“เมื่อก่อน เราจะเห็นมันเยอะมาก เยอะขนาดที่ว่า เวลาเดินลงไปในลำตะคอง พวกมันจะหนีกระเจิง บางตัวยังวิ่งมาชนขาเราเลยนะ มีเป็นร้อยๆ ริมสองฝั่งคลองเต็มไปหมด”
ภาพในความทรงจำเมื่อ 30 ปีก่อน ของชายชราวัย 75 ปี คุณลุงวิชชุ ชุปวา ผู้หลงใหลในเสน่ห์ของกิ้งก่ายักษ์แห่งลำตะคอง นามว่า “ตะกอง”
ภาพในวันวานคือความประทับตรึงใจ กลายมาเป็นความผูกพันที่ลุงวิชชุมีต่อเจ้าตะกองเหล่านั้น และอยากเห็นพวกมันมีชีวิตอยู่คู่กับลำน้ำแห่งนี้ต่อไป นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักอนุรักษ์ เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ลุงวิชชุลุกขึ้นมาศึกษาเพื่อทำความรู้จักพวกมันอย่างจริงจัง
ลำน้ำแห่งตะกอง
ปัจจุบัน ตะกอง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เป็นสัตว์ประจำถิ่นของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยเฉพาะตามสองฝั่งของลำน้ำลำตะคอง ซึ่งในปัจจุบันนับว่าเป็นสัตว์ป่าที่พบเห็นได้น้อย แต่ก็ยังมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นที่เคยมีข้อมูลการพบเห็นตะกอง เช่น ในบางพื้นที่ทางภาคตะวันออก ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าตะกองที่ลำตะคอง อาจเป็นตะกองกลุ่มสุดท้าย ที่เรายังพอพบเห็นได้ เพราะจำนวนประชากรของพวกมันลดลงมากอย่างน่าใจหาย อนาคตของพวกมันจะเป็นอย่างไร คงไม่ใช่เรื่องยากเกินคาดเดา สิ่งที่ยากคือจะทำอย่างไรให้พวกมันยังคงอยู่และสืบต่อเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ นี่จึงเป็นทั้งโจทย์และเป็นเป้าหมายในการเป็นนักอนุรักษ์ของลุงวิชชุ
“อำเภอปากช่องนี่นะ มันเป็นพื้นที่อนุรักษ์
มีกลุ่มอนุรักษ์ที่หลากหลาย
รักป่าเขาใหญ่ รักช้าง รักกระทิง รักนกเงือก รักโน่นนี่เยอะมาก
แต่ไม่มีใครรักตะกอง งั้นเราก็รักษ์ตะกองเลยละกัน
ซึ่งตะกองเนี่ยมันเป็นสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์ของลำตะคอง
หรือเรียกเป็นเอกลักษณ์ของปากช่องเลยก็ว่าได้
แต่กลับไม่ค่อยมีคนรู้จัก
บางทีคนปากช่องเองยังไม่ค่อยจะรู้จักเลย
อีกอย่างคือชื่อของลำตะคอง ก็มาจากตัวตะกองนี่แหละ
เป็นลำน้ำที่มีตะกองมากจึงเรียกว่าลำตะกอง
ทีนี้ผมก็ไปถามครูภาษาไทยว่ามันเพี้ยนมาได้ยังไง
เขาก็อธิบายว่า คำว่า “กอง” มันออกเสียงยาก
แต่คำว่า “คอง” มันออกมาจากลำคอเลย มันออกเสียงง่ายกว่า
ลำตะกอง ก็เลยเพี้ยนมาเป็น ลำตะคอง
บางคนว่ามันมาจากชื่อต้นหนามตะคอง แต่ผมคิดว่าไม่ใช่
เพราะหนามตะคองพบได้ทั่วไป แต่ตะกองน่ะ
พบได้เฉพาะริมลำน้ำนี้เท่านั้น มันเป็นของที่นี่โดยเฉพาะเลย”
ไปรู้จัก…ก้าวแรกของงานอนุรักษ์แบบบ้านๆ
จากอดีตที่เคยมีอยู่มากมาย วันเวลาผ่านไปการจะได้พบเห็นตะกองนั้นกลับยากขึ้นเรื่อย ๆ พวกมันหายไปพร้อมกับนิเวศริมฝั่งคลองที่เปลี่ยนแปลง จากที่เคยมีสภาพเป็นป่าเหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์เล็กสัตว์น้อยต่าง ๆ แปรสภาพเป็นที่โล่งเตียนสำหรับชมวิวริมน้ำ ไว้พักผ่อนหย่อนใจ ของรีสอร์ท ร้านอาหารและบ้านเรือนของผู้คน ต้นไม้ พงหญ้า ถูกแทนที่ด้วยซีเมนต์บ้าง ก้อนหินขนาดใหญ่บ้าง พืชต่างถิ่นรุกรานมาแทนที่สัตว์ท้องถิ่นอย่างตะกอง ปรับภูมิทัศน์ริมฝั่งน้ำเพื่อความเป็นระเบียบสวยงาม ทว่าเป็นความงามที่ไร้ชีวิต
ความสงสัยใคร่รู้ว่าพวกมันหายไปไหน ยังอยู่ดีหรือไม่ หลงเหลืออยู่กี่มากน้อย ทำให้ลุงวิชชุตัดสินใจออกเดินทาง สำรวจประชากรของพวกมัน ตั้งแต่ต้นน้ำในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปจนถึงปลายสุดของลำน้ำ ระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร ในระยะแรกของการสำรวจ ลุงวิชชุใช้วิธีการเดินเท้าลัดเลาะไปตามลำน้ำโดยไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเดินได้วันละกี่กิโล หรือต้องสำรวจให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด คือได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ตามที่กำลังกายไหวและไม่จำเป็นว่าจะต้องเดินต่อเนื่องไร่เรียงแต่ต้นถึงปลาย สะดวกเดินช่วงไหนก็ตามนั้น แล้วค่อยลงบันทึกว่าจุดไหนที่สำรวจแล้ว ยังเหลือจุดไหนที่ยังไม่ได้สำรวจ ลุงวิชชุให้เหตุผลว่ามันเป็นการสำรวจเพราะความอยากรู้ส่วนตัว ใช้เวลาส่วนตัว ใช้งบส่วนตัว จึงไม่ได้ทำเป็นแบบแผนขั้นตอน เหมือนงานวิชาการและไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียด อีกอย่างหนึ่งก็ถือว่า เป็นการออกกำลังกาย ได้ผ่อนคลายจากการเที่ยวชมธรรมชาติอีกด้วย
จากการสำรวจตลอดทั้งลำน้ำ ได้พบเจอตะกองนับพันตัวแต่จะมีเพียงช่วงเดียวที่ตะกองอาศัยอยู่หนาแน่น ในระยะทางไม่กี่กิโลเมตรพบตะกองมากถึง 30 ตัว คือจากวัดแก่งกลางดงมาถึงวัดป่าอำนวยผล และพบว่าปัจจัยสำคัญก็คือนิเวศริมฝั่งคลอง ที่ยังมีความเป็นป่าดั้งเดิม และน้ำที่ยังใสสะอาดอยู่นั่นเอง
ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นหลัง ความยั่งยืนของงานอนุรักษ์
แม้ว่าการสำรวจตะกองของลุงวิชชุจะทำอย่างเงียบๆ เพียงลำพัง แต่การเดินเท้าทำให้ลุงได้มีโอกาสสอบถามพูดคุยกับผู้คนจำนวนมาก เรื่องราวของตะกองได้ถูกหยิบยกขึ้นมาสนทนา ตะกองที่กำลังจะเลือนหาย จึงค่อยๆ ปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นแรงสั่นสะเทือนเล็กๆ ที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจตะกอง พร้อมกันนั้นเรื่องราวการเดินเท้าตามหาตะกองของลุงวิชชุก็แพร่กระจายออกไปสู่การรับรู้ของผู้คนเช่นเดียวกัน ทำให้มีคนสนใจเข้ามาเป็นแนวร่วมสำรวจและเรียนรู้ไปพร้อมกับลุง อาทิ กลุ่มโคราชคายัคคลับ ที่นำเรือคายัคมาร่วม ทำให้การสำรวจทำได้สะดวกมากขึ้น กลุ่มเยาวชนและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมอนุรักษ์ลำน้ำ เป็นต้น
“มันเป็นสัตว์สายพันธุ์ดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิตยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
มันก็น่าเสียดายว่าจะต้องมาสูญพันธุ์ในยุคของเรา
ตะกองมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physignathus cocincinus
ชื่อมันถูกเรียกเหมือนกับไดโนเสาร์ เล่าให้เด็กๆ ฟัง เด็กเขาก็บอกว่า
อ้าว…มันก็เป็นไดโนเสาร์ที่น่ารักน่ะสิ ก็พากันเรียกว่าไดโนเสาร์มีชีวิต
พอเป็นอย่างนี้เด็กๆ ก็สนุก ก็ชวนเพื่อนมา แล้วเขาก็เรียกผมว่าลุงตะกอง
ทีนี้คนอื่นก็เรียกตาม ผมก็เลยกลายเป็นลุงตะกองตั้งแต่นั้น”
เมื่อตะกองไร้บ้าน ไร้อาหาร
หลายปีของการสำรวจ สิ่งที่ลุงวิชชุได้พบคือ ความเปลี่ยนแปลงไปของลำน้ำ ช่วงที่ลำน้ำยังบริสุทธิ์ น้ำใสสะอาด มีต้นไม้มีป่าริมตลิ่ง ก็จะมีโอกาสพบเห็นตะกองได้มากกว่า พื้นที่ป่าริมตลิ่งนั้นนับว่ามีความสำคัญมากสำหรับตะกอง เพราะพวกมันจะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใกล้น้ำเท่านั้น หรือห่างจากน้ำไม่เกิน 10-15 เมตร เนื่องด้วยพวกมันจัดเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ในน้ำพวกมันสามารถดำน้ำจับกุ้งปลาตัวเล็กๆ เป็นอาหาร ส่วนบนบกพวกมันกินแมลงตัวเล็กๆ ซึ่งโดยมากพวกมันมักจะเกาะนิ่ง ๆ อยู่บนต้นไม้เป็นหลัก เมื่อภัยมาก็กระโดดหนีลงน้ำ เป็นวิธีการเอาตัวรอดอย่างฉับไวนั่นเอง
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการมีป่าริมตลิ่งก็คือ ตะกองจะใช้พื้นที่ที่มีหาดทรายในการวางไข่ ซึ่งพวกมันจะวางไข่ปีละครั้งเท่านั้น การหายไปของป่าริมตลิ่ง จึงหมายถึงการหายไปของถิ่นอาศัย แหล่งอาหารและ แหล่งวางไข่ของตะกอง ไร้บ้านไร้อาหารก็ย่อมเป็นเรื่องยากยิ่งที่พวกมันจะดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นพวกมันอาจสูญหายไปในเวลาอันใกล้ หากทุกคนยังนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่กำลังเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานอนุรักษ์เกิดความยั่งยืน นอกเหนือไปจากการทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็คือการส่งต่อปณิธานและความรู้ ให้เรื่องราวของตะกองเข้าไปอยู่ในการรับรู้ของผู้คน เพราะหากเกิดแนวร่วม มีพลังของคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ ก็พอจะวาดหวังได้ว่าตะกองจะยังคงอยู่กับลำตะคองต่อไป
“ใครมาสอบถาม มาขอข้อมูลอะไรเกี่ยวกับตะกอง
ผมยินดี ผมให้หมด ไม่หวง ถ้าคนได้รู้จักตะกองมากก็เป็นเรื่องที่ดี
เขาก็อาจจะมาช่วยกันอนุรักษ์ ผมคิดอย่างนั้นนะ
อย่างเด็กๆ เยาวชนที่เขามาเห็นเราทำแบบนี้แล้วเขาสนใจ
มันก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ต่อไปในอนาคตถ้าเราไม่อยู่แล้ว
เด็กๆ เขาก็อนุรักษ์ต่อไปได้”
คนอยู่ได้ ตะกองอยู่ด้วย (ได้มั๊ย)
ส่วนหนึ่งที่คนรู้จักตะกองน้อย ก็เพราะพวกมันเป็นสัตว์ป่าหายาก มีจำนวนน้อย เป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะถิ่น
คือต้องมาที่ลำตะคอง อ.ปากช่อง ในประเด็นนี้ลุงวิชชุมองว่าเป็นจุดเด่นหรือจุดแข็งที่สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เริ่มจากการทำความรู้จักกับตะกองหน้าตาเป็นยังไง อาศัยอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร กินอะไร แล้วก็ทำพื้นที่ให้พวกมันอยู่ได้ มีบ้านก็คือต้นไม้ มีน้ำสะอาด มีอาหารกิน แล้วก็ชวนคนมาเที่ยวมาดูตะกองที่ลำตะคอง เป็นแนวคิดในการอนุรักษ์ที่ได้ประโยชน์เกื้อกูลกันทุกฝ่าย ผู้ประกอบการจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว ตะกองได้มีบ้านอยู่อย่างปลอดภัย ส่วนลำน้ำลำตะคองเอง ก็ได้คงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
ธรรมชาติก็จะยังคงสวยงามสืบต่อไป
เหล่าเด็กน้อยที่หวังว่า ลำตะคองจะยังคงใสสะอาดและงดงามต่อไป