“มหัศจรรย์ของเห็ด” สารตั้งต้นโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ จ.สกลนคร

“มหัศจรรย์ของเห็ด” สารตั้งต้นโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ จ.สกลนคร

“เห็ด” เป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เสนอเป็น Soft Power ด้านวัฒนธรรมการกินของคนภาคอีสาน การเพาะ “เห็ดเศรษฐกิจ” แนวโน้มมีความต้องการบริโภคมากขึ้น

มูลค่าเห็ดเศรษฐกิจ

การเพาะ “เห็ดเศรษฐกิจ” แนวโน้มมีความต้องการบริโภคมากขึ้น เมื่อปี 2563 ตลาดผลผลิตเห็ดในประเทศไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 300% (สวทช.,2564) นอกจากนั้น “เห็ดป่า” ที่เกิดตามธรรมชาติ ยังเป็นความมั่นคงทางอาหารให้กับชาวบ้านโดยเฉพาะคนฐานราก เห็ดเป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เสนอเป็น Soft Power ด้านวัฒนธรรมการกินของคนภาคอีสาน

รู้หรือไม่ เมื่อปี 2560 ประเทศจีนมีผลผลิตเห็ดมากที่สุดในโลก มูลค่าการตลาดสูงถึง 325,217 ล้านบาท

สวทช.,2564

อาชีพเพาะเห็ด เป็นโมเดลแก้จนยกระดับทุนการเงินครัวเรือน ด้วยการดีลส่วนแบ่งตลาดให้เกื้อกูลคนฐานรา เป็นกลยุทธ์การดำรงชีพใหม่ตามแนวคิด Pro-Poor Value Chain ด้วยระบบผลิตเกษตรมูลค่าสูง “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” สร้างกิจการเพาะเห็ดในชุมชน มีวิสาหกิจชุมชนเป็นพี่เลี้ยง โดยใช้เครื่องมือกรอบการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihoods Framework : SLF) ในการพัฒนาโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง อ.อากาศอำนวย ครั้งนี้

มหัศจรรย์ของเห็ด

การศึกษาข้อมูลขั้นตอนผลิตเห็ดให้เข้าใจ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุน รายได้ รู้ส่วนแบ่งกำไรที่ควรได้ อย่าเพิ่งตัดสินใจตามกระแส เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยงสูง บนวิถี “เส้นทางนางฟ้า” ซึ่งกิจการในห่วงโซ่อุปทานเห็ดมี 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ผลิตหัวเชื้อเห็ด ผู้ผลิตก้อนเห็ด และผู้เปิดดอกจำหน่าย

ทีมนักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ (ในถุงพลาสติก) ตระกูลเห็ดนางรม นางฟ้า เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการประกอบตัดสินใจ วางแผนลงทุนให้เหมาะสมและรับความเสี่ยง การเพาะเห็ดตั้งแต่ต้น จนกระทั่งเกิดดอก มีระยะเวลาผลิตประมาณ 2 เดือน

หัวใจสำคัญ ในการเพาะเห็ดคือ “การกำจัดราเสีย เติมราดี” หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลง ถ้าเชื้อเห็ดมีคุณภาพจะเดิน “เส้นใยสีขาว” บ่งบอกถึงความพร้อมจะเกิดดอกขยายพันธุ์ เห็ดมีวงจรชีวิตที่กำหนด “แผนการผลิต” เองได้ แต่ละขั้นตอนการผลิตมีเวลาคงอยู่ ขยายพันธุ์ และดับสูญ

ถือเป็นรหัสควบคุมการผลิตเห็ด ต้องลองสัมผัสกับความมหัศจรรย์นี้เอง แต่ความจริงวงจรเห็ดสู้ชีวิตมาก  ถึงแม้ทิ้งก้อนไปแล้ว แต่เมื่ออากาศเหมาะสม ก็พร้อมจะเกิดดอกตลอดเวลา ดังนั้นการสร้างความสมดุลกับระบบนิเวศน์เห็ด ได้แก่ เวลา ฤดูกาล แหล่งอาหาร แสง อากาศ และความชื้น มีผลต่อการเกิดดอก

ขั้นตอนการเพาะเห็ด “เส้นทางนางฟ้า”

การเพาะเห็ดมีระบบผลิตที่สำคัญ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การผลิตหัวเชื้อเห็ดในอาหารวุ้น การขยายเชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่าง การผลิตก้อนเห็ด และการเปิดดอกเห็ด มีรายละเอียดดังนี้

1. การผลิตหัวเชื้อเห็ดในอาหารวุ้น

เป็นขั้นตอนผลิตหัวเชื้อเห็ดบริสุทธิ์รุ่นแรก เพื่อเตรียมขยายพันธุ์ มีวิธีการผลิต ได้แก่ การคัดเลือกแม่พันธุ์เห็ดสุขภาพดี การเตรียมอาหารวุ้นจากมันฝรั่ง(PDA) และการตัดเชื้อเห็ดลงในอาหารวุ้น มีระยะเวลาบ่มให้เส้นใยเดินเต็ม 7-10 วัน

ข้อควรรู้ หัวเชื้อเห็ดทำได้ 2 แบบ คือ การตัดเชื้อเห็ดเอง หรือนำพันธุ์มาจากธนาคารเชื้อเห็ด (NBMB และ NBT) ห้ามขยายพันธุ์ในอาหารวุ้นเกิน 5 รุ่น จะส่งผลให้คุณภาพเชื้อเห็ดไม่แข็งแรง เกิดเชื้อราง่าย ต้องมีห้องทดลองพื้นที่ปิดหรือตู้ที่สามารถควบคุมอากาศได้

2. การขยายเชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่าง

เป็นขั้นตอนการตัดเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้น ไปขยายพันธุ์ลงในอาหารเมล็ดข้าวฟ่าง มีวิธีการผลิต ได้แก่ การเตรียมเมล็ดข้าวฟ่างในขวด และการตัดเชื้อเห็ดลงในขวดเมล็ดข้าวฟ่าง มีระยะเวลาบ่มให้เส้นใยเดินเต็ม 15-30 วัน ต้นทุนผลิตประมาณ 5-7 บาทต่อขวด ราคาจำหน่ายขวดละ 10-15 บาท

ข้อควรรู้ เชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่าง 1 ขวดจะขยายพันธุ์ลงในก้อนเห็ดได้ 30-35 ก้อน ต้องมีห้องทดลองพื้นที่ปิดหรือตู้ที่สามารถควบคุมอากาศได้

3. การผลิตก้อนเห็ด

ขั้นตอนการบรรจุก้อนจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา (ในถุงพลาสติก) เพื่อขยายเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่างลงในก้อนเห็ด มีวิธีการผลิต ได้แก่ การผสมสูตรอาหารเห็ด การบรรจุอัดก้อน การนึ่งก้อนฆ่าเชื้อรา และการหยอดเชื้อเห็ดลงในก้อน มีระยะเวลาบ่มให้เส้นใยเดินเต็ม 30-60 วัน ต้นทุนผลิตประมาณ 5 บาทต่อก้อน ราคาจำหน่ายก้อนละ 10-15 บาท

ข้อควรรู้ การนึ่งก้อนฆ่าเชื้อราเริ่มนับเวลาเมื่ออุณหภูมิสูงที่ 100 องศาเซลเซียส นาน 4 ชั่วโมงขึ้นไป แนะนำเทคโนโลยีหม้ออบแรงดันไอน้ำนึ่ง และการหยอดเชื้อเห็ดลงก้อนควรทำในพื้นที่ปิด

4. การเปิดดอกเห็ด

ขั้นตอนการเปิดดอกเห็ดหรือเลี้ยงให้เกิดดอก มีวิธีการผลิต ได้แก่ การทำโรงเรือน การทำระบบน้ำ การเปิดหน้าก้อนเห็ด การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการดูแล มีระยะเวลาเส้นใยเชื้อเห็ดเดินให้เกิดดอกประมาณ 4-6 เดือน ได้ผลผลิตเฉลี่ย 200-400 กรัมต่อก้อน มีต้นทุนผลิตประมาณ 10-15 บาทต่อก้อน

ข้อควรรู้ สร้างโรงเรือนขนาดที่เหมาะสมกับชนิดเห็ดและจำนวนก้อน ดูแลโรงเรือนให้สะอาด ถ้ามีก้อนเห็ดเกิดเชื้อราให้แยกของทันที

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ในห่วงโซ่อุปทานก่อนลงทุนเพาะเห็ด

ในขั้นตอนการผลิตที่ 1 และ 2 ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการหรือบริษัท ที่ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตเชื้อเห็ดและจำหน่วย ใช้ทักษะเชี่ยวชาญและความประณีต มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต และต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพ โดยเฉพาะการทำหัวเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ ถ้านำแม่พันธุ์ไม่ดีผลิตจะส่งให้ผู้ประกอบการ ในขั้นตอนผลิตที่ 3 และ 4 ได้รับความเสี่ยงเจอกับปัญหาเชื้อเห็ดเดินช้า ก้อนเห็ดเกิดราดำและราเขียวได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตเป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพเกษตรในชุมชน และเกษตรกรรายย่อย

ปรับสมดุลส่วนแบ่งการตลาด ด้วยพลังข้อมูลและวิจัย

หลากหลายอาชีพที่ผลิตแล้วหมดแรงบันดาลใจ ส่วนใหญ่ติดกับดักของกลไกการตลาด แม้สินค้าจะมีคุณภาพแต่กำลังการผลิตน้อยหรือทำกำไรได้น้อย ในที่สุดต้องเลิกล้มไป ผู้ประกอบกิจการที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมส่วนมาก มีโมเดลธุรกิจเชิงการผูกขาดระบบผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทาน

กิจการในห่วงโซ่อุปทานเห็ดก็เหมือนกัน ถ้าลองเอาตัวเลขต้นทุน รายได้ กำไร(เบื้องต้น) มาคำนวณวิเคราะห์ส่วนแบ่งการตลาด สมมุติเห็ด 5 ก้อน ต้นทุนผลิตประมาณ 50 บาท ได้ผลผลิต 1 กิโลกรัม เห็ดนางฟ้าจำหน่ายกิโลกรัมละ 70 บาท จะมีกำไรอย่างน้อย 20 บาท ถ้าคิดส่วนแบ่งตลาดแต่ละขั้นตอนผลิตมีสัดส่วนต่างกันประมาณ 50% แต่ถ้ากิจการผูกขาดการผลิตจะมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 70% นอกจากนี้เห็ดยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปได้อีก

สถานการณ์วิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินกิจการผลิตก้อนเห็ดและเปิดดอกจำหน่าย ให้ข้อมูลผลประกอบการในปี 2565 มีกำลังผลิตก้อนเห็ดรวมประมาณ 100,000 ก้อน คิดเป็นรายได้มีมูลค่า 1,000,000 บาทต่อปี ตลาดในชุมชนมีลูกค้ามาซื้อเอง ส่วนใหญ่ขายตลาดในอำเภอมีกำลังบริโภคเห็ดดอกสดสูงถึง 100 กิโลกรัมต่อวัน และยังมีความต้องการสูง แต่กำลังผลิตไม่เพียงพอยังเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน

ด้านทีมวิจัยได้สำรวจความต้องการตลาดออนไลน์บน Facebook จาก 8 เพจ ที่จำหน่ายสินค้าก้อนเชื้อเห็ดและดอกสด ด้วยเทคนิควิธี นาอีฟเบย์ (Naïve Bayes Technique) พบว่า มีผู้สนใจก้อนเชื้อเห็ดมากกว่าดอกสด ร้อยละ 88.39 และตัดสินใจสั่งซื้อก้อนเชื้อเห็ด ร้อยละ 9.20

ตำแหน่งที่ยืนของคนฐานรากในอุปทานเห็ดเดิม ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภค รับจ้างวิสาหกิจชุมชนบรรจุก้อนเห็ด มีคนงาน 3-5 คนต่อวัน อีกทั้งมีหน่วยงานส่งเสริมอาชีพเพาะเห็ด และมอบก้อนเชื้อเห็ดให้เปิดดอกไว้กินเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ลดอุณหภูมิการค้า สร้างอุปทานเห็ดเกื้อกูลคนฐานราก

ปฏิบัติการโมเดลแก้จนอาชีพเพาะเห็ด เกิดโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเกื้อกูลคนฐานราก มีกลยุทธ์ยกระดับกิจการวิสาหกิจชุมชนเป็น “เครือข่ายผู้ผลิตและเปิดดอกจำหน่าย” ตัดส่วนแบ่งการตลาดผู้ผลิตก้อนเห็ดลดลง 50% จากเดิม 10 บาทต่อก้อน เหลือก้อนละ 5 บาท พร้อมทั้งเข้าเป็น “ผู้เปิดดอกจำหน่าย” ในหนึ่งรอบผลผลิตมีมูลค่ามากกว่า 180,000 บาท (4เดือน) รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% อย่างเป็นรูปธรรม ดำเนินงานแบบบูรณาการ ประกอบด้วย

  • ทำความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเป็นพี่เลี้ยงหรือผู้จัดการ
  • ขยายฐานผลิต “ผู้เปิดดอกเห็ด” ไปยังชุมชนใกล้เคียง รับคนจนเป็นสมาชิกโดยมีข้อตกลง “ใฝ่เรียนรู้ สู้ชีวิต พิชิตจน”
  • พัฒนาทักษะการเพาะเห็ด(ในถุงพลาสติก) จากขี้เลื่อยไม้ยางพารา และฟางข้าว ให้เครือข่ายคนจน
  • ส่งมอบปัจจัยการผลิตก้อนเชื้อเห็ด และติดตาม
  • แก้ไขปัญหาก้อนเห็ดขึ้นเชื้อราดำ เกิดจากนึ่งก้อนฆ่าเชื้อราไม่ต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีหม้อนึ่งแรงดันไอน้ำมาใช้
  • แก้ไขปัญหาหัวเชื้อเห็ดขาดตลาด บางรอบเชื้อไม่แข็งแรงเกิดดอกน้อย นำเทคโนโลยีตู้ตัดเชื้อเห็ดมาใช้
  • พัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ
  • ออกแบบห่วงโซ่อุปทาน หาผู้เล่นเพิ่ม วิเคราะห์กลยุทธ์ช่องทางเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน

ข้อค้นพบ เศรษฐกิจเห็ดในระดับชุมชนขนาดก้อนเชื้อเห็ดเปิดดอกจำนวน 4,000-10,000 ก้อน ตลาดชุมชนมีกำลังบริโภคประมาณ 5-10 กิโลกรัมต่อวัน ภาพรวมตลาดตำบลมีกำลังบริโภคประมาณ 50-60 กิโลกรัมต่อวัน ผลผลิตเกิดดอกสูงสุด 30 กิโลกรัมต่อวัน เป็นข้อมูลเพื่อวางแผนผลิตและตลาดในรอบต่อไป

ปฏิบัติการโมเดลแก้จน ในปี 2566 มีแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตเห็ดด้วยวิธี “รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย” เพื่อการจัดการผลผลิตและบริหารติดตามดูแลกลุ่มได้ง่ายขึ้น เป้าหมาย 200 ครัวเรือน ด้วยกลไกนวัตกรรมแก้จนทางสังคม “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” ผ่านการจัดเวที Forum เชิญผู้ประกอบการเห็ด ร่วมแลกเปลี่ยนการพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตเห็ดเชิงพาณิชย์เกื้อกูลคนฐานราก และแนวทางการนำข้อเสนอสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น ท้องที่ พร้อมทั้งสื่อสารสร้างการรับรู้ผ่าน storytelling “เส้นทางนางฟ้า” ต่อไป

ที่มา : www.1poverty.com

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

อ้างอิง

ข้อมูลการผลิตและการตลาดเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดป่ากินได้ในประเทศไทย (สวทช., 2564)

-โครงการการพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงของกลุ่มเกษตรกรฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 2565 อ.สายฝน ปุนหาวงค์ และคณะ

-วิสาหกิจชุมชนเรียนรู้เพาะเห็ดบ้านคำข่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอัดและผลิตก้อนเห็ดบ้านโพนงาม วิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สารบ้านเสาวัด วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านกลาง

-สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