ครู ผู้ปกครอง และศิษย์เก่าโรงเรียนเรยีนา เชียงใหม่ รุดยื่นหนังสือให้ยกเลิกก่อสร้างบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ต่อศูนย์ดำรงธรรมเชียงใหม่ และขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่วันนี้ ขอยกเลิก โครงการสร้างบ้านธนารักษ์ประชารัฐ กว่า 600 หน่วยย่านเจริญประเทศ ชี้ผังเมืองระบุสีน้ำเงินเป็นสถานที่ราชการ กลับยกให้สร้างที่อยู่อาศัยไม่สอดคล้องผังเมือง ชี้พื้นที่คับแคบ การจรจาหนาแน่น ดันให้เป็นปอดเมืองแทน
วันนี้ (9 ส.ค.2559) เวลา 9.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมนักเรียนเก่า ตลอดจนผู้บริหาร คณะซิสเตอร์ ครู และนักเรียน ของโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้ยกเลิกโครงการสร้างบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณโรงเรียนบนถนนเจริญประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในชุมชน ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนอีกกหลายโรงเรียนย่านนั้น โดยการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์หมายเลขที่ ชม 35, ชม 1698 ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ห้องเย็นเดิมที่ขณะนี้ไม่มีผู้อยู่อาศัย จนมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมเป็นบริเวณกว้างมานานนับ 10 ปี พื้นที่ดังกล่าวปรากฏในผังเมืองเป็นสีน้ำเงิน ใช้ประโยชน์ประเภท สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเท่านั้น อ้างอิงตามหนังสือจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ มท 0712/8552 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 ที่กรมธนารักษ์เคยส่งให้กับโรงเรียนไว้
แต่ต่อมาทางโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยได้ทราบข่าวว่าจะมีการก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ สำหรับข้าราชการ และประชาชนที่ไม่เคยมีที่พัก ในสัญญาระยะยาว (leasehold) โดยให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดิน และพัฒนาที่อยู่อาศัยให้เช่าต่อในระยะยาวเช่นกัน โดยไม่มีข้อมูลรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับโครงการเลย แม้เข้าพบกรมธนารักษ์เพื่อขอทราบข้อมูลโดยตรง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็มิได้รับข้อมูลการพัฒนาเพิ่ม แต่ได้ทราบภายหลังว่ากรมธนารักษ์ได้ออกประกาศผลการประกวดโครงการดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เมื่อทางโรงเรียนท้วงติงไปว่า ตามพระราชบัญญัติผังเมือง ระบุว่าพื้นที่ข้างโรงเรียนดังกล่าวเป็นพื้นที่สีน้ำเงินซึ่งต้องเป็นสถานที่ราชการ ถ้าเป็นที่พักอาศัยต้องเป็นพื้นที่สีเหลือง ก็ได้รับคำตอบว่าโครงการนี้เป็นการก่อสร้างสถานที่ราชการเพราะเป็นที่พักของข้าราชการที่ไม่เคยมีที่พักอาศัยมาก่อน สิ่งนี้จะถือเป็นเหตุอ้างได้หรือไม่ว่าพื้นที่นี้จะยังเป็นคงเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน คือสถานที่ราชการ
สิ่งที่โรงเรียนเป็นกังวลก็คือ กายภาพของชุมชนบนถนนเจริญประเทศ ซึ่งมีความคับแคบ แต่มีโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ อยู่บนถนนนี้ถึง 4 โรงเรียนคือ โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย โรงเรียนพระหฤทัยเชียงใหม่ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย(แผนกประถม) และโรงเรียนสวนเด็กเชียงใหม่ มีนักเรียนจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นคน ถนนดั้งเดิมซึ่งมีสองเลนได้กำหนดให้ห้ามจอดรถและให้เดินรถทางเดียวในช่วงเช้าและเย็น หากมีที่พักอาศัยขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นบนถนนเจริญประเทศ ย่อมก่อให้เกิดสภาพจราจรที่หนาแน่นยิ่งกว่าเดิม ไม่เพียงแต่เกิดผลเสียทางมลพิษอากาศ ยังอาจกระทบต่อเศรษฐกิจของผู้ปกครองและชุมชนดั้งเดิม เพราะต้องเสียเวลาไปกับการจราจรที่ติดขัด และความปลอดภัยบนท้องถนนและบริเวณโดยรอบของเด็กนักเรียน ก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะตามมา
ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่ดังกล่าวมี อาณาบริเวณ 9 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมไปทั่ว ถือว่าเป็นปอดที่ใหญ่แห่งหนึ่งของคนในชุมชนนี้ หากมีการก่อสร้างขึ้น จำเป็นต้องตัดต้นไม้จำนวนมาก และนอกจากนี้ยังไม่ได้มีการศึกษา EIA (Environmental Impact Assessment) หรือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบของการดำเนินโครงการ ที่จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจ และสังคมเลย
ทั้งนี้ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว กรมธนารักษ์เคยลงนามกับเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการนันทนาการ จัดทำเป็นสวนสาธารณะ อันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อสังคม แต่ต่อมากรมธนารักษ์ กลับยกเลิกข้อตกลงนี้ ในปี พ.ศ. 2552 โรงเรียนทั้งหมดบนถนนเจริญประเทศและชมรมจักรยานวันอาทิตย์เชียงใหม่ เคยร่วมกันทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังให้ทบทวนการยกเลิกข้อตกลง แต่มิได้มีข้อสรุป อันเนื่องมาจากความผันผวนทางการเมืองเรื่อยมา
รายงานข่าวระบุด้วยว่าคณะผู้บริหาร ผู้ปกครอง ครู และศิษย์เก่าโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ยืนยันว่ามิได้มีข้อแม้ต่อข้าราชการผู้น้อยและประชาชนที่ต้องการที่พักอาศัย แต่ใคร่ทักท้วงหลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ของกรมธนารักษ์ว่ามิได้พิจารณาผลกระทบทางสังคมรอบๆ พื้นที่ อันควรเป็นปกติวิสัยของหน่วยราชการหรือองค์กรของรัฐ ที่ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ชุมชนรอบข้าง เพราะกรมธนารักษ์ไม่ใช่องค์กรธุรกิจเอกชนที่คำนึงถึงผลกำไรทางธุรกิจสูงสุด และเห็นว่าพื้นที่นี้ผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณายกเลิกโครงการ และนำไปสู่โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยจัดทำเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้เป็นปอดของเชียงใหม่
คณะครู ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันของโรงเรียน และผู้อยู่อาศัยย่านถนนเจริญประเทศ ยังนัดหมายกัน ระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่เพื่อหาผลกระทบจาก โครงการสร้างบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคมนี้ ที่อาคารอนุสรณ์80ปี โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยด้วย
สำหรับพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าว เป็นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม.25 เนื้อที่ 2 ไร่ 17 ตารางวา และแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม.1698 เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา รวมเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา ที่ตั้งอยู่ระหว่าง โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) บนถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่เพื่อจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของรัฐบาล โดยกรมธนารักษ์ระบุว่าได้ประสานหารือไปที่กรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว สรุปว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตผังเมืองที่สามารถทำการก่อสร้างอาคารชุดได้ แต่ต้องเป็นอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร หรือ 7 ชั้น ขณะเดียวกัน มีการประสานหารือไปที่กรมป่าไม้ถึงความเป็นไปได้ในการขอที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นที่ราชพัสดุอยู่แล้วมาเข้าร่วมในโครงการนี้ เพื่อให้มีที่ดินเพิ่มมากขึ้น โดยที่จะแลกกับการให้สิทธิพิเศษแก่ข้าราชการและพนักงานราชการของกรมป่าไม้ ในการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งแผนการก่อสร้างคือจะจัดสร้างเป็นอาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม จำนวน 6 หลัง จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยรวมประมาณ 480-600 หน่วย ราคา 500,000-700,000 บาท สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อย รายได้ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท ซึ่งมีการประกวดราคาได้ประกาศชื่อผู้ประกวดราคาแล้ว