบิกคืนเงินย้อนหลังที่จ่ายไปได้ทั้งหมด แต่มีแรงงานบางคนที่ไม่ทราบและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแทน การเบิกคืนย้อนหลังจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วในช่วงก่อน 3 เดือนที่จะมีสิทธิ แรงงานก็จะไม่สามารถนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกย้อนหลังได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วแรงงานมักจะทำงานอยู่ในกิจการจ้างงานที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพสูง เข้าไม่ถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพ แวดล้อมในการทำงานและการอยู่อาศัยที่ดี แต่แรงงานต้องส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะสามารถใช้สิทธิกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอันมิใช่เนื่องจากการทำงานได้
(3) แรงงานไม่สามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคมได้ เนื่องจากในระหว่างที่สำนักงานประกันสังคมยังไม่สามารถออกบัตรประกันสังคมให้แรงงานได้ การตรวจสอบสิทธิจะทำได้ยากมาก เพราะการออกบัตรประกันสังคมจะขึ้นอยู่กับเลขที่ใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประกันสังคมจะอ้างอิงเลขที่ใบอนุญาตทำงานในการบ่งบอกสิทธิของผู้ประกันตน แต่ในความเป็นจริงแล้วกระทรวงแรงงานจะออกใบอนุญาตทำงานล่าช้ามาก แรงงานจึงไม่สามารถนำเลขที่ใบอนุญาตทำงานมาใช้ยืนยันสิทธิในการเบิกจ่ายสิทธิประกันสังคมได้ แม้ว่าทางสำนักงานประกันสังคมจะได้กำหนดมาตรการแก้ไข โดยการสร้างฐานทะเบียนผู้ประกันตนชั่วคราวไว้ แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคในทางปฏิบัติ เพราะชื่อของแรงงานข้ามชาตินั้นคล้ายคลึงกันและไม่มีนามสกุล และการบันทึกทะเบียนผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้แยกกลุ่มแรงงานข้ามชาติไว้ต่างหาก ทำให้เกิดความสับสน ล่าช้า เสียเวลามากยามต้องตรวจสอบสิทธิประกันสังคม
(4) มีบางโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม มีข้อจำกัดทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่และขนาดของโรงพยาบาล ทำให้ความสามารถของการบริการสาธารณสุขในบางพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่และมีจำนวนมาก รวมทั้งยิ่งทำให้คนในพื้นที่ต้องรอรับบริการล่าช้ามากขึ้น จึงส่งผลต่ออคติเชิงชาติพันธุ์ การกีดกัน การไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกันในชุมชนเดียวกันติดตามมา
(5) ตัวแรงงานข้ามชาติเองมักจะไม่ทราบสิทธิต่างๆที่พึงมีพึงได้ ขาดความเข้าใจในกฎเกณฑ์ระเบียบเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็น และยิ่งเป็นแรงงานที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ นายจ้างไม่สนใจดูแล ยิ่งทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเบิกจ่ายสิทธิทดแทนอย่างมาก มีแรงงานจำนวนมากที่นายจ้างยึดบัตรไว้ แรงงานจึงถือเฉพาะใบเสร็จเพื่อมารับการรักษาแทน จึงเป็นอุปสรรคต่อการรักษาอย่างยิ่ง เพราะแรงงานก็จะไม่มีทั้งบัตรโรงพยาบาล บัตรประกันสังคม และใบอนุญาตทำงาน โรงพยาบาลจึงต้องใช้เวลาตรวจสอบเป็นระยะเวลานาน
(6) มีบางกรณีที่แรงงานเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินนอกสถานที่ทำงานและถูกส่งตัวเข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่แรงงานจะไม่มีเอกสารพกติดตัวมา เนื่องจากนายจ้างยึดเก็บไว้ เพราะกลัวแรงงานหลบหนี ทำให้การรักษาพยาบาลเกิดความล่าช้า เพราะโรงพยาบาลต้องติดต่อกับบริษัทที่แรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่ เพื่อยืนยันสิทธิการเบิกจ่ายในการรักษาจริง รวมถึงแรงงานมักจะมีชื่อที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ยิ่งทำให้การตรวจสอบสิทธิล่าช้ามากยิ่งขึ้น นี้ไม่นับว่าถ้าเป็นแรงงานหมดสติเข้ามารักษา ทางโรงพยาบาลก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการทำทะเบียนผู้ป่วยใหม่ ไม่ตรวจสอบประวัติเดิม แรงงานก็จะเสียประโยชน์ในประวัติการรักษาที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น
นอกจากนั้นแล้วข้อมูลจากมติสมัชชาแรงงานข้ามชาติ เรื่องแรงงานข้ามชาติกับการปฏิรูประบบประกันสังคมในแบบที่เหมาะสม เมื่อ 13 มกราคม 2554 ก็ระบุชัดเจนว่า สิทธิประโยชน์ใน พ.ร.บ.ประกันสังคมไม่สอดคล้องกับลักษณะความเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะและแนวนโยบายการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จาก
– นโยบายการจ้างงานแรงงานข้ามชาติระดับล่างในประเทศไทย ไม่สนับสนุน/เอื้อให้แรงงานข้ามชาติหญิงได้มีโอกาสตั้งครรภ์ ฉะนั้นโอกาสที่แรงงานข้ามชาติจะใช้สิทธิประโยชน์เรื่องการคลอดบุตรจึงมีความเป็นไปได้น้อยหรือเป็นไปไม่ได้เลย
– ในกรณีสิทธิประโยชน์เรื่องสงเคราะห์บุตร ได้กำหนดอายุบุตรไว้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ แต่แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 4 ปี ก็สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน แรงงานก็จะสิ้นสุดการได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปด้วย
– แรงงานข้ามชาติมีระยะเวลาทำงานได้เพียง 4 ปีเท่านั้น จึงขาดโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งบำนาญชราภาพและบำเหน็จชราภาพ ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือต้องรอรับสิทธิประโยชน์เมื่อตอนอายุครบ 55 ปี
– แรงงานข้ามชาติที่ทุพพลภาพเนื่องมาจากการทำงาน ด้วยข้อจำกัดในการสื่อสารและการเดินทาง โอกาสที่แรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงการรับเงินทดแทนการขาดรายได้จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก
– แรงงานข้ามชาติไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิกรณีว่างงาน เนื่องจากเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง และหากเป็นแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว เมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างกับนายจ้างปัจจุบันจะต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7-15 วัน และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ รับบริการจัดหางานและการฝึกอบรมฝีมือ แรงงานก็ไม่ใช่ผู้ว่างงานแล้วจึงไม่สามารถเข้าไม่ถึงสิทธิประกันการว่างงานได้
– เมื่อแรงงานข้ามชาติได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือกรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตายแล้ว และได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้ประกันตนผู้นั้นสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่แรงงานข้ามชาติเมื่อสิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้างแล้วจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทางก็ไม่อาจที่จะใช้สิทธิต่อเนื่องอีก 6 เดือนนี้ได้ ดังตัวอย่างรูปธรรมที่นายทูเวนโก แรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเป็นแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายได้เสียชีวิตลงหลังเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร แต่ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ เพราะนายจ้างไม่ได้นำชื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน จึงต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง