คอลัมน์: เพราะฉะนั้นแล้ว เรื่อง: ธร ปีติดล ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์
การเปลี่ยนแปลงถอยหลังเข้าสู่การปกครองด้วยเผด็จการทหารของประเทศไทย สร้างความสนใจและคำถามมากมายให้แก่วงวิชาการในระดับสากล ว่าเหตุใดประเทศที่เคยดูเหมือนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างสดใสเมื่อเกื่อบยี่สิบปีที่ผ่านมา ถึงได้กลับกลายเป็นประเทศที่เปลี่ยนไม่ผ่าน และย้อนคืนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง
หนึ่งในคำถามสำคัญสุดที่ถูกถามเกี่ยวกับภาวะนี้คือ เหตุใดกลุ่มทางสังคมหลายๆ กลุ่ม เช่น คนชั้นกลาง ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ที่ควรจะมีบทบาทในการต่อต้านการกลับสู่ระบอบเผด็จการ กลับกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการผลักดันให้ประเทศกลับไปสู่ความเป็นเผด็จการเสียเอง
ในบทความนี้ ผู้เขียนอยากลองสำรวจคำอธิบายเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของกลุ่มทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่เอ่ยไว้ข้างต้น ซึ่งก็คือ ‘คนชั้นกลาง’ และนอกจากการสำรวจ รวมถึงพิจารณาคำอธิบายต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมาโดยนักวิชาการทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองคนชั้นกลางไทยในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ผู้เขียนอยากลองเสนอมุมมองของตนเองต่อคำอธิบายเหล่านั้นดูบ้าง
ความพยายามอธิบายบทบาทการเมืองของคนชั้นกลางไทย
เมื่อกล่าวถึงคนชั้นกลางที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองทั้งในประเทศไทยและในบริบทสากลแล้ว สิ่งแรกสุดที่ต้องทำความเข้าใจคือคนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่หาตัวจับยาก การจะสร้างเส้นแบ่งมาเพื่อกำหนดว่าใครคือชนชั้นกลางบ้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย ด้วยไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะที่ตายตัวในการบอกว่าใครคือคนชั้นกลาง แม้ว่าเราอาจจะลองขีดเส้นแบ่งทางด้านช่วงรายได้ กลุ่มอาชีพ รวมไปถึงวิถีชีวิต เพื่อมาบอกว่าใครคือคนชั้นกลางได้ แต่ก็จะมีข้อโต้แย้งได้เสมอว่าเส้นแบ่งเหล่านั้นเหมาะสมหรือไม่
นอกจากนี้ หากเราพิจารณาไปที่กลุ่มคนที่เราคิดว่าเป็นคนชั้นกลางในประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แล้ว ก็พบว่ากลุ่มคนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายมาก ด้วยกลุ่มดังกล่าวอาจรวมตั้งแต่กลุ่มคนเพิ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการย้ายเข้าเมืองเพื่อประกอบอาชีพบริการต่างๆ หรือเป็นเจ้าของกิจการค้าขายเล็กๆ ไปจนถึงกลุ่มเจ้าของกิจการขนาดกลาง และพนักงานเงินเดือนระดับสูงและกลางในบริษัทใหญ่ ด้วยขอบเขตที่กว้างขวางของกลุ่มคนชั้นกลางนี้เอง จึงมักมีการแบ่งกลุ่มในคนชั้นกลางเองอีกต่อหนึ่ง เป็นคนชั้นกลางบนและคนชั้นกลางล่าง
การแบ่งคนชั้นกลางออกเป็นบนและล่าง มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพยายามเข้าใจบทบาทของชนชั้นนี้ในประเทศไทย กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำอธิบายสำคัญต่อความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือ คนชั้นกลาง 2 กลุ่มในประเทศไทยได้กลายเป็นฐานของ 2 พลังทางการเมืองที่แตกต่างและขัดแย้งกัน ในด้านหนึ่งคนชั้นกลางระดับล่าง เช่น คนขับแท็กซี่และพ่อค้าแม่ค้า ถูกตั้งข้อสังเกตไว้ในงานวิจัยหลายชิ้นว่า มักกลายเป็นผู้สนับสนุนคุณทักษิณ รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดง
ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มคนชั้นกลางบน ซึ่งก็คือนักธุรกิจและพนักงานออฟฟิศต่างสังเกตว่า มักกลายเป็นผู้สนับสนุนทางการเมืองให้แก่กลุ่มต่อต้านคุณทักษิณ เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส.
อาจกล่าวได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างเมืองกับชนบทอีกต่อไป เหมือนที่ยังมีความเข้าใจแบบผิดๆ กันอยู่มาก แต่เกิดขึ้นกับ ‘คนชั้นกลาง 2 ฝั่ง’ ที่ต่างแสวงหารูปแบบของรัฐและระบบการเมืองที่แตกต่างกัน คำอธิบายความขัดแย้งในสังคมไทยที่น่าจะมีน้ำหนักมากกว่าคำอธิบายอื่นๆ ในเวลานี้ คือความขัดแย้งในครั้งนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคนชนบทที่ยังขาดการศึกษาและถูกซื้อเสียง กับคนเมืองที่ต้องการรัฐบาลที่ใสสะอาด เท่ากับที่เป็นความขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางระดับล่างที่ต้องการพื้นที่ทางการเมืองซึ่งเป็นประชาธิปไตย เพื่อพวกเขาจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของนักการเมือง
กับคนชั้นกลางระดับบนที่รู้สึกต่อต้านประชาธิปไตยโดยเฉพาะการเลือกตั้ง ด้วยความรังเกียจที่มีต่อนักการเมืองและนโยบายของพวกเขา ทั้งนี้เราอาจมองความแตกต่างดังกล่าวระหว่างคนชั้นกลางทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ว่า ถูกสะท้อนออกมาเป็นความนิยม และความเกลียดชังที่ทั้ง 2 กลุ่มมีต่อนักการเมืองที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
เนื่องจากบทความนี้ตั้งใจอธิบายกลุ่มทางสังคมที่มีบทบาทในการย้อนคืนประเทศออกจากประชาธิปไตยกลับไปสู่เผด็จการทหาร ฉะนั้น ในส่วนต่อจากนี้ ผู้เขียนจึงขอตีกรอบการพูดถึงคนชั้นกลางให้เฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่ม ‘คนชั้นกลางระดับบน’ เพียงเท่านั้น โดยจะพยายามอธิบายเหตุปัจจัยของการที่พวกเขาออกมาเป็นพลังนำพาประเทศกลับสู่ระบบเผด็จการทหาร
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ [1] ได้พยายามอธิบายสาเหตุที่คนชั้นกลางระดับบนของประเทศไทยกลายมาเป็นกลุ่มที่สนับสนุนกปปส. และการกลับมาของระบบเผด็จการในประเทศไทยด้วยการใช้ทฤษฎี ‘ชนชั้นนำชายขอบ’ (marginal elite) อาจารย์นิธิอธิบายว่า
คนชั้นกลางบนของไทยนั้นตกอยู่ในภาวะของการเป็นชายขอบ ด้วยแม้ตัวเองจะเติบโตทางเศรษฐกิจสังคมขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วภายใต้การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ไม่อาจก้าวทะลุขึ้นไปสู่ภาวะการเป็นคนชั้นนำได้ เพราะการเป็นคนชั้นนำ (elite) ในสังคมไทยนั้นยังต้องอาศัยเส้นสายและทุนทางเศรษฐกิจที่มีคนครอบครองอยู่เพียงจำกัด การต้องติดคาอยู่ที่ชายขอบนี่เองที่สร้างแรงผลักดันให้พวกเขาออกมามีบทบาทในทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการปลดปล่อยความอัดอั้นของตน
คำอธิบายการออกมาเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางระดับบนว่าเชื่อมโยงอยู่กับภาวะการถูก ‘บีบ’ ของพวกเขา เคยถูกอธิบายไว้เช่นกันโดยนักวิชาการชาวเยอรมัน มาร์ก ซักซาร์ (Marc Saxer)[2] ผู้มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยอยู่หลายปี มาร์กได้อธิบายถึงคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทยไว้ว่า ต้องติดอยู่ระหว่างชนชั้นนำที่มีความได้เปรียบกับคนชั้นล่างที่พยายามแสวงหาที่ทางของตนเองในสังคมไทย
และแม้ว่าคนชั้นกลางระดับบนในสังคมไทยเองเคยเรียกร้องให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่พอต้องมาอยู่ภายใต้ระบบประชาธิปไตยจริงๆ แล้ว พวกเขาก็ต้องพบว่าตนเองตกไปอยู่ชายขอบของกลไกทางการเมือง เพราะว่าไม่อาจเป็นพลังหลักในการกำหนดผู้ชนะในระบบการเลือกตั้งได้ สภาพการอยู่ชายขอบของกลไกการเมืองนี้ยังถูกกระตุ้นเพิ่มเติมไปด้วยการมองระบบการเลือกตั้งในแง่ร้าย ว่ากลไกดังกล่าวเชื่อมโยงนักการเมืองผู้ชั่วร้ายและกระหายอำนาจ เข้ากับคนจนจำนวนมากที่ขาดการศึกษา หนำซ้ำยังแสวงหาเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้า ด้วยเหตุนี้เอง ชนชั้นกลางระดับบนของไทยจึงออกมาต่อต้านการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ยังมีคำอธิบายอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปจากคำอธิบายทั้งสองแบบที่ผู้เขียนได้ยกมาไว้ข้างต้น เซอฮัด อูนาลดี (Serhad Unaldi)[3] นักวิชาการชาวเยอรมันอีกท่านที่สนใจการเมืองไทย ได้เขียนบทความอธิบายการออกมามีบทบาทสนับสนุนการถอยหลังออกจากประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนในไทยไว้ว่า เชื่อมโยงอยู่กับความ ‘ผูกพัน’ กับระบบเผด็จการของพวกเขา
เซอฮัดพยายามอธิบายว่า กลุ่มชนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทยนั้นเติบโตมาภายใต้การปกครองด้วยระบบเผด็จการ การเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกเขาถูกสนับสนุนด้วยนโยบายการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ให้เมืองและภาคอุตสาหกรรม จนถัดมาพวกเขาได้กลายเป็นคนชั้นกลาง ‘เก่า’ ผู้มองย้อนกลับไปสู่อดีตของระบบเผด็จการด้วยอาการถวิลหา สำคัญคือเมื่อคนชั้นกลางเก่าต้องมาเผชิญกับสภาพสังคมที่คนชั้นกลาง ‘ใหม่’ เติบโตขึ้นมาจากคนระดับล่าง และเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง กลุ่มคนชั้นกลางเก่าหรือคนชั้นกลางระดับบนนี้เองจึงรู้สึกกังวล และผันตัวเองเป็นพลังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ
และการออกมาต่อต้านประชาธิปไตยและแสวงหาการย้อนคืนสู่ระบบเผด็จการนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรณีของประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีเส้นทางพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองที่คล้ายกับประเทศไทย เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ที่น่าสนใจคือคำอธิบายนี้คล้ายกับข้อค้นพบในงานศึกษาเรื่องคนชั้นกลางในประเทศจีน[4]
งานศึกษาชิ้นดังกล่าวพบว่า คนชั้นกลางในประเทศจีนให้การสนับสนุนระบบประชาธิปไตยน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ล่างไปจากพวกเขา และเมื่อพยายามค้นหาต่อไปว่าทำไม ก็พบว่าสภาพการไม่สนับสนุนประชาธิปไตยของคนชั้นกลางในจีนสัมพันธ์อยู่กับสภาพ 2 ประการเป็นอย่างน้อย ประการแรก คือ สภาพที่พวกเขาถูกฟูมฟักโดยตรงจากการกำหนดนโยบายของรัฐที่เป็นเผด็จการ ทั้งยังประกอบอาชีพที่ต้องพึ่งพิงรัฐ ประการที่สอง คือ ความรู้สึกพอใจของพวกเขาต่อสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง กล่าวโดยรวมคือ เมื่อคนชั้นกลางในจีนรู้สึกว่าตนเองได้ประโยชน์มาจากรัฐที่เป็นเผด็จการ ทั้งยังมีสภาพชีวิตที่น่าพึงพอใจแล้ว พวกเขาจึงไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงออกจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย
คนชั้นกลาง (บน) ผู้ไม่คุ้นเคยกับประชาธิปไตย
คำอธิบายต่างๆ ที่ผู้เขียนได้สำรวจมาไว้ข้างต้นนั้น สามารถจำแนกได้คร่าวๆ เป็น 2 แบบ ในขณะที่อาจารย์นิธิ และมาร์ค ซักซาร์ ต่างมองการออกมามีบทบาททางการเมืองของคนชั้นกลางไทยว่า มาจากการที่พวกเขาตกอยู่ในสภาพ ‘ชายขอบ’ จนเกิดความอึดอัดต่อหนทางที่คับแคบของตน เพื่อก้าวหน้าต่อไปมากกว่าเดิมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และในการมีบทบาทการเมือง
งานของ เซอฮัด อูนาลดี และงานศึกษาคนชั้นกลางในบริบทของประเทศจีน อธิบายการขาดความสนับสนุนประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนทั้งในไทยและในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ว่ามาจากความผูกพันของพวกเขากับระบบเผด็จการ ด้วยความคุ้นเคยกับการได้รับการปลูกฝังคุณค่าทางการเมืองแบบเผด็จการทำให้พวกเขามองประชาธิปไตยดั่งเป็นของแสลง
คำอธิบายทั้ง 2 แบบข้างต้นต่างก็มีน้ำหนักในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทของไทย อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ผู้เขียนได้ลองเก็บข้อมูลในการศึกษาเรื่องชนชั้นกลางระดับบนของประเทศไทยมาบ้าง จะลองคิดวิเคราะห์ดูว่าคำอธิบายในทางใดน่าจะตรงกับข้อมูลของผู้เขียนมากกว่า
สำหรับคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทยนั้น คุณลักษณะของพวกเขาส่วนใหญ่ที่น่าจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันคือ ประการแรก ในด้านคุณลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม คนชั้นกลางระดับบนจำนวนมากในประเทศไทยอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีเชื้อสายจีน ในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจสังคมแล้ว สำหรับพวกเขาที่อยู่ในวัยกลางคนคืออายุ 50 ปีขึ้นไปแล้ว ต่างได้ผ่านการเติบโตทั้งทางการศึกษาในยุค จอมพลสฤษด์และจอมพลถนอม เติบโตทางเศรษฐกิจในยุคพลเอกเปรมและพลเอกชาติชาย
เราจึงอาจกล่าวได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดของพวกเขานั้น เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ โดยผลสำคัญของการเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าวก็คือการเอื้อให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการค้าในเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งโอกาสในชีวิตให้แก่พวกเขา
คุณลักษณะพื้นฐานประการที่สองของพวกเขาคือ ในทางการเมืองแล้ว ชนชั้นกลางบนในประเทศไทยโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มักมีทัศนะไปในทางต่อต้านนักการเมือง ด้วยมองว่านักการเมืองนั้นขาดคุณภาพและคุณธรรม นอกจากนี้พวกเขายังมองการเลือกตั้งว่าเต็มไปด้วยการซื้อสิทธิ์ขายเสียง พวกเขาให้คุณค่าเป็นสำคัญกับการเชิดชูชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แม้ว่าพวกเขาเองอาจมีทัศนคติแบบนี้มาแต่เนิ่นนาน แต่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงที่พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
ผู้เขียนมองว่า เราอาจนำเอาข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณลักษณะข้างต้นมาช่วยวิเคราะห์คำอธิบายที่มาของพฤติกรรมทางการเมืองของคนชั้นกลางบนไทยได้ว่า คำอธิบายแบบใดมีน้ำหนักมากกว่า การวิเคราะห์นี้ทำได้โดยการพยายามหาความความสัมพันธ์ในรายละเอียดของคุณลักษณะเหล่านั้น
หากอธิบายไปในทางเดียวกับอาจารย์นิธิแล้ว ทัศนคติที่ต่อต้านนักการเมืองและการเลือกตั้งของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย ย่อมเชื่อมโยงอยู่กับภาวะการติดอยู่ที่ชายขอบของพวกเขา ฉะนั้น การกล่าวถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากภายใต้ระบบเผด็จการของคนชั้นกลางระดับบน ย่อมมาพร้อมๆ กับการอธิบายว่า การเติบโตนั้นๆ ยังไม่อาจสร้างความพึงพอใจให้แก่พวกเขาได้เสียทีเดียว ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าตีความคำอธิบายของอาจารย์นิธิถูกไหม แต่ขอวิเคราะห์ต่อไปด้วยข้อมูลที่เคยได้จากการพูดคุยกับคนชั้นกลางระดับบนที่สนับสนุน กปปส. หลายท่าน ว่าสอดคล้องกับคำอธิบายแบบนี้หรือไม่
จากการได้เก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยในเรื่องนี้ ผู้เขียนพบว่าทั้งหมดของคนชั้นกลางระดับบนในไทยที่ผู้เขียนได้พูดคุยมา ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความอึดอัดใจกับสภาพทางเศรษฐกิจสังคมของตนเอง ในทางกลับกัน พวกเขากลับแสดงความรู้สึกพึงพอใจกับการเติบโตที่ผ่านมาของตนเองในสังคมไทย ไม่ได้แสดงถึงความรู้สึกว่ามีอะไรมาปิดกั้นการเติบโต โดยมองสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่มีช่องทางให้คนเติบโตได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรและความสามารถ (ในทางนี้เอง พวกเขาจึงมักมองว่าคนจนนั้นจนเพราะเกียจคร้านและขาดความสามารถ)
เพราะฉะนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงไม่ค่อยเห็นไปในทางเดียวกับคำอธิบายของอาจารย์นิธิเท่าไรนัก ด้วยไม่อาจสัมผัสได้ถึงความรู้สึกอัดอั้นหรือถูกบีบคั้น อย่างไรก็ตาม หากพยายามมองไปในทางเดียวกันกับอาจารย์นิธิ ก็อาจทำได้ ด้วยการตีความความรู้สึกเกลียดชังนักการเมืองของคนชั้นกลางระดับบนว่า แท้จริงแล้วคือตัวแทนความรู้สึกเป็นชายขอบของพวกเขา ด้วยความเกลียดชังนี้อาจสะท้อนความรู้สึกในใจของพวกเขาที่มองว่าสังคมไทยยังมีคนที่ได้เปรียบอยู่เหนือเขาเสมอ กระนั้นก็ตาม การตีความเช่นนี้อาจไปไกลสักหน่อย
ผู้เขียนคิดว่า คำอธิบายแบบที่มีน้ำหนักมากกว่าคือ การมองคนชั้นกลางระดับบนของประเทศไทยในฐานะคนที่เติบโตมากับระบบเผด็จการ
จากการได้พูดคุยในเชิงลึกกับพวกเขา ผู้เขียนพบว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมาของพวกเขา โดยเฉพาะช่วงแรกเริ่มจนเข้าสู่วัยทำงานนั้น มีความน่าสนใจยิ่ง ในช่วงเริ่มต้นชีวิตของพวกเขานั้น เป็นช่วงแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่คนจำนวนมากในประเทศ เพิ่งได้มีโอกาสขยับขยายตนเองเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้เห็นช่องทางการเติบโตในชีวิตที่ค่อนข้างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า
ยิ่งมองไปที่คนชั้นกลางบนซึ่งมีเชื้อสายจีนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเทียบกับคนรุ่นพ่อแม่ พวกเขาเป็นคนรุ่นแรกที่ได้รับการเปิดโอกาสจากรัฐให้รับเอาอัตลักษณ์ความเป็น ‘คนไทย’ และหากพวกเขายินดีรับเอาอัตลักษณ์นั้นๆ ไป ก็จะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ไม่ต้องถูกตีตราถึงความเป็นคนนอกอีกต่อไป
คนชั้นกลางระดับบนของไทยเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ช่วงชีวิตการเรียนและทำงานในช่วงแรกเริ่มของพวกเขาเป็นช่วงเดียวกับที่เศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกที่พวกเขาจำนวนมากมองหน้าที่ของตนเองว่ามีเพียงการพยายามมุมานะขยันเรียนหนังสือและทำงาน เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ได้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกับที่พวกเขามุ่งการสร้างเนื้อสร้างตัวในทางเศรษฐกิจ พวกเขาเองก็โอนอ่อนรับเอาอัตลักษณ์และอุดมการณ์ที่มาพร้อมๆ กับระบบเผด็จการเข้าไปโดยไม่ได้รู้สึกต่อต้านอะไรมากมาย แต่กลับซึมซับคุณค่าเหล่านั้นเข้าไปจนรูสึกว่าเป็นดั่งสภาพธรรมชาติ
จากข้อสังเกตเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตของพวกเขา ผู้เขียนมองว่าที่คนชั้นกลางไทยไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงอยู่กับความรู้สึกถูก ‘บีบ’ หรือ ‘อึดอัด’ แต่เป็นภาพที่เชื่อมโยงอยู่กับความรู้สึก ‘เติบโต’ แต่ความรู้สึกเติบโตของพวกเขาเป็นความรู้สึกที่ยึดโยงอยู่กับอดีตของระบบเผด็จการ พวกเขามองชีวิตตนเองว่าได้ดีจากการแสวงหา และในทางเศรษฐกิจแล้วการแสวงหานั้นมาจากความพยายามคว้าโอกาสการเติบโตที่สังคมเปิดให้
ในทางการเมืองแล้ว การแสวงหาของพวกเขาคือการยินดีรับเอาอัตลักษณ์และอุดมการณ์ที่ระบบเผด็จการไทยหยิบยื่นให้ เพื่อเป็นเครื่องมือไปสู่การยอมรับในสังคมไทย มากไปกว่านั้น หนทางเดียวที่พวกเขาจะเติบโตมากขึ้นไปอีกในด้านการยอมรับ คือการก้าวไปในเส้นทางเชิงวัฒนธรรมที่ชนชั้นนำได้วางไว้ ความภาคภูมิใจของพวกเขาจึงกลายเป็นการได้แสดงออกถึงความซาบซึ้งในอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย
สภาพชีวิตของพวกเขาดังที่กล่าวมานี่เองที่ในเวลาต่อมามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้พวกเขาออกมามีบทบาทในทางการเมือง เมื่อสังคมและการเมืองไทยเข้าสู่จุดที่พวกเขาไม่คุ้นชินอีกต่อไป กล่าวคือนักการเมืองและคนชั้นล่างเข้ามาเป็นตัวละครหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงรู้สึกกังวลใจกับภาวะที่แปลกใหม่อันนี้ และหันไปดึงเอาฐานอุดมการณ์และอัตลักษณ์ที่ตนเองคุ้นชินออกมาขับเคลื่อนการแสดงบทบาทของตนเอง
จึงไม่น่าแปลกใจที่ทัศนะทางการเมืองต่างๆ ของพวกเขานั้นต่างย้อนไปได้ถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ทั้งอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และทัศนะต่อนักการเมืองว่าเป็นกลุ่มที่แสวงหาแต่ผลประโยชน์เมื่อเทียบกับทหารที่เป็นผู้เสียสละเพื่อชาติ
ความเข้าใจเช่นนี้คงช่วยอธิบายทัศนะของคนชั้นกลางบนในประเทศไทย ที่ผู้เขียนเคยมองว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลได้อยู่หลายประการ เช่น เหตุใดพวกเขาถึงมีความอดทนต่ำต่อปัญหาของนักการเมือง แต่กลับไม่ค่อยรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนเท่าใด เมื่อข้าราชการหรือทหารสร้างปัญหาแบบเดียวกัน เหตุใดพวกเขาถึงมั่นใจกับคุณภาพการบริหารงานของเผด็จการทหาร ในขณะที่กลับไม่มั่นใจนักต่อการบริหารของนักการเมือง
ทัศนะเหล่านี้ดูแปลกประหลาดไปเลย หากไปอยู่ในบริบทของประเทศที่พัฒนามาอย่างยาวนานภายใต้ระบบประชาธิปไตย คือไม่ว่าคนในประเทศเหล่านั้นจะมองนักการเมืองและประชาธิปไตยว่ามีปัญหามากเพียงใด แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะมองการเข้ามาของทหารว่าเป็นเรื่องดี หรือมองเผด็จการว่าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าประชาธิปไตย
