"คลายปมมิดะและลานสาวกอด” 21 ม.ค.นี้ที่เชียงราย
เตรียมเปิดวงเสวนาคลายปมวาทะกรรม “มิดะ” และ “ลานสาวกอด” หวังคลี่คลายความเข้าใจบริบทของชาวอาข่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขงรและชมรมอาข่าในประเทศไทย ร่วมกันจัดหวังแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและคลายปม
วาทะกรรม “มิดะ” และ “ลานสาวกอด” อันลือลั่น 21 มกราคมนี้ ที่เชียงราย
อาข่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ ในภาคเหนือของประเทศไทย, เชียงตุง, รัฐฉาน ของประเทศพม่า และทางแคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของจีน ในประเทศไทย คนไทยรู้จักชาว “อาข่า” มาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะ “มิดะ” และ “ลานสาวกอด”
คำว่า “มิดะ” เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2492 ในหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย ผู้เขียนชื่อบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และหลังจากนั้นปี พ.ศ. 2496 ได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ ชาวเขาในประเทศไทย ต่อมามีหนังสือมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้จักคำว่า “มิดะ” นั้นมาจากศิลปินเพลงชาวเหนือ จรัล มโนเพ็ชร์ ได้แต่งเพลงชื่อว่า “มิดะ” ที่กล่าวถึง มิดะ หญิงสาวผู้เป็นครูสอนเพศศึกษาให้แก่ชายหนุ่มชาวอาข่าที่กำลังเข้าสู่วัยออกเรือน อีกทั้งยังกล่าวถึง “ลานสาวกอด” อีกด้วย
จากชื่อ “ลานสาวกอด” นี้ ทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจว่า ลานสาวกอดเป็นสถานที่พลอดรัก เป็นสถานที่ที่สามารถกอดสาวได้ตามใจชอบ ด้วยความเข้าใจใน “มิดะ” และ “ลานสาวกอด” ที่ได้ถ่ายทอด ตอกย้ำ ซ้ำ ทวน ตามสื่อต่างๆทั้งบทเพลง หนังสือ ภาพยนตร์ จึงทำให้เกิดวาทะกรรม “มิดะ” และ “ลานสาวกอด” ขึ้น ซึ่งชาวอาข่าได้ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างอัตลักษณ์ “ความเป็นอาข่า” ในแบบที่เขาไม่ได้เป็นผู้สร้าง
ชาวอาข่าได้กล่าวถึงคำว่า “มิดะ” หรือ “หมี่ดะ” ว่า เป็นคำเรียก หญิงสาวธรรมดาของอาข่าที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้เป็นชื่อตำแหน่งใดๆทั้งสิ้น ส่วน “ลานสาวกอด” นั้นไม่มีอยู่จริง มีเพียงแต่ “ลานวัฒนธรรม” หรือ “แต ห่อง” เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในทางพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนในหมู่บ้าน เป็นแหล่งถ่ายทอดบูรณาการความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เป็นแหล่งแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความสมัครสามัคคีแก่ผู้คนในหมู่บ้าน
ด้วยความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขงจึงร่วมกับ ชมรมอาข่าในประเทศไทย ได้กำหนดให้มีการจัดโครงการพิพิธภัณฑ์เสวนา (Museum Forum) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีนำเสนอประเด็นทางด้านชาติพันธุ์ อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและคลายปม
วาทะกรรม “มิดะ” และ “ลานสาวกอด” อันก่อให้เกิดการกระตุ้นให้ตระหนักถึงวัฒนธรรมและความเป็นชาวอาข่า โดยผ่านการเสวนาเรื่อง “มายาคติอาข่าในสังคมไทย คลายปมมิดะและลานสาวกอด” ซึ่งจะเป็นประตูอีกบานหนึ่งที่ช่วยทำให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและความเปลี่ยนแปลงในบริบทปัจจุบันของชาวอาข่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆแก่วงการวิชาการได้
โดยกิจกรรมจะมีขึ้นในวันศุกร์ ที่ 21 มกราคม 2554 เวลา 08.30 – 16.00 น. ณ อาคาร 10 ส่วนหน้า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย ขอเชิญผู้สนใจร่วมงานได้
กำหนดการโครงการพิพิธภัณฑ์เสวนา (Museum Forum)
เรื่อง “มายาคติอาข่าในสังคมไทย คลายปมมิดะและลานสาวกอด”
วันศุกร์ ที่ 21 มกราคม 2554
ณ อาคาร 10 ส่วนหน้า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย
เวลา กิจกรรม
08.30 – 09.00 น. ลงทะเบียนร่วมงาน
09.00 – 09.20 น. นายพลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง กล่าวรายงาน
และกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ
ประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน
09.20 – 11.30 น. – การอภิปรายทางวิชาการ ประวัติศาสตร์อาข่า : มิติประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์
โดย คุณลูกา เชอหมื่อประธานมูลนิธิพันธกิจไทย – อาข่า
– อาข่าย้อง : อาข่าอารยะ
โดย คุณไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการศึกษา และวัฒนธรรมชาวอาข่าเชียงราย
– ผลกระทบที่เกิดกับเยาวชนอาข่าบนกระแสสื่อสังคมออนไลน์ : จากกรณีเรื่อง มิดะ
โดย กลุ่มอาข่าหญ่า
11.30 – 12.00 น. การแสดงจากศูนย์ชีวิตใหม่
12.00 – 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน (อาหารตำรับชาวอาข่า)
13.00 – 14.45 น. เวทีอภิปรายทางวิชาการ “อาข่าในความเปลี่ยนแปลง : คลายปมมิดะและลานสาวกอด”
– กระบวนการเรียนรู้ชาติพันธุ์อาข่าและคลายปมมิดะโดย คุณปฏิภาณ อายิ
– ความเปลี่ยนแปลงของชาวอาข่าในหมู่บ้านอาข่า โดย คุณจุฑามาศ ราชประสิทธิ์
– อาข่ากับความเปลี่ยนแปลงในฐานะพลเมือง โดย อาจารย์ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์
– สินค้ากับวัฒนธรรมอาข่า โดย อาจารย์ปนัดดา บุณยสาระนัย
* ผู้ดำเนินรายการ นายพลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง
14.45 – 15.00 น. แถลงการณ์ เรื่อง มิดะ : การผลิตซ้ำในสังคมไทย
โดย อาจู จูเปาะ ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการและที่ปรึกษาชมรมอาข่าฯ
15.00 – 15.45 น. เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น
15.45 – 16.00 น. -การแสดงดนตรีโดย คุณศราวุฒิ พรวิชาชาญ และ วัชรพงศ์ ไพรโพคิน
– พิธีปิด
* กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม