ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความสามารถทางเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างรวดเร็ว
การเกิดขึ้นของธุรกิจ อุตสาหกรรมและกิจกรรมกระแสใหม่ที่กระจายไปเกือบทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย กำลังทำลายเส้นแบ่งความเป็นเมืองและชนบทลงจากความเข้าใจเดิม ความชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นข้อชี้ชัดที่ว่า การทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันและในอนาคต จำเป็นต้องไปไกลกว่าขอบเขตการปกครองหรือนิยามเดิมที่เรียก “พื้นที่เมือง” ในปัจจุบัน
ก่อนที่เราจะไปสำรวจและเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของ urbanization ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย เราควรทำความเข้าใจในนิยามเดิมของความเป็นเมืองที่ถูกกำหนดผ่านต้นทุนทางทรัพยากรในบริบทของภาครัฐ
ย้อนดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เริ่มต้นจากแผนพัฒนาฯที่ 2 (พ.ศ.2510-2514) มีการพัฒนาเมืองภูมิภาคหลักที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยพื้นที่ยุทธศาสตร์แรกคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรต่ำที่สุด โดยเน้นการส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการ และการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการพัฒนาทางสังคม
ต่อมาในแผนพัฒนาฯที่ 3-4 ก็มีความมุ่งเน้นที่พัฒนาเมืองภูมิภาคในรูปแบบของการพัฒนาคน และการกระจายความเจริญเพื่อยับยั้งการอพยพของประชากรเข้าสู่เมืองหลวง จนในแผนพัฒนาที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองภูมิภาคที่ชัดเจน โดยเน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ดังนี้
- ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา พัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศในอนาคต
- ภาคตะวันตก 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีนโยบายเร่งรัดเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และปรับปรุงประสิทธิภาพอุตสาหกรรมส่งออกให้กระจายไปใกล้แหล่งวัตถุดิบมากที่สุด และส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจทรุดโทรมบริเวณชายฝั่งทะเล รวมถึงการขจัดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ใน 10 อำเภอ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี นโยบายการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเน้นการปฏิรูปที่ดิน การเพิ่มผลผลิตรายได้ การรักษาอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง
- ภาคเหนือตอนบน 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน พะเยา และน่าน โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร การบูรณะป้องกันความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการขจัดปัญหาที่คุกคามความมั่นคงของประเทศ
- พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล เน้นการปรับโครงสร้างการผลิต ขยายฐานเศรษฐกิจให้กว้างขึ้น การพัฒนาสังคม และการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท
หลังจากนั้นในช่วงปีพ.ศ. 2563-2564 ที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อเปรียบเทียบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2565 ที่เป็นแผนการพัฒนาก่อนสถานการณ์โควิด-19 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่เป็นแผนพัฒนาหลังสถานการณ์โควิด-19 จะพบความแตกต่างชัดเจนโดยเฉพาะการกำหนดแผนการพัฒนาเมืองรองที่มีมากขึ้น โดยเน้นการยกระดับศักยภาพของพื้นที่เมืองระดับภูมิภาค โดยกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ เชิงเศรษฐกิจและสังคม ให้สามารถรองรับการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้
รวยกระจุก จนกระจาย
จากงานวิจัยคนเมืองภูมิภาค 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในภูมิภาคของประเทศไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีตัวชี้วัดที่น่าสนใจอยู่ 2 ประการที่พอจะทำให้เราเห็นภาพการพัฒนาเมืองที่กระจุกตัวอยู่เพียงในเมืองยุทธศาสตร์หลัก นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของประชากรระดับเมืองและความเหลื่อมล้ำของการจดทะเบียนนิติบุคคลระดับจังหวัด
การเปลี่ยนแปลงของประชากรระดับเมือง ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยใช้ความหนาแน่นการเคลื่อนย้ายของประชากรเข้าสู่เมือง ดังนี้
- เมืองโต คือเมืองที่มีการขยายตัวของประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 0.50 เป็นเมืองที่มีประชากรเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานจนทำให้เกิดความหนาแน่นของประชากรเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจ มีความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่สามารถตอบสนองการใช้ชีวิตแบบเมือง
- เมืองทรง คือเมืองที่มีการขยายตัวของประชากรในพื้นที่อยู่ระหว่างช่วงร้อยละ -0.50 ถึง 0.50 เป็นรูปแบบเมืองที่การกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่ไม่ค่อยมีการลงทุนหรือพัฒนาใหม่และเป็นเมืองที่พื้นที่ชนบทค่อนข้างมาก ทำให้ภาพรวมของเมืองมีความสามารถในการดึงดูดผู้คนให้ย้ายเข้าเมืองมาอยู่อาศัยหรือทำงานได้น้อย
- เมืองหด คือเมืองที่มีการขยายตัวของประชากรในพื้นที่ลดลงมากกว่าร้อยละ -0.50 เป็นสภาพเมืองที่สัมพันธ์กับแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานของประชากรไปยังพื้นที่อื่น โดยปรากฏการณ์เมืองหดเกิดขึ้นพร้อมกับความถดถอยของฐานเศรษฐกิจ
จากแผนภาพทำให้เห็นว่า ในพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองศักยภาพสูงหรือเมืองหลักกลายเป็นเมืองโตหรือเมืองที่มีการขยายตัวของประชากรสูง ในขณะที่พื้นที่รอบๆเมืองยุทธศาสตร์กลายเป็นเมืองหดหรือเมืองที่มีการขยายตัวของประชากรต่ำล้อมรอบเมืองยุทธศาสตร์ไว้อีกที ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาก็ลดลงเพียงเล็กน้อยอย่างไม่มีนัยสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์ (ความเปลี่ยนแปลงต่ำกว่าร้อยละ 0.05)
ดังนั้น จากปัจจัยหลายประการทำให้เห็นแล้ว โจทย์สำคัญที่สังคมควรตั้งคำถามคือ ถึงแม้คำจำกัดความเกี่ยวกับความหมายของเมืองที่รัฐยึดถือตามนั้น อาจสอดคล้องกับการดำเนินการบริหารงานปกครองที่มีขอบเขตชัดเจน แต่สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ นิยามเมืองนี้อาจไม่สามารถตอบโจทย์ในการวางแผนนโยบายที่เหมาะสมในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความคาดหวังเดิมที่ว่าหากเกิดการพัฒนาในเมืองหลักมากพอแล้วนั้นจะทำให้เกิดการกระจายความเจริญ และลดความเหลื่อมล้ำลงในพื้นที่จังหวัดเมืองรองรอบๆได้ อาจจะเป็นความเชื่อที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบันอีกต่อไป
กระแสความเปลี่ยนแปลงที่ผสานเมืองเข้าด้วยกัน
การเปลี่ยนแปลงของเมืองในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาในประเทศไทยมีรูปแบบของกระบวนการเมืองที่แตกต่างไปจากในช่วงแรกเมื่อ 40-50 ปีก่อน กลายเป็นรูปแบบของการขยายตัวพื้นที่เมืองไปยังชานเมือง (suburbanization) หรือที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แบบกึ่งเมือง (peri-urbanization) ซึ่งเกิดขึ้นในรูปแบบผสมปนเปกันอย่างกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบระหว่างภูมิทัศน์แบบเมืองกับชนบท
ในบทความนี้นำเสนอแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลต่อความเป็นเมืองสมัยใหม่ 2 กระแสที่ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อโครงสร้างเมืองระดับโลกด้วยเช่นกัน
กระแสที่ 1 ดิจิทัลภิวัฒน์ กระแสความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเมืองสมัยใหม่
ปัจจุบันระบบอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองในด้านต่างๆทั้งการติดต่อสื่อสาร การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ หรือการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข ด้วยเหตุนี้อินเตอร์เน็ตจึงกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นของการดำรงชีวิตของคนเมืองในยุคปัจจุบัน การมีอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมและมีคุณภาพยังสะท้อนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับประเทศและในระดับพื้นที่ อินเตอร์เน็ตจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ใช้ได้ในการวิเคราะห์ความเป็นเมืองของประเทศไทย