คำอธิบายคร่าวๆ ที่ผู้เขียนพอมีให้แก่ที่มาของทัศนะเหล่านี้ของคนชั้นกลางบนในไทยคือ สำหรับพวกเขาแล้ว เป็นเพราะไม่เคยชินกับความไม่สมประกอบของประชาธิปไตยและนักการเมือง เท่ากับที่เคยชินกับการอยู่แบบปิดตาข้างเดียวภายใต้ระบบเผด็จการ พวกเขาไม่คุ้นชินกับความผันแปรของระบบประชาธิปไตย เท่ากับที่รู้สึกจากอดีตของตนว่าระบบเผด็จการนั้นมีความสงบราบเรียบมากกว่า
พวกเขากังวลกับนโยบายเศรษฐกิจที่มาจากนักการเมือง ในขณะที่มองไปถึงอดีตว่าระบบเผด็จการจัดการกับปัญหาแบบเดียวกันผ่านเทคโนแครตที่มีคุณภาพได้ กล่าวโดยรวมคือ ด้วยความเป็นผู้ไม่คุ้นเคยกับประชาธิปไตยแต่คุ้นเคยกับเผด็จการนี่เอง ที่ผลักดันคนชั้นกลางให้มอบคุณค่าแก่ประชาธิปไตยน้อยเกินไปและให้คุณค่ากับเผด็จการมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่พวกเขาต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสภาพที่เปราะบางในสังคมไทย
กล่าวโดยสรุป คำอธิบายที่ว่าคนชั้นกลางบนของไทยนั้นโตและผูกพันกับระบบเผด็จการ ดูมีน้ำหนักมากกว่าในการอธิบายการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขา ที่นำพาประเทศออกจากประชาธิปไตยไปสู่เผด็จการ โดยกรณีของไทยอาจมีคำอธิบายเพิ่มเติมได้บ้าง เช่น ชนชั้นกลางไทยไม่ได้ผูกพันกับระบบเผด็จการด้วยความรู้สึกว่าตนเองได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบายทางเศรษฐกิจของระบบดังกล่าว แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสภาพเสริมที่หนุนให้พวกเขารู้สึกถึงสภาพที่เปิดกว้างต่อการแสวงหาในระบบเผด็จการ และสภาพนี้ยังเอื้อให้อุดมการณ์และอัตลักษณ์ทางการเมืองภายใต้ระบบเผด็จการนั้นฝังรากลึกลงไปในโลกทัศน์ของเขา
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่อีกประเด็น และเป็นประเด็นที่ผู้เขียนยังไม่รู้ว่าจะนำมาประกอบคำอธิบายของตนได้อย่างไร ประเด็นที่ว่าคือ ในบางคราที่ระบบเผด็จการทหารได้แสดงความเลวร้ายให้เห็นชัดเจน ก็กลับเป็นคนชั้นกลางระดับบนของไทยเองนั่นแหละที่ออกมาเป็นกำลังต่อต้านระบบเผด็จการทหาร ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะอธิบายจุดการผันแปรนี้อย่างไรดี
ไม่ทราบแน่ชัดว่าจุดเปลี่ยนแปลงของพวกเขาอยู่ตรงไหน และสุดท้าย ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าภายใต้ระบบที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศทุกวันนี้ จะมีวันใดไหมที่คนชั้นกลางบนในสังคมไทย จะผันตัวเองมาเป็นพลังต่อต้านระบบเผด็จการทหารอีกครั้ง
***********************************
[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ที่มาทางสังคมของเสื้อเหลือง สลิ่ม-นกหวีด ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 พ.ค. 2558 และฉบับวันที่ 25 พ.ค. 2558
[2] Marc Saxer, Middle class rage threatens democracy, ที่มาhttp://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2014/01/21/middle-class-rage-threatens-democracy/
[3] Serhad Unaldi, The Tyranny of SE Asia’s Establishment, ที่มา http://thediplomat.com/2014/11/the-tyranny-of-se-asias-establishment/
[4] Chen, J.และ Lu, C. (2011) Democratization and the Middle Class in China: The Middle Class’s Attitudes toward Democracy. Political Research Quarterly, 64(3) 705-719