10 พฤศจิกายน 2557, อุบลราชธานี – สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ใน สปป.ลาว ซึ่งในวันเดียวกันนี้ก็มีการเปิดเวทีให้ข้อมูลเรื่องการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีด้วย โดยเนื้อหาของแถลงการณ์นั้นมีข้อความดังนี้
1. เขื่อนดอนสะโฮง ก่อสร้างโดย สปป.ลาว บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง ช่วงที่ 4 (ปากเซ สปป.ลาว – กระแจะ กัมพูชา) เกาะสีพันดอน ทางใต้ของ สปป.ลาว เขตติดต่อพรมแดนกัมพูชาประมาณ 7 กิโลเมตร (จากพรมแดน ลาว – กัมพูชา) เป็นการสร้างเขื่อนปิดฮูสะโฮง (ฮูสะโฮง เป็นช่องน้ำไหลอยู่ในแนวเดียวกันกับน้ำตกคอนพะเพ็ง และน้ำตกหลี่ผี) โดยมีแผนจะขุดขยายลำน้ำ(ฮูสะโฮง) เป็นช่องรับน้ำ 5 กิโลเมตร และก่อสร้างตัวเขื่อนเป็นคันคอนกรีตบดอัดแน่น ความยาว 6.8 กิโลเมตร ความสูง 25 เมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีขนาดกำลังผลิต 240-260 เมกะวัตต์ ขณะที่ฮูสะโฮง มีความลาดเอียงต่ำกว่าหลี่ผีและคอนพะเพ็ง สภาพเช่นนี้จึงเอื้อให้ปลาจำนวนมาก สามารถเดินทางจากทะเลสาบเขมรเข้ามาสู่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงแม่น้ำมูนด้วย แต่วัฏจักรของปลานี้จะหายไปเมื่อเขื่อนดอนสะโฮงสร้างแล้วเสร็จ
2. เขื่อนดอนสะโฮง จะถูกสร้างขึ้นในลำน้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ แม่น้ำโขงนับเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบต และมีจุดกำเนิดร่วมกับอีก 2 แม่น้ำ คือแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน ไหลผ่านถึง 7 ประเทศ จนกระทั่งไหลไปออกทะเลจีนใต้ที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เวียดนาม มีลำน้ำสาขาต่าง ๆ มากมาย รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำอีกจำนวนมาก เช่น แม่น้ำมูน, แม่น้ำชี ,แม่น้ำสงคราม และทะเลสาบเขมร แม่น้ำโขงนับเป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับที่ 10 ของโลก และเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายของชนิดปลามากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากแม่น้ำอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ และแม่น้ำคองโกในทวีปแฟริกาปลาที่พบในลุ่มแม่น้ำโขง
ในปัจจุบันนี้พบแล้วกว่า 1,200 ชนิด และคาดว่าอาจมีถึง 1,700 ชนิด จะส่งผลกระทบทำให้ปลาจำนวนมากลดจำนวนลงและปลาอีกหลายชนิดจะสูญพันธ์ุไป เช่นเดียวกับการสร้างเขื่อนปากมูลที่ทำให้ปลาในแม่น้ำมูนลดจำนวนลงอย่างมาก ซึ่งผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นกับประชาชนในหลายประเทศร่วมถึงประชาชนไทยด้วย
3. แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ เมื่อ พ.ศ.2538 กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งสี่ประเทศซึ่งใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำโขงตอนล่างร่วมกัน ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการร่วมมือ “การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง แบบยั่งยืน” ได้ร่วมกันก่อตั้ง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) โดยในส่วนของประเทศไทยหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการคือ “กรมทรัพยากรน้ำ” การสร้างเขื่อนดอนสะโฮง กั้นแม่น้ำโขง จึงควรอย่างยิ่งที่ MRC จะต้องทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิก และที่สำคัญกรมทรัพยากรน้ำในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้จัดเวทีแทนเจ้าของเขื่อน (เจ้าของเขื่อนคือ สปป.ลาว)
4. ความล้มเหลวจากเขื่อนปากมูล แต่ไม่นำไปเป็นบทเรียน เขื่อนปากมูลถูกสร้างขึ้นโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านคนหาปลา และนักวิชาการว่าเขื่อนปากมูลจะส่งผลให้ปลาลดลง ซึ่งนักสร้างเขื่อนพยายามหาเหตุผลและเสนอเทคนิคมากมายเพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของชนิดพันธ์ุปลา และปริมาณปลาในลุ่มน้ำมูน แต่จนถึงปัจจุบันก็ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้แล้วเขื่อนปากมูลซึ่งเดิมเป็นเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นเขื่อนเพื่อการชลประทาน ขณะที่ชาวบ้านยังคงเรียกร้องความเป็นธรรมต่อเนื่องยาวนานกว่า 26 ปี และพวกเขายังคงต้องเรียกร้องต่อไปจนกว่าความเป็นธรรมจะเกิดขึ้น
5. คำสัญญาที่ชาวบ้านปากมูนได้เคยมีข้อตกลงจำนวนมากกับการไฟฟ้า ฯ และรัฐบาล ทั้งก่อนการสร้างเขื่อนปากมูล และเมื่อเขื่อนปากมูลสร้างเสร็จแล้ว แต่ทุกข้อตกลงที่ผ่านมา เจ้าของเขื่อนและรัฐบาลไม่เคยทำตามสัญญา และนี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้ปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมาถึง 26 ปี และเช่นเดียวกันในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 หน่วยงานที่นำเสนอข้อมูลเขื่อนดอนสะโฮง เชื่อว่าจะนำเสนอข้อมูลเฉพาะด้านดีของเขื่อนเพียงด้านเดียว พร้อมกับรับปาก สัญญา ต่าง ๆ นานา เพื่อให้เวทีผ่านไปจนเสร็จ แต่หลังจากนั้น ก็จะหายไปไม่มาให้เห็นหน้าอีกเลย
ต่อพฤติกรรมของ MRCS และกรมทรัพยากรน้ำ ที่เร่งรีบดำเนินการจัดเวทีให้ข้อมูลเขื่อนดอนสะโฮง ในครั้งนี้ พวกเรามิอาจคาดหวังได้ว่าจะมีการให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน เพียงพอที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถตัดสินใจได้ และที่สำคัญพวกเราไม่เห็นหลักประกันอันใดเลยว่า ข้อเสนอของพวกเราจะถูกนำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ต่อการดำเนินการของเขื่อนดอนสะโฮง เพราะ สปป.ลาว ได้ตัดสินใจแล้ว และกำลังเดินหน้าก่อสร้างเขื่อน
ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และปกป้องการทำลายแม้น้ำโขง สมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จึงเรียกร้องให้ MRCS และกรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการ ดังนี้
1. ให้ MRCSและกรมทรัพยากรน้ำ ยกเลิกการจัดเวที ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พร้อมกับทบทวนบทบาทหน่วยงานของตนเอง ว่าจะดำเนินการเพื่อรับใช้นักสร้างเขื่อน หรือเพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไทย
2. ให้กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะของรัฐไทย ใช้สิทธิ์ยับยั้งการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของ สปป.ลาว พร้อมกับเสนอให้ สปป.ลาว เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีให้ข้อมูลกับประชาชนในประเทศสมาชิก MRC ทั้งสี่ประเทศ ไม่ใช่ MRSC และกรมทรัพยากรน้ำ มาทำแทนเช่นนี้
3. ให้กรมทรัพยากรน้ำ หันมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น ปัญหาที่เกิดจากเขื่อนปากมูล ให้เสร็จสิ้นก่อน พร้อมทั้งหาแสวงหาแนวทางในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนโดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชน เป็นที่ตั้ง
“พวกเรายังหวังว่า กรมทรัพยากรน้ำ ที่เป็นตัวแทนของรัฐไทย จะตระหนักว่า เบี้ยหวัดที่พวกท่านได้รับอยู่นั้น มาจากภาษีของประชาชนชาวไทย และในฐานะหุ้นส่วนของสังคมไทย พวกเราจึงมิอาจนิ่งเฉยอยู่ได้ และที่สำคัญพวกเราได้มีประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาแล้วกว่า 26 ปี ซึ่งพวกเราไม่อยากให้ความเลวร้าย ที่ได้เกิดขึ้นกับพวกเรา เกิดขึ้นซ้ำ ซ้ำ อีกต่อไป การยับยั้งการจัดเวทีในวันพรุ่งนี้ จึงเป็นภารกิจเพื่อปกป้องแม่น้ำ ปกป้องวิถีชีวิต วิถีชุมชนของพวกเรา และของทุกคน”