การพัฒนาของระบบอินเตอร์เน็ตอย่างก้าวกระโดดนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตแบบกึ่งเมืองมีความแพร่หลายออกไปมากกว่าภูมิทัศน์เดิม และทำลายเส้นแบ่งวิถีชีวิตแบบเมืองและชนบทลง ข้อมูลจาก Thai Social Media Behavior Stat & Insight 2023 จากรายงาน Thailand Digital Report ของ We Are Social ที่เจาะลึกพฤติกรรมของการใช้โซเชียลมีเดียสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยปีล่าสุด
ภาพรวมแสดง 5 อันดับเหตุผลหลักของการใช้งานโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มของคนไทย
- อันดับที่ 1 ติดต่อเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัว
- อันดับ 2 อ่านข้อมูลข่าวสาร
- อันดับ 3 ใช้เวลาว่าง
- อันดับ 4 ติดตามความเคลื่อนไหวและความสนใจของสังคมในขณะนั้น
- อันดับ 5 ค้นหาแรงบันดาลใจสำหรับการทำกิจกรรมและการบริโภค
การเข้ามามีบทบาทสำคัญของระบบอินเตอร์เน็ตในการขับเคลื่อนเมืองในด้านต่างๆทั้งการติดต่อสื่อสาร การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ หรือการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุขนั้น ทำให้ต้นทุนของการมีวิถีชีวิตแบบเมืองลดลงจากเดิม กำแพงของการสื่อสารถูกทำลายลง เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล วัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบร่วมสมัยโดยไม่จำกัดความห่างไกลในการเข้าถึงบางพื้นที่ และอีกสิ่งที่น่าสนใจคือ อินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการทำให้ผู้คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันได้พบปะและรวมกลุ่มกันขับเคลื่อนเมืองตามความสนใจเฉพาะด้านของกลุ่มตน
กระแสที่ 2 โลกาภิวัฒน์ของการผลิต การค้า การลงทุนและการสื่อสาร
เนื่องมาจากกระแสของดิจิทัลภิวัฒน์ที่ส่งผลให้พฤติกรรมของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค การค้าและการลงทุน ทำให้โจทย์เดิมของภาครัฐที่มุ่งพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้ กำลังถูก E-commerce เข้าแทรกแซงระบบ และเกิดการกระจายรายได้ที่เข้าถึงพื้นที่ได้มากกว่า
การเติบโตของ E-Commerce ทำให้เห็นว่า นิยามการกระจายตัวทางเศรษฐกิจสมัยใหม่อาจไม่ได้หมายถึงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อหวังให้เกิดการกระจายรายได้อีกต่อไป แต่เป็นเพียงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและโลจิสติกส์เป็นสำคัญเพื่อสนับสนุนการกระจายตัวทางเศรษฐกิจผ่านการค้าสมัยใหม่
นิยามเมืองที่เปลี่ยนไป
การคงไว้ซึ่งนิยามเมืองเดิมและตัวชี้วัดการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจเดิมกำลังถูก disrupt จากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่านิยามเดิมนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอต่อการขยับขยายของเมืองที่กำลังเป็นไป ดังนั้นเราสามารถสรุปโจทย์สำคัญจากตัวชี้วัดเบื้องต้นได้ดังนี้
- นิยามเดิมของการระบุความเป็นเมืองหลักศักยภาพสูงและเมืองรองอาจไม่ตอบโจทย์การพัฒนารูปแบบเดิม เนื่องจากตัวชี้วัดอย่างวิถีชีวิตและการกระจายตัวทางเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากในช่วง 20 ปีและในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น โจทย์ของการนิยามควรตีความให้ไกลกว่าแค่ต้นทุนทางโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรเดิม โดยให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งสอดคล้องกับการใช้สอยและการสร้างมูลค่าในระดับพื้นที่มากกว่านิยามเดิมที่ยึดถือตามแผนพัฒนาฯ
- ยุทธศาสตร์การพัฒนาควรกระจายตัวออกจากเมืองหลักมากกว่าการกระจุกตัวที่ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจตามความคาดหวังเดิม และให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเป็นวงกว้างอย่างการเข้าถึงเทคโนโลยี การขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสูง
- การสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาในเขตพื้นที่ “เมืองรอง” ให้ไกลกว่าการพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมโดยการใช้ความได้เปรียบทางเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร และการรวมกลุ่มของผู้คนที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบเมืองมากขึ้นในพื้นที่ชนบท เพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลส่วนหนึ่งเพื่อวิเคราะห์ฉากทัศน์ของความเป็นภูมิภาคและนคราภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย